ปัญหาของ “ขยะพลาสติก” ทั้งบนบกและทะเล เป็นปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกตื่นตัวกันมาก ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 10 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลมากที่สุดในโลก สาเหตุมาจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single-use Plastic) ซึ่งมีอัตราส่วนมากถึง 40% ของขยะพลาสติกทั้งหมด
คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเห็นชอบการงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อในวันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป เป็นนโยบายความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อลดและเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ขณะเดียวกันนักวิจัยไทยก็ได้มีการคิดค้นนวัตกรรม "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้" ขึ้นมา ซึ่งเป็นงานวิจัยของ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท เอสเอ็มเอส คอร์ปอเรชั่น จำกัด
โดยอาศัย "มันสำปะหลัง" มาพัฒนาสูตรในห้องปฏิบัติการเป็น "เม็ดพลาสติกชีวภาพ" ที่เรียกว่า "TAPIOPLAST" และทำการผสมสูตรเพื่อเพิ่มสมบัติทางวิศวกรรมให้เหมาะสมกับการนำไปขึ้นรูปเป็นฟิล์มบางและผลิต "ถุงพลาสติกย่อยสลายได้สำหรับขยะเศษอาหาร” โดยบริษัท ทานตะวันอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน)
ถุงพลาสติกย่อยสลายสำหรับขยะเศษอาหาร สามารถย่อยสลายได้ภายใน 3 - 4 เดือน มีการนำร่องใช้งานจริงแล้วในงานกาชาด ประจำปี 2562 เมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังและยกระดับรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งทาง สวทช.พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีกล่าวให้กับภาคเอกชนต่อไป
ซึ่งนอกจากทำเป็นถุงพลาสติกแล้ว TAPIOPLAST สามารถนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ย่อยสลายทางชีวภาพหลากหลายชนิด เช่น ถุงเพาะชำกล้าไม้ เป็นต้น จะได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และราคาลดลง
ข้อแตกต่างระหว่างพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพ (Compostable Plastic) ซึ่งย่อยสลายได้ด้วยจุลินทรีย์ และได้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำย่อยสลายในระยะเวลาที่กำหนด (ประมาณ180วัน) ตามมาตรฐาน แตกต่างกับพลาสติกออกโซ (OXO Plastic) ซึ่งเป็นพลาสติกที่แตกตัวไปสู่ขั้นไมโครพลาสติก ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ