ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ สำคัญต่อกระบวนการจัดการขยะ เพราะในการรวบรวมและขนส่งขยะจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ เช่น ขยะเศษอาหาร ไม่ให้ปนเปื้อนกับขยะที่รีไซเคิลได้ และขยะอื่นๆ และยังลดผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานเก็บขยะ
หลายคนคงไม่ทราบ ว่างานกาชาดในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 15-24 พ.ย.2562 ณ สวนลุมพินี ถุงพลาสติกสลายตัวได้ดังกล่าวได้ประเดิมใช้จริงเป็นครั้งแรก ที่นี่จึงเป็นพื้นที่นำร่องของการทดลองใช้ หลังจากนั้นทีมผู้ผลิต เอ็มเทค สวทช. หรือสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จะติดตามผลเพื่อวัดประสิทธิภาพของการใช้งาน รายงานผลขับเคลื่อนการผลิตถุงพลาสติกจากวัสดุธรรมชาติเพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยากที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกยุคนี้
ก่อนหน้านี้ไม่นาน (13 พ.ย.2562) ทางเอ็มเทค สวทช. ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย (TBiA) เปิดตัวแนะนำนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์” เป็นผลงานวิจัยของเอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาสูตรพลาสติกชีวภาพขึ้นโดยใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศไทย คือแป้งมันสำปะหลัง นำมาแปรรูปเป็นพลาสติก และทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบาง
"ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์" สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายใน 4 เดือน ในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิปกติ แต่หากอยู่ในพื้นที่อุณหภูมิสูง เช่น บ่อกักเก็บขยะที่มีขยะหนาแน่น จะทำให้จุลินทรีย์ย่อยสลายเร็วขึ้นในเวลา 3 เดือนก็สลายตัวได้
โดยนำมันสำปะหลังของเกษตรกรไทยเป็นวัตถุดิบหลักมาผสมด้วยการใช้ความร้อนหลอม ซึ่งทีมวิจัยมีการออกแบบกระบวนการผสมเทคนิค โดยหลอมนวดเนื้อวัตถุดิบให้เข้ากันได้ดี ผลิตออกมาเป็นเม็ดคอมพาวด์ หรือเม็ดพลาสติกผสมที่มีความเหนียว ยืดหยุ่นและมีความแข็งแรง สามารถเป่าขึ้นรูปได้ง่ายด้วยเครื่องจักร เครื่องเป่าถุงที่โรงงานบริษัท ทานตะวันฯ โดยที่ไม่ต้องดัดแปลงเครื่องจักรและได้ต้นแบบถุงพลาสติกย่อยสลายได้
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า ปัญหา“ขยะพลาสติก” ทั้งบนบกและในทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก "ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์” จึงเป็นนวัตกรรมที่ผลิตขึ้นโดยนักวิจัยไทยและภาคเอกชนของไทย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด ผู้สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกสลายตัวได้
“ขอเชิญชวนทุกคนที่มาเที่ยวงานกาชาดครั้งนี้ ช่วยกันคัดแยกขยะเพื่อการนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนและส่งเสริมการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) และสนับสนุนการสร้างค่านิยมใหม่ให้คนไทย บริโภคด้วยความรับผิดชอบ และสร้างสังคมที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาขยะ ด้วยการคัดแยกตั้งแต่ต้นทางเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของโครงการในการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในทางที่ดีขึ้น”
ขณะที่ ดร.นพดล เกิดดอนแฝก นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีพลาสติก กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีโพลิเมอร์ขั้นสูง เอ็มเทค สวทช. บอกถึงจุดเด่นของถุงพลาสติกย่อยสลายได้ ว่าใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบธรรมชาติ คือ แป้งมันสำปะหลัง จากบริษัท เอสเอ็มเอสฯ นำมันสำปะหลังของเกษตรกรไทยเป็นวัตถุดิบหลักมาผสมด้วยการใช้ความร้อนหลอม ซึ่งทีมวิจัยมีการออกแบบกระบวนการผสมเทคนิค โดยหลอมนวดเนื้อวัตถุดิบให้เข้ากันได้ดี ผลิตออกมาเป็นเม็ดคอมพาวด์ หรือเม็ดพลาสติกผสมที่มีความเหนียว ยืดหยุ่นและมีความแข็งแรง สามารถเป่าขึ้นรูปได้ง่ายด้วยเครื่องจักร เครื่องเป่าถุงที่โรงงานบริษัท ทานตะวันฯ โดยที่ไม่ต้องดัดแปลงเครื่องจักรและได้ต้นแบบถุงพลาสติกย่อยสลายได้ สำหรับใช้คัดแยกขยะอินทรีย์มี 2 ขนาด คือ ถุงหน้ากว้าง 18 นิ้ว สำหรับใช้ตามร้านขายอาหาร และถุงหน้ากว้าง 30 นิ้วสำหรับวางตามจุดคัดแยกมากกว่า 40 จุดทั่วงานกาชาด โดยมีทีมงานจิตอาสาที่จะคอยให้ข้อมูลและแนะนำวิธีการคัดแยกขยะที่ถูกต้องก่อนที่ทางกรุงเทพมหานครจะนำไปบริหารจัดการขยะในโรงงานขยะต่อไป
“ทีมวิจัยเรามีความคาดหวังว่า ถุงขยะย่อยสลายได้นี้จะถูกนำไปใช้งานจริงและจะช่วยพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บขยะ สามารถจัดการขยะเปียกได้ง่ายขึ้น มีความปลอดภัย สามารถนำขยะในถุงนี้ไปทิ้งในพื้นที่ (หมักขยะ หรือหมักปุ๋ย) ถึงแม้ในห้องแล็บจะรู้ว่าถุงนี้ย่อยสลาย แต่เรายังมีทีมวิจัยที่จะไปติดตามการย่อยสลาย ขยะและถุงขยะยังจะถูกติดตามไปอีก 3 เดือนในสภาวะจริง ผลงานวิจัยนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายจะจุดประกายให้ทุกคนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม” ดร.นพดล กล่าว