ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ออกคำสั่งให้กองทัพเรือคืนยศแก่สมาชิกหน่วยนาวีซีลซึ่งต้องคดีก่ออาชญากรรมสงครามในอิรัก และไล่ออกรัฐมนตรีทบวงทหารเรือที่พยายามคัดค้านเรื่องนี้ ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์เรื่องการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายทหาร และนับเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความยุ่งยากที่กองทัพสหรัฐฯ กำลังเผชิญจากการใช้อำนาจเกินขอบเขตของประธานาธิบดี
สัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์ ท้าทายอำนาจของเพนตากอนด้วยการเพิกถอนคำสั่งลดยศ เอ็ดเวิร์ด กัลลาเกอร์ (Edward Gallagher) ทหารหน่วยซีลที่ก่อคดีแทงนักโทษรัฐอิสลาม (ไอเอส) เสียชีวิตในอิรัก และยังขอให้กองทัพเรือยุติกระบวนการสอบสวน peer review ซึ่งอาจจะนำไปสู่การขับไล่ทหารผู้นี้ออกจากหน่วยซีล
ทรัมป์ อ้างว่าที่เขาทำลงไปทั้งหมดก็เพื่อปกป้อง “วีรบุรุษสงคราม” ของชาวอเมริกันที่กำลังถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม
ศาลทหารตัดสินยกฟ้อง กัลลาเกอร์ เมื่อเดือน ก.ค. สำหรับข้อหาฆาตกรรมนักโทษไอเอสที่ได้รับบาดเจ็บในอิรักโดยการใช้มีดแทงเข้าไปที่คอของเขา แต่ยังคงมีความผิดฐานถ่ายรูปคู่กับศพนักโทษ ซึ่งทำให้ต้องถูกลดยศ
ทรัมป์ ถูกดึงเข้ามาเกี่ยวกับกรณีของ กัลลาเกอร์ หลังจากที่สื่อฟ็อกซ์นิวส์ออกมากระพือข่าวการลงโทษนายทหารผู้นี้จนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองสำหรับฝ่ายอนุรักษนิยม
เจ้าหน้าที่ในกองทัพเรือหลายคนเกรงว่า หาก กัลลาเกอร์ ไม่ได้รับโทษใดๆ เลยจากการสังหารนักโทษในอิรักจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดี และทำให้หน่วยซีลคนอื่นๆ คิดว่าพวกเขาก็สามารถฝ่าฝืนกฎหมายสงครามได้โดยไม่ถูกลงโทษ
“นี่คือการแทรกแซงที่ไร้ความรับผิดชอบของประธานาธิบดี ทรัมป์ ต่อกระบวนการยุติธรรมของฝ่ายทหาร” ส.ว. แจ็ค รีด จากพรรคเดโมแครต ให้สัมภาษณ์เมื่อวันจันทร์ (25 พ.ย.) “มันจะทำให้ทหารคนอื่นๆ เข้าใจว่าพวกเขาเองก็สามารถฝ่าฝืนหลักนิติธรรมและอนุสัญญาเจนีวาได้”
เมื่อวันจันทร์ (24) มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ มีคำสั่งไล่ออก ริชาร์ด สเปนเซอร์ รัฐมนตรีทบวงทหารเรือ (Secretary of the Navy) ซึ่งออกมาคัดค้านการแทรกแซงของทรัมป์ นอกจากนี้ยังลงความเห็นว่า กัลลาเกอร์ สมควรที่เป็นเจ้าของเข็มกลัดเกียรติยศ ‘ไทรเดนท์’ ของหน่วยซีลต่อไป ซึ่งเท่ากับสั่งปิดการสอบสวนของกองทัพเรือไปโดยปริยาย
ทรัมป์ ออกมาชื่นชมการตัดสินใจของบอสเพนตากอน โดยทวีตข้อความว่า “เอ็ดดี้จะได้เกษียณอายุอย่างสงบสุขพร้อมด้วยเกียรติยศทุกประการที่เขาเคยได้รับ รวมถึงเข็มกลัดไทรเดนท์ด้วย”
สเปนเซอร์ ได้เขียนจดหมายยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับทรัมป์ และย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้อง “รักษาไว้ซึ่งกฎระเบียบและวินัยของทหารทุกลำดับชั้น”
“หลักนิติธรรมคือสิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากศัตรู” สเปนเซอร์ ระบุ “แต่ก็น่าเสียดายที่มันชัดเจนแล้วว่า ตัวผมเองไม่ได้มีความเข้าใจตรงกันกับท่านผู้บัญชาการสูงสุด (Commander in Chief) ซึ่งเป็นคนแต่งตั้งผม”
ชัค ชูเมอร์ แกนนำ ส.ว. เดโมแครต กล่าวชื่นชม สเปนเซอร์ ที่ “กล้าลุกขึ้นค้านประธานาธิบดี ทรัมป์ เมื่อเขาทำผิด ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในรัฐบาลและพรรครีพับลิกันส่วนใหญ่ไม่กล้าทำ”
อย่างไรก็ดี โฆษกกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวอีกด้านหนึ่ง โดยยืนยันว่ารัฐมนตรีทบวงทหารเรือผู้นี้เคยพยายามติดต่อกับทำเนียบขาวโดยไม่แจ้งให้ เอสเปอร์ รับทราบมาก่อน และเสนอว่าจะยอมคืนยศให้แก่ กัลลาเกอร์ รวมถึงอนุญาตให้เขาเกษียณอายุโดยมีเข็มกลัดไทรเดนท์ ขอเพียง ทรัมป์ ไม่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการภายในของกองทัพเรือ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวขัดแย้งสิ้นเชิงกับจุดยืนที่ สเปนเซอร์ ประกาศต่อสาธารณชน
กรณีของ เอ็ดเวิร์ด กัลลาเกอร์ ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ทรัมป์ เขามาสร้างความปั่นป่วนต่อกิจการของกองทัพสหรัฐฯ
เมื่อต้นปีนี้ ทรัมป์ ได้ใช้อิทธิพลบีบให้กระทรวงกลาโหมปฏิเสธข้อเสนอการประมูลของแอมะซอน (Amazon) ในโครงการ Joint Enterprise Defense Infrastructure หรือ JEDI โครงการติดตั้งระบบคลาวด์คอมพิวเตอร์เพื่อการจัดเก็บข้อมูลลับของเพนตากอนซึ่งมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ เนื่องจากแอมะซอนนั้นเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบ่อยๆ
หนังสือชีวประวัติเล่มใหม่ของ เจมส์ แมตทิส อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งเขียนโดย กาย สน็อดกราสส์ เผยข้อมูลว่า ทรัมป์ เคยสั่งให้ แมตทิส “เขี่ยแอมะซอนออกจากโครงการประมูล” และล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้ว เพนตากอนก็ตัดสินใจมอบสัญญารับเหมาติดตั้งระบบคลาวด์ให้แก่ ไมโครซอฟต์
ผู้นำสหรัฐฯ ยังดำเนินนโยบายที่ทำให้กองทัพปวดเศียรเวียนเกล้าอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่บีบให้กระทรวงกลาโหมเจียดงบประมาณราว 3,600 ล้านดอลลาร์มาสร้างกำแพงกั้นเม็กซิโก, กล่าวโจมตีชาติพันธมิตรนาโต, หันหลังให้กับสนธิสัญญาควบคุมอาวุธ และยังไปผูกมิตรกับผู้นำ คิม จองอึน แห่งเกาหลีเหนือ ในขณะมิตรเก่าแก่อย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นกลับถูก ทรัมป์ ขูดรีดให้เพิ่มเงินอุดหนุนทหารอเมริกัน
ทรัมป์ ยังเคยเรียกร้องให้เพนตากอนจัดพิธีสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่เพื่อประกาศแสนยานุภาพของอเมริกา และสั่งถอนทหารออกจากซีเรียและอัฟกานิสถานในเดือน ธ.ค. จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีกลาโหม แมตทิส ยื่นใบลาออก
นักวิเคราะห์เชื่อว่าหลายๆ คำสั่งของ ทรัมป์ มีจุดประสงค์เพียงเพื่อเอาใจชาวอเมริกันสายอนุรักษนิยมที่เป็นฐานเสียงหลักของเขา มากกว่าเกิดจากการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลในแง่ยุทธศาสตร์
“พวกผู้นำระดับสูงของกองทัพกำลังตกที่นั่งลำบาก” มารา คาร์ลิน ผู้อำนวยการแผนกยุทธศาสตร์ศึกษาของวิทยาลัยนานาชาติศึกษาขั้นสูง มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ระบุ “ในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับพลเรือน สิ่งที่ประธานาธิบดีทำไม่ใช่เรื่องของเดโมแครตหรือรีพับลิกัน แต่เป็นความผิดปกติทางหน้าที่ (dysfunctionality)”
ปีเตอร์ ฟีเวอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ทหาร-พลเรือนจากมหาวิทยาลัยดยุคชี้ว่า ความไม่ลงรอยระหว่างทำเนียบขาวกับเพนตากอนรุนแรงเป็นพิเศษในยุคของทรัมป์ และการที่ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ฟังคำทักท้วงของที่ปรึกษาทหารก็ทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และยังเป็นเหตุให้กองทัพต้องสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถไปอย่างน่าเสียดาย