เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ - แหล่งข่าวใกล้ชิดเปิดเผยว่า จีนา ฮาสเพล(Gina Haspel)เกือบเปลี่ยนใจไม่ต้องการถูกเสนอชื่อเป็นผู้อำนวยการ CIA คนใหม่ หลังเกรงว่า การเข้ารับการยืนยันกับสภาสูงสหรัฐฯในวันพุธ(9 พ.ค)อาจต้องถูกถามถึงโครงการทรมานนักโทษ ภารกิจคุกลับ CIA ที่อื้อฉาวในไทย ฮาสเพลเคยเป็นหัวหน้าควบคุมประจำฐาน “ไซต์กรีน” สื่อบีบีซีชี้ช่อง ตั้งภายใน “ฐานทัพอากาศจังหวัดอุดรธานี” ทรมานสมาชิกก่อการร้ายอัลกออิดะห์
NBC NEWS รายงานวันนี้(7 พ.ค)ว่า ในที่สุด จีนา ฮาสเพล( Gina Haspel)วัย 61ปี ตัดสินใจที่จะเข้าสู่กระบวนการยืนยันในการเสนอชื่อเธอเป็นผู้อำนวยการสำนักงาน CIAสหรัฐฯ ในวันพุธ(9 พ.ค) ซึ่งเป็นที่เธอจะต้องถูกตั้งคำถามถึงเรื่องอดีตที่เธอเคยทำในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ CIA โดยเฉพาะโครงการทรมานนักโทษก่อการร้าย ในการใช้วิธีการพิเศษเพื่อรีดข้อมูล ซึ่งในเวลานี้ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในสหรัฐฯ
แต่เชื่อว่า ทางฮาสเพลจะต้องยืนกรานต่อหน้าคณะสว.ว่า เธอจะปฎิเสธต่อแรงกดดันจากผู้มีอำนาจในฝ่ายบริหารต่อการที่จะให้ทาง CIA ทรมานนักโทษอีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รู้ดีว่า ผู้นำสหรัฐฯ ประธานาธิบดี โดนัลด์ เจ. ทรัมป์ เคยออกมาให้ความเห็นในช่วงระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งปี 2016 ว่า เขาต้องการให้มีการนำการวิธีการทรมานนักโทษด้วยการทำให้เหมือนกับการจมน้ำขาดอากาศหายใจกลับมาใช้อีกครั้ง
ซึ่งเป็นคำถามว่าฮาสเพลจะทำได้จริงหรือในการต่อต้าน เพราะชื่อของเธอและการทรมานนักโทษในคุกลับ CIA นั้นเป็นที่เลื่องลือจนคล้ายกับเป็นเสมือนนามสกุลของเธอที่สามารถค้นหาได้ทางกูเกิลแค่ในเวลาเพียงแค่ 10 วินาทีเท่านั้น
ทั้งนี้ก่อนหน้าในวันศุกร์(4) อ้างอิงการรายงานจากหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ซึ่งเป็นที่แรกที่เปิดเผย ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวสว.สหรัฐฯ 4คน ระบุว่า พบว่าฮาสเพลในเวลานั้นตัดสินใจที่จะขอถอนตัวจากการเป็นผู้มีชื่อในการเป็นผู้อำนวยการ CIA ที่ในเวลานี้เธอทำหน้าที่ในฐานะรักษาการผู้อำนวยการหลังจากที่ อดีตผู้อำนวยการคนก่อนหน้า ไมค์ พอมเพโอ (Mike Pompeo)ถูกผู้นำสหรัฐฯดึงตัวไปนั่งอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯแทน เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ที่ก่อนหน้าถูกผู้นำสหรัฐฯขอให้ออกจากตำแหน่ง
สัญญาณแรกที่ดังแรงและเด่นชัดเกิดในช่วงเช้าวันศุกร์(4) NBC NEWS ชี้
เช้าวันนั้นเป็นตารางเวลาที่ทางฮาสเพลต้องไปยังห้องขึ้นให้การในอาคารสำนักงานวุฒิสมาชิกฮาร์ต( Hart Senate Office Building) แต่ทว่าการเดินทางไปยังที่นั่นกลับถูกยกเลิกในวินาทีเกือบสุดท้าย โดยวอชิงตันโพสต์รายงานว่า ฮาสเพลถูกเรียกเข้าไปยังทำเนียบขาวในวันนั้น
เธอได้ตอบยืนยันกับทำเนียบขาวว่า ***เธอรู้สึกสนใจที่จะขอถอนตัวจากการมีชื่อเป็นผู้อำนวยการ CIA*** หากว่านั่นจะสามารถทำให้เธอต้องเลี่ยงที่จะไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยืนยันในวันพุธ(9) ที่ทั้งสุดโหดและมหาหิน โดยฮาสเพลเปิดเผยต่อทำเนียบขาวว่า เธอเกรงว่า การต้องตอบคำถามที่เธอไม่สามารถเปิดเผยถึงรายละเอียดเกี่ยวข้องกับงานของเธอในการขึ้นยืนยันแบบเปิดเผยที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์นั้น อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อชื่อเสียงของ CIA และต่อทั้งตัวเธอ และฮาสเพลได้ขอตัวเดินทางกลับไปยังสำนักงานใหญ่ CIA ที่แลงลีย์(Langley) รัฐเวอร์จิเนีย
แต่ทว่าหลังจากนั้น คณะผู้ช่วยทำเนียบขาว รวมไปถึง หัวหน้าด้านกิจการนิติบัญญัติ มาร์ค ช็อร์ต(Marc Short) และโฆษกประจำทำเนียบขาว ซาราห์ ฮักคาบี แซนเดอร์ส (Sarah Huckabee Sanders) เดินทางไปพบกับฮาสเพลที่สำนักงานของเธอในช่วงบ่ายเกือบค่ำวันศุกร์(4) วอชิงตันโพวต์รายงานต่อ
โดยแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า มีการหารือนานร่วมหลายชั่วโมง และทางทำเนียบขาวในเวลานั้นยังคงไม่มั่นใจว่า เธอจะยังคงต้องการที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ CIA คนใหม่หรือไม่จนกระทั่งบ่ายวันเสาร์(5) ซึ่งผู้นำสหรัฐฯได้ทราบเรื่องเช้าวันศุกร์ที่ทางฮาสเพลไม่เดินทางไปอาคารสำนักงานวุฒิสมาชิกฮาร์ต และทางทรัมป์ได้โทรศัพท์ไปยังเจ้าหน้าที่จากเมืองดัลลัสที่เขาอยู่ในขณะนั้นเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้
ซึ่งทางแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่สหรัฐฯเปิดเผยกับวอชิงตันโพสต์ต่อว่า ทรัมป์ต้องการผลักดันให้ฮาสเพลเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยืนยันของคณะวุฒิสมาชิกสหรัฐฯวันพุธ(9) ต่อไป และส่งสัญญาณว่า เขาจะให้การสนับสนุนไม่ว่าการติดสินใจเช่นใดจะเกิดขึ้น
NBC NEWS ชี้ว่า จากการที่ฮาสเพลทำงานกับ CIA มาอย่างยาวนาน เมื่อชื่อเธอถูกประกาศว่า เธอจะเป็นผู้อำนวยการหญิงคนแรกของสำนักงานแห่งนี้ พบว่าเธอได้รับเสียงสนับสนุนอย่างล้นหลามจากคนภายในองค์กรของเธอ รวมไปถึงอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีปัญญาหาและวิพากษ์วิจารณ์ทรัมป์มาโดยตลอด
ด้าน ราจ ชาห์ (Raj Shah) ผู้ช่วยโฆษกทำเนียบขาวได้เปิดเผยกับ NBC NEWSถึงการเข้ารับจำแหน่งของฮาสเพลว่า
“รักษาการผู้อำนวยการ ฮาสเพลเป็นผู้ถูกเสนอชื่อที่มีคุณสมบัติสูง เป็นบุคคลที่อุทิศตนในหน้าที่มาอย่างยาวนานถึง 30 ปีในการรับใช้ชาติ และการเป็นผู้ถูกเสนอชื่อของเธอจะไม่ถูกทำให้เสียกระบวนจากการวิจารณ์ของสมาชิกชุดคณะกรรมาธิการบางคนที่มีความเห็นเข้าข้างกลุ่มสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน (ACLU) มากกว่าสำนักงาน CIA สหรัฐฯ ในจุดมุ่งหมายที่จะทำให้พลเมืองสหรัฐฯปลอดภัยได้อย่างไร”
ชื่อของจีนา ฮาสเพล นั้นตามมาด้วยคำถามถึงโครงการทรมานนักโทษผู้ก่อการร้ายที่ทางสหรัฐฯจับกุมไว้ได้ และถูกนำตัวไปไว้ที่คุกลับต่างของ CIA ทั่วโลก ซึ่งในไทย สื่อบีบีซี อังกฤษ รายงานเมื่อวันศุกร์(4)ว่า มีชื่อว่า “ไซต์กรีน” หรือ ไซต์สีเขียว ที่อาจมาจากตาสีเขียวของแมวสยามที่เลื่องชื่อ ส่วนคุกลับอื่นๆ เป็นต้นว่า คุกลับ CIA ในอัฟกานิสถานมีชื่อว่า “ไซต์โคบอลต์” หรือ ไซต์สีดำ
การสอบปากคำด้วยวิธีพิเศษ CIA นั้นเกิดจากเหตุการณ์โจมตีตึกเวิลด์เทรดเซนเตอร์เมื่อวันที่ 11 ก.ย 2001 พบว่า จีนา ฮาสเพล ที่ทำงานให้กับองค์กร CIAมาอย่างยาวนานถึง 33 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปฎิบัติการลับที่ไม่เปิดเผย และดำรงตำแหน่งในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการในเวลา 15 เดือน ซึ่งจากการที่เธอมีตำแหน่งในฐานะหัวหน้าฐานปฎิบัติการคุกลับ CIAในไทยเกิดขึ้นเมื่อปี 2002
บีบีซีรายงานว่า คุกลับ CIA ชื่อกรีนไซต์ นั้นถูกปรากฎในเอกสารทางการที่เป็นความลับในรายงาน 6,000 หน้าของคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองวุฒิสภาสหรัฐฯ (SSCI) ที่มีการบรรยายถึงเทคนิกการสอบปากคำแบบพิเศษในการทรมานนักโทษของทาง CIA แต่ทว่าไม่มีการกล่าวเจาะจงถึงชื่อประเทศไทยซึ่งเป็นที่ตั้งของคุกลับ
และพบว่าทั้งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯและเจ้าหน้าที่ไทยต่างยืนกรานเป็นเสียงเดียวว่า ไม่มีคุกลับที่ว่านี้ อย่างไรก็ตาม สื่ออังกฤษ ชี้ว่า ***แหล่งข่าวฝ่าบไทยซึ่งเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงยืนยันกับบีบีซีว่า คุกลับ CIA ตั้งอยู่ภายในฐานทัพอากาศจังหวัดอุดรธานี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ***
ซึ่งในการเปิดเผยชี้ว่า “เนื้อที่ไม่ใหญ่นัก เป็นแค่แหล่งกบดานของพวก CIA ภายในฐานทัพท่านั้น” แหล่งข่าวอดีตเจ้าหน้าที่ไทยให้ความเห็น ซึ่งทางฝ่ายสหรัฐฯสามารถปฎิบัติการได้นานตามที่ต้องการตราบเท่าที่ทางการฝ่ายนไทยได้รับทราบเรื่องด้วย สื่ออังกฤษชี้
และแหล่งข่าวอดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยยังเปิดเผยเพิ่มเติม “เมื่อไหร่ก็ตามที่ทางฝ่ายสหรัฐฯสามารถจัตัวใครสักคนไว้ได้ ไม่ว่าจากทั้งในหรือนอกประเทศ คนเหล่านี้จะถูกนำตัวมาที่คุกลับแห่งนี้ และหลังจากนั้นจะถูกนำตัวออกนอกประเทศโดยเครื่องบินของพวกอเมริกัน”
บีบีซีรายงานว่า เหตุที่ “ไทยถูกเลือกเป็นสถานที่ตั้งหนึ่งในคุกลับของ CIA” อ้างอิงจากรายงานของคณะกรรมาธืการสหรัฐฯ SSCI พบว่ามีหลายสาเหตุด้วยกัน โดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้ลูกได้อนุมัติการย้ายตัว อบู ซูบายดะห์ (Abu Zubaydah) สมาชิกก่อการร้ายอัลกออิดะห์ พลเมืองซาอุฯ เมื่อวันที่ 29 มี.ค 2002 และทางรัฐบาลไทยได้รับทราบ “และทำการอนุญาต เกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน”
บีบีซีชี้ว่า ไทยและจังหวัดอุดรธานีเหมาะสมเป็นสถานที่ตั้งคุกลับ อาจเป็นเพราะทั้ง 2 ประเทศเป็นพันธมิตรที่มีสินธิสัญญาต่อกัน
ซึ่งในช่วงยุค 60 ที่มีการต่อสู้กับพวกคอมมิวนิสต์ ทางรัฐบาลไทยเคยอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯสามารถใช้ฐานทัพอากาศแห่งนี้ออกปฎิบัติการโจมตีทางอากาศต่อที่ตั้งเป้าหมายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามและลาว ซึ่งจังหวัดอุดรธานีถือเป็นหนึ่งในฐานของสหรัฐฯ และถูกใช้มากโดย CIA ในช่วงเวลานั้น ทาง CIA มีฝูงเครื่องบินเป็นของตัวเอง
สื่ออังกฤษกล่าวว่า ในช่วงปี 2002 ถือเป็นศักราชใหม่ในหน้าการเมืองไทยที่มีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งทางบีบีซีกล่าวถึงทักษิณว่า เป็นบุคคลที่มีความมั่นใจสูง แต่ไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น ที่มีความต้องการนำประเทศไทยไปในอีกทิศทาง
และพบว่าทักษิณนั้นมีความยืดหยุ่นกับสหรัฐฯมากกว่าอดีตผู้นำของไทยคนก่อนๆ ซึ่งผู้นำของไทยที่ขึ้นชื่อว่าสร้างตัวมาจากธุรกิจทางโทรคมนาคมต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับปักกิ่ง และยืนกรานว่า ประเทศไทยสมควรเป็นกลางในสงครามต่อต้านก่อการร้ายของบุช บีบีซีชี้ แต่ถึงแม้ฉากหน้าที่ผู้นำไทยคนใหม่จะดูเหมือนแสดงความไม่แยแสดต่อวอชิงตัน ทั้งในเรื่องถูกตำหนิถึงปัญหาสิทธิ มนุษยชนของไทยภายใต้การบริหารของเขา แต่ฉากหลังกลับพบว่า ความสัมพันธ์ทุกด้าน โดยเฉพาะทั้งด้านการทหาร ข่าวกรอง และสำนักงานด้านการบังคับใช้กฎหมาย ยังคงมีความใกล้ชิดไม่เปลี่ยน
ซึ่งในรายงานของคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองวุฒิสภาสหรัฐฯ (SSCI) ได้มีการระบุถึง การร้องขอจาก CIA สำหรับการสนับสนุนจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ซึ่งรับผิดชอบคุกลับในประเทศ และพบว่า “การสนับสนุน” ได้รับการตอบรับ แต่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยถูกแทนที่ด้วยกลุ่มผู้ร่วมงานที่ให้ความร่วมมือน้อยกว่า และนั่นนำมาสู่การปิดคุกลับไซต์กรีนในที่สุด
ซึ่งทางหัวหน้า CIA ประจำประเทศกล่าวว่า อ้างอิงจากรายงานวุฒิสภาสหรัฐฯ “ สามารถเจรจาต่อรองเพื่อให้เปิดคุกลับต่อไปได้"
ในรายงานฉบับนี้ได้อ้างไปถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจำนวน 8 คน ที่เชื่อว่าล้วนแล้วแต่อยู่ในตำแหน่งระดับสูง “รู้เรื่องที่ตั้งคุกลับไซต์กรีน" เป็นอย่างดี และทางสำนักงาน CIA คาดว่า อาจมีคนอื่นจำนวนมากกว่านี้ที่ทราบเรื่อง และเมื่อบรรดาสื่อหนังสือพิมพ์เจ้าดังของไทยได้เปิดเผยเรื่องคุกลับต่อสาธารณะ ซึ่งทาง CIA เชื่อว่า เป็นการเปิดเผยต่อสาธารณะมากขึ้น และความอับอายนี้อาจเป็นตัวการทำให้ทางฝ่ายไทยสั่งปิดในท้ายที่สุด
ซึ่งข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2002 หรือ 2 เดือนหลังจากที่ จีนา ฮาสเพล เข้ามาดำรงตำแหน่งในฐานะผู้ควบคุมคุกลับในประเทศไทย
ซึ่งที่คุกลับนี้ ซูบายดะห์ ถูกทรมานด้วยการทำให้เหมือนการขาดอากาศด้วยการจมน้ำถึง 3 ครั้ง บีบีซีชี้ว่า บทบาทของฮาสเพลต่อวิธีทรมานนักโทษแบบพิเศษนั้นไม่ชัดเจน เป็นเพราะเมื่อเธอเดินทางเข้ามาที่ไทยเพื่อรับตำแหน่ง การทรมานแบบเข้มงวดต่อ อบู ซูบายดะห์ ได้เสร็จสิ้นแล้ว ในขณะที่ผู้ก่อการร้ายอัลกออิดะห์อีกราย อับดุล อัล-ราฮิม อัล-นาชิรี (Abd al Rahim al Nashiri)ซึ่งเป็นผู้วางแผนโจมตีเรือรบสหรัฐฯ USS Cole อ้างอิงจาก NBC News ถูกทรมานด้วยการใช้วิธีทำให้ขาดอากาศเหมือนการจมน้ำด้วยเช่นกัน
ซึ่งในภายหลังพบว่า ฮาสเพลได้ส่งเคเบิลสื่อสารซึ่งเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญญาในขณะนั้นของเธอ ในการสั่งการเจ้าหน้าที่ CIA ให้ทำลายวิดีโอเทปทุกชิ้นของการสอบปากคำของ CIA แต่ไม่พบว่า จีนา ฮาสเพลถูกตำหนิในส่วนของเธอสำหรับการทำลายหลักฐานเหล่านั้น ซึ้งบางส่วนของเจ้าหน้าที่ CIA และสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯจำนวนมาก มองสิ่งเหล่านี้ว่า ความพยายามอย่างไม่เหมาะสมเพื่อการปกปิด NBC News เปิดเผย
ในกระบวนการยืนยันวันพุธ(9) สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาคือ บทบาทของฮาสเพลยังคงต้องถูกปิดเป็นความลับ เธอไม่สามารถตอบคำถามถึงสิ่งที่เธอได้กระทำในประเทศไทยในกระบวนการยืนยันที่เปิดเผยต่อสาธารณะได้ และไม่สามารถเปิดเผยไปถึงปฎิบัติการอื่นๆของเธอในขณะที่ทำงานในศูนย์ต่อต้านก่อการร้ายของ CIA
ทั้งนี้พบว่าในอดีตฮาสเพลเคยปฎิบัติการมาแล้วทั้งในทวีแอฟริกาและทวีปยุโรป เธอมีความเชี่ยวชาญในภาษาตุรกีและรัสเซีย พบว่าเคยออกปฎิบัติการสายลับกับรัสเซียมาแล้ว