xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงพาณิชย์ญี่ปุ่นเผย ‘ยอดค้าปลีก’ เดือน ต.ค. ร่วงหนักสุดในรอบกว่า 4 ปี หลังรัฐขึ้นภาษีการขาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ยอดค้าปลีกของญี่ปุ่นในเดือน ต.ค. ร่วงต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง หลังจากที่รัฐบาลปรับขึ้นภาษีการขายเป็น 10% ซึ่งทำให้ผู้บริโภคหันมาควบคุมรายจ่าย และถือเป็นสัญญาณเตือนว่าอุปสงค์ภายในประเทศเริ่มเข้าสู่ภาวะซบเซา

รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มเก็บภาษีการขายเพิ่มจาก 8% เป็น 10% ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่พอกพูนกว่า 200% ของจีดีพี และถือว่าสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์บางคนชี้ว่ามาตรการขึ้นภาษีซึ่งถูกเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้งจะยิ่งบั่นทอนแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับภาวะซบเซาทั้งในภาคส่งออกและการผลิต รวมไปถึงปัจจัยลบอื่นๆ ที่ฉุดรั้งผู้บริโภค

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ญี่ปุ่นในวันนี้ (28 พ.ย.) ระบุว่า ยอดค้าปลีกในเดือน ต.ค. ลดลง 7.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยจำพวกรถยนต์ เครื่องใช้ภายในบ้าน รวมถึงเสื้อผ้า โดยผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุด

ตัวเลขค้าปลีกในเดือน ต.ค. ยังถือว่าร่วงหนักสุดในรอบ 4 ปีครึ่ง หลังจากที่เคยดิ่งลงถึง 9.7% ในเดือน มี.ค. ปี 2015 และเลวร้ายกว่าตัวเลข 4.4% ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้

ทาโร ไซโตะ จากสถาบันวิจัย NLI ชี้ว่า อัตราการบริโภคในญี่ปุ่นซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็กำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ

“ในเมื่อรายได้ไม่เพิ่มขึ้น การบริโภคจึงไม่เติบโตตั้งแต่ก่อนที่จะมีการขึ้นภาษีแล้ว” ไซโตะ กล่าว

การร่วงของดัชนีค้าปลีกรอบนี้ถือว่ารุนแรงกว่าตอนที่ญี่ปุ่นปรับขึ้นภาษีการขายเมื่อปี 1997 และ 2014 ซึ่งสะท้อนว่ามีปัจจัยอื่นๆ ที่ฉุดรั้งการบริโภคด้วย

ยอดค้าปลีกแบบปรับฤดูกาล (seasonally-adjusted) ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมายังลดลงถึง 14.4% เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่าจีดีพีญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ขยายตัวเพียงแค่ 0.2% เรียกว่าแทบจะหยุดนิ่ง ขณะที่มูลการค่าการส่งออกในเดือน ต.ค. ก็ร่วงหนักสุดในรอบ 3 ปี

ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่อึมครึมเช่นนี้ทำให้เกิดกระแสเรียกร้องจากพรรคร่วมรัฐบาลญี่ปุ่นให้มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายพิเศษกว่า 10 ล้านล้านเยน เพื่อช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น