นับเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจับตามอง เมื่อนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน แห่งกัมพูชามีคำสั่งปล่อยตัว กึม โสะคา (Kem Sokha) หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (Cambodia National Rescue Party - CNRP) ออกจากการกักบริเวณภายในบ้านพักเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ย. ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามลดแรงบีบจากนานาชาติที่มีต่อรัฐบาลพรรคเดียวของเขา ขณะที่อีกด้านหนึ่งความปรานีของ ฮุน เซน คราวนี้ก็ถูกตีความว่าอาจจะเป็นกลยุทธ์เสี้ยมฝ่ายค้านให้แตกคอกันเอง
CNRP หรือที่เรียกในภาษาเขมรว่า “พรรคสงเคราะห์ชาติ” ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2012 โดยสองแกนนำฝ่ายค้านคนสำคัญคือ กึม โสะคา และ สม รังสี (Sam Rainsy) ซึ่งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สม ซึ่งลี้ภัยอยู่ต่างประเทศได้วางแผนที่จะนำลูกพรรคและแรงงานเขมรในไทยเดินขบวนต่อต้านรัฐบาล ฮุน เซน ข้ามชายแดนไปจนถึงกรุงพนมเปญในวันที่ 9 พ.ย. ซึ่งเป็นวันเอกราชของกัมพูชา
อย่างไรก็ดี แผนดังกล่าวไม่สำเร็จตามที่หวัง เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่อนุญาตให้ สม และพันธมิตรเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งขณะนี้ สม และแกนนำพรรค CNRP หลายคนยังคงปักหลักอยู่ที่มาเลเซีย
หลังได้รับอิสรภาพ กึม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ผมในฐานะผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกักขังโดยไร้ความผิดมานานถึง 2 ปี ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเพิกถอนข้อกล่าวหาทั้งหมด และแม้คำสั่งปล่อยตัวจะเป็นก้าวแรกที่ดี แต่ผมและชาวกัมพูชาที่สูญเสียสิทธิทางการเมืองยังต้องการทางออกที่แท้จริง และความยุติธรรม”
นักวิเคราะห์เชื่อว่านายกฯ ฮุน เซน เลือกที่จะปล่อยตัว กึม ในช่วงนี้ก็เพื่อบรรเทาแรงกดดันจากชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งขู่จะระงับสิทธิพิเศษทางการค้าที่กัมพูชาได้รับตามโครงการ Everything But Arms (EBA) ความช่วยเหลือที่อียูมอบให้ 47 ประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก
ตลอดอียูครองสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมดของกัมพูชา ดังนั้นการถูกระงับสิทธิ์ยกเว้นภาษีย่อมจะส่งผลเสียร้ายแรงต่อเศรษฐกิจเขมรที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ
แพทริค เมอร์ฟีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำกัมพูชา ออกมากล่าวชื่นชมรัฐบาลเขมรที่ยอมปล่อยตัว กึม โสะคา แต่ก็เรียกร้องให้คืนสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพแก่ผู้นำฝ่ายค้านอย่างสมบูรณ์ด้วย
CNRP เป็นพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่งของกัมพูชาที่เคยได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวตถึง 44% ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2013 และศึกเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2017 กระทั่งมาถูกศาลสั่งยุบพรรคในเดือน พ.ย. ปี 2017 ด้วยข้อหาขายชาติ สมคบคิดกับสหรัฐฯ ปลุกระดมมวลชนเพื่อทำ “ปฏัวัติสี” (color revolution) โค่นล้มรัฐบาล ฮุน เซน
เมื่อปราศจากคู่แข่ง พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People’s Party - CPP) ของนายกฯ ฮุน เซน ก็เลยกวาดที่นั่ง ส.ส.เกลี้ยงสภาทั้ง 125 คนในศึกเลือกตั้งปี 2018 กุมอำนาจทางการเมืองไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ
สหรัฐฯ และอียูประณามผลการเลือกตั้งครั้งนี้ว่าไร้ซึ่งความชอบธรรม และไม่ได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของชาวกัมพูชา พร้อมขู่ใช้มาตรการคว่ำบาตรหากรัฐบาลพนมเปญไม่ยอมปล่อยตัว กึม โสะคา, เพิกถอนคำสั่งยุบพรรค CNRP และดำเนินการปฏิรูปทางการเมืองอย่างมีความหมาย
ทั้งนี้ กึม โสะคา ยังไม่ได้ถูกถอนข้อหากบฏ และไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศหรือทำกิจกรรมทางการเมืองได้ โดยรัฐบาลกัมพูชาเองก็ไม่ได้บอกว่าจะเริ่มไต่สวนความผิดของเขาเมื่อใด
สำหรับโทษกักบริเวณในบ้านพักถือเป็นข้อกำหนดใหม่ที่รัฐบาลกัมพูชานำมาใช้กับ กึม โสะคา เป็นรายแรก เพื่อที่จะคุมขังแกนนำฝ่ายค้านได้เป็นเวลานานโดยไม่ต้องไต่สวน
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ และฝรั่งเศสเดินทางเข้าพบ กึม โสะคา ที่บ้านพักในกรุงพนมเปญเมื่อวันจันทร์ (11) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ต่างชาติได้รับอนุญาตให้พบ กึม ตั้งแต่เขาถูกจับในปี 2017
ทีมทนายของ กึม ร้องเรียนว่า ตลอดหลายเดือนมานี้ผู้นำฝ่ายค้านไม่เคยได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ซึ่งศาลเทศบาลกรุงพนมเปญก็ยอมรับว่าปัญหาสุขภาพเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ กึม ได้รับการปล่อยตัว
การปล่อยตัว กึม โสะคา มีขึ้นเพียง 1 วันหลังจากที่ สม รังสี และแกนนำพรรค CNRP ล้มเหลวในการเดินทางกลับเข้าประเทศในวันเอกราช
เมื่อวันที่ 7 พ.ย. สม รังสี ถูกสายการบินไทยปฏิเสธไม่ให้ขึ้นเครื่องจากสนามบิน ชาร์ลส เดอ โกล ในกรุงปารีสมายังกรุงเทพมหานคร ขณะที่ มู ซกฮัว (Mu Sochua) รองประธานพรรค CNRP ก็ถูกห้ามเดินทางเข้าไทยเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนจะมาถูกกักตัวอีกครั้งที่ท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์เมื่อวันที่ 7 พ.ย.
ฮุน เซน ประกาศจะจับกุมและแจ้งสารพัดข้อหาต่อแกนนำฝ่ายค้านที่กลับเข้ามาเหยียบแผ่นดินกัมพูชา ทั้งยังขู่ลงโทษสถานหนักต่อพลเมืองที่ร่วมเดินขบวนกับพรรค CNRP ขณะที่ โรนา สมิธ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็นในกัมพูชา ก็ออกมาแสดงความกังวลกรณีนักเคลื่อนไหว CNRP กว่า 50 คนถูกจับตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. ซึ่งทำให้จำนวนสมาชิกพรรค CNRP ที่ถูกจับในปีนี้มีไม่ต่ำกว่า 200 คนแล้ว
ซอ เคง (Sar Kheng) รัฐมนตรีมหาดไทยกัมพูชา โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 9 พ.ย. ว่า รัฐบาลไม่เคยสั่งห้ามอย่างเป็นทางการไม่ให้ สม รังสี และแกนนำ CNRP กลับเข้าประเทศ ซึ่งขัดแย้งโดยสิ้นเชิงกับสิ่งที่กัมพูชาทำในช่วง 2-3 เดือนมานี้ ทั้งการร้องขอไม่ให้เพื่อนบ้านอาเซียนรับผู้นำ CNRP เข้าประเทศ หรือขู่ลงโทษสายการบินเอกชนที่อนุญาตให้นักการเมืองฝ่ายค้านขึ้นเครื่องเข้ากัมพูชา
มีรายงานว่านายกฯ ฮุน เซน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัมพูชาหลายคนได้หารือกับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ บ่อยขึ้นในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ และดูเหมือนวอชิงตันเองก็จะเพลาๆ การวิจารณ์ความถดถอยของระบอบประชาธิปไตยในกัมพูชาลงมาก เนื่องจากต้องการรักษาสายสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล ฮุน เซน ซึ่งกลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดจีนมากที่สุดในอาเซียนตอนนี้
นอกจากเอาใจมหาอำนาจตะวันตกแล้ว นักวิเคราะห์เชื่อว่า ฮุน เซน น่าจะมีแผนเสี้ยมให้สองแกนนำฝ่ายค้านกัมพูชาแตกคอกันเองด้วย เพราะการที่ กึม โสะคา สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีน่าจะเป็นเงื่อนไขที่พลพรรคของเขาพอใจ และไม่คิดสร้างสถานการณ์ซึ่งอาจจะทำให้ ฮุน เซน เปลี่ยนใจขึ้นมา ในขณะที่ฝ่าย สม รังสี นั้นถึงอย่างไรเสียก็คงจะต้องพยายามกลับกัมพูชาให้สำเร็จ ส่วนหนึ่งเพื่อไม่ให้ตนเอง “เสียหน้า” หลังจากที่ออกมาร้องแรกแหกกระเชอจนเป็นข่าวดังทั่วโลก และไม่ให้มวลชนฝ่ายค้านสูญเสียกำลังใจไปมากกว่านี้
ในกรณีที่ สม รังสี กลับเข้าประเทศได้สำเร็จ และถูกจับกุมอย่างที่ ฮุน เซน ขู่ไว้ สถานะของแกนนำฝ่ายค้าน 2 คนจะสลับกันทันที โดย สม รังสี เข้าไปนอนในคุก ขณะที่ กึม โสะคา ได้เป็นอิสระ และนักวิเคราะห์บางคนก็คาดการณ์ว่า กึม โสะคา น่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษเร็วๆ นี้ และอาจได้ไฟเขียวจาก ฮุน เซน ให้กลับมาเล่นการเมืองอีกด้วย
ทั้งนี้ หากรัฐบาล ฮุน เซน ไม่ยอมปล่อยตัว สม รังสี (ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น) เท่ากับว่าหนึ่งในสองผู้ก่อตั้งพรรค CNRP จะถูกบีบโดยปริยายให้ต้องเฟดตัวออกจากการเมืองเพื่อเห็นแก่อนาคตของพรรค และเมื่อปราศจากสองแกนนำที่ร่วมกันขับเคลื่อนอุดมการณ์ประชาธิปไตย CNRP ก็อาจไม่เป็นที่นิยมในกัมพูชามากเท่าแต่ก่อน