xs
xsm
sm
md
lg

ว่าที่ ผอ.หญิง CIA ยืนยันจะไม่ฟื้นโครงการ “สอบสวน-ทรมาน” นักโทษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

จีนา แฮสเพล ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) ยกมือสาบานตน ก่อนจะตอบข้อซักถามของคณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งวุฒิสภา ณ อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 9 พ.ค.
รอยเตอร์ - จีนา แฮสเพล ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) คนใหม่ ยืนยันว่าจะไม่รื้อฟื้นโครงการสอบสวนนักโทษด้วยวิธีทรมาน และหากคำสั่งของประธานาธิบดีขัดต่อหลักศีลธรรมก็จะไม่ปฏิบัติตาม

ระหว่างเข้าให้การต่อวุฒิสภาเพื่อรับรองตำแหน่ง ผอ.ซีไอเอเมื่อวานนี้ (9 พ.ค.) แฮสเพล ถูกรุมซักถามเกี่ยวกับบทบาทของเธอในการอนุญาตให้ซีไอเอใช้วิธีสอบสวนแบบสุดโหด เช่น การกรอกน้ำ (waterboarding) เมื่อกว่า 10 ปีมาแล้วในยุครัฐบาล จอร์จ ดับเบิลยู. บุช นอกจากนี้ยังถูกไล่เบี้ยเรื่องการทำลายวิดีโอเทปที่เป็นหลักฐานว่ามีการ “ทรมาน” นักโทษจริง

“จากที่เคยปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนั้นมาแล้ว ดิฉันขอยืนยันชัดเจนและไม่สงวนท่าทีใดๆ ทั้งสิ้นว่า ภายใต้การกำกับดูแลของดิฉัน ซีไอเอจะไม่รื้อฟื้นโครงการกักขังและสอบสวนผู้ต้องหาในลักษณะนั้นอีก” แฮสเพล กล่าวต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองแห่งวุฒิสภา

เมื่อถูกถามว่าเธอจะทำเช่นไรหาก ทรัมป์ ขอให้ปฏิบัติตามคำสั่งที่ขัดต่อหลักศีลธรรม แฮสเพล ก็ให้คำตอบว่า “เข็มทิศศีลธรรมของดิฉันแข็งแรงพอ ดิฉันจะไม่อนุญาตให้ซีไอเอทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ขัดต่อหลักศีลธรรม แม้จะถูกกฎหมายในทางเทคนิค ดิฉันก็ไม่อนุญาตแน่นอน”

แฮสเพล ทำงานเป็นตำรวจลับมาเกือบตลอด 33 ปี และเมื่อปี 2002 ก็ได้รับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของซีไอเอในประเทศไทย ซึ่งรายงานระบุว่ามีการเปิดคุกลับและสอบสวนนักโทษด้วยวิธีที่เข้าข่ายทรมาน เช่น การกรอกน้ำ เป็นต้น

ต่อมาอีก 3 ปี เธอได้ร่างคำสั่งให้ทำลายวิดีโอเทปที่บันทึกภาพเทคนิคการสอบสวนเหล่านั้นทั้งหมด

ส.ว.ซูซาน คอลลินส์ จากพรรครีพับลิกันได้ถาม แฮสเพล ว่า เธอจะทำอย่างไรหาก ทรัมป์ มีคำสั่งโดยตรงให้เธอใช้วิธีกรอกน้ำเฉพาะกับ “ผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายที่มีค่าหัวสูง”

ว่าที่ ผอ.หญิงซีไอเอ เลี่ยงที่จะตอบคำถามนี้ตรงๆ โดยพูดแค่ว่า “ดิฉันไม่เชื่อว่าประธานาธิบดีจะขอให้ทำเช่นนั้น”

คอลลินส์ ซึ่งเป็นสมาชิกรีพับลิกันสายกลางให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า เธอจะโหวตรับรองตำแหน่งให้แก่ แฮสเพล

ซาราห์ แซนเดอร์ส โฆษกทำเนียบขาว ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่า ทรัมป์ จะให้อิสระแก่ แฮสเพล ในการตัดสินใจ

“ท่านประธานาธิบดีมีความเชื่อมั่นในตัว จีนา แฮสเพล ว่าจะเป็นผู้นำซีไอเอได้ และต้องการเห็นเธอทำเช่นนั้นจริงๆ” แซนเดอร์ส กล่าว

คามาลา แฮร์ริส ส.ว.เดโมแครต ได้ตั้งคำถามกับ แฮสเพล ว่า เธอคิดว่าเทคนิคการสอบสวนของซีไอเอในสมัยก่อนนั้นผิดศีลธรรมหรือไม่ และขอให้ตอบว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” แต่ปรากฏว่า แฮสเพล ไม่ยอมตอบ

แฮสเพล ยอมรับว่า ซีไอเอ “ได้บทเรียนราคาแพง” และเมื่อนึกย้อนกลับไปเธอก็เชื่อว่า ซีไอเอจำเป็นต้องเปิดโครงการกักขังและสอบสวนผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายหลังเกิดเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย. ปี 2001 ทั้งที่ไม่มีความพร้อม

เธอบอกด้วยว่า “ดิฉันไม่เชื่อว่าการทรมานจะได้ผล”

เพื่อที่จะรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการหญิงคนแรกของซีไอเอ แฮสเพล จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากวุฒิสภาด้วยเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งเวลานี้พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา 51-49

ส.ว.รีพับลิกันส่วนใหญ่พร้อมที่จะโหวตให้กับเธอ แต่มีอย่างน้อย 2 คนที่ประกาศคัดค้าน ได้แก่ ส.ว. จอห์น แมคเคน และ ส.ว. แรนด์ พอล

แมคเคน ซึ่งเคยรับรู้รสชาติการถูกทรมานระหว่างที่ตกเป็นเชลยศึกในสงครามเวียดนาม กล่าวเมื่อค่ำวานนี้ (9) ว่า คำให้การของ แฮสเพล ไม่ได้ช่วยลบล้างความกังวลเกี่ยวกับโครงการสอบสวนนักโทษของซีไอเอ

อย่างไรก็ตาม แมคเคน อาจไม่สามารถใช้สิทธิ์โหวตคัดค้าน แฮสเพล ได้ เนื่องจากป่วยเป็นมะเร็งสมองจนต้องพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเกิดในรัฐแอริโซนา และไม่ได้ปรากฏตัวที่วุฒิสภามานานหลายเดือนแล้ว

วุฒิสมาชิกสายเดโมแครตได้ซักถาม แฮสเพล เกี่ยวกับคำสั่งทำลายวิดีโอเทปเมื่อปี 2005 ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าเป็นคนเสนอให้ทำเช่นนั้นจริง เนื่องจากกลัวว่าเจ้าหน้าที่ซีไอเอจะถูกเปิดเผยตัวตนและได้รับอันตรายหากเทปเหล่านี้รั่วไหลออกไป

“ดิฉันไม่เคยดูวิดีโอเหล่านั้น แต่เชื่อว่ามีใบหน้าเจ้าหน้าที่ของเราอยู่ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายมาก” เธอกล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น