“พาณิชย์” จับมือสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่ติวเข้มชาวสวนผลไม้ใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออก เตรียมนำทีมงานที่เชี่ยวชาญแต่ละด้านไปให้คำแนะนำ ตั้งแต่การผลิตให้ได้คุณภาพ ขั้นตอนการส่งออก ชี้หมดยุคผลิตแล้วขายพ่อค้าอย่างเดียว เผยยังจะใช้โอกาสนี้รับฟังความคิดเห็น หลังไทยมีแผนเจรจา FTA ไทย-อียู และการเข้าร่วม CPTPP
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ จะร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติลงพื้นที่ไปยังจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้สำคัญของประเทศ เช่น เชียงใหม่ จันทบุรี และยะลา เป็นต้น ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2561 เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ผลิตผลไม้ของไทยในการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ เพราะขณะนี้ FTA กรอบต่างๆ ส่วนใหญ่ได้ลดภาษีในกลุ่มผลไม้ลงเหลือ 0% แล้ว จึงเป็นโอกาสที่เกษตรกรจะใช้ FTA ในการส่งออกผลไม้ออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ แทนที่จะผลิตแล้วขายให้พ่อค้าเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งขึ้นด้วย
“ปกติเกษตรกรจะปลูกผลไม้แล้วขายผลผลิตให้แก่พ่อค้า แต่ปัจจุบันมีเกษตรกรหลายกลุ่มที่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน และหันมาทำตลาดเอง ซึ่งกรมฯ จะเข้าไปให้ความรู้และแนะนำการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออก โดยจะพาทีมผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เข้าไปให้คำแนะนำว่าถ้าอยากจะส่งออกต้องทำยังไงบ้าง ตั้งแต่การเพาะปลูกต้องมีคุณภาพ การบรรจุหีบห่อต้องทำยังไง หรือถ้าจะส่งออกมีอะไรเป็นข้อห้ามบ้าง เช่น ต้องไม่มีสารเคมีหรือแมลงตกค้าง หรือการขอแบบฟอร์มส่งออกต้องทำยังไง ซึ่งจะไปช่วยสอน ช่วยแนะนำให้ทั้งหมด แล้วทำให้เกษตรกรส่งออกให้ได้” นางอรมนกล่าว
นอกจากนี้ ในโอกาสลงพื้นที่ กรมฯ จะรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเกษตรกรในกลุ่มต่างๆ เพื่อนำมาประกอบท่าทีการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดทำข้อมูลเพื่อเจรจา FTA ไทย-อียู และการพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หรือ TPP เดิม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงจากเกษตรกรก่อนที่จะไปเจรจา
นางอรมนกล่าวว่า สำหรับผลการลงพื้นที่พบปะกับเกษตรกรใน 3 สินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ กาแฟ โคเนื้อ และโคนม โดยกาแฟลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายและชุมพร โคเนื้อ ลงพื้นที่จังหวัดนครพนม และโคนม ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สระบุรี และกาญจนบุรี พบว่า เกษตรกรเห็นความสำคัญของการยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และเกษตรกรยังได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และพร้อมที่จะพัฒนาไปเป็นผู้ประกอบการ ทั้งการค้าขายในประเทศ และส่งออก
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกร กรมฯ ได้ประสานกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเข้าไปช่วยเหลือในด้านการทำธุรกิจ การพัฒนาแฟรนไชส์ และประสานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศช่วยเหลือในด้านการส่งออก ขณะที่กรมฯ ได้ชี้ช่องและแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีในการส่งออก โดยเฉพาะตลาดอาเซียน ตลาดเพื่อนบ้าน และจีน เป็นต้น