(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.asiatimes.com)
Vandalism is a necessary tactic, say HK vanguard
By Jeff Pao
14/11/2019
พวกนักเคลื่อนไหวประท้วงที่ฮ่องกง ยืนยันว่าการทำลายทรัพย์สินร้านรวง ตลอดจนการปิดกั้นถนนและขัดขวางการเดินรถไฟใต้ดิน เป็นหนทางที่ทรงประสิทธิภาพในการบีบคั้นกดดันรัฐบาล
การทุบทำลายร้านค้าต่างๆ และการปิดกั้นถนนหนทางสัญจร อาจทำให้ชีวิตไม่น่ารื่นรมย์สำหรับชาวบ้านชาวเมืองผู้พำนักอาศัยอยู่ในฮ่องกง แต่มันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเพียงวิธีเดียวเท่านั้นซึ่งสามารถสร้างแรงบีบคั้นกดดันรัฐบาลได้ ทั้งนี้ตามความเห็นของผู้ประท้วงบางรายซึ่งให้สัมภาษณ์ เอเชียไทมส์ จากย่านเซนทรัล (Central) บนเกาะฮ่องกงเมื่อวันพุธ (13 พ.ย.) ที่ผ่านมา
แซม (Sam) วัย 25 มีซึ่งมีอาชีพเป็นครู บอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นหนทางเดียวเท่านั้นซึ่งทางฝ่ายผู้ประท้วงสามารถที่จะใช้ผลักดันข้อเรียกร้องของพวกเขาให้คืบหน้าไปได้
“จากเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา ประชาชนได้ทำการประท้วงอย่างสันติ แต่รัฐบาลไม่ยอมรับฟังเลย” นี่คือคำพูดของแซม ผู้เคยศึกษาในสหรัฐฯ และจบปริญญาโท “มันเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราจะไม่ได้อะไรเลยจากการประท้วงอย่างสันติ”
เขากล่าวว่า ด้วยการก่อกวนขัดขวางกิจกรรมต่างๆ ทางธุรกิจในฮ่องกง และการสร้างความเสียหายให้แก่อาคารทรัพย์สินต่างๆ ในที่สุดแล้วภาคธุรกิจก็อาจจะรู้สึกว่าถูกบังคับให้ต้องช่วยเหลือพวกผู้ประท้วง ด้วยการไปกดดันรับบาลให้ยินยอมที่จะประนีประนอมอ่อนข้อ
เขาบอกว่า ตัวเขาเองจะไม่มีทางไปทำร้ายผู้คน แต่ก็เสริมด้วยว่า มันเป็นเรื่องยอมรับได้ในเรื่องการทุบทำลายร้านรวงและธนาคารต่างๆ เนื่องจากอาคารทรัพย์สินเป็นสิ่งที่สามารถซ่อมแซมได้
เขากล่าวว่า เขาไม่ได้ต้องการที่จะให้ยุตินโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” หรือให้มีการใช้ยุทธศาสตร์ “lam chao” ซึ่งเป็นภาษากวางตุ้งแปลว่า “ตายไปด้วยกัน”
แต่ถ้า “การตายไปด้วยกัน” เกิดขึ้นมาจริงๆ สำหรับเขาแล้วต้นทุนความสูญเสียก็ถือว่าน้อยนิดเดียว เนื่องจากงานที่เขาทำอยู่ได้เงินเดือนเพียงแค่เดือนละ 20,000 ดอลลาร์ฮ่องกง (ราว 77,000 บาท) เขามีบัญชีธนาคารซึ่งมีเงินอยู่เพียงแค่ 40,000 – 50,000 ดอลลาร์ฮ่องกง โดยที่เขาไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ใดๆ หรือถือหุ้นอะไรทั้งสิ้น เขากล่าวว่าคนหนุ่มสาวในฮ่องกงจำนวนมากอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเขา – นั่นคือตกเป็นเหยื่อของราคาบ้านและที่ดินซึ่งแพงลิบลิ่ว และมีช่องทางในการเปลี่ยนฐานะทางสังคมที่จำกัดมากๆ
เมื่อพูดถึงเรื่องสหรัฐฯให้ความสนับสนุนขบวนการต่อสู้นี้ เขาให้ความเห็นว่าทางผู้ประท้วงไม่ควรพึ่งพาอาศัยวอชิงตันมากจนเกินไป โดยที่วอชิงตันนั้นต้องการให้ฝ่ายผู้ประท้วงหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง เขากล่าวเสริมว่าขณะที่เขาหวาดกลัวว่าอาจจะถูกจับกุม แต่เขาก็ยังคงต้องการเข้าร่วมการประท้วง เท่าที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ เขากับเพื่อนๆ ยังคงสามารถหาหนทางหลีกหนีไม่ให้ถูกจับ
มีผู้ประท้วงหลายร้อยคนในฮ่องกงที่ถูกจับกุมตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากชุมนุมเรียกร้องกันตามเขตต่างๆ หลากหลายทั่วทั้งนครแห่งนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยินยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องรวม 5 ประการของพวกเขา อาทิเช่น การจัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่าตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างโหดเหี้ยม และการนำเอาเรื่องสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นการทั่วไป (universal suffrage) มาใช้ปฏิบัติกันอย่างแท้จริง
การปะทะกันระหว่างพวกผู้ประท้วงกับตำรวจได้ยกระดับความรุนแรงมากขึ้นยิ่ง นับตั้งแต่การเสียชีวิตเมื่อวันศุกร์ (8 พ.ย.) ที่แล้ว ของ โจว จือลก (Chow Tsz-lok) วัย 22 ปี ผู้ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสระหว่างการประท้วงเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน เมื่อวันเสาร์ (9 พ.ย.) พวกผู้ประท้วงยังรู้สึกโกรธแค้นจากข่าวที่กล่าวหากันว่าตำรวจ 4 คนข่มขืนเด็กสาวอายุ 16 คนที่สถานีตำรวจเจียนหว่าน (Tsuen Wan) เมื่อวันที่ 27 กันยายน ก่อนหน้านี้ ก็มีการพบศพในสภาพเปลือยของ ชาน ยินลัม (Chan Yin-lam) เด็กสาววัย 15 ปี ในทะเลที่ เยาทง (Yau Tong) เมื่อวันที่ 22 กันยายน ตำรวจแถลงว่าเธอฆ่าตัวตาย
ขณะเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้พวกผู้ประท้วงได้เปลี่ยนแปลงคำขวัญของพวกตนจาก “ชาวฮ่องกง ลุกฮือต่อต้าน!” (Hong Kong people, rebel!) มาเป็น “ชาวฮ่องกง แก้แค้น!” (Hong Kong people, revenge!) ประธานคณะรัฐมนตรี (Chief Secretary) ของฮ่องกง แมตทิว เชือง (Matthew Cheung) กล่าวในระหว่างการประชุมของสภานิติบัญญัติแห่งฮ่องกง (Legislative Council of Hong Kong) ในวันพุธ (13 พ.ย.) ว่า เขาไม่สามารถระบุสาเหตุใหญ่ที่สุดที่ทำให้สาธารณชนโกรธแค้นได้ ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ผู้บริหารสูงสุด (Chief Executive) แคร์รี ลัม (Carrie Lam) ได้เคยกล่าวประณาม “พวกผู้ก่อจลาจลที่เห็นแก่ตัว” ว่าเป็นตัวการทำให้ฮ่องกงเกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย พร้อมกับชี้ว่าคนเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรในสังคม และด้วยเหตุนี้จึงรู้สึกว่าไม่มีอะไรที่จะสูญเสีย
“สิ่งที่ผมต้องการคือความยุติธรรม!” เบนจามิน ชาน (Benjamin Chan) วัย 22 ปี บอกกับเอเชียไทมส์ “มีการตายที่น่าสงสัยข้องใจจำนวนมากเกิดขึ้นในเมืองนี้ ขณะที่รัฐบาลไม่ได้มีความตั้งใจที่จะสอบสวนคดีเหล่านี้ให้กระจ่าง”
“มันเป็นเรื่องน่าหัวเราะเยาะที่พูดว่า พวกผู้ประท้วงไม่ได้มีอะไรที่จะสูญเสียในขบวนการเคลื่อนไหวนี้” เขากล่าวต่อ โดยแจกแจงว่า มันอาจจะเป็นความจริงที่ว่าคนหนุ่มสาวจำนวนมากไม่ได้มีทรัพย์สินบ้านช่องหรือถือหุ้นใดๆ แต่พวกเขาก็ต้องเอาชีวิตของพวกเขาเองตลอดจนโอกาสในการทำงานมาเสี่ยง ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของฮ่องกง
เขาบอกอีกว่าคณะบริหารของลัมได้สูญเสียความน่าเชื่อถือของตนไปแล้ว แต่เธอก็ยังคงปฏิเสธไม่ยอมลงจากตำแหน่ง เขากล่าวว่านอกเหนือจากต้องทำตามข้อเรียกร้อง 5 ประการแล้ว รัฐบาลยังต้องใช้ความพยายามอย่างแข็งขันเพื่อกอบกู้ฟื้นคืนความไว้วางใจของประชาชนฮ่องกงอีกด้วย
ชานบอกว่าโดยส่วนตัวเขาเห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ในการใช้กำลังเพื่อตอบโต้ “พวกริบบิ้นสีฟ้า” ซึ่งหมายถึงพวกคนที่โปรปักกิ่ง ณ สถานที่ทำการประท้วง เนื่องจากคนเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อผู้ประท้วง เขากล่าวว่า เป็นเพราะตำรวจมีความโน้มเอียงที่จะเข้าข้างคนเหล่านี้ พวกริบบิ้นสีฟ้าจึงคิดว่าพวกตน “ไม่มีอะไรจะต้องเสีย” ถ้าพวกตนเข้าทำร้ายผู้ประท้วง
“ซัดพวกมันให้หมอบ ก็จะสามารถใช้เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปถึงคนเหล่านี้ว่า มันมีต้นทุนนะที่จะมาทำร้ายผู้ประท้วง” เขาบอก
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ชายผู้หนึ่งซึ่งกวัดแกว่งมีดที่ถืออยู่ในมือ ได้ฟันแทงผู้คนจำนวนมาก แล้วยังกัดหูของนักการเมืองฝ่ายโปรประชาธิปไตยคนหนึ่งจนขาดไปส่วนหนึ่ง ในย่าน ไท่คูชิง (Taikoo Shing) บนเกาะฮ่องกง ครั้นเมื่อเขาพยายามทำร้ายคนเพิ่มขึ้นอีก เขาก็ถูกคนที่อยู่ใกล้ๆ รุมทุบตีจัดการให้สงบลงมา
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ชายที่เป็นพวกโปรปักกิ่งผู้หนึ่งพยายามที่จะกักตัวผู้ประท้วงบางคนเอาไว้ในสถานีรถไฟใต้ดินหม่าออนซาน (Ma On Shan) จากนั้นเขาก็โต้เถียงกับพวกชาวบ้านบางคนบนสะพานแห่งหนึ่ง ทันใดนั้นบุคคลที่สวมหน้ากาผู้หนึ่งได้เทของเหลวติดไฟได้เข้าใส่ชายผู้นั้น แล้วก็จุดไฟจนลุกท่วมตัวเขา ไฟได้ถูกดับไปภายในไม่กี่วินาที และคลิปวิดีโอเหตุการณ์นี้ก็แพร่กระจายออกไปทั่วโลก
“ชาวต่างประเทศจำนวนมากดูวิดีโอเพียงไม่กี่คลิป แล้วก็ตัดสินวินิจฉัยออกมาทันทีว่าพวกผู้ประท้วงเป็นฝ่ายผิด รัฐบาลเป็นฝ่ายถูก” เควิน บิลส์ (Kevin Bills) วัย 25 ปีกล่าว เขาเป็นชาวปากีสถานที่เกิดในฮ่องกงและเวลานี้ทำงานอยู่ในภาคการเงิน
เขาบอกว่าเขาเข้าอกเข้าใจดีว่าพวกคนหนุ่มสาวฮ่องกงจำนวนมากเกิดความรู้สึกว่าตาสว่าง และมีความหงุดหงิดผิดหวัง เขากล่าวว่าประชาชนฮ่องกงนั้นยึดมั่นอยู่กับกฎหมายพื้นฐาน (Basic Law) มาตั้งแต่ปี 1997 แต่ยังคงไม่สามารถที่จะได้รับประชาธิปไตยตามที่พวกเขาต้องการภายหลังเวลาผ่านไป 22 ปี
รัฐบาลควรที่จะเผชิญหน้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า ตนเองไม่สามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ในฮ่องกงเอาไว้ได้ เพราะมีประชาชนอย่างน้อยที่สุด 2 ล้านคนที่คัดค้านต่อต้าน บิลส์บอก
เขากล่าวอีกว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลในการเปิดการสนทนากับพวกผู้ประท้วงนั้นคือเมื่อ 10 สัปดาห์ก่อน ตอนที่ยังไม่ได้มีความรุนแรงตามท้องถนนเยอะแยะมากมาย อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่ามันไม่ใช่เรื่องสายเกินไปหรอกที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนหนุ่มสาวและแก้ไขคลี่คลายความกังวลห่วงใยต่างๆ ของพวกเขา
บิลส์บอกด้วยว่าเขากำลังช่วยเหลือพวกผู้ประท้วงด้วยการนำเอาอาหารและน้ำดื่มมาให้ภายหลังที่เขาเสร็จสิ้นงานของวันนั้นๆ เขาเสริมอีกว่าเขายินดีต้อนรับชาวต่างประเทศให้มาเยือนฮ่องกงเพื่อเรียนรู้สถานการณ์
ดอร์ตา (Dorta) นักท่องเที่ยวจากโปแลนด์ เดินทางมาฮ่องกงเมื่อวันอังคาร (12 พ.ย.) เพื่อเยี่ยมเยียนเป็นเวลา 7 วัน ด้วยความวาดหวังว่าจะสามารถเข้าอกเข้าใจการประท้วงที่เกิดขึ้นได้ดีขึ้น
“ฉันถามคนหนุ่มสาวบางคนบนถนนนาธาน (Nathan Road ถนนสายสำคัญทางฝั่งเกาลูนของฮ่องกง) ว่า จะเป็นยังไงถ้าในท้ายที่สุดแล้วพวกเขาไม่ได้อะไรขึ้นมาเลย พวกเขาบอกกับฉันว่าการได้ทำอะไรบางสิ่งบางอย่างถึงยังไงก็ดีกว่าการไม่ทำอะไรเลย และฉันเห็นด้วยกับความเห็นนี้” ดอร์ตา กล่าว “พวกผู้ประท้วงฮ่องกงนั้นกล้าหาญที่ยืนหยัดประท้วงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย”
เธอบอกว่าพวกผู้ประท้วงสวมเสื้อดำนั้นดีกับเธอมากๆ โดยพวกเขาให้หน้ากากแก่เธอเมื่อตำรวจเริ่มต้นยิงแก๊สน้ำตาในย่านมองก็อก (Mong Kok) ของเกาลูนในคืนวันอังคาร (12 พ.ย.)
ดอร์ตายอมรับว่าเธอไม่ได้รู้เรื่องอะไรนักเกี่ยวกับฮ่องกง แต่ก็ได้เฝ้าดูการคลี่คลายของเหตุการณ์ผ่านทางข่าวทีวี โดยหลักๆ แล้วคือทางบีบีซี เธอบอกว่าเธอได้ดูข่าวเรื่องพวกผู้ประท้วงที่ถูกคุมขังอยู่กำลังถูกล่วงละเมิด
เธอกล่าวว่าเธอเองเคยประท้วงต่อต้านพวกคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์เมื่อ 10 ปีก่อน และเคยถูกจับครั้งหนึ่งโดยถูกขังเอาไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง แต่เธอไม่เคยถูกล่วงละเมิดในทางร่างกาย
อย่างไรก็ตาม เธอกล่าวว่าเธอไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีในการทุบทำลายร้านค้าและธนาคารต่างๆ
“เมื่อตอนที่ประชาชนโปแลนด์สู้รบคัดค้านพวกคอมมิวนิสต์ในอดีตนั้น เราไม่ได้มีการทุบทำลายข้าวของ” เธอกล่าว โดยอ้างอิงถึงขบวนการ “โซลิดาริตี้” (Solidarity) ของประเทศยุโรปตะวันออกแห่งนั้น ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1980 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://en.wikipedia.org/wiki/History_of_Solidarity)
ทางด้านครูฮ่องกงแซ่ชาน (Chan) วัย 52 ปี บอกว่าเขาก็ไม่เห็นด้วยกับการเที่ยวทุบทำลายข้าวของร้านค้า ถึงแม้เขาเข้าใจดีว่าทำไมผู้ประท้วงบางคนจึงหันไปใช้ยุทธวิธีเช่นนี้
“ถ้ามีเด็กคนหนึ่งทุบทำลายข้าวของในบ้าน บางทีอาจจะเป็นเพราะพ่อแม่ทำอะไรบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง” ชาน บอก “ถ้าฮ่องกงเป็นเด็กคนหนึ่ง และปักกิ่งเป็นพ่อแม่ เราก็จำเป็นต้องบอกปักกิ่งให้ปรับปรุงแก้ไขและเป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้นกว่านี้”
ชานกล่าวว่าการปิดกั้นถนนอาจเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจ และมันอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการเข้าโจมตีทุบทำลายพวกร้านค้าและทำร้ายผู้คนที่โปรปักกิ่ง
“ปักกิ่งทำให้ประชาชนฮ่องกงเกิดความรู้สึกประทับใจขึ้นมาว่า ปักกิ่งแคร์เพียงแค่ 2 อย่าง นั่นคือ เศรษฐกิจของฮ่องกง กับเรื่องที่ว่าการประท้วงรุนแรงนี้จะเกิดการเลียนแบบซ้ำรอยขึ้นมาในจีนหรือเปล่า” เขา บอก
ชาน ซึ่งถือเป็นแบบฉบับของคนทำงานชนชั้นกลาง โดยที่มีลูก 2 คนและเป็นเจ้าของแฟลตห้องหนึ่ง กล่าวว่าเขาไม่ได้แคร์หรอกว่าการประท้วงจะทำให้ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกหรือเศรษฐกิจย่ำแย่หรือเปล่า เขาบอกว่าประชาชนอาจจะได้ประโยชน์ด้วยซ้ำเมื่อสินค้าต่างๆ จะมีราคาถูกลงขณะเศรษฐกิจชะลอตัว
เขากล่าวเพิ่มเติมว่า ไม่มีความจำเป็นอะไรที่ฮ่องกงจะต้องเสาะแสวงหาทางเป็นเอกราช ขณะที่รัฐบาลส่วนกลางในปักกิ่งจะยังคงดำเนินนโยบาย “หนึ่งประเทศสองระบบ” ต่อไป แทนที่จะตัดหางปล่อยวัดนครแห่งนี้
ลีโอฟอร์ต เมอร์คาโด (Leofort Mercado) ชาวฟิลิปปินส์อายุ 51 ปี เป็นผู้ที่พำนักอาศัยในฮ่องกงมาเป็นเวลา 35 ปีแล้ว และปัจจุบันมีฐานะเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร เขากล่าวว่าเขาก็สนับสนุน “หนึ่งประเทศสองระบบ” และวาดหวังว่าผู้บริหารสูงสุดลัม จะเป็นฝ่ายริเริ่มพูดจากับพวกผู้ประท้วงและทำให้สถานการณ์บรรเทาความรุนแรงลง
เขาบอกว่าเขาทำงานให้ธนาคารแห่งหนึ่งในย่านเซนทรัล และเขาวางตัวเป็นกลางในเรื่องเกี่ยวกับการเมืองท้องถิ่น เขาถือหนังสือเดินทางของฟิลิปปินส์และใช้สิทธิออกเสียงในฟิลิปปินส์
“การประท้วงได้สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจฮ่องกง และควรที่จะยุติลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าการประท้วงยังดำเนินต่อไปแล้ว มันก็จะยิ่งกระทบกระเทือนธุรกิจต่างๆ ของท้องถิ่น รวมไปถึงธนาคารที่ผมทำงานอยู่” เขากล่าว
ความเห็นเช่นนี้ของเขาได้รับการหนุนเสริมให้เข้มแข็งขึ้นอีกในคืนวันอังคาร (12 พ.ย.) เมื่อพวกผู้ประท้วงเข้าทุบทำลายข้าวของในศูนย์การค้า “เฟสติวัลวอล์ค” (Festival Walk) ในย่านเกาลูนทง (Kowloon Tong) และจุดไฟเผาต้นคริสต์มาส พวกประท้วงร้องเรียนว่าศูนย์การค้าแห่งนี้ได้ต้อนรับยินดีให้ตำรวจปราบจลาจลเข้าไปจับกุมคนที่นั่นเมื่อวันอาทิตย์ (10 พ.ย.)
เมอร์คาโดบอกว่า เขาไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ใดๆ ในฮ่องกง แต่หุ้นที่เขาถืออยู่มีราคาตกลงตลอดเดือนที่แล้ว เขากล่าวว่าถ้าสถานการณ์ในฮ่องกงยิ่งเลวร้ายลงไปอีก เขาก็อาจจะโยกย้ายกลับไปฟิลิปปินส์จนกว่าเสถียรภาพจะหวนกลับคืนมา