กบข. ผสานความร่วมมือกับธนาคารโลกครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกระดับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน มุ่งสู่การเป็น Sustainable Pension อย่างเต็มรูปแบบ
นายวิทัย รัตนากร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) เปิดเผยว่า กบข. และธนาคารโลกได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันจัดทำ โครงการความร่วมมือทางเทคนิคด้านการบริหารเงินทุนเพื่อความยั่งยืนระหว่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และ ธนาคารโลก (Technical Co-Operation on Sustainable Investment between Government Pension Fund and World Bank) สำหรับปี 2563 โดยโครงการนี้ถือเป็นความร่วมมือแรกที่ธนาคารโลกให้ความร่วมมือกับกองทุนบำนาญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
วัตถุประสงค์ของความร่วมมือดังกล่าวคือเพื่อยกระดับกระบวนการลงทุนของ กบข. ที่ได้มีการนำปัจจัยสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social & Governance: ESG) มาผสานในกระบวนการลงทุนมาตั้งแต่ปี 2562 ให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับกองทุนบำนาญระดับโลก และสอดคล้องแนวปฏิบัติเพื่อการลงทุนอย่างรับผิดชอบของ PRI ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งโดยสหประชาชาติเพื่อจัดทำและส่งเสริมมาตรฐานดังกล่าว (The United Nations-supported Principles for Responsible Investment : PRI) และ กบข. ได้ร่วมเป็นสมาชิกในปี 2562 ทั้งนี้ กบข. และธนาคารโลกมีเป้าหมายร่วมกันที่จะให้ กบข. เป็นต้นแบบ “กรณีศึกษาต้นแบบ” (Showcase) ของกองทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการบริหารจัดการเงินลงทุน โดยใช้ปัจจัยด้าน ESG อย่างเต็มรูปแบบ นายวิทัยฯ กล่าว
สำหรับรายละเอียดลักษณะความร่วมมือนั้น นายวิทัยฯ กล่าวว่า มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ คือ 1. การจัดทำแผนกลยุทธ์การลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัย ESG, 2. การนำปัจจัย ESG มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการบริหารจัดการลงทุนของ กบข. รวมถึงการพัฒนาระบบคะแนนด้านความยั่งยืน (ESG Scoring System) เพื่อใช้ในการประเมินมูลค่าตราสารทุนและตราสารหนี้ในการลงทุน, 3. การจัดทำแนวทางนำปัจจัย ESG มาเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการสรรหาผู้จัดการกองทุนภายนอก, และ 4. การจัดทำกรอบการกำกับ ติดตาม และจัดทำรายงานผลการดำเนินกลยุทธ์การลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัย ESG มาใช้ของ กบข.
นายวิทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การร่วมมือกับธนาคารโลกในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญและสอดคล้องกับเป้าหมายเป็นผู้นำและผู้ริเริ่มนวัตกรรมด้านการลงทุนโดยคำนึงปัจจัย ESG (Leader in ESG Investing and Initiatives) ของ กบข. โดยในปีที่ผ่านมา กบข. ได้ริเริ่มหลากหลายแผนงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายดังกล่าว อาทิ การจัดตั้ง ESG-focused Portfolio ที่มีการลงทุนเฉพาะหุ้นไทยที่คำนึงปัจจัย ESG และเป็นการนำ THSI Index ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาใช้เป็นรายแรกของประเทศไทย การริเริ่มโครงการลงนามประกาศเจตนารมณ์แนวปฏิบัติ “การระงับลงทุน” (Negative List Guideline) กับบริษัทจดทะเบียนที่มีประเด็นปัญหา ESG มีนักลงทุนสถาบันร่วมลงนาม 32 ราย การปรับกระบวนการลงทุนของ กบข. โดยนำปัจจัยด้าน ESG เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในทุกขั้นตอน (ESG Integration into Investment Process) การนำปัจจัย ESG มาเป็นหนึ่งในเกณฑ์พิจารณาคัดเลือกผู้จัดการกองทุนภายนอก รวมถึง การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (TRBN) เป็นต้น
ด้านนางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกมีความยินดีอย่างมากที่จะทำงานร่วมกันกับ กบข. และหน่วยงานกำกับตลาดการเงิน เพื่อช่วยให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่สำคัญสำหรับการปฏิบัติการทางการเงินที่เป็นสีเขียวและความยั่งยืน ธนาคารโลกหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะทำให้ กบข.สามารถนำวิธีการทางการเงินเพื่อความยั่งยืนในระดับสากลมาปรับใช้ในกระบวนการลงทุนและจัดหาเครื่องมือเพื่อที่จะ นำทางและสร้างความเป็นเลิศในตลาดการเงินภายในประเทศของประเทศไทยได้
ทั้งนี้ กบข. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก และจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก กบข. มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ มีคณะกรรมการ กบข. เป็นผู้กำหนดนโยบาย โดยปัจจุบัน กบข. มีสมาชิกประมาณ 1.1 ล้านคน ส่วนมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ณ วันที่ 4 ธ.ค.62 จะมีทั้งสิ้น 940,000 ล้านบาท