เอเจนซีส์ - สภาผู้แทนฯ อเมริกันโหวตด้วยคะแนนเสียงเกือบเป็นเอกฉันท์ รับรองร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่มบทลงโทษอิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซีย แถมยังปิดทางทรัมป์ไม่ให้ผ่อนคลายมาตรการแซงก์ชันเครมลินได้ตามอำเภอใจ อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่านอกจากมอสโกและเตหะราน ต่างแสดงความไม่พอใจและขู่ออกมาตรการตอบโต้แล้ว กระทั่งสหภาพยุโรปก็แสดงท่าทีวิตกกังวล เพราะกระทบพวกบริษัทพลังงานของตน
ภายหลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติเมื่อวันอังคาร (25 ก.ค.) ด้วยคะแนน 419 ต่อ 3 รับร่างกฎหมายเพิ่มการแซงก์ชันสามประเทศ หลังจากที่มีการอภิปรายกันมาหลายสัปดาห์ ประธานสภา พอล ไรอัน ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกัน แถลงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มความกดดันต่อศัตรูที่อันตรายที่สุด เพื่อให้อเมริกันชนปลอดภัย
ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการตกลงเห็นพ้องกันของทั้งฝ่ายรีพับลิกัน และฝ่ายเดโมแครต ในคองเกรสเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการลงโทษมอสโก ฐานแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งเข้าผนวกแหลมไครเมียที่เป็นดินแดนของยูเครน
นอกจากนั้น ร่างกฎหมายใหม่นี้ยังครอบคลุมมาตรการใหม่ๆ ในการแซงก์ชันอิหร่าน และกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามที่ถูกกล่าวหาว่า ให้การสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย ตลอดจนลงโทษเกาหลีเหนือ สืบเนื่องจากการที่โสมแดงไม่หยุดทดสอบนิวเคลียร์และขีปนาวุธ
ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ การปิดทางไม่ให้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ผ่อนคลายมาตรการลงโทษรัสเซียโดยพลการในอนาคต แต่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน
ทรัมป์ ถูกกล่าวหาว่า พยายามยืนยันกับมอสโกว่า จะยกเลิกมาตรการแซงก์ชันที่บังคับใช้ก่อนสิ้นสมัยของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา
ตอนแรกทีเดียวที่มีความเคลื่อนไหวออกกฎหมายฉบับนี้นั้น ทรัมป์ซึ่งเรียกร้องให้ปรับความสัมพันธ์กับมอสโกมาโดยตลอด แสดงท่าทีต่อต้าน แต่หลังจากเห็นว่า ทั้งสมาชิกรีพับลิกันและเดโมแครตต่างให้การสนับสนุนแบบท่วมท้น ทำเนียบขาวได้แต่ทำตาปริบๆ โดยซาราห์ ฮักคาบี โฆษกทำเนียบขาวแถลงว่า แม้ประธานาธิบดีสนับสนุนการลงโทษเกาหลีเหนือ อิหร่าน และรัสเซียอย่างแข็งกร้าว แต่ทำเนียบขาวกำลังทบทวนร่างกฎหมายของสภาผู้แทนฯ รวมทั้งจะรอพิจารณาร่างสุดท้ายที่ส่งให้ประธานาธิบดีลงนามรับรอง
เนื่องจากมีเสียงสนับสนุนอย่างหนักแน่นจากทั้งรีพับลิกัน และ เดโมแครต เช่นนี้ จึงเห็นกันว่า หากทรัมป์ไม่ยอมลงนาม ซึ่งเท่ากับใช้อำนาจวีโต้ สภาทั้งสองก็ยังน่าจะสามารถลงมติผ่านร่างกฎหมายนี้ได้อีกครั้งด้วยคะแนนเสียงถึงสองในสาม อันเท่ากับลบบ้างอำนาจวีโต้ และนำกฎหมายนี้มาประกาศใช้จนได้
อย่างไรก็ดี อุปสรรคที่ยังมีอยู่ในตอนนี้ ก็คือ ร่างที่ผ่านสภาล่างในวันอังคาร (25) และร่างที่วุฒิสภาลงมติรับรองไปเมื่อกลางเดือนที่แล้วด้วยคะแนน 98-2 มีเนื้อหาไม่ตรงกัน สืบเนื่องจากร่างของสภาสูงมีแต่การเพิ่มมาตรการลงโทษรัสเซียและอิหร่าน ทว่า ของสภาผู้แทนราษฎรนั้นได้เติมเรื่องการลงโทษเกาหลีเหนือเข้าไปด้วย ดังนั้น จึงต้องนำเอาร่างที่ผ่านสภาล่างแล้วนี้กลับไปให้สภาสูงพิจารณาใหม่ ถ้าวุฒิสภาอนุมัติโดยไม่มีการแก้ไขใดๆ จึงจะส่งต่อให้ทรัมป์ลงนามรับรอง
ภายหลังร่างกฎหมายนี้ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯไปแล้ว ทางด้าน เซียร์เก รยาบคอฟ รัฐมนตรีช่วยรัสเซีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอินเตอร์แฟกซ์ในวันพุธ (26) ว่า มาตรการแซงก์ชันใหม่ของสหรัฐฯ ทำให้ไม่เหลือช่องทางที่มอสโกและวอชิงตันจะปรับความสัมพันธ์กันได้ในระยะเวลาอันสั้น และนำสัมพันธภาพสองชาติไปสู่ “ดินแดนใหม่ที่ไม่มีการสำรวจมาก่อนทั้งในแง่การเมืองและการทูต”
ก่อนหน้านี้ เครมลินย้ำเตือนมาหลายครั้ง ว่า จะตอบโต้หากอเมริกากระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ และล่าสุด รยาบคอฟแสดงท่าทีชัดเจนว่า มอสโกใกล้หมดความอดทนแล้ว
วันเดียวกัน อับบาส อารักชี รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศ และผู้นำการเจรจาด้านนิวเคลียร์ของเตหะราน ขู่ว่า อเมริกาจะได้รับการตอบโต้ขั้นเด็ดขาด หากผ่านร่างกฎหมายแซงก์ชันใหม่ ซึ่งถือเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดแจ้งต่ออิหร่าน อย่างไรก็ดี เขาไม่ได้บอกว่า มาตรการที่ว่าคืออะไร
ทางด้านยุโรปนั้นมองว่า มาตรการลงโทษของสหรัฐฯ เป็นการดำเนินการฝ่ายเดียวที่บ่อนทำลายแนวทางปฏิบัติเดิมที่บรัสเซลส์และวอชิงตันร่วมกันร่างมาตรการแซงก์ชันมอสโก โดยสมาชิกสหภาพยุโรปนัดหมายหารือกันในวันพุธเพื่อหาทางรับมือเรื่องนี้
หลายประเทศในยุโรป ซึ่งรวมถึงเยอรมนี ถึงขั้นไม่พอใจ เนื่องจากร่างกฎหมายใหม่ของอเมริกาอนุญาตให้ลงโทษบริษัทยุโรปที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาท่อขนส่งก๊าซจากรัสเซีย เช่น ด้วยการปิดช่องทางเข้าถึงธนาคารอเมริกัน จากปัจจุบัน ที่สหรัฐฯ และอียูตกลงกันว่า มาตรการแซงก์ชันจะไม่ส่งผลกระทบต่ออุปทานก๊าซของยุโรป