xs
xsm
sm
md
lg

นาวี US ปลด ผบ.กองเรือที่ 7 เซ่นเหตุเรือรบมะกันในเอเชียเฉี่ยวชน 4 หนปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลเรือโทโจเซฟ โอคอยน์ ถูกปลดจากจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือที่ 7
เอเจนซีส์ - กองทัพเรือสหรัฐฯลงดาบในวันพุธ (23 ส.ค.) ปลดผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 หลังเรือรบอเมริกันในเอเชียประสบอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกิดเฉี่ยวชนรุนแรงกับเรือพาณิชย์ถึง 2 ครั้งในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นฝีมือแฮกเกอร์ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยผู้ต้องสงสัยสำคัญที่สุดหนีไม่พ้นจีนและเกาหลีเหนือ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า เรือรบอเมริกันมีระบบรักษาความปลอดภัยเข้มงวดและซับซ้อนเกินกว่าจะถูกเจาะง่ายๆ

พลเรือเอกสกอตต์ สวิฟต์ ผู้บัญชาการกองเรือแปซิฟิกของสหรัฐฯ สั่งปลดพลเรือโทโจเซฟ โอคอยน์ จากตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 ระหว่างเดินทางไปยังกองบัญชาการของกองเรือนี้ ที่เมืองโยโกสึกะของญี่ปุ่น พร้อมแต่งตั้งพลเรือตรีฟิล ซอว์เยอร์ รองผู้บัญชาการกองเรือแปซิฟิก รับหน้าที่แทนทันที

โอคอยน์ซึ่งไต่เต้าขึ้นมาจากสายนักบินนาวี มีกำหนดที่จะพ้นตำแหน่งนี้อยู่แล้วในเดือนหน้า และซอว์เยอร์ที่มาจากสายเรือดำน้ำก็ถูกวางตัวให้สืบทอดเป็นผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 ต่อจากเขาอยู่แล้วเช่นกัน

ทางด้านโฆษกกองทัพเรือสหรัฐฯแถลงว่า การตัดสินใจครั้งนี้มาจากการขาดความเชื่อมั่นในความสามารถในการบังคับบัญชาของโอคอยน์

โอคอยน์รับตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2015 และรับราชการในกองทัพเรือนับจากปี 1980

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาไม่ถึง 3 เดือนที่ผ่านมา เรือรบในกองเรือที่ 7 ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงที่มีผู้เสียชีวิตด้วยถึง 2 ครั้ง ล่าสุดคือ เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส จอห์น เอส. แมคเคน ที่ชนกับเรือบรรทุกน้ำมัน บริเวณน่านน้ำทางตะวันออกของสิงคโปร์และมาเลเซียเมื่อเช้าตรู่วันจันทร์ (21) ทำให้มีลูกเรือบาดเจ็บ 5 นาย และสูญหาย 10 นาย

พลเรือเอกสวิฟต์แถลงเมื่อวันอังคาร (22) ว่า พบชิ้นส่วนร่างกายของลูกเรือที่สูญหายบางส่วน ขณะที่มาเลเซีย ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ร่วมปฏิบัติการค้นหา เผยว่า พบศพลูกเรือ 1 นายซึ่งเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพเรือสหรัฐฯ นำกลับไปแล้วในวันพุธ (23)

กองเรือที่ 7 ของสหรัฐฯ ซึ่งมีเรือในความรับผิดชอบราว 70 ลำ รวมทั้งเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ และมีเครื่องบินอีกราว 140 ลำ และทหารประมาณ 20,000 คน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการปรากฏตัวทางทหารของสหรัฐฯ ในเอเชีย โดยกองเรือนี้รับผิดชอบภารกิจที่อ่อนไหวหลายๆ อย่าง เช่น การปฏิบัติการในทะเลจีนใต้และคาบสมุทรเกาหลี ท่ามกลางการรุกขยายอิทธิพลทางทหารของจีน และการยั่วยุคุกคามของโครงการอาวุธและนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ
พลเรือโทโจเซฟ โอคอยน์ ถูกปลดจากจากตำแหน่งผู้บัญชาการกองเรือที่ 7 ตามหลังเรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส จอห์น เอส. แมคเคน ชนกับเรือบรรทุกน้ำมัน บริเวณน่านน้ำทางตะวันออกของสิงคโปร์และมาเลเซียเมื่อเช้าตรู่วันจันทร์ (21) ทำให้มีลูกเรือบาดเจ็บ 5 นาย และสูญหาย 10 นาย
กรณีเรือพิฆาต จอห์น แมคเคน ซึ่งเป็นอุบัติเหตุครั้งที่ 4 ของเรือรบในสังกัดกองเรือที่ 7 ในรอบปีนี้ ยังทำให้เกิดความกังวลว่า กองทัพเรือสหรัฐฯ ปฏิบัติภารกิจในเอเชียตะวันออกเกินกำลังหรือไม่ และในวันจันทร์(21) พลเรือเอกจอห์น ริชาร์ดสัน ผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐฯ สั่งให้ผู้บัญชาการกองเรือของอเมริกันทั่วโลกหยุดพักการปฏิบัติการราว 1-2 วัน ซึ่งอาจจะเริ่มต้นขึ้นได้ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อหารือกันถึงมาตรการที่ควรนำมาใช้เพื่อรับประกันความปลอดภัยและการปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกองกำลังนาวีภาคพื้นแปซิฟิกซึ่งตั้งฐานอยู่ในญี่ปุ่น จะมีการทบทวนอย่างละเอียดต่อไปเพื่อตรวจสอบเรื่องการฝึกอบรม

ริชาร์ดสันยังไม่ได้ตัดประเด็นการแทรกแซงจากภายนอกหรือการโจมตีทางไซเบอร์ออก แต่สำทับว่า ไม่อยากตัดสินล่วงหน้าก่อนที่การสอบสวนหาสาเหตุการชนของเรือแมคเคนจะเสร็จสมบูรณ์

ก่อนหน้ากรณีเรือแมคเคนเพียง 2 เดือน เรือพิฆาตติดขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส ฟิตซ์เจอรัลด์ ที่ต่อจากอู่เดียวกับเรือแมคเคน ก็ได้ชนกับเรือบรรทุกสินค้าติดธงฟิลิปปินส์ นอกชายฝั่งญี่ปุ่น ทำให้ลูกเรือเสียชีวิต 7 นาย และนายทหารหลายคนถูกดำเนินการทางวินัย

นอกจากนี้ยังมีอุบัติเหตุอีกสองครั้งเกิดขึ้นในปีนี้คือ ในเดือนพฤษภาคม เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถี ยูเอสเอส เลค แชมเพลน ได้ชนกับเรือประมงเกาหลีใต้ ขณะที่ในเมื่อเดือนมกราคม ยูเอสเอส แอนไทแทม เรือลาดตระเวนติดขีปนาวุธนำวิถีอีกลำหนึ่ง เกิดอุบัติเหตุทำให้ใบจักรของเรือได้รับความเสียหาย ระหว่างการทอดสมอเพื่อจอดในอ่าวโตเกียว แต่ทั้งสองครั้งนี้ไม่มีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ทางด้าน อิทาร์ กลิค ประธานโวทิโร บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของอิสราเอล ชี้ว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับเรือรบสหรัฐฯ บ่งชี้ว่า ระบบจีพีเอสของกองทัพเรืออาจถูกแฮกเกอร์แทรกแซงทำให้คำนวณตำแหน่งผิดพลาด

เขาเชื่อว่า แฮกเกอร์อาจพยายามกระทำการดังกล่าว ยิ่งถ้าได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วยแล้ว การโจมตีแบบนี้อาจไม่ได้ยากเย็นเกินไป

กลิค ที่เคยทำงานให้หน่วยข่าวกรองอิสราเอล สำทับว่า ประเทศที่น่าสงสัยที่สุดคือจีนและเกาหลีเหนือ

เขายกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ซึ่งมีการแทรกแซงระบบจีพีเอสของเรือ 20 ลำพร้อมกันในทะเลดำ เพื่อยืนยันว่า เรื่องนี้เป็นไปได้

การแทรกแซงดังกล่าวที่เรียกกันว่า spoofing จะกวนสัญญาณจีพีเอสเพื่อให้อุปกรณ์ของเรือแสดงตำแหน่งผิด

ขณะที่เจฟฟรีย์ สตัตซ์แมน ประธานฝ่ายปฏิบัติการข่าวกรองของวาแพ็ค แล็บส์ บริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของอเมริกา เห็นด้วยว่า มีความเป็นไปได้ที่การโจมตีทางไซเบอร์เป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุของเรือแมคเคน และเขาไม่เชื่อว่า อุบัติเหตุของเรือรบอเมริกันในปีนี้เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ทั้ง 4 ครั้ง

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้เชี่ยวชาญบางคนไม่เห็นด้วย เช่น ซัคคาไร ฟรายเออร์-บิกส์ จากบริษัทที่ปรึกษาด้านกลาโหม เจนส์ บาย ไอเอชเอส มาร์กิต ที่บอกว่าแม้ระบบจีพีเอสขัดข้อง แต่ยังมีกลไกรักษาความปลอดภัยอื่นๆ ที่สามารถป้องกันไม่ให้เรือชนได้ เช่น ลูกเรือที่ติดตามการเคลื่อนที่ของเรือ

แดเนียล พอล โกเอตซ์ จากแลนเทียม บริษัทรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในอเมริกา ขานรับว่า การที่จะทำให้เรือชนกันกลางทะเลนั้นเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก โดยต้องรู้ตำแหน่ง ความเร็ว และทิศทางที่แน่นอนของเรือทั้งสองลำ ณ เวลาที่เกิดเหตุ

โกเอตซ์ที่เคยทำงานในหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐฯ ทิ้งท้ายว่า กองทัพสหรัฐฯ ใช้ระบบจีพีเอสที่มีการรักษาความปลอดภัยสูงและการเข้ารหัสที่ซับซ้อน ดังนั้น โอกาสที่แฮกเกอร์จะเข้ายึดระบบของเรือรบอเมริกันจึงเกือบเท่ากับศูนย์


กำลังโหลดความคิดเห็น