xs
xsm
sm
md
lg

ยังคงมีความสับสนในการประเมินภัยคุกคามของ‘เกาหลีเหนือ’

เผยแพร่:   โดย: ท็อดด์ โครเวลล์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Mixed assessments cloud North Korean threats
By Todd Crowell
13/08/2017

พวกผู้เชี่ยวชาญยังคงมีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องที่ว่า เปียงยางมีระเบิดนิวเคลียร์แบบย่อส่วนเล็กเพียงพอที่จะนำไปบรรจุเป็นหัวรบของขีปนาวุธนำวิถีได้แล้วหรือยัง ขณะเดียวกันการที่เมื่อเร็วๆ นี้ เกาหลีเหนือออกมาข่มขู่คุกคามป้อมปราการของสหรัฐฯในแปซิฟิกอย่างเกาะกวม ก็อาจจะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมทางยุทธศาสตร์ได้ทีเดียว ถึงแม้ล่าสุดโสมแดงจะได้ประกาศชะลอ “การลองของ” เช่นนี้เอาไว้ก่อน

โตเกียว - เกาหลีเหนือสาธิตให้เห็นจากการทดสอบใต้ดินมาหลายครั้งแล้วว่า ตนมีลูกระเบิดปรมาณูและสามารถที่จะจุดระเบิดให้มันสำแดงฤทธิ์เดชได้ นอกจากนั้นโสมแดงยังสาธิตให้เห็นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจจากการทดสอบ 2 ครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ว่า ตนสามารถยิงขีปนาวุธซึ่งทรงพลังเพียงพอที่จะเดินทางไปจนถึงดินแดนภาคพื้นทวีปของสหรัฐอเมริกาได้

สิ่งที่เปียงยางยังไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นก็คือ พวกเขาสามารถที่จะนำเอาเจ้าสองสิ่งนี้เข้ามารวมกันและสร้างให้เป็นอาวุธนิวเคลียร์ที่สามารถใช้งานได้และมีสมรรถนะที่จะโจมตีใส่เป้าหมายต่างๆ ในสหรัฐฯ

พวกผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธและด้านการไม่แพร่กระจายอาวุธร้ายแรง ได้เคยคาดเดากะเก็งกันมาหลายปีแล้วว่า เปียงยางคงประสบความสำเร็จเรียบร้อยแล้วในเรื่อง “กระบวนการย่อส่วน” ระเบิดปรมาณูให้มีขนาดเล็กพอที่จะบรรจุเข้าไปในส่วนปลายสุดของขีปนาวุธนำวิถี และขีปนาวุธดังกล่าวก็สามารถเคลื่อนที่ไปสู่เป้าหมายอย่างเชื่อถือได้ อีกทั้งยังคงสามารถทำงานได้ภายหลังกลับคืนจากอวกาศเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก (atmospheric reentry)

ขณะที่เกาหลีเหนือเองก็ได้อวดอ้างมานานแล้วเช่นกันว่า ตนสามารถกระทำเรื่องเช่นนี้ได้ แล้ว ซึ่งในทางเป็นจริงแล้วก็ค่อนข้างเป็นของสามัญทีเดียวในบรรดารัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหลาย ครั้นมาถึงเวลานี้พวกนักเฝ้าจับตามองเกาหลีเหนือจำนวนมาก ก็ดูจะยอมรับแม้จะด้วยความลังเล กับความคิดความเชื่อที่ว่าโสมแดงสามารถทำเรื่องนี้ได้จริงๆ

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ฉบับเมื่อเร็วๆ นี้ รายงานข่าวว่า มีความเห็นพ้องต้องกันเป็นฉันทามติในหมู่ “ประชาคมข่าวกรอง” ของสหรัฐฯว่า เกาหลีเหนือทำเรื่องนี้ได้สำเร็จแล้ว และสามารถโจมตีสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, และเกาหลีใต้ ด้วยอาวุธนิวเคลียร์จริงๆ สอดคล้องกับที่ คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือข่มขู่เอาไว้ว่าทำให้ทั่วทั้งอเมริกา ตกอยู่ใน “ทะเลแห่งอัคคีร้ายแรงเหนือจินตนาการ”

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่ปรารถนาที่จะประเมินสถานการณ์อย่างไปไกลถึงขนาดนั้น ใน “สมุดปกขาว” ด้านกลาโหมฉบับล่าสุดของแดนอาทิตย์อุทัย (ชื่ออย่างเป็นทางการคือ กิจการกลาโหมของญี่ปุ่นปี 2017 Defense of Japan 2017) กล่าวเพียงแค่ว่า เกาหลีเหนือสามารถสร้าง “ความคืบหน้าไปอย่างสำคัญ” ในการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตน

สมุดปกขาวฉบับนี้ยอมรับว่า เกาหลีเหนือมีความสามารถ “ที่เป็นไปได้” (“possible” ability) ที่จะพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์แบบย่อส่วน ซึ่งสามารถติดตั้งเอาไว้ที่ส่วนปลายของขีปนาวุธของโสมแดง

ควรต้องชี้ด้วยว่าไม่ใช่ว่าทุกๆ คนทุกๆ ฝ่ายเชื่อว่า ขีปนาวุธ 2 ลูกที่เปียงยางนำมาทดสอบในเดือนกรกฎาคมนั้นสามารถที่จะไปถึงดินแดนภาคพื้นทวีปของสหรัฐฯจริงๆ เป็นต้นว่า รัสเซียได้เผยแพร่ตัวเลขของตนเองซึ่งแตกต่างออกไปมากเหลือเกิน เกี่ยวกับระยะเวลาในการบินและเส้นทางโคจรของการทดสอบทั้ง 2 ครั้งของโสมแดง และเสนอแนะว่าขีปนาวุธทั้ง 2 ลูกไม่น่าที่จะเคลื่อนไปจนถึงสหรัฐฯได้

อย่างไรก็ดี ฉันทามติของประชาคมข่าวกรองสหรัฐฯดูเหมือนว่าจะเป็นการได้ข้อสรุปกันอย่างชัดเจนแล้ว ถึงแม้ยังคงมีการใช้คำพูดเคลือบคลุมในประเด็นที่ว่า ขีปนาวุธของเปียงยางนั้นมีระบบนำวิถีซึ่งสามารถค้นหาเป้าหมายหรือไม่ ตลอดจนเป็นยานที่สามารถป้องกันหัวรบไม่ให้ถูกเผาไหม้ได้หรือไม่ หลังจากยิงขึ้นสู่อวกาศแล้วย้อนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกที่อยู่ข้างล่าง

จรวดที่เกาหลีเหนือยิงทดสอบในเดือนกรกฎาคมนี้มีอยู่ลูกหนึ่งซึ่งเคลื่อนเข้าไปใกล้ญี่ปุ่น จนสามารถเฝ้าติดตามและถ่ายภาพวิดีโอเอาไว้จากเกาะฮอกไกโด ซึ่งอยู่ทางเหนือของแดนอาทิตย์อุทัย มีการพูดกันกระหึ่มว่าภาพวิดีโอที่ถ่ายได้แสดงให้เห็นว่าหัวรบของขีปนาวุธอยู่ในสภาพที่กำลังแตกเสียหาย ทั้งนี้ขีปนาวุธลูกนี้เกาหลีเหนือยิงออกมาโดยใช้วงโคจรที่สูงมาก ซึ่งหมายความว่ามันเดินทางไปได้เพียงประมาณ 500 ไมล์เท่านั้นก่อนที่จะตกลงสู่ทะเลญี่ปุ่น

แน่นอนทีเดียวมีอยู่หนทางหนึ่งซึ่งเกาหลีเหนือสามารถพิสูจน์ได้อย่างมีข้อสรุปยุติว่า ตนมีอาวุธนิวเคลียร์ที่พึ่งพาอาศัยได้และใช้งานได้อย่างแน่นอน นั่นคือพวกเขาสามารถที่จะนำเอาระเบิดปรมาณู เข้าไปใส่ไว้ตรงส่วนยอดของขีปนาวุธ จากนั้นก็ยิงขีปนาวุธลูกนี้ไปยังที่ไหนสักแห่ง และจัดการระเบิดมันในชั้นบรรยากาศ เพื่อที่ทุกคนทุกฝ่ายจะได้เห็นกันอย่างถนัดชัดเจน

นี่คือสิ่งที่จีนเคยกระทำในปี 1966 เพื่อสาธิตให้เห็นว่าการทดสอบระเบิดปรมาณูครั้งแรกเมื่อปี 1964 ของตนนั้นไม่ใช่เรื่องฟลุก แต่เป็นอาวุธของจริง แต่ก็อย่างว่าแหละ จีนนั้นมีพื้นที่ห่างไกลที่เป็นทะเลทรายกว้างใหญ่ซึ่งใช้สำหรับการทดสอบเช่นนี้ได้ แต่เกาหลีเหนือไม่ได้มีพื้นที่รกร้างห่างไกลสำหรับเป็นสนามทดลองระเบิดปรมาณู

โครงการขีปนาวุธของเกาหลีเหนือต้องเผชิญอุปสรรคขวางกั้นมานานแล้ว สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศนี้มีพื้นที่ขนาดเล็กและไม่สามารถที่จะทดสอบขีปนาวุธพิสัยไกลๆ ได้โดยไม่ต้องล่วงล้ำน่านฟ้าของพวกชาติเพื่อนบ้านผู้ทรงอำนาจของตน

อย่างไรก็ดี นี่ไม่สามารถหยุดยั้งเปียงยางได้เลยในอดีตที่ผ่านมา เมื่อปลายทศวรรษ 1990 เกาหลีเหนือได้ยิงจรวดพิสัยไกลหลายลูกซึ่งเคลื่อนที่ข้ามเกาะฮอนชู อันเป็นเกาะใหญ่ที่สุดและมีประชากรอาศัยอยู่มากที่สุดของญี่ปุ่นอย่างดื้อๆ จรวดเหล่านี้ตกลงมาในผืนน้ำตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก หลังจากประสบความล้มเหลวไม่สามารถส่งดาวเทียมที่ติดตั้งอยู่เข้าสู่วงโคจรรอบโลกได้

ในเวลาต่อมาเกาหลีเหนือได้เคลื่อนย้ายสถานที่ปล่อยขีปนาวุธของตนจากภาคตะวันออกของประเทศไปยังพื้นที่ไกลออกไปทางภาคตะวันตก และจากนั้นก็ยิงจรวดโดยใช้เส้นวงโคจรมุ่งไปทางทิศใต้ ซึ่งจะเคลื่อนผ่านดินแดนญี่ปุ่น ตรงเหนือบริเวณหมู่เกาะริวกิว ที่อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของแดนอาทิตย์อุทัยเพียงครู่เดียว แล้วตกลงสู่ผืนน้ำในบริเวณทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะกวม ที่เป็นป้อมปราการอันน่าเกรงขามของอเมริกา

เกาะกวมเวลานี้กำลังตกอยู่ในเป้าสายตาของเกาหลีเหนืออีกครั้งหนึ่งแล้ว ไม่ถึง 2 วันหลังจากวอชิงตันโพสต์ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานข่าวดังกล่าวข้างต้น และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯก็ข่มขู่ว่าจะสาดซัด “ไฟและเพลิงแค้น” เข้าถล่มใส่เกาหลีเหนือ เปียงยางก็เปิดเผยแผนการรายละเอียดอันน่าตกตะลึงที่จะยิงขีปนาวุธไปตกใกล้ๆ กับฐานทัพทางทหารอันสำคัญยิ่งยวดของสหรัฐฯบนเกาะแห่งนี้

เกาหลีเหนือแถลงว่าจะระดมยิงขีปนาวุธพิสัยกลาง-ไกล (intermediate range) จำนวน 4 ลูก และตกลงมาห่างจากเกาะราว 30-40 กิโลเมตร โดยเป็นที่เข้าใจกันว่าจะอยู่ในลักษณะรายล้อมฐานทัพสำคัญของอเมริกันแห่งนี้ เปียงยางถึงกับกล้าชี้อย่างเจาะจงกันเลยว่า เส้นทางโคจรของจรวดเหล่านี้จะเคลื่อนที่ข้ามน่านฟ้าของญี่ปุ่นในเขตจังหวัดชิมาเนะ, ฮิโรชิมา, และโคจิ

ในปีที่ผ่านมา มีขีปนาวุธเกาหลีเหนือไม่ต่ำกว่า 7 ลูก ตกลงสู่พื้นน้ำภายในเขต 200 ไมล์ทะเลนอกชายฝั่งของจังหวัดอากิตะของญี่ปุ่น โดยที่โตเกียวไม่ได้แสดงปฏิกิริยาเรียกร้องอย่างใหญ่โตอะไรนอกเหนือจากการประท้วงอย่างเบาๆ เท่านั้น จึงเห็นได้ชัดว่าเปียงยางคาดคำนวณว่าสามารถรับมือกับการตอบโต้ของญี่ปุ่นได้

เกาหลีเหนือนั้นมีความหวาดกลัวมานานแล้วต่อเกาะกวม ซึ่งโสมแดงมองว่าเป็นเสมือนรังโจรสลัด เกาะแห่งนี้เป็นที่ตั้งของฐานทัพอากาศแอนเดอร์เสน (Andersen Air Force Base) ซึ่งเป็นฐานประจำการของเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ บี-1 และ บี-52 ที่ออกปฏิบัติภารกิจบินไปตามเขตปลอดทหารที่แบ่งแยกระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้อยู่เป็นประจำ แถมยังสามารถบรรทุกอาวุธนิวเคลียร์ได้ด้วย

สิ่งปลูกสร้างทางทหารแห่งต่างๆ ของอเมริกันเป็นผู้ครอบครองพื้นที่เกือบๆ 30% ของเกาะแห่งนี้ โดยที่มีทหารสหรัฐฯประจำอยู่ที่นี่อย่างน้อยที่สุด 6,000 คน นอกจากนั้นเกาะกวมยังเป็นท่าเรือหลักของกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ซึ่งน่าที่จะถูกส่งออกไปปฏิบัติการหากเกิดสถานการณ์การสู้รบขัดแย้งใดๆ ขึ้นมา

เปียงยางไม่ได้ระบุเจาะจงว่าการยิงจรวดไปตกใกล้ๆ เกาะกวมตามที่ข่มขู่ไว้นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใดหรือใช้จุดใดเป็นพื้นที่ปล่อยขีปนาวุธ แต่ก็มีบางคนบางฝ่ายคาดเดากันว่าน่าจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ [1] ครั้งสุดท้ายที่เกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธคราวเดียว 4 ลูกนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน โดยที่ตอนนั้นดูเหมือนมุ่งที่จะคุกคามพวกฐานทัพอเมริกันแห่งต่างๆ ในญี่ปุ่น

การทดสอบเช่นนี้น่าจะเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของคิม จองอึน กล่าวคือ มันจะเป็นการฝึกซ้อมกองทหารในกองกำลังจรวดยุทธศาสตร์ (Strategic Rocket Force) ของเขา ซึ่งยังเป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า กรมขีปนาวุธนำวิถี (Missile Guidance Bureau) ขณะเดียวกันยังเป็นการแสดงความหยามหยันญี่ปุ่น และทำให้สหรัฐฯโกรธเกรี้ยว โดยทำท่าเหมือนเป็นการจัดทดสอบการโจมตีต่อหนึ่งในฐานทัพที่สำคัญที่สุดของอเมริกันในเอเชีย

ความเคลื่อนไหวเช่นนี้ยังสามารถถือเป็นการให้คำตอบต่อคำถามบางอย่างบางประการที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ เกี่ยวกับสมรรถนะของเกาหลีเหนือในการยิงจรวดพิสัยไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าขีปนาวุธทั้ง 4 ลูกสามารถที่จะตกใส่เป้าหมายหรือใกล้เคียงเป้าหมาย หากเป็นเช่นนั้นแล้ว เกาหลีเหนือก็ไม่จำเป็นที่จะต้องดำเนินการทดสอบการหวนกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศที่มีความยากลำบากมากกว่า เพื่อเป็นการสาธิตให้เห็นสมรรถนะของตน

ในภาพจำลองสถานการณ์เช่นนี้ การเดินหมากตาต่อไปของสหรัฐฯจะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะหลังจากที่ทรัมป์ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า สหรัฐฯ “ได้ล็อกเป้าและบรรจุอาวุธพรักพร้อมแล้ว” (“locked and loaded”) ทั้งนี้ บนเกาะกวมนั้น ได้มีการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธนำวิถี “ทาด” (Terminal High Altitude Area Defense หรือ THAAD) เอาไว้นานมาแล้ว ระบบ “ ทาด” นี่เองที่เพิ่งนำไปติดตั้งประจำการในเกาหลีใต้เมื่อเร็วๆ นี้

นี่จึงทำให้สหรัฐฯจะต้องตัดสินใจว่า เมื่อเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธเข้ามาใกล้ๆ เกาะกวมจริงๆ แล้ว ตนควรพยายามที่จะยิงขีปนาวุธเหล่านี้ให้ตกลงมา หรือปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่สกัดขัดขวาง แทนที่จะต้องเสี่ยงยิงออกไปแล้วเกิดพลาดเป้าขึ้นมา?

ท็อดด์ โครเวลล์ ทำงานในตำแหน่งนักเขียนอาวุโสของนิตยสารเอเชียวีก (Asiaweek) อยู่ 16 ปี เขาเขียนหนังสือเอาไว้หลายเล่ม เช่น Farewell My Colony, Last years in the life of British Hong Kong ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นเอดิชั่นวาระครบรอบ 20 ปี โดยสำนักพิมพ์แบล็กสมิธบุ๊กส์ (Blacksmith Books) และ The Coming War Between China and Japan ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบของ Amazon Single Kindle

หมายเหตุผู้แปล

[1] เกาหลีเหนือกล่าวในวันอังคาร (15 ส.ค.) ว่า คิม จองอึน ผู้นำโสมแดงได้ชะลอการตัดสินใจเรื่องการยิงขีปนาวุธไปยังเกาะกวมออกไปก่อน โดยจะรอดูความเคลื่อนไหวของฝ่ายสหรัฐฯก่อน ทั้งนี้ตามรายงานอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ทางเว็บไซต์เอเชียไทมส์ จึงขอเก็บความนำมาเสนอในที่นี้:

‘เกาหลีเหนือ’ชะลอการโจมตี‘เกาะกวม’ ขณะ‘สหรัฐฯ’ประกาศจะทำลายขีปนาวุธที่ยิงเข้ามา
โดย กองบรรณาธิการเอเชียไทมส์ และสำนักข่าวรอยเตอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

North Korea holds off on Guam as US says it will destroy missiles
By Asia Times and Reuters
15/08/2017

ผู้นำเกาหลีเหนือได้ชะลอการตัดสินใจในเรื่องการยิงขีปนาวุธให้ไปตกในมหาสมุทรใกล้ๆ ดินแดนเกาะกวมของสหรัฐฯออกไปก่อน ขณะที่เขารอดูว่าสหรัฐฯจะทำอะไรต่อไป สื่อมวลชนโสมแดงรายงานในวันอังคาร (15 ส.ค.) โดยในเวลาใกล้เคียงกันนั้น วอชิงตันก็ออกมาเตือนว่าจะทำลายขีปนาวุธใดๆ ก็ตามซึ่งเคลื่อนที่บ่ายหน้าไปยังเกาะป้อมปราการในแปซิฟิกของตนแห่งนี้

การที่เปียงยางประกาศในสัปดาห์ที่แล้วว่ามีแผนการยิงขีปนาวุธรวม 4 ลูกไปตกใกล้ๆ เกาะกวม ได้กลายเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามน้ำลายกับสหรัฐฯขึ้นมา โดยที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แถลงว่า จะตอบโต้สาด “ไฟและเพลิงแค้น” เข้าใส่เกาหลีเหนือ หากขืนข่มขู่คุกคามสหรัฐฯ

ครั้นมาในวันจันทร์ (14 ส.ค.) ที่ผ่านมา ในการปรากฏตัวครั้งแรกต่อสาธารณชนในรอบระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ สำนักข่าวเคซีเอ็นเคของทางการโสมแดงรายงานว่า คิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้ไปตรวจเยี่ยมกองบัญชาการของกองทัพบกโสมแดง และได้หารือเรื่องแผนการยิงขีปนาวุธไปใกล้ๆ เกาะกวมกับพวกนายทหารกองทัพบก

“สหรัฐฯเป็นฝ่ายแรกที่นำเอาอุปกรณ์นิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์จำนวนหนึ่งมาตั้งอยู่ใกล้ๆ เรา จึงควรเป็นฝ่ายแรกที่ทำการตัดสินใจอันถูกต้อง รวมทั้งแสดงให้เห็นโดยผ่านการกระทำ ถ้าหากพวกเขาปรารถนาที่จะผ่อนคลายความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี และป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากการปะทะกันทางทหาร” เคซีเอ็นเครายงานข่าวโดยอ้างคำพูดของคิม

คิมบอกด้วยว่า “ถ้าพวกแยงกี้ยังคงขืนกระทำการอย่างบุ่มบ่ามอันตรายยิ่งของพวกเขาบนคาบสมุทรเกาหลีและอาณาบริเวณใกล้เคียงต่อไป, ทำการทดสอบการยับยั้งชั่งใจตนเองของ สปปก. (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี ชื่ออย่างเป็นทางการของเกาหลีเหนือ) แล้ว, ฝ่ายหลังก็จะทำการตัดสินใจอันสำคัญตามที่ตนได้ประกาศออกไปเรียบร้อยแล้ว” รายงานของสำนักข่าวทางการเกาหลีเหนือรายงาน

ในช่วงไม่กี่วันหลังๆ มานี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายรายและประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้พยายามออกมาพูดจาลดทอนน้ำหนักของความเสี่ยง ที่จะเกิดการสู้รบขัดแย้งกันอยู่รอมร่อแล้วกับเกาหลีเหนือ ถึงแม้ในเวลาเดียวกันก็ยังคงเน้นย้ำว่ามีความพรักพร้อมที่จะตอบโต้ทางการทหารต่อการโจมตีใดๆ จากฝ่ายโสมแดง

ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหม จิม แมตทิส ของสหรัฐฯ แถลงในวันจันทร์ (14 ส.ค.) ว่า กองทัพสหรัฐฯสามารถที่จะทราบเส้นทางโคจรของขีปนาวุธซึ่งยิงจากเกาหลีเหนือภายในเวลาไม่กี่อึดใจ และก็จะ “สอยมันลงมา” ถ้ามันดูเหมือนจะตกลงมาใส่เกาะกวม

แมตทิสบอกว่า ถ้าขีปนาวุธเกาหลีเหนือมุ่งหน้าสู่พื้นน้ำใกล้ๆ เกาะกวม แทนที่จะเล็งตรงมายังเกาะแห่งนี้แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะกระทำอย่างไรต่อไป

“สิ่งสำคัญที่สุดคือ เราจะปกป้องคุ้มครองประเทศชาติของเราไม่ให้ถูกโจมตี สำหรับเรา (กองทัพสหรัฐฯ) แล้ว นี่คือสงคราม” แมตทิสกล่าว

จะไม่มีสงครามเกาหลีครั้งที่ 2

ความวิตกที่ว่าเกาหลีเหนือใกล้ที่จะบรรลุเป้าประสงค์ของตนในการทำให้แผ่นดินใหญ่สหรัฐฯอยู่ภายในพิสัยการยิงของอาวุธนิวเคลียร์ ได้ทำให้เกิดความกังวลเพิ่มขึ้นมากในทั่วโลกช่วงระยะไม่กี่เดือนหลังๆ มานี้

เฟเดริกา โมเกรินี (Federica Mogherini) ประธานด้านนโยบายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป (อียู) แถลงว่าอียูจะเพิ่มการใช้ความพยายามทางการทูตของตนอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ทั้งต่อเกาหลีเหนือ, สหรัฐฯ, เกาหลีใต้, จีน, รัสเซีย, และญี่ปุ่น

โมเกรินีได้เรียกร้องเกาหลีเหนือ “ให้ละเว้นจากการกระทำการยั่วยุใดๆ เพิ่มมากขึ้นไปอีก ซึ่งรังแต่จะเพิ่มความตึงเครียดในระดับภูมิภาคและในระดับโลกเท่านั้น”

ทางฝ่ายสหรัฐฯ แมตทิส และรัฐมนตรีต่างประเทศ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน ได้ส่งข้อความในทางปรองดองรอมชอมต่อเกาหลีเหนือเมื่อวันอาทิตย์ (13 ส.ค.) ในรูปของบทความชิ้นหนึ่งซึ่งทั้งคู่เขียนร่วมกันและเผยแพร่ในหน้าความเห็นของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล ทั้งนี้บทความชิ้นนี้ยังดูเหมือนมุ่งหมายที่จะผ่อนเพลาความกังวลของปักกิ่งเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของสหรัฐฯไปด้วย โดยที่จีนนั้นมีพรมแดนติดต่ออยู่กับเกาหลีเหนือ

“สหรัฐฯไม่มีความสนใจใดๆ ในการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองหรือในการเร่งรัดการรวมประเทศเกาหลีให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอีกครั้ง เราไม่ได้เสาะแสวงหาข้อแก้ตัวสำหรับการส่งกองทหารสหรัฐฯเข้าไปตั้งประจำที่ตอนเหนือของเขตปลอดทหาร (Demilitarized Zone)” 2 รัฐมนตรีอเมริกันระบุในบทความ ซึ่งดูมุ่งหมายที่จะให้คำตอบต่อความหวาดกลัวบางประการของเปียงยางที่ว่า ในท้ายที่สุดแล้ววอชิงตันมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนคณะผู้นำของประเทศซึ่งอยู่อย่างโดดเดี่ยวไร้เพื่อนประเทศนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีอเมริกันทั้ง 2 ย้ำด้วยว่า “ขณะที่การทูตคือวิธีการที่เราปรารถนามากกว่า เพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเส้นทางการกระทำของเกาหลีเหนือ แต่วิธีการนี้ก็หนุนหลังโดยทางเลือกต่างๆ ในทางการทหารด้วย”

ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลียังผ่อนคลายลงไปอีกเล็กน้อยเมื่อวันจันทร์ (14 ส.ค.) จากการที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ออกมาแถลงว่า การแก้ไขคลี่คลายความทะเยอทะยานทางนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนั้น จะต้องกระทำกันด้วยวิธีการสันติ

“จะต้องไม่มีสงครามอีกแล้วบนคาบสมุทรเกาหลี ไม่ว่าเราจะต้องเผชิญกับการขึ้นๆ ลงๆ อย่างไรก็ตามที สถานการณ์เรื่องนิวเคลียร์เกาหลีเหนือจะต้องแก้ไขคลี่คลายกันด้วยวิธีการสันติ” ประธานาธิบดี มุน แจอิน แถลงเช่นนี้ระหว่างการประชุมหารือกับพวกผู้ช่วยและที่ปรึกษาระดับอาวุโสของเขา

“ผมแน่ใจว่าสหรัฐฯก็จะตอบสนองต่อสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยความสุขุมและด้วยความรับผิดชอบ บนจุดยืนซึ่งมีความเท่าเทียมกันกับจุดยืนของเรา” เขากล่าว

ทางด้านตลาดการเงินได้สะท้อนความตึงเครียดที่คลายความร้อนแรงลงแล้วเช่นนี้ โดยที่ตลาดหุ้นในทั่วโลกพากันขยับเพิ่มสูงขึ้นในวันจันทร์ (14 ส.ค.) เช่นเดียวกับอัตราผลตอบแทนของพันธมิตรสหรัฐฯ และค่าเงินดอลลาร์

วันที่ 15 สิงหาคมนั้น เป็นวันระลึกการที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 อันนำมาซึ่งการปลดปล่อยคาบสมุทรเกาหลีออกจากการปกครองแบบอาณานิคมของญี่ปุ่น ทำให้วันนี้กลายเป็นวันหยุดรำลึกเฉลิมฉลองกันทั้งในเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง

เป็นที่คาดหมายกันว่าทั้ง มุน และ คิม ต่างจะกล่าวคำปราศรัยเนื่องในโอกาสนี้จากฟากฝั่งแต่ละด้านของพรมแดนซึ่งแบ่งแยกทั้งสองฝ่ายออกจากกันและมีการชุมนุมกำลังทหารตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์เอาไว้อย่างหนาแน่นที่สุด

ในทางเทคนิคแล้ว สหรัฐฯกับเกาหลีใต้ยังคงอยู่ในภาวะสงครามกับเกาหลีเหนือ หลังจากที่สงครามเกาหลีปี 1950-53 สิ้นสุดลงด้วยการทำข้อตกลงสงบศึก แต่ยังไม่เคยทำสนธิสัญญาสันติภาพกันเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น