เอเอฟพี – หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ออกมาขู่อย่างดุดันว่า เกาหลีเหนือจะต้องเจอกับ “ไฟและความเกรี้ยวกราด” เมื่อไม่กี่วันมานี้ ทำให้หลายคนสงสัยว่า จริงๆ แล้วผู้นำสหรัฐฯ มีตัวเลือกอะไรบ้างในการจัดการกับคิม จองอึน
หรือทรัมป์จะให้สหรัฐฯเป็นฝ่ายเข้าโจมตีก่อน
การเข้าโจมตีก่อนต่อเกาหลีเหนือหมายความว่า อเมริกาและพันธมิตรจะไม่รอให้เปียงยางยิงขีปนาวุธใส่
แต่การเข้าโจมตีก่อน แม้เพียงแค่เพื่อสกัดขีปนาวุธซึ่งโสมแดงยิงออกมา ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้คิม จองอึน ฉุนเฉียวและตอบโต้อย่างรุนแรงได้
ขณะนี้ ผู้นำที่ไม่อาจคาดเดาได้ของเกาหลีเหนือผู้นี้ ได้ระดมหน่วยปืนใหญ่ไปตั้งท่ารออยู่ที่ชายแดนติดกับเกาหลีใต้อยู่แล้ว
กระทั่งโสมแดงโจมตีแบบจำกัดโดยใช้เฉพาะปืนใหญ่และจรวดเท่านั้น แต่ก็สามารถทำให้ผู้คนในกรุงโซลที่อยู่ห่างจากชายแดนแค่ 55 กิโลเมตรและมีประชากร 10 ล้านคน ล้มตายกันเป็นเบือ ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนว่า ความขัดแย้งจะลุกลามอย่างรวดเร็วและส่งผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วน
นอกจากพลเมืองเกาหลีใต้แล้ว สหรัฐฯ ยังมีทหารประจำการในเกาหลีใต้ถึง 28,500 นาย ซึ่งตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นเดียวกัน
อาวุธที่สหรัฐฯจะใช้ในการโจมตี
มีแนวโน้มว่า อเมริกาอาจส่ง บี-2 เครื่องบินทิ้งระเบิดที่มีเทคโนโลยีหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์ จากเกาะกวม ไปทิ้งระเบิดขนาดยักษ์ที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง Massive Ordnance Penetrator และอาวุธอื่นๆ ถล่มสถานที่ผลิตนิวเคลียร์และคลังแสงโสมแดง
สแตรทฟอร์ บริษัทข่าวกรองเอกชนของอเมริกา ซึ่งปีนี้ได้เผยแพร่รายงานสำรวจทางเลือกต่างๆ ที่เพนตากอนอาจจะนำมาใช้ได้ มองว่า ภายหลังการถล่มทิ้งระเบิดระลอกแรกแล้ว อเมริกาจะติดตามด้วยการเข้าโจมตีของฝูงเครื่องบินขับไล่ เอฟ-22 และจรวดร่อน ซึ่งอาจพุ่งเป้าที่การทำลายยานลำเลียงอาวุธของเกาหลีเหนือ
กระนั้น การทำลายเป้าหมายทางทหารที่ชัดเจนของเปียงยางเหล่านี้ คงไม่อาจป้องกันไม่ให้เกาหลีเหนือปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ของตนได้อย่างเด็ดขาด โดยที่เปียงยางอาจเตรียมหนทางอื่นๆ เอาไว้ด้วย เป็นต้นว่า การยิงจรวดติดอาวุธนิวเคลียร์จากเรือประมงของพลเรือน ถึงแม้นั่นจะเท่ากับเป็นการปฏิบัติการแบบฆ่าตัวตายก็ตามที
เกาะกวมต้องกลัวหรือไม่
หลังจากทรัมป์ขู่ว่า เกาหลีเหนือจะต้องเจอกับ “ไฟและเพลิงแค้นชนิดที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน” เปียงยางตอบโต้แบบไม่สะทกสะท้านว่า กำลังพิจารณาโจมตีเกาะกวม ซึ่งเป็นดินแดนของอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก โดยสามารถดำเนินการได้ “ทุกเมื่อ” หลังจากคิมสั่งการ
ถึงแม้เมื่อเดือนที่แล้ว เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ไอซีบีเอ็ม) ถึง 2 ครั้ง แต่สำหรับการโจมตีกวม เพียงแค่ขีปนาวุธพิสัยกลางระดับสูง (intermediate-range) ก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นถึงขนาดต้องใช้ไอซีบีเอ็ม
เกาะกวมถือเป็นที่มั่นทางยุทธศาสตร์ในแปซิฟิก สำหรับกองทัพสหรัฐฯ โดยเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือกวมและฐานทัพอากาศแอนเดอร์เซน
เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่า ไม่เชื่อว่าเกาะกวมกำลังจะประสบภัยคุกคามอย่างแน่นอนจริงจังใดๆ ขณะที่เจ้าหน้าที่เพนตากอนสำทับว่า ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงระดับการรักษาความปลอดภัยฐานทัพบนเกาะดังกล่าวแต่อย่างใด
แม้ในทางทฤษฎีมีความเป็นไปได้ที่ขีปนาวุธพิสัยกลางระดับสูงของเกาหลีเหนือจะโจมตีถึงกวม ทว่า อาวุธดังกล่าวของโสมแดงเพิ่งผ่านการทดสอบไปไม่กี่ครั้ง แถมสมรรถนะในการทำลายล้างก็ยังไม่เป็นที่ประจักษ์
นอกจากนั้น กองทัพสหรัฐฯ ยังติดตั้งระบบต่อต้านขีปนาวุธขั้นสูง “ทาด” ในกวมแล้ว
คลังแสงนิวเคลียร์ของสหรัฐฯเวลานี้มีอานุภาพแข็งแกร่งอย่างไม่เคยมีมาก่อนจริงหรือ?
ทรัมป์ทวิตโอ้อวดเมื่อวันพุธ (9) ว่า คลังแสงนิวเคลียร์ของอเมริกาเวลานี้ทรงอานุภาพที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน ถึงแม้ตบท้ายด้วยการแสดงความหวังว่า อเมริกาคงไม่ต้องใช้อาวุธเหล่านั้นก็ตาม
“คำสั่งแรกของผมในฐานะประธานาธิบดีคือจะต้องปรับปรุงและยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ให้ทันสมัย และบัดนี้ คลังแสงของอเมริกาจึงแข็งแกร่งเหนือชั้นขึ้นไปอีก และทรงอานุภาพอย่างไม่เป็นมาก่อน” ทรัมป์ทวิตเอาไว้เช่นนี้
ในทางเป็นจริง เพนตากอนวางแผนปรับปรุงยกระดับคลังแสงนิวเคลียร์ให้ทันสมัยมาก่อนนานแล้ว ทั้งนี้กองกำลังโจมตีทางนิวเคลียร์ของสหรัฐฯมีส่วนประกอบ 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ไอซีบีเอ็ม ที่เป็นการยิงอาวุธนิวเคลียร์จากภาคพื้นดิน, การยิงจากเรือดำน้ำ, และการโจมตีใช้เครื่องบินทิ้งระเบิด
การปรับปรุงกองกำลังอาวุธนิวเคลียร์ให้ทันสมัยนี้ เป็นกระบวนการที่ต้องกระทำกันยาวนานหลายสิบปี และก็เริ่มต้นขึ้นมาหลายปีแล้วก่อนที่ทรัมป์จะขึ้นเป็นประธานาธิบดี