xs
xsm
sm
md
lg

แก้ปัญหาถุงขยะพลาสติก! “Tapioplast”นวัตกรรมจากแป้งมันฯ ต่อยอดสู่พลาสติกชีวภาพ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นวัตกรรมถุงพลาสติกย่อยสลาย 100% จากแป้งมันสำปะหลัง ปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกไทยสู่พลาสติกชีวภาพ ต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรแบบดั้งเดิมเพิ่มมูลค่าให้สินค้าการเกษตร แก้ปัญหาถุงขยะพลาสติกกระทบสิ่งแวดล้อม

จากการที่ ครม. มีมติเห็นชอบการงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยเป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single-use plastic) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายใต้ roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573


นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวงฯ ขานรับนโยบายในการคิดค้นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากขยะพลาสติก โดยปฏิวัติรูปแบบถุงพลาสติกในประเทศไทย ด้วยการวิจัยและพัฒนา "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร” ผลงานวิจัยของเอ็มเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปลี่ยนมันสำปะหลังโดยพัฒนาสูตรในห้องปฏิบัติการเป็นเม็ดพลาสติกชีวภาพและทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางและผลิต "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร” สามารถย่อยสลายได้ภายใน 3 - 4 เดือน ซึ่งได้นำร่องใช้งานจริงแล้วในงานกาชาด ประจำปี 2562 เมื่อเดือนพฤศจิกา


นวัตกรรมดังกล่าววิจัยและพัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยและภาคเอกชนของไทย โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สวทช. ร่วมกับภาคเอกชน บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากภาคีอุตสาหกรรมพลาสติก ได้แก่ บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท บีเอเอสเอฟ (ไทย) จำกัด สนับสนุนวัตถุดิบเม็ดพลาสติกชีวภาพ และบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) สนับสนุนกระบวนการเป่าขึ้นรูปถุงพลาสติกย่อยสลายได้ ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปฎิวัติรูปแบบถุงพลาสติก และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย


นายเขม หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SMS Corporation) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้พลาสติกชีวภาพเพียง 1% ของการใช้พลาสติกทั้งหมด และอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่สำคัญคือ ปัญหาด้านต้นทุนการผลิต และประสิทธิภาพในการใช้งาน ทำให้การนำมาประยุกต์ใช้จริงเป็นไปได้ยาก บริษัทจึงได้คิดค้นพัฒนาแป้งมันสำปะหลังดัดแปรให้อยู่ในรูปของเม็ดพลาสติก เป็นรายแรกของประเทศไทยที่ตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง

แป้งมันสำปะหลังในรูปเม็ดพลาสติกนี้มีชื่อว่า TAPIOPLAST ถุงสำหรับใส่ขยะเศษอาหารที่มีส่วนผสมของไบโอพลาสติกสามารถทำให้เกิดการย่อยสลายได้ดีขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น การใช้ TAPIOPLAST เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ย่อยลายทางชีวภาพหลากหลายชนิด รวมถึงถุงเพาะชำกล้าไม้ เป็นต้น จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และราคาลดลง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น ช่วยขยายการใช้ในวงกว้างเพราะสามารถย่อยสลายทางชีวภาพ ไม่เหลือสิ่งตกค้างที่จะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม


กำลังโหลดความคิดเห็น