xs
xsm
sm
md
lg

HSBC ชี้ธุรกิจมั่นใจการค้าฟื้น..สินเชื่อกระเตื้อง-ห่วงบาทป่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอชเอสบีซี คาดภาพรวมการค้าสดใสดันสินเชื่อกลุ่มการค้าต่างประเทศ กระเตื้อง แต่ยังห่วงด้านค่าเงินผันผวน

นายกฤษฎา แพทย์เจริญ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย เปิดเผยถึงรายงานผลสำรวจล่าสุดเรื่อง ‘Navigator: Now, next and how for business’ ของธนาคารระบุว่า ธุรกิจในประเทศไทยมีมุมมองเชิงบวกอย่างมากต่อโอกาสการขยายตัวของการค้าในอนาคต และคาดว่าความต้องการสินเชื่อธุรกิจเพื่อการค้าต่างประเทศ รวมถึงการเข้าถึงสินเชื่อการค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยที่ธุรกิจไทยมีความกังวลมากที่สุดในการเข้าถึงสินเชื่อการค้าต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในรายละเอียดผลการสำรวจบริษัทไทย 200 แห่ง พบว่า ธุรกิจในไทยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 92) มีมุมมองเชิงบวกต่อโอกาสการขยายตัวของธุรกิจระหว่างประเทศ และคาดว่าปริมาณการค้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดทั่วโลก (ร้อยละ 77) โดยในบรรดาตลาดที่ทำการสำรวจทั้งหมด ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 3 ตลาดแรกที่มีมุมมองเชิงบวกที่สุดต่อภาพรวมการค้าระหว่างประเทศ รองจากบังคลาเทศ และอินเดีย

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจไทยมีความเชื่อมั่นต่อโอกาสการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ผู้บริโภค (ร้อยละ 33) สภาพเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย (ร้อยละ 31) และแรงงานฝีมือที่สามารถหาได้ (ร้อยละ 25) ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวของการค้า

ปัจจุบัน จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย (ร้อยละ 39) รองลงมา คือ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 25) และสหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 16) โดยบริษัทไทยยังคงมุ่งหวังที่จะพัฒนาโอกาสทางการค้ากับคู่ค้าญี่ปุ่น และจีน แต่ก็ให้ความสนใจที่จะขยายโอกาสทางการค้ากับพม่า และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่ากว่า 3 ใน 4 ของธุรกิจไทย (ร้อยละ 86) คาดว่าความต้องการสินเชื่อธุรกิจเพื่อการค้าต่างประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้น และสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 88) คาดว่าการเข้าถึงสินเชื่อการค้าต่างประเทศจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการค้าที่คาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยมองว่า ความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยน (ร้อยละ 34) เป็นปัจจัยท้าทายที่สุดในการเข้าถึงสินเชื่อการค้าต่างประเทศ ขณะที่มองว่าต้นทุนธุรกรรมที่สูง (ร้อยละ 24) เป็นปัจจัยท้าทายที่ส่งผลรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับบรรดาตลาดอื่น ๆ ในเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 37

ส่วนผลกระทบจากนโยบายภาครัฐ พบว่า นโยบายที่กำหนดออกมาเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระดับภูมิภาคให้แน่นแฟ้นขึ้น อาทิ นโยบาย Belt and Road Initiatives ของจีน และกลยุทธ์ ASEAN 2025 ธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่ ระบุว่า นโยบายเหล่านี้ส่งผลบวกต่อธุรกิจระหว่างประเทศ และมองว่า ข้อตกลงการค้าเสรี ASEAN และข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชียใต้ (SAFTA) จะช่วยส่งเสริมธุรกิจระหว่างประเทศอีกด้วย

“เรามองภาพรวมการค้ามีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ และบริษัทไทยจะได้ประโยชน์ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศจากการที่อุปสงค์ผู้บริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้น และสภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ในฐานะธนาคารชั้นนำด้านการค้าระหว่างประเทศ เอชเอสบีซี มีความพร้อมและศักยภาพอย่างเต็มที่ที่จะมอบบริการสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจการค้า (Supply Chain Financing) และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจระหว่างประเทศแก่ลูกค้า”


กำลังโหลดความคิดเห็น