เอเอฟพี/เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้ (16 ก.พ) ในการแถลงข่าว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมม์ป ประกาศโต้ ทั้งตัวเองและทีมหาเสียงไม่เคยติดต่อกับรัสเซีย แถมยอมรับว่า เป็นคนไล่ ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงทำเนียบขาวออก เพราะโกหก พบทำเนียบขาวแอบทาบทามซีอีโอ ล็อกฮีด มาร์ติน พลเรือโท โรเบิร์ต ฮาร์วาร์ด (Robert Harward) ขึ้นนั่งแทน แต่ถูกปฏิเสธหน้าหงาย ด้าน นิกกี เฮลลี (Nikki Haley) ทูตสหรัฐฯประจำยูเอ็นคนใหม่ ยืนกระต่ายขาเดียว สหรัฐฯยังยึดแก้ปัญหาอิสราเอล - ปาเลสไตน์ แบบ 2 นคราไม่เปลี่ยน
เอเอฟพีรายงานวันนี้ (17 ก.พ.) ว่า ท่ามกลางความสับสนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการแถลงข่าวประจำทำเนียบของผู้นำสหรัฐฯ ที่เห็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ตะโกนใส่กลุ่มนักข่าวที่รุมตั้งคำถาม พร้อมทั้งชูมือสลอนประกาศความต้องการต้องการถามอย่างต่อเนื่อง ทรัมป์ออกมาระบุว่า “ทั้งตัวเขา และเจ้าหน้าที่แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯของตัวเองไม่เคยติดต่อกับรัสเซีย”
โดย CNN สื่อสหรัฐฯรายงานว่า ทรัมป์ยึดไมโครโฟน พูดคนเดียวในการแถลงข่าว พร้อมประกาศกร้าวต่อรายงานการเปิดเผยของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ที่ออกมาแฉว่า มีเจ้าหน้าที่ทีมหาเสียงของทรัมป์ติดต่อกับรัสเซียอย่างสม่ำเสมอ โดยทรัมป์ประกาศว่า “เป็นข่าวปลอม”
ในช่วงตลอดเวลาร่วม 1 ชม. 50 นาที สื่อสหรัฐฯชี้ว่า ทรัมป์แสดงอารมณ์โกรธ และฉุนเฉียว พร้อมกับอาการระงับอารมณ์ไม่อยู่หลายครั้งใส่กลุ่มนักข่าวทำเนียบขาวที่ต่างรุมตะโกนตั้งคำถามทรัมป์อย่างต่อเนื่อง และทำให้ CNN กล่าวว่า ทรัมป์ทำให้กลุ่มนักข่าวเข้าใจว่า ทรัมป์ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ เพราะภาพลักษณ์ชุดรัฐบาลทำเนียบขาวของเขาที่ออกมาสู่สาธารณะเป็นแง่ลบในสภาพที่เขาไม่สามารถควบคุมอะไรได้ และทำให้ประธานาธิบดีผู้นี้ต้องหงุดหงิด และตัดสินใจเข้ามาจัดการทุกอย่างด้วยตัวเอง
สื่อสหรัฐฯชี้ว่า เป็นการแถลงข่าวในวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในกำหนดการล่วงหน้า และพบว่า ถูกประกาศในเช้าวันนั้นโดยแหล่งข่าวใกล้ชิดทรัมป์เปิดเผยว่า ทรัมป์ไม่สามารถนิ่งเฉยได้ และต้องการใช้การแถลงข่าววันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) ในการแก้ตัวต่อสาธารณะ ที่ชี้ไปได้ว่าอาจเป็นตัวเขา และไม่แต่เฉพาะบรรดาเจ้าหน้าที่แคมเปญหาเสียง ที่ทำการติดต่อกับรัสเซีย หลังจากที่ ไมเคิล ฟลินน์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงประจำทำเนียบขาวต้องถูกไล่ออกจากเหตุพบว่า เขาได้ทำการติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัสเซียก่อนพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์
เอเอฟพีรายงานว่า ในการแถลงข่าว ทรัมป์ได้ยืนยันว่า ฟลินน์ไม่ได้ทำผิดอะไร ในการต่อสายพูดคุยกับเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐฯ ปรึกษาถึงมาตรการคว่ำบาตรของอเมริกา
โดยทรัมป์ยืนกรานว่า เขาไล่ฟลินน์ออกจริง เป็นเพราะอดีตที่ปรึกษาคนนี้โกหกต่อรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไมค์ เพนซ์ แต่อย่างไรก็ตาม สื่อสหรัฐฯ MSNBC ชี้ว่า นอกจากฟลินน์จะโกหกเพนซ์แล้ว เขายังโกหกในการให้ปากคำกับ FBI สหรัฐฯ ว่าไม่เคยปรึกษากับทูตรัสเซียเรื่องการคว่ำบาตร และการโกหกนี้ สื่อ MSNBC ชี้ว่า เป็นการทำผิดกฎหมายขั้นร้ายแรง
แต่อย่างไรก็ตาม ในการแถลงข่าว เอเอฟพีชี้ว่า ทรัมป์กลับกล่าวหาว่า บรรดาหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐฯกระทำผิดกฎหมายด้วยการแอบเผยแพร่ข้อมูลการติดต่อทางโทรศัพท์
และในงานแถลงข่าว ทรัมป์ประกาศกับฝูงนักข่าวที่นั่งตรงหน้าว่า “ไม่มีใครสักคน...เท่าที่ผมรู้นะ” หลังจากที่ถูกนักข่าวตะโกนถามขึ้นมาว่า ทรัมป์ และเจ้าหน้าที่แคมเปญได้เคยแอบติดต่อกับรัสเซียหรือไม่ พร้อมกันนั้นทรัมป์ยังประกาศต่อว่า “ผมไม่มีอะไรที่ต้องติดต่อกับพวกรัสเซีย” และ “ข่าวเกี่ยวกับรัสเซียทั้งหมดเป็นเรื่องโกหก”
และนอกจากนี้ ในการแถลงข่าว ทรัมป์ ยังยืนกรานว่า เขาไม่ได้สั่งให้ฟลินน์ติดต่อทูตรัสเซียเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาการคว่ำบาตรกับทูตรัสเซีย โดยทรัมป์ ระบุว่า “ทำไม่ผมต้องออกคำสั่ง เป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องทำในการพูดคุยติดต่อกับต่างชาติอยู่แล้ว” โดยชี้ว่า “ผมไม่ได้สั่งให้เขาคุยกับทูตเรื่องคว่ำบาตร”
ด้านหนังสือพิมพ์วอชิงตันไทม์ส รายงานว่า แหล่งข่าวเปิดเผยว่า ในวันพฤหัสบดี (16 ก.พ.) ได้มีการทาบทาม อดีตหน่วย SEAL และผู้ช่วยหัวหน้ากองบัญชาการกลางสหรัฐฯ (Central Command) พลเรือโท โรเบิร์ต ฮาร์วาร์ด (Robert Harward) ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯคนใหม่ เจมส์ แมททิส แต่ทว่าฮาร์วาร์ดปฏิเสธ โดยอ้างเหตุผลด้านครอบครัวและการที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นซีอีโอของบริษัทผลิตอาวุธระดับโลก ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เป็นบริษัทคู่สัญญากับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ซึ่งแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐฯ ยืนยันการปฏิเสธรับตำแหน่งของฮาร์วาร์ด และในรายงานของวอชิงตันไทม์ส ยังระบุว่า ดูเหมือนฮาร์วาร์ดได้ต่อรองกับทำเนียบขาวที่เขาต้องการจะนำทีมของตนเองเข้ามา หากเข้ารับตำแหน่ง โดยรอยเตอร์ได้รายงาน โดยอ้างว่า ทรัมป์ได้กล่าวกับผู้ช่วยของฟลินน์ เค.ที. แม็คฟาร์แลนด์ (K.T. McFarland) ว่า เจ้าหน้าที่หญิงผู้นี้ยังสามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้
วอชิงตันไทม์สรายงานต่อว่า ทั้งนี้ รายชื่อที่ทางทำเนียบขาวอาจแต่งตั้งให้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทำเนียบขาวคนใหม่ยังรวมไปถึงพลโท คีธ เคลล็อกก์ (Keith Kellogg) และอดีตผู้อำนวยการ CIA เดวิด พเทรซ์ (David Petraeus)
ในขณะเดียวกัน ความสับสนในรอบสัปดาห์ยังรวมไปถึงการประกาศยกเลิกแนวทางแก้ปัญหาอิสราเอล-ปาเลสไตน์ แบบ 2 นคราของทรัมป์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการเยือนทำเนียบขาวของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล เบนจามิน เนทันยาฮู สร้างความงุนงงไปทั่วโลก รวมไปถึงการออกมาต่อต้านของปาเลสไตน์
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานว่า นิกกี เฮลี (Nikki Haley) อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ในฐานะทูตสหรัฐฯประจำองค์การสหประชาชาติ ออกมากล่าวขัดแย้งกับทรัมป์
โดยเธออ้างว่า สหรัฐฯยังคงยึดมั่นในนโยบายแก้ปัญหาความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์แบบ 2 นคราไม่เปลี่ยนแปลง และในการแถลงเฮลลียังชี้โดยอ้างว่า ใครก็ตามที่กล่าวหาว่าสหรัฐฯไม่ยึดถือมติแก้ปัญหาแบบ 2 นครานั้น ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดพลาด แต่ในการแถลงเฮลีอ้างเช่นกันว่า สหรัฐฯจะยังคงยึดถือต่อไป แต่อเมริกาต้องการมองอย่างรอบด้านโดยต้องการคิดออกนอกกรอบด้วยเช่นกัน
เดอะการ์เดียนรายงานว่า ความสับสนที่ทรัมป์ได้ก่อยังลามไปถึง รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนใหม่ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) ทำให้ ฌอง มาร์ค เอโรต์ (Jean-Marc Ayrault) รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศสออกมาประกาศว่า นโยบายตะวันออกกลางที่ทิลเลอร์สันประกาศเสนอออกมานั้น “สับสนและดูน่าเป็นห่วง” หลังจากคนทั้งคู่พบปะกันเป็นครั้งแรกในการหารือแบบนอกรอบกลุ่ม G20 เมืองบอนน์ เยอรมัน
โดย เอโรต์ ประกาศว่า “ผมต้องการเตือนเขาว่า หลังจากการพบปะหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ และนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูแล้ว นั่นเป็นจุดยืนของฝรั่งเศส ที่เชื่อว่า ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นไม่มีหนทางไหนที่ดีไปกว่าการแก้ไขไปตามหลักการ 2 นครา ซึ่งข้อเสนอของทิลเลอร์สันนั้นไม่อยู่ในความจริง และยังเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรม หรือสมเหตุสมผล”
ทั้งนี้ เดอะการ์เดียน รายงานว่า รัฐมนตรีฝรั่งเศสไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะถึงแผนการที่ทิลเลอร์สันต้องการใช้ แต่ทว่าทางสื่ออังกฤษเชื่อว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯคนใหม่น่าจะใช้แนวคิดเดียวกันกับทรัมป์ที่ได้ประกาศว่า ต้องการใช้ทางอื่นเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในสายตาของสหรัฐฯ