xs
xsm
sm
md
lg

กิจกรรมเศรษฐกิจจีน-ญี่ปุ่นชวนกันทรุด ตอกย้ำผลกระทบจากสงครามการค้า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเจนซีส์ - สงครามการค้าทำพิษ เศรษฐกิจสองมหาอำนาจเอเชีย ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างซวนเซ และเพิ่มความกดดันให้ต้องเร่งหามาตรการใหม่ๆ มาพลิกฟื้นสถานการณ์

ตามรายงานสำนักงานสถิติแห่งชาติ (เอ็นบีเอส) ของจีน ในวันพฤหัสบดี (14 พ.ย.) ยอดค้าปลีก ซึ่งเป็นดัชนีสำคัญที่ชี้วัดการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขยายตัว 7.2% ในเดือนที่ผ่านมา ลดลง 0.6% จากเดือนกันยายน รวมทั้งต่ำกว่าความคาดหมาย

นอกจากนั้น อัตราการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนตุลาคมก็อยู่ที่ 4.7% ชะลอลงจาก 5.8% ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 5.2% ซึ่งถือเป็นสถิติต่ำสุดนับจากที่เริ่มเก็บข้อมูลนี้ในปี 1998

ข้อมูลเหล่านี้ตอกย้ำความซบเซาของดีมานด์ในจีนและทั่วโลก รวมถึงผลกระทบจากสงครามการค้าวอชิงตัน-ปักกิ่ง

หลิว อ้ายหัว ของสำนักงานเอ็นบีเอส เตือนว่า จีนกำลังเผชิญสถานการณ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ซับซ้อน ขณะที่เศรษฐกิจภายในประเทศมีแรงกดดันขาลง

พวกนักวิเคราะห์หลายคนคาดว่า เศรษฐกิจของจีน ที่ขยายตัวได้ในอัตรา 6% ในไตรมาสที่แล้วซึ่งถือว่า ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษนั้น ยังจะต้องเผชิญอุปสรรคท้าทายอีกมากมาย

ที่ผ่านมาทางการจีนพยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีและดอกเบี้ยครั้งใหญ่ ตลอดจนถึงการยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนของต่างชาติในตลาดหุ้น

ติง ลู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ อินเตอร์เนชันแนลในจีน ชี้ว่า แนวโน้มการเติบโตที่ย่ำแย่ลงเช่นนี้ จะผลักดันให้ปักกิ่งต้องเพิ่มความพยายามในการประคับประคองเศรษฐกิจ โนมูระยังคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของจีนในไตรมาสปัจจุบันจะวูบลงมาเหลือ 5.8%


ขณะเดียวกัน แม้มีความหวังว่า การเผชิญหน้าทางการค้ากับอเมริกาใกล้คลี่คลายลงจากแนวโน้มการบรรลุข้อตกลงเฟส 1 ซึ่งอาจทำให้ทั้งสองฝ่ายยกเลิกการเรียกเก็บภาษีศุลกากรโต้ตอบกัน ทว่า ลินจ์ ราสมูสเซน จากแคปิตอล อิโคโนมิกส์ เตือนว่า ความหวังดังกล่าวอาจช่วยส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจในระยะสั้น แต่หลังจากนั้นไม่นานความสนใจจะพุ่งไปยังปัญหาระหว่างสองประเทศที่แก้ไขได้ยากกว่า ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้การเจรจาการค้าล่ม

ไม่เฉพาะจีนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากสงครามการค้าที่บ่อนทำลายห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ในวันพฤหัสบดีเช่นกัน ญี่ปุ่นรายงานว่า เศรษฐกิจของตนในไตรมาส 3 ขยายตัวบางเฉียบเพียง 0.2% จาก 1.8% ในไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลจากการทรุดดิ่งของยอดส่งออก ถือเป็นสถิติต่ำสุดนับจากที่จีดีพีญี่ปุ่นหดตัว 2% ในไตรมาส 3 ปีที่แล้ว

ทาโร่ ไซโตะ นักวิจัยระดับสูงของสถาบันวิจัยเอ็นแอลไอ ระบุว่า แม้อุปสงค์ในประเทศเติบโตแข็งแกร่งแต่ไม่สามารถชดเชยยอดส่งออกที่ทรุดลงได้ และแม้เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต้นปีหน้าแต่คงไม่มีแรงหนุนมากนัก

รัฐบาลญี่ปุ่นยังเปิดเผยว่า การบริโภคของภาคเอกชนประจำไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น 0.4% เทียบกับ 0.6% ในไตรมาสก่อนหน้า แม้มีดีมานด์แข็งแกร่งจากภาคครัวเรือนที่เร่งจับจ่ายก่อนมาตรการขึ้นภาษีการขายมีผลบังคับใช้ในเดือนที่ผ่านมาก็ตาม ขณะที่การใช้จ่ายเงินทุนเพิ่มขึ้น 0.9%

ข้อมูลล่าสุดอาจจุดชนวนการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการใช้จ่ายด้านการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่หลายคนกังวลว่า อาจได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีการขาย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่คาดว่า ผลกระทบจากการขึ้นภาษีครั้งนี้จะน้อยกว่าเมื่อปี 2014 ที่มีการขึ้นภาษีจาก 5% เป็น 8% เนื่องจากรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อผ่อนคลายผลกระทบต่อภาคครัวเรือนล่วงหน้าแล้ว

แต่ปัญหาที่ร้ายแรงกว่าน่าจะเป็นความขัดแย้งกับเกาหลีใต้ที่ส่งผลกระทบอย่างจังต่อการส่งออกของญี่ปุ่น

ยาสึโตชิ นิชิมุระ รัฐมนตรีเศรษฐกิจแดนอาทิตย์ แถลงหลังเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจว่า การส่งออกจะยังคงซบเซาจากการลดลงของดีมานด์รถยนต์และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยอมรับว่า จำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่ลดลงส่งผลลบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ความสัมพันธ์สองประเทศเอเชียตะวันออกย่ำแย่มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจากข้อพิพาททางการทูตเกี่ยวกับการชดเชยให้แก่ผู้ถูกบังคับใช้แรงงานในช่วงที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลีใต้ในอดีต และความขัดแย้งนี้ลุกลามไปสู่การค้าเมื่อโตเกียวประกาศจำกัดการส่งออกชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ให้โซล ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนดิ่งลงอย่างรุนแรงตามจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่ลดลง ขณะที่การส่งออกของญี่ปุ่นไปยังเกาหลีใต้ทรุดลง 16% ในเดือนกันยายน โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์ ทีวี คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น