xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง“ ยังไม่สรุปเสนอมาตรการอุ้มเศรษฐกิจเข้า ครม.อังคารนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ชี้แรงผลักดันเศรษฐกิจปัจจุบันเหลือคลังแค่เพียงฝั่งเดียว เหตุไม่ใช่ผู้ดูแลรับผิดชอบทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ แต่เป็นหน้าที่ของแต่ละเจ้ากระทรวงจะรับผิดชอบ ส่งผลชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ จึงยังไม่เกิด แต่ย้ำฝั่งคลังเตรียมออกมาตรการเพิ่ม พร้อมตั้งเป้าปี 63 อันดับ Doing Business ของไทยต้องติด 1 ใน 20 อันดับแรก ด้าน “อุตตม สาวนายน” เผยคอยติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด พร้อมออกมาตรการดูแลเพิ่มเติม แต่ยังไม่มีข้อสรุปจะเสนอมาตรการเศรษฐกิจให้ที่ประชุมครม. พิจารณาได้ทันหรือไม่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเป็นประธานในการประชุม Doing Business ที่กระทรวงการคลัง โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เน้นด้านการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศเพื่อทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจผ่านการสร้างการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการประคับประคองเศรษฐกิจผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการส่งออก ด้านค่าครองชีพประชาชน ด้านการเบิกจ่ายจากภาครัฐ รวมถึงด้านการเกษตรที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กันด้วย

ส่วนการออกมาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจในส่วนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังนั้น รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบ ดังนั้น จึงต้องไปถามเจ้ากระทรวงแต่ละแห่ง แต่สำหรับกระทรวงการคลังนั้น ตนได้มีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และมีแนวโน้มว่าจะออกมาตรการเพิ่มเติมด้วย และในกรณีที่ยังมีข้อสงสัยถึงความเป็นเอกภาพของทีมเศรษฐกิจหลังไม่มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ๆ โดยรวมจากทุกกระทรวงดังเช่นที่ผ่านมา ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจมีไม่มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงขับเคลื่อนจาก 4 ขา แต่ในปัจจุบันจะเหลือเพียง 1 ขา คือ ขาที่มาจากกระทรวงการคลังเท่านั้น และตนจะทำงานเฉพาะในส่วนของกระทรวงที่ตนเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

นอกจากนี้ นายสมคิด ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงการรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อม สำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business) ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินงานมาอย่างเต็มที่เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการประกอบธุรกิจในไทยต่อเนื่อง แม้ในปีที่ผ่านมาปรับดีขึ้น 6 อันดับ จากอันดับที่ 27 มาอยู่ที่ 21 แต่ยังมีอีกหลายด้านที่ไทยยังต้องมีการปรับปรุง เพื่อผลักดันให้ไทยได้รับอันดับดีขึ้น โดยมีเป้าหมายภายในปี 2563 จะต้องติด 1 ใน 20 อันดับแรกให้ได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย แต่ยอมรับอาจไม่ใช่เรื่องง่าย

อย่างไรก็ตาม ตนยังได้สั่งการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (กพร.) ให้ความรู้และความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในการลดอุปสรรคการทำธุรกิจในไทย เนื่องจากในปี 63 ธนาคารโลกจะเริ่มเข้ามาเก็บข้อมูล โดย กพร. ต้องเน้นให้เห็นว่าไม่ใช่มีแต่ภาครัฐและเอกชนเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ แต่อันดับ Doing Business ยังเป็นตัวสะท้อนถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นสำหรับการให้บริการจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี ยังให้เพิ่มความเข้มข้นการอำนวยความสะดวกด้านค้าระหว่างประเทศที่ยังมีช่องทางในการพัฒนาได้ โดยเฉพาะการให้บริการแก่ผู้ประกอบการต่างชาติและการประสานงานต่างๆ ทั้งนี้ อันดับที่ดีขึ้นนั้นตนค่อนข้างพอใจ แต่เห็นว่ายังมีช่องทางที่จะต้องพัฒนาได้เพิ่ม เพื่อให้อันดับดีขึ้นอีก โดยเฉพาะด้านไหนที่ไทยได้คะแนน 80-90% ก็จะต้องพัฒนาต่อให้ได้ใกล้เคียง 100% ให้ได้มากที่สุด ซึ่งคาดหวังให้ติด 1 ใน 20 ในปีหน้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในไทยด้วย

ด้าน นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย้ำว่า กระทรวงการคลังได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะออกมาตรการดูแลเพิ่มเติม ส่วนในสัปดาห์นี้จะเสนอมาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ทันหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถระบุได้ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งเฉย และการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นเป็นหน้าที่ที่ทุกฝ่ายต้องทำร่วมกัน เนื่องจากทุกเครื่องยนต์ที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจทุกเครื่องต้องช่วยพากันขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีการหารือกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว อีกทั้งได้มีการรายงานทั้งเรื่องภาคส่งออก การบริโภคและการลงทุนมาโดยตลอด แต่ผลจากการพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจแล้วได้เริ่มเห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวในรายไตรมาส ดังนั้น จึงจะต้องดูด้วยว่าจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการอื่นออกมาเพิ่มเติมอีกหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น