xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์-ปูติน” พบหารือครั้งแรกศุกร์นี้ คาดผู้นำ US ระวังตัวแม้ใจอยากญาติดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ(ล่าง) และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย(บน) จะพบปะหารือกันเป็นครั้งแรกในวันศุกร์ (7 ก.ค.) นี้ ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี
รอยเตอร์/เอเยนซีส์ - ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย จะพบปะหารือกันเป็นครั้งแรกในวันศุกร์ (7 ก.ค.) นี้ ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ซึ่งผู้นำทั้งสองต่างเข้าร่วมการประชุมซัมมิตของกลุ่ม จี20 อยู่แล้ว ทั้งนี้ตามคำแถลงของวังเครมลินในวันอังคาร (4 ) อย่างไรก็ตาม พวกนักวิเคราะห์มองกันว่า ถึงแม้มีความรู้สึกเป็นมิตรและต้องการญาติดีกับปูติน ทว่าข้อกล่าวหาเรื่องมอสโกแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในปีที่แล้ว จะเป็นตัวกีดขวางไม่ให้เขาทำอะไรได้อย่างใจนีก

สำนักข่าวแห่งต่างๆ ของรัสเซียพากันอ้างคำแถลงของ ยูริ อูชาคอฟ ผู้ช่วยคนสำคัญด้านนโยบายการต่างประเทศของทำเนียบประธานาธิบดีแดนหมีขาว กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้แล้วว่า ปูตินกับทรัมป์จะพบเจรจากันในวันที่ 7 ก.ค. ข้างเคียงการประชุมระดับผู้นำสูงสุดของกลุ่ม 20 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก (จี 20) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8

ระหว่างออกรณรงค์หาเสียงชิงตำแน่งประธานาธิบดีเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์ได้กล่าวยกย่องปูตินว่าเป็น “ผู้นำที่เข้มแข็ง” ซึ่งเขาปรารถนาที่จะเจรจาหารือด้วย เพื่อรีเซตความสัมพันธ์สหรัฐฯ-รัสเซียที่อยู่ในภาวะตึงเครียดกันใหม่ แต่เมื่อได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาก็เผชิญแรงกดดันอันหนักหน่วงให้ใช้แนวทางแข็งกร้าวต่อวังเครมลิน

คอรี การ์ดเนอร์ วุฒิสมาชิกรีพับลิกันจากรัฐโคโลราโด เล่าว่า เขาเป็น 1 ใน 6 สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเชิญให้ไปหารือด้านนโนบายการต่างประเทศกับประธานาธิบดีทรัมป์ ระหว่างอาหารค่ำเมื่อเดือนที่แล้ว และเขาบอกกับทรัมป์ว่า ต้องแสดงความชัดเจนว่า ความก้าวร้าวของรัสเซียที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และรัสเซียต้องรับผิดชอบ

ประเด็นสำคัญที่การ์ดเนอร์พาดพิงก็คือ การที่มอสโกสนับสนุนสงครามกลางเมืองในซีเรียด้วยการหนุนหลังประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรีย

ในอีกด้านหนึ่ง พวกผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการต่างประเทศมองว่า การที่คณะบริหารทรัมป์ถูกบีบคั้น จนกระทั่งต้องแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมายพิเศษของกระทรวงยุติธรรม เพื่อสอบสวนตรวจสอบเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับสมาชิกทีมหาเสียงของทรัมป์ กำลังทำให้ประมุขทำเนียบขาวไม่สามารถแสดงมิตรไมตรีอะไรกับเครมลินได้มากนัก

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐฯสรุปว่า รัสเซียให้การสนับสนุนในการเจาะระบบข้อมูลของพรรคเดโมแครตเมื่อปีที่แล้ว เพื่อให้ทรัมป์ได้เปรียบฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากเดโมแครต

ถึงแม้รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวโดยสิ้นเชิง ส่วนทรัมป์ยืนกรานว่า แนวคิดที่ว่า มีการร่วมมือระหว่างทีมหาเสียงของตนกับรัสเซียนั้น เป็นการให้ร้ายในลักษณะ“การล่าแม่มด” กระนั้นพวกผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า การพบกันระหว่างทรัมป์กับปูติน ที่เป็นอดีตสายลับเคจีบีตัวเอ้ ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงอยู่ดี

จูลี สมิธ อดีตผู้ช่วยด้านความมั่นคงแห่งชาติในคณะบริหารของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ชี้ว่า ถ้าทรัมป์หยอกเอินประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มากเกินไป คองเกรสน่าจะมีปฏิกิริยาแง่ลบอย่างมาก

ทรัมป์นี้นเคยส่งสัญญาณว่า สนใจร่วมมือกับรัสเซียในการกำจัดกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรีย และลดการสะสมอาวุธนิวเคลียร์

ทว่า ทำเนียบขาวนิ่งเงียบเมื่อถูกสอบถามว่า ทรัมป์จะให้สิ่งใดเป็นการแลกเปลี่ยนกับความช่วยเหลือดังกล่าวของรัสเซีย ถึงแม้มีการคาดเดากันว่า เขาอาจผ่อนคลายมาตรการลงโทษคว่ำบาตรหมีขาว หรือกระทั่งคืนอาคารทางด้านการทูต 2 แห่งในแมริแลนด์และลองไอส์แลนด์ให้รัสเซีย หลังจากที่ถูกโอบามาสั่งยึดไม่นานก่อนอำลาตำแหน่ง รวมทั้งขับนักการทูตรัสเซีย 35 คนเพื่อลงโทษที่มอสโกก่อกวนการเลือกตั้งของสหรัฐฯ

อาจจะมีเจ้าหน้าที่คณะบริหารบางคน เป็นต้นว่า เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศ สนับสนุนการเข้ามีปฏิสัมพันธ์กับหมีขาว แต่คนอื่นๆ อย่างเช่น รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และนิกกี้ เฮลีย์ เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำสหประชาชาติ กลับเลือกใช้ไม้แข็งกับรัสเซียมากกว่า

การไม่มียุทธศาสตร์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเช่นนี้ ทำให้พวกพันธมิตรของสหรัฐฯรู้สึกวิตก และลดความคาดหวังว่า อเมริกาจะเป็นผู้นำในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในซีเรียและยูเครน ซึ่งความร่วมมือจากรัสเซียอาจเป็นสิ่งสำคัญ

นักการทูตเยอรมนีคนหนึ่งบอกว่า ทรัมป์เหมือนม้าที่ขาหน้าถูกล่ามไว้ เพราะถ้าเข้าหารัสเซียมากเกินไป คนก็จะสงสัยทันทีว่า มีการสมรู้ร่วมคิดอย่างมโหฬารระหว่างเครมลินกับทำเนียบขาว

ขณะที่เจ้าหน้าที่อเมริกันคนหนึ่งเผยว่า คณะบริหารของทรัมป์ยังอยู่ระหว่างการทบทวนนโยบายต่อรัสเซีย ซึ่งคาดว่า ต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

สัปดาห์ที่แล้ว เอช.อาร์. แม็กมาสเตอร์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาว กล่าวกับผู้สื่อข่าวเรื่องที่ทรัมป์กำลังจะพบกับปูตินว่า ทรัมป์นั้นต้องการให้อเมริกาและตะวันตกพัฒนาความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์กับรัสเซียมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็จะทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อแสดงการคัดค้านพฤติกรรมของรัสเซียที่บั่นทอนเสถียรภาพ

ทรัมป์ถือว่าเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนล่าสุดที่เผชิญปัญหาในการจัดการกับความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างอเมริกันกับรัสเซีย ก่อนหน้านี้ ทั้งจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และโอบามา ต่างพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับมอสโกหลังพวกเขาเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ แต่กลับกลายเป็นว่า สัมพันธภาพสองประเทศยิ่งเลวร้ายลงภายหลังจากนั้น

สิ่งที่หลายคนกังวลยังรวมถึงการที่ทรัมป์ไม่สนใจในรายละเอียดของนโยบายอย่างชัดเจน

แมคมาสเตอร์บอกว่า ทรัมป์ “ไม่มีวาระที่เฉพาะเจาะจง” ในการประชุมกับปูติน และจะพูดสิ่งที่อยากพูด

เรื่องนี้ ไมเคิล แม็กฟอล อดีตเอกอัครราชทูตอเมริกันประจำมอสโกในยุคโอบามา แสดงความเป็นห่วงว่า ทรัมป์อาจพบกับปูตินโดยไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนใดๆ เลย

สตีฟ ไพเฟอร์ อดีตลูกหม้อในกระทรวงต่างประเทศ บอกว่า ทรัมป์ไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์กับรัสเซียได้ ถ้าไม่ยกประเด็นมอสโกแทรกแซงการเลือกตั้งของอเมริกาเมื่อปีที่แล้วขึ้นมาคุยกับปูตินอย่างขึงขัง

อย่างไรก็ตาม ดูแล้วมีแนวโน้มน้อยมากที่ทรัมป์จะทำแบบนั้น

แองเจลา สเตนต์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ และอดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแห่งชาติในส่วนกิจการรัสเซีย ทิ้งท้ายว่า การสอบสวนความเกี่ยวโยงระหว่างทีมทรัมป์กับเครมลิน จะแผ่อิทธิพลครอบคลุมการพบกันครั้งแรกระหว่างทรัมป์กับปูติน


กำลังโหลดความคิดเห็น