สหรัฐฯ ส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษจู่โจมที่ซ่อนตัวของ ‘อาบูบาการ์ อัล-บักดาดี’ และสามารถปลิดชีพผู้นำสูงสุดของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) ได้ในที่สุด ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการกวาดล้างนักรบญิฮาดที่เข่นฆ่าคนต่างศาสนาและสร้างความสะพรึงกลัวแม้แต่กับชาวมุสลิมเอง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการตายของ บักดาดี อาจไม่ใช่จุดจบของสงครามก่อการร้าย เนื่องจากอุดมการณ์ความรุนแรงของไอเอสยังคงฝังรากลึกและเป็นแรงบันดาลใจให้กับอิสลามิสต์ทั่วโลก
นักรบญิฮาดชาวอิรักซึ่งมีชื่อเสียงจากการตั้งตนเป็น “คอลีฟะห์” (กาหลิบ) ผู้ปกครองชาวมุสลิมและผู้นำสูงสุดไอเอส เสียชีวิตจากการกดระเบิดฆ่าตัวตายพร้อมลูกๆ ขณะหนีการตามล่าของทหารสหรัฐฯ เข้าไปในอุโมงค์ที่เป็นทางตันเมื่อวันเสาร์ (26 ต.ค.)
“เมื่อคืนนี้ สหรัฐฯ ได้ลงโทษหัวหน้าผู้ก่อการร้ายหมายเลขหนึ่งของโลกตามความผิดแล้ว” ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แถลงที่ทำเนียบขาวในเช้าวันอาทิตย์ (27) “อบู บักร์ อัล-บักดาดี สิ้นชีวิตแล้ว”
ผู้นำสหรัฐฯ อ้างว่า บักดาดี เสียชีวิตในสภาพที่ “คร่ำครวญและกรีดร้อง” และยังกล่าวเป็นนัยๆ ว่าอาจจะมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอการล่าสังหารให้สาธารณชนได้เห็น โดยเชื่อกันว่าคลิปดังกล่าวอาจมีทั้งภาพถ่ายทางอากาศ หรือแม้กระทั่งภาพจากกล้องที่ติดอยู่บนตัวทหารซึ่งบุกเข้าไปในรังของ บักดาดี
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ 3 คนยืนยันกับรอยเตอร์ว่า สหรัฐฯ ได้จัดการกับศพของ บักดาดี ตามขั้นตอนทางศาสนาอิสลาม และนำไปประกอบพิธี “ฝังในทะเล” แล้ว ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่สหรัฐฯ ใช้จัดการศพของ “อุซามะห์ บินลาดิน” อดีตผู้นำอัลกออิดะห์ซึ่งถูกหน่วยซีลบุกปลิดชีพถึงบ้านพักในปากีสถานเมื่อปี 2011
จากลักษณะการตายของ บักดาดี ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่ากองทัพสหรัฐฯ อาจไม่สามารถทำพิธีทางศาสนาได้อย่างสมบูรณ์แบบทุกขั้นตอนเหมือนที่กระทำกับศพของ บินลาดิน ซึ่งว่ากันว่าถูกส่งขึ้นเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส คาร์ล วินสัน จากนั้นมีพิธีอาบน้ำศพ ห่อด้วยผ้าขาว และมีการอ่านบทสวดทางศาสนาอิสลามเหนือร่างผู้ตาย ก่อนจะนำลงฝังในทะเล
แม้จะผิดหลักศาสนาอิสลามที่กำหนดให้ฝังศพบนแผ่นดิน ทว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้สุสานของผู้นำก่อการร้ายเหล่านี้กลายเป็น ‘ศาสนสถาน’ ของนักรบหัวรุนแรงรุ่นต่อๆ ไป
ดมิตรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบเครมลิน ไม่ยืนยันว่าสหรัฐฯ ได้แจ้งแผนปฏิบัติการเด็ดหัว บักดาดี ให้รัสเซียทราบล่วงหน้าหรือไม่ และให้ความเห็นอย่างระมัดระวังว่า “หากข้อมูลที่สหรัฐฯ อ้างเป็นความจริง ก็ถือว่าประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นในการปราบปรามลัทธิก่อการร้ายสากล”
ด้านประธานาธิบดี เอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสชี้ว่า แม้การตายของ บักดาดี จะเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่สำหรับไอเอส “แต่การต่อสู้ยังต้องดำเนินต่อไปจนกว่าคนเหล่านี้จะแพ้ราบคาบ”
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่ไอเอสเริ่มแผ่ขยายอิทธิพล หน่วยงานความมั่นคงได้เตรียมพร้อมสำหรับการทำสงครามยืดเยื้อเพื่อสกัดค่านิยมสุดโต่งของนักรบญิฮาดกลุ่มนี้
เจ้าหน้าที่ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ยอมรับว่าภูมิภาคแถบนี้เสี่ยงที่จะตกเป็นเป้าหมายแก้แค้นของพวกสมุนไอเอส โดยเฉพาะการโจมตีแบบหมาป่าโดดเดี่ยว (lone wolf) โดยพลเมืองมุสลิมที่ซึมซับแนวคิดสุดโต่งจากการเสพสื่อโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มก่อการร้าย
เดลฟิน โลเรนซานา รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ ระบุว่า การตายของ บักดาดี ทำให้รากฐานของไอเอสสั่นคลอนก็จริง แต่พวกเขายังคงมีศักยภาพและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยในฟิลิปปินส์เองก็มีการแผ่อิทธิพลของกลุ่มติดอาวุธเครือข่ายไอเอสบนเกาะมินดาเนา
“แน่นอนว่ามันเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ขององค์กร เนื่องจาก บักดาดี คือผู้นำสูงสุด แต่คงจะทำให้ไอเอสซวนเซในระยะสั้นเท่านั้น อิทธิพลของพวกเขายังคงกว้างไกลและหยั่งรากลึกในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก และท้ายที่สุดก็จะต้องมีคนก้าวขึ้นมาแทน” โลเรนซานา กล่าว
สหรัฐฯ ตั้งค่าหัว บักดาดี เอาไว้สูงถึง 25 ล้านดอลลาร์ และว่ากันว่ากองกำลังเคิร์ดในซีเรียเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้หน่วยรบพิเศษของสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงแหล่งกบดานอันนำไปสู่จุดจบของผู้นำไอเอสรายนี้ ทั้งยังมีการขโมย “กางเกงใน” มาตรวจดีเอ็นเอก่อนจะทำการบุกจู่โจมด้วย
ปฏิบัติการสังหาร บักดาดี มีขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่ ทรัมป์ สั่งถอนทหารอเมริกันทั้งหมดออกจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือซีเรียเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ถูกประณามว่าทอดทิ้งนักรบเคิร์ดที่เป็นกำลังหลักในการทำสงครามกับไอเอส และอาจเปิดช่องให้พวกนักรบญิฮาดฟื้นคืนชีพกลับมาเป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของอเมริกาอีก
อย่างไรก็ตาม การตายของ บักดาดี คงจะทำให้เสียงวิจารณ์เหล่านี้เงียบลงไปได้ ทั้งยังช่วยเพิ่มคะแนนนิยมให้กับ ทรัมป์ ซึ่งกำลังเผชิญมรสุมระลอกใหญ่จากการถูกสภาผู้แทนราษฎรเปิดไต่สวนเพื่อถอดถอนจากตำแหน่ง (impeachment)
ผู้นำสหรัฐฯ เผยเมื่อวันอังคาร (29) ว่าบุคคลที่น่าจะเป็นเต็งหนึ่งในการก้าวขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งผู้นำไอเอสต่อจาก บักดาดี ก็ถูกกำจัดแล้วเช่นกัน แต่ไม่ระบุว่าคนผู้นี้เป็นใคร และไม่ได้ให้รายละเอียดด้วยว่าเขาถูกสังหารอย่างไร
ทรัมป์ ยังถูกผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและกฎหมายวิจารณ์อื้ออึง หลังประกาศส่งทหารอเมริกันกลับเข้าไปคุมแหล่งน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซีเรีย โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ไอเอสกลับเข้ามายึดและกอบโกยรายได้ในส่วนนี้ไป ทั้งยังเสนอไอเดียให้เอ็กซอนโมบิล (Exxon Mobil) หรือบริษัทน้ำมันรายอื่นๆ ของสหรัฐฯ เข้าไปลงทุนขุดเจาะน้ำมันในซีเรียด้วย
เซียร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย ออกมาพูดดักคอที่นครเจนีวาเมื่อวันอังคาร (29) ว่า หากอเมริกาเข้าไป “ปล้นทรัพยากร” ของชาติอื่นจะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขณะที่ ฟาห์เรตติน อัลตุน ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารของประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี ก็ทวีตข้อความในวันเดียวกันว่า “ทรัพยากรธรรมชาติในซีเรียถือเป็นสมบัติของชาวซีเรีย” จึงควรให้พวกเขาได้ตัดสินใจเองว่าจะใช้ทรัพยากรของตนอย่างไร