เอเอฟพี - ประธานาธิบดีเอมมานูแอล มาครง แห่งฝรั่งเศสออกมาเบรกนโยบาย “อเมริกาเฟิสต์” ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ เมื่อวานนี้ (25 เม.ย.) โดยเรียกร้องให้วอชิงตันเปิดรับความร่วมมือแบบพหุภาคี (multilateralism) และเตือนให้ตระหนักถึงอันตรายของสงครามการค้าและลัทธิชาตินิยมสุดโต่ง (extreme nationalism)
ถ้อยแถลงของผู้นำฝรั่งเศสกลายเป็นจุดพลิกผันของมิตรภาพที่อบอุ่นระหว่าง ทรัมป์ กับ มาครง ที่แสดงออกมาตลอดระยะเวลาเกือบ 3 วันที่ มาครง เยือนอเมริกาแบบรัฐพิธี
ในกิจกรรมท้ายๆ ก่อนสิ้นสุดภารกิจเยือนสหรัฐฯ มาครง ยอมรับว่าไม่มั่นใจอนาคตของข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์อิหร่าน และหวั่นเกรงอยู่ลึกๆ ว่า ทรัมป์ อาจจะตัดสินใจถอนตัวจากข้อตกลงนี้
ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ต่อคองเกรส มาครง ได้เตือนถึงผลเสียจากนโยบายของ ทรัมป์ ทั้งในด้านการค้า สภาพอากาศ และการไม่แพร่ขยายอาวุธ
“เราสามารถช่วยกันสร้างระเบียบโลกในศตวรรษที่ 21 ที่ตั้งอยู่บนความร่วมมือพหุภาคีรูปแบบใหม่ ซึ่งมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และมุ่งเน้นผลลัพธ์มากขึ้น” มาครง กล่าว
ทรัมป์ ขู่จะนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงการค้าพหุภาคี กล่าวหาพันธมิตรว่าเอาเปรียบอเมริกา หันหลังให้ข้อตกลงภูมิอากาศปารีส วิจารณ์บทบาทขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และยังไม่เต็มใจร่วมมือกับกลุ่มประเทศอย่างสหภาพยุโรป (อียู)
ผู้นำเมืองน้ำหอมเรียกเสียงชื่นชมล้นหลามจากพรรคเดโมแครต หลังออกมาสนับสนุนความร่วมมือแบบพหุภาคี และเตือนสหรัฐฯ ให้หลีกเลี่ยงนโยบายโดดเดี่ยวที่ไม่ต่างอะไรกับการ “ปิดประตูขังตัวเองจากโลก”
มาครง ยังประกาศชัดเจนว่าฝรั่งเศสจะไม่ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน และเตือนสหรัฐฯ ว่าไม่ควรตั้งกำแพงภาษีกับชาติพันธมิตร พร้อมย้ำว่าข้อตกลงระดับโลกเพื่อต่อสู้ปัญหาความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศนั้นจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่มี “โลกใบที่ 2” (Planet B)
“สหรัฐอเมริกาเป็นฝ่ายริเริ่มความร่วมมือแบบพหุภาคีนี้ขึ้นมา ตอนนี้ก็เป็นหน้าที่ของพวกคุณที่จะต้องช่วยกันรักษาและปรับปรุงมันขึ้นมาใหม่” มาครง ระบุ
มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากยุโรปจะเริ่มมีผลบังคับในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าหาก ทรัมป์ ไม่เซ็นคำสั่งยกเว้น และแม้จะต้องอัธยาศัยกับ มาครง เป็นพิเศษ แต่ผู้นำสหรัฐฯ ก็ยังไม่เอ่ยปากว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
ทรัมป์ ยังขู่จะไม่ยกเว้นมาตรการคว่ำบาตรให้กับอิหร่านอีกครั้งในเดือน พ.ค. ซึ่งจะมีผลเท่ากับการฉีกข้อตกลงนิวเคลียร์ที่มหาอำนาจ 6 ประเทศทำร่วมกับเตหะรานเมื่อปี 2015
มาครง ดูเหมือนจะเข้าใจและเห็นด้วยกับข้อโต้แย้งของ ทรัมป์ ที่ว่า ข้อตกลงปี 2015 ไม่ได้ทำลายศักยภาพในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างถาวร และเมื่อวันอังคาร (24) เขาและ ทรัมป์ ก็ได้ออกคำแถลงร่วมเรียกร้อง “ข้อตกลงใหม่” ที่ครอบคลุมทั้งโครงการนิวเคลียร์และขีปนาวุธ รวมถึงเรื่องที่อิหร่านสยายอิทธิพลแทรกแซงเพื่อนบ้านในตะวันออกกลาง แต่ก็ย้ำชัดเจนว่าฝรั่งเศสจะยังไม่ถอนตัวจากข้อตกลงเดิมที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม หลังจากพบปะกับ ทรัมป์ และได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสภาคองเกรสเมื่อวานนี้ (25) มาครง ยอมรับกับสื่อมวลชนว่า ตนไม่ทราบ “ข้อมูลวงใน” ว่า ทรัมป์ จะตัดสินใจอย่างไร แต่เชื่อว่าผู้นำสหรัฐฯ “จะไม่คงข้อตกลงฉบับนี้ไว้ ด้วยเหตุผลภายในสหรัฐฯ เอง”