เอเจนซีส์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ประกาศเห็นพ้องวานนี้ (18 เม.ย.) ให้มีการยกระดับเจรจาทางการค้าให้เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าการลงทุนและการค้าระหว่างสองชาติพันธมิตร ทว่าฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่ตกปากรับคำว่าจะยอมทำข้อตกลงแบบทวิภาคีหรือไม่
นายกฯ อาเบะ ซึ่งเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ระบุในงานแถลงข่าวร่วมกับ ทรัมป์ ว่า “เราเห็นตรงกันว่าควรจะเริ่มต้นเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าที่มีความเสรี เป็นธรรม และต่างตอบแทน (reciprocal)”
อย่างไรก็ตาม ผู้นำญี่ปุ่นไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามันจะนำไปสู่ข้อตกลงทวิภาคีระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ หรือความตกลงในระดับภาคพื้นแปซิฟิกที่ ทรัมป์ เพิ่งจะออกมายืนยันว่าไม่เห็นด้วย
อาเบะ กล่าวว่าจะมอบหมายให้ผู้ช่วยหารือทางออกที่เป็นไปได้ และรายงานให้ตนทราบ ซึ่งอาจเป็นการซื้อเวลาเพื่อที่จะดึง ทรัมป์ กลับมาสู่ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคที่อดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ได้ริเริ่มไว้
ฝ่าย ทรัมป์ นั้นพอใจที่จะทำข้อตกลงทวิภาคีมากกว่า เนื่องจากสหรัฐฯ จะยิ่งมีอำนาจต่อรองกับโตเกียวในประเด็นละเอียดอ่อน เช่น การเข้าถึงตลาดสินค้าเกษตรและรถยนต์ เป็นต้น
ทรัมป์ ยังไม่ได้ประกาศยกเว้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมให้แก่ญี่ปุ่น อย่างที่พันธมิตรและหุ้นส่วนของวอชิงตันอีกหลายประเทศได้รับมาแล้ว
ในเรื่องภาษีอะลูมิเนียม อาเบะยืนยันว่า “อุตสาหกรรมเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมของญี่ปุ่นช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมและการจ้างงานในสหรัฐฯ อย่างมาก และไม่เคยเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ”
ทรัมป์ มักจะมองการค้าว่าเป็นเกมแบบผู้ชนะกินเรียบ (zero-sum game) และการเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าเหมือนเช่นที่สหรัฐฯ ขาดดุลกับญี่ปุ่นถึง 60,000 ล้านดอลลาร์นั้นถือว่า “ไม่ดี” และต้องได้ดุลเท่านั้นจึงจะถือว่า “ดี”
นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผู้ผันตัวมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังไม่ศรัทธากับแนวทางเจรจาแบบพหุภาคี แต่ชอบที่จะใช้ยุทธศาสตร์ “แบ่งแยกและเอาชนะ” มากกว่า
“สิ่งที่สื่อรายงานเกี่ยวกับ TPP ยังไม่ถูกต้อง” ทรัมป์ กล่าวขณะยืนแถลงข่าวคู่กับผู้นำญี่ปุ่นที่รัฐฟลอริดา “ผมไม่ต้องการกลับไปสู่ TPP อีก แต่หากพวกเขายื่นข้อเสนอที่ผมไม่อาจปฏิเสธได้ในฐานะตัวแทนของชาวอเมริกัน ผมก็จะทำ”
“ตัวผมเองชอบข้อตกลงทวิภาคีมากกว่า มันดีกับประเทศของเราและดีต่อแรงงานของเราด้วย”
ทางฝ่าย อาเบะ ยืนยันไปอีกทางหนึ่งว่า “เราเชื่อว่า TPP เป็นข้อตกลงที่ดีที่สุดสำหรับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ และเราจะมีการพูดคุยโดยคำนึงถึงสิ่งนี้”
ก่อนหน้านั้น ทรัมป์ ได้ท้าทาย อาเบะ ต่อหน้าสื่อมวลชนขณะพูดคุยกันที่รีสอร์ต มาร์-อา-ลาโก ในรัฐฟลอริดา โดยกล่าวว่า “อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีก็ทราบอยู่แล้วว่า ญี่ปุ่นได้เปรียบการค้ากับสหรัฐฯ และเราเป็นฝ่ายขาดดุลมหาศาล”
แม้จะยืนยันว่าความสัมพันธ์นั้น “ดีมาก” แต่ ทรัมป์ ก็แหวกธรรมเนียมการทูตด้วยการเรียกร้องให้ผู้นำญี่ปุ่นปรับปรุงพฤติกรรมการค้าให้ “เสรี เป็นธรรม และต่างตอบแทน” มากขึ้น
“คำว่าต่างตอบแทนนั้นหมายความว่า เมื่อคุณส่งรถยนต์เข้ามาขายในประเทศเรา เราก็เก็บภาษี และเมื่อเราต้องการส่งรถยนต์ไปขายในญี่ปุ่นบ้าง... ซึ่งยังทำไม่ได้ เราก็หวังว่าคุณจะไม่กีดกัน และเราจะจ่ายภาษีให้คุณเท่าๆ กัน” ทรัมป์ กล่าว
คำพูดขวานผ่าซากของผู้นำสหรัฐฯ น่าจะสร้างความกระอักกระอ่วนใจไม่น้อยต่อ อาเบะ ซึ่งกำลังสูญเสียคะแนนนิยมในหมู่ชาวญี่ปุ่น และแม้จะต้องการเน้นย้ำความสัมพันธ์ที่ดีกับ ทรัมป์ แต่ก็คงไม่อยากถูกมองว่าเป็นเพียงลูกไล่ของอเมริกา