xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” จี้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบว่า FBI “สอดแนม” ทีมหาเสียงตนหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ
เอเอฟพี - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เรียกร้องเมื่อวานนี้ (20 พ.ค.) ให้กระทรวงยุติธรรมเร่งตรวจสอบว่ามีความพยายาม “แทรกซึม” หรือ “สอดแนม” ทีมหาเสียงของตนเพื่อจุดประสงค์ทางการเมืองหรือไม่

ทรัมป์ อ้างเป็นตุเป็นตะว่าการแทรกซึมที่เกิดขึ้นนั้นอาจร้ายแรงยิ่งกว่า “คดีวอเตอร์เกต” ขณะที่ฝ่ายเดโมแครตดักคอทันควันว่า ประธานาธิบดีกำลังพยายามดิสเครดิตการทำงานของอัยการพิเศษ เบิร์ต มุลเลอร์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้คุมสอบเรื่องที่รัสเซียถูกครหาว่าแทรกแซงศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2016 และอาจมีการสมคบคิดกับคนของ ทรัมป์

“ผมจึงขอเรียกร้อง ณ ที่นี้ และจะออกคำสั่งอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบว่า สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) หรือกระทรวงยุติธรรมเองมีการแทรกซึมหรือสอดแนมทีมหาเสียง ทรัมป์ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองหรือไม่ และนั่นเป็นคำสั่งหรือข้อเรียกร้องจากคนในรัฐบาลโอบามาหรือไม่” ทรัมป์ ทวีตข้อความ

ท่าทีกราดเกรี้ยวของ ทรัมป์ มีขึ้นท่ามกลางกระแสกดดันจากการสอบสวนเรื่องรัสเซียที่ยืดเยื้อมาเป็นปีๆ และมีรายงานจากสื่อสหรัฐฯ ว่า เอฟบีไอเคยส่งอาจารย์ชาวอเมริกันที่พำนักอยู่ในอังกฤษไปหลอกถามข้อมูลจากที่ปรึกษาแคมเปญของ ทรัมป์ เมื่อปี 2016

นิวยอร์กไทม์สอ้างถึงอาจารย์ผู้นี้ในฐานะ “ผู้ให้ข้อมูล” (informant) พร้อมระบุว่าเอฟบีไอต้องการสืบหาหลักฐานว่า คาร์เตอร์ เพจ และ จอร์จ ปาปาโดปูโลส สองที่ปรึกษาในทีมหาเสียงทรัมป์ มีการติดต่อที่ไม่ชอบมาพากลกับรัสเซียบ้างหรือไม่

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เอ่ยถึงอาจารย์ผู้นี้ว่าเป็น “แหล่งข่าวกรองของสหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน” และนอกจากจะเคยพูดคุยกับ เพจ และ ปาปาโดปูโลส แล้ว เขายังเคยพบกับที่ปรึกษาแคมเปญทรัมป์รายที่ 3 คือ แซม โคลวิส ด้วย

ทรัมป์ และผู้สนับสนุนเชื่อว่า อาจารย์ชายคนนี้อาจถูกรัฐบาลโอบามาว่าจ้างให้เข้ามาสืบความลับในทีมหาเสียงของตน

ล่าสุด กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้มอบหมายให้องค์กรตรวจสอบภายในสืบหาความจริงในประเด็นต่างๆ ที่ ทรัมป์ เรียกร้อง โดยเป็นการขยายผลเพิ่มเติมจากกระบวนการทบทวนการยื่นคำร้องขอสอดแนมข้อมูลตามกฎหมายว่าด้วยการสอดแนมข้อมูลต่างชาติ (Foreign Intelligence Surveillance Act - FISA) ที่พรรครีพับลิกันอ้างว่าถูก “ละเมิด” จากการนำไปใช้สอดแนม เพจ

“กระทรวงยุติธรรมได้สั่งขยายผลการทบทวนกระบวนการยื่นคำร้อง FISA ให้ครอบคลุมไปถึงประเด็นที่ว่า มีเรื่องไม่เหมาะสมหรือเหตุจูงใจทางการเมืองที่ทำให้เอฟบีไอลงมือสอดแนมบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับสายลับรัสเซียซึ่งแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี 2016 หรือไม่” ซาราห์ อิสเกอร์ ฟลอเรส โฆษกกระทรวง ระบุในถ้อยแถลง

ด้านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม ร็อด โรเซนสไตน์ ระบุว่า “หากมีใครก็ตามแทรกแซงหรือสอดแนมผู้เข้าร่วมทีมหาเสียงของประธานาธิบดีเพื่อจุดประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง เราจำเป็นต้องทราบ และมีมาตรการตอบสนองที่เหมาะสม”

พันธมิตรของ ทรัมป์ ในสภาคองเกรสเรียกร้องให้มีการเผยรายละเอียดเกี่ยวกับ “ผู้ให้ข้อมูล” รายนี้ แต่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายยืนกรานปฏิเสธ เนื่องจากเกรงว่าบุคคลดังกล่าวจะได้รับอันตราย

แอดัม ชิฟฟ์ แกนนำ ส.ส. เดโมแครตในคณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งสภาผู้แทนราษฎร ชี้ว่า “การที่ ทรัมป์ อ้างว่ามีสายลับมาสอดแนมอะไรนั่นเป็นเรื่องไร้สาระ และที่เขาสั่งให้กระทรวงยุติธรรมตรวจสอบสิ่งที่พวกเขาก็รู้ดีว่าไม่มีจริงก็เป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบ และจงใจเบนประเด็นจากปัญหาทางกฎหมายที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่”

โจอาควิน แคสโตร ส.ส.เดโมแครตอีกคน ออกมาทวีตข้อความตอบโต้ ทรัมป์ ว่า “@realDonaldTrump ปล่อย มุลเลอร์ ทำงานดีกว่า อย่ายุ่ง คุณนั่นแหละที่สมควรโดนฟ้องข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม/ สมคบคิด/ ฟอกเงิน”

รูดอล์ฟ จูลิอานี ทนายส่วนตัวของ ทรัมป์ ซึ่งเป็นอดีตอัยการและผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็นเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (18) ว่า ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเอฟบีไอส่งคนเข้ามาสอดแนมแคมเปญ ทรัมป์ จริงหรือไม่ แต่หากเอฟบีไอทำจริง “ก็ควรบอกให้เราทราบ”

นิวยอร์กไทม์สยังอ้างคำพูดของ จูลิอานี ซึ่งระบุว่า อัยการพิเศษ มุลเลอร์ เตรียมที่จะยุติการสอบสวนคดีรัสเซียภายในวันที่ 1 ก.ย.

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวใกล้ชิดกระบวนการสอบสวนยืนยันว่า กำหนดเส้นตาย 1 ก.ย. “เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ” และเป็นความพยายามปล่อยข่าวเพื่อกดดันให้ มุลเลอร์ ปิดคดีโดยเร็ว
โรเบิร์ต มุลเลอร์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และอัยการพิเศษคุมสอบกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016
อาคาร เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่เอฟบีไอในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.


กำลังโหลดความคิดเห็น