Qatar crisis sets in motion realignments
By M K Bhadrakumar
11/06/2017
“วิกฤตการณ์กาตาร์” ทำให้อิหร่าน, ตุรกี, และกลุ่มฮามาส ซึ่งต่างมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม พากันประกาศสนับสนุนกาตาร์ และเข้ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น ขณะที่ความเข้าใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นเช่นนี้ก็กำลังกลายเป็นแรงกดดันต่อซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลที่ระยะหลังๆ มีความรู้สึกสบายใจต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนเป็นการทำลายวาระของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และอิสราเอล ที่มุ่งผลักดันให้เหล่ารัฐอาหรับทำสัญญาสันติภาพกับรัฐยิว และปล่อยปัญหาปาเลสไตน์ไปก่อน
หลายวันผ่านไปแล้วนับตั้งแต่เกิดเหตุผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีในกรุงเตหะราน (กลุ่มผู้ก่อการร้ายแบ่งเป็น 2 ทีมเข้าโจมตีอาคารรัฐสภาอิหร่าน และสุสานของอยาตอลเลาะห์ โคไมนี ในกรุงเตหะราน พร้อมๆ กันเมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน สังหารเหยื่อไป 18 คนและผู้ก่อการร้าย 5 คนก็เสียชีวิตหมด –ผู้แปล) ทว่าอิหร่านก็ยังมิได้ทำการตอบโต้ด้วย “การโจมตีอย่างเฉียบคมแม่นยำ” (surgical strike) ใดๆ ต่อซาอุดีอาระเบีย –และถ้าพิจารณากันตามแบบแผนที่เป็นมาแล้ว มันก็จะไม่มีการโจมตีใดๆ หรอก คณะผู้นำทางการเมืองของอิหร่านนั้นชี้นิ้วกล่าวหาทั้งซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐฯ, และอิสราเอล โดยที่ ผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) ของอิหร่าน อาลี คอเมเนอี (Ali Khamenei) กล่าวว่า การโจมตีของผู้ก่อการร้ายซึ่งเกิดขึ้นคราวนี้ “มีแต่จะยิ่งเพิ่มความเกลียดชังในรัฐบาลของสหรัฐฯและพวกสมุนของเขาในภูมิภาคแถบนี้อย่างเช่นพวกซาอุดี” อย่างไรก็ตาม อิหร่านจะไม่แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรีบเร่ง เมื่อพิจารณาจากวิกฤตการณ์สืบเนื่องจากการเผชิญหน้ากันระหว่างซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ ซึ่งเต็มไปด้วยผลพวงต่อเนื่องอันล้ำลึกต่อการเมืองของภูมิภาคนี้
น่าสนใจมากว่า เมื่อวันเสาร์ (10 มิ.ย.) อิหร่านได้ลงนามในข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งกับโบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติอเมริกัน เพื่อซื้อเครื่องบินโดยสารเป็นจำนวน 30 ลำคิดเป็นมูลค่าราว 3,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีออปชั่นที่จะซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 30 ลำในช่วงเวลาต่อไป นี่เป็นการเพิ่มเติมจากดีลฉบับแรกที่มีมูลค่า 16,600 ล้านดอลลาร์ซึ่งอิหร่านเจรจาตกลงกับโบอิ้งไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เตหะรานนั้นกำลังเพิ่มทวีแรงกดดันต่อคณะบริหารทรัมป์ เนื่องจากโบอิ้งจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯสหรัฐฯสำหรับการทำดีลกับอิหร่าน คิดกันอย่างง่ายๆ ก็คือ เตหะรานหวังที่จะดึงลากเอาสหรัฐฯเข้ามาอยู่ในกระบวนการแห่งการมีปฏิสัมพันธ์กันซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มความลึกซึ้งและความกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ และนี่จะเป็นการทำลายบั่นทอนวาระของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย-อิสราเอลที่จะกระตุ้นยุแยงให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน
อิหร่านกำลังสร้างธุรกิจส่งออกให้แก่พวกบริษัทอเมริกัน ซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างตำแหน่งงานขึ้นมาเป็นพันๆ ตำแหน่งในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มันก็ออกจะน่าขันน่าเยาะหยันกันทีเดียว ในเมื่อเรื่องเช่นนี้กลายเป็นแม่แบบของหลักการ “อเมริกามาเป็นอันดับหนึ่ง” (America First) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไปเสียแล้ว มันเป็นสูตรที่ทำให้ทุกฝ่ายต่างกลายเป็นผู้ชนะ เพราะเศรษฐกิจของอิหร่านก็ต้องการทั้งการลงทุนและเม็ดเงินทุนจากฝ่ายตะวันตกอย่างเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมน้ำมัน เหนือสิ่งอื่นใดเลย ถ้าพวกบริษัทอเมริกันเริ่มต้นเข้าไปดำเนินงานในตลาดอิหร่านแล้ว ก็จะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นพวกธุรกิจและอุตสาหกรรมของพวกยุโรปไปด้วย
ถึงแม้กล่าวเช่นนี้ แต่อิหร่านก็ยังคงดำเนินนโยบายต่างๆ ในระดับภูมิภาคตามร่องตามรอยของตนเองอยู่เช่นเดิม โดยไม่สนใจใยดีว่าคณะบริหารทรัมป์จะใช้ยุทธวิธีหรือวาทกรรมเพื่อสร้างแรงบีบคั้นกันอย่างไรก็ตามที อิหร่านสามารถทำแต้มได้ชัยชนะที่มีความหมายสำคัญอย่างหนึ่งทีเดียวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่กองกำลังอาวุธของฝ่ายรัฐบาลซีเรียซึ่งสนับสนุนโดยกองกำลังอาวุธท้องถิ่นที่มีอิหร่านหนุนหลัง กำลังเคลื่อนพลเข้าไปใกล้ๆ จุดข้ามพรมแดนติดต่อกับอิรักที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ณ อัล-ตันฟ์ (Al-Tanf) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง The scramble for control of Syrian-Iraqi border ในบล็อกของผมนี้ http://blogs.rediff.com/mkbhadrakumar/2017/06/04/the-scramble-for-control-of-syrian-iraqi-border/) ผลเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นก็คือ เส้นทางสำหรับให้กลุ่มนักรบที่หนุนหลังโดยสหรัฐฯในภาคใต้ของซีเรีย สามารถเคลื่อนเข้าไปสู่จังหวัด เดอีร์ เอซซูร์ (Deir Ezzur) ที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ (และก็เป็นแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมที่อุดมสมบูรณ์ด้วย) เวลานี้กลับตกอยู่ใต้การควบคุมของพวกกองกำลังฝ่ายรัฐบาลซีเรียเสียแล้ว
ในเวลาเดียวกัน เตหะรานยังกำลังกลับมาสถาปนาช่องทางติดต่อระดับสูงกับคณะผู้นำของกลุ่มฮามาส (Hamas) ได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อวันเสาร์ (10 มิ.ย.) กลุ่มฮามาสประกาศว่า คณะผู้แทนที่นำโดยผู้นำที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งใหม่ๆ ของตน คือ อิสมาอิล ฮานิเยห์ (Ismail Haniyeh) ผู้ขึ้นมาแทนที่ คอเลด เมชาอัล (Khaled Meshaal) เมื่อเร็วๆ นี้ กำลังจะเดินทางไปเยือนกรุงเตหะราน ความผูกพันระหว่างอิหร่านกับกลุ่มฮามาสต้องตกอยู่ในสภาพขึงตึงทีเดียว ภายหลังจากเมชาอัล โยกย้ายออกมาจากกรุงดามัสกัส (ซึ่งเขาพำนักอาศัยลี้ภัยมาเป็นเวลาหลายปีทีเดียว) แล้วไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่กรุงโดฮา โดยถือเป็นวิธีการในการแสดงความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตัวเขากับกาตาร์และตุรกี ในความขัดแย้งซีเรีย
การที่กลุ่มฮามาสกลับมารวมตัวอยู่ใน “แกนอักษะแห่งการต่อต้าน” (axis of resistance) ของเตหะรานเช่นนี้ ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากฮามาสเป็นกิ่งก้านสาขาหนึ่งของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และกาตาร์ก็กำลังตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นจากซาอุดีอาระเบียให้ตัดความเชื่อมโยงที่ตนมีอยู่กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม มันเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งประสานสอดคล้องกับการที่อิหร่านก็ให้การสนับสนุนกาตาร์ในการบาดหมางร้าวฉานกับซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งยังเป็นการหนุนส่งความปรารถนาของอิหร่านที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนกับตุรกี ทั้งนี้ประธานาธิบดีเรเจป แอร์โดอัน ของตุรกีนั้น ยังคงให้การอุปถัมภ์แก่กลุ่มฮามาสต่อไป ถึงแม้เรื่องนี้กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการไม่อาจปรองดองกันในความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอิสราเอล
ในอีกด้านหนึ่ง การที่อิหร่านมีความผูกพันอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้นกับกลุ่มฮามาสเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการสร้างแรงกดดันเข้าใส่ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล ในจังหวะเวลาที่ระดับความรู้สึกสบายอกสบายใจในกันและกัน ระหว่างริยาดกับเทลอาวีฟกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังๆ มานี้ โดยที่คณะบริหารทรัมป์ก็กำลังส่งเสริมสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อแนวความคิดในเรื่องการให้อาหรับกับอิสราเอลเร่งสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นปกติระหว่างกัน
จาเรด คุชเนอร์ บุตรเขยของทรัมป์นั้น เป็นชาวยิวแบบออโธด็อกซ์ (Orthodox Jew) และเวลานี้เขาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาด้าน “สันติภาพ” ในตะวันออกกลางของทำเนียบขาว ข้อวินิจฉัยพื้นฐานของคุชเนอร์ ซึ่งก็เป็นนโยบายของสหรัฐฯในตะวันออกกลางในปัจจุบันด้วย กำหนดให้ใช้แนวทางวิธีการแบบ “จากด้านนอกเข้าไปสู่ข้างใน” (from the outside-in) ในการสร้างสันติภาพขึ้นในตะวันออกกลาง กล่าวคือ ให้มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างพวกรัฐอาหรับต่างๆ กับอิสราเอล เพื่อทำให้เกิดมิตรไมตรีและความสัมพันธ์ทางการทูตแบบใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งก็จะมีผลเป็นการช่วยเหลือให้การปรองดองรอมชอมระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลบังเกิดความคืบหน้าได้ แนวทางวิธีการเช่นนี้กำลังเข้าแทนที่แนวทางวิธีการ “จากข้างในออกสู่ด้านนอก” (inside-out) ที่เคยใช้กันมาแต่ดั้งแต่เดิมยาวนาน ซึ่งให้ความสำคัญอันดับแรกแก่สันติภาพระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล โดยถือเป็นก้าวเดินก้าวแรกที่จำเป็นต้องเดิน จึงจะสามารถอำนวยความสะดวกช่วยเหลือให้ยุติความขัดแย้งระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอลได้
ภารกิจของทรัมป์ในการเดินทางไปเยือนกรุงริยาดเมื่อเดือนที่แล้วนั้น เป็นไปตามการเรียกร้องของอิสราเอล ผู้ซึ่งกำลังพยายามผลักดันแนวการเล่าเรื่องที่ระบุว่า ความหวาดกลัวอิหร่านจนถึงขั้นเป็นตายในเวลานี้ กำลังนำพาให้เหล่าผู้ปกครองราชาธิปไตยอาหรับในแถบริมอ่าวเปอร์เซียกับอิสราเอลเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนทีเดียวว่า อิสราเอลกำลังดีดลูกคิดรางแก้วคาดคำนวณว่า เมื่อมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างพวกระบอบปกครองอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียกับอิสราเอล (ในลักษณะเดียวกันกับสนธิสัญญาสันติภาพที่อิสราเอลได้ทำกับอียิปต์และกับจอร์แดนไปแล้ว) ในที่สุดแล้วก็จะเท่ากับทำให้อุดมการณ์การต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปเลย และแรงกดดันที่มีต่ออิสราเอลในเรื่องที่จะต้องผ่อนสั้นผ่อนยาวยอมตามความมุ่งมาดปรารถนาของชาวปาเลสไตน์ ตลอดจนเสียงเรียกร้องให้ปาเลสไตน์กลายเป็นรัฐเอกราชรัฐหนึ่งขึ้นมาอย่างแท้จริงนั้น ก็จะจางหายไปจนหมดสิ้น
เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะต้องจับตากันก็คือ ขณะที่รายงานข่าวเรื่อง ฮานิเยห์ ผู้นำคนใหม่ของกลุ่มฮามาสกำลังจะเดินทางมาเยือนอิหร่านนั้น หนังสือพิมพ์เตหะรานไทมส์ (Tehran Times) อันทรงอิทธิพล ได้ตั้งข้อสังเกตต่างๆ เอาไว้ดังต่อไปนี้คือ:
**ขณะที่วิกฤตการณ์ซีเรียได้ตอกลิ่มทำให้เกิดความร้าวฉานระหว่างอิหร่านกับตุรกีนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ทว่าความแตกร้าวในระหว่างรัฐเจ้าอาหรับทั้งหลายเวลานี้ก็นำพาให้เตหะรานกับอังการาเข้ามาเป็นพันธมิตรเฉพาะกิจกัน โดยที่บางฝ่ายเชื่อว่านี่เป็นโอกาสดีที่สุดที่ทั้งสองประเทศจะซ่อมแซมปัดเป่าความแตกต่างระหว่างกันที่มีอยู่
**ตุรกีและอิหร่านต่างหนุนหลังกาตาร์ และต่างมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม
สามารถที่จะกล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวของอิหร่านในการนำเอากลุ่มฮามาสกลับเข้ามาอยู่ใน “แกนอักษะแห่งการต่อต้าน” ของตน คือภัยคุกคามที่จะบ่อนทำลายแผนการเล่น (game plan) ซึ่งอิสราเอลกำลังพยายามผลักดันดำเนินการอยู่ (แผนการเล่นนี้มุ่งอาศัยเส้นสายของ คุชเนอร์ และ เจสัน กรีนแบลตต์ Jason Greenblatt ชาวยิวออโธด็อกซ์ อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในองค์การของทรัมป์ )
ประเทศทั้งสาม อันได้แก่ กาตาร์, ตุรกี, และอิหร่าน ต่างเกิดความตระหนักว่า การรุกโจมตีของสหรัฐฯ-อิสราเอล-ซาอุดีอาระเบีย ต่อสิ่งที่พวกเขาระบุว่า “ลัทธิก่อการร้าย” นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงโวหารสำหรับการเข้าโจมตีแบบเต็มๆ เข้าใส่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ด้วยการประทับตราให้กลุ่มนี้กลายเป็นองค์การ “ผู้ก่อการร้าย” โดยที่ตั้งจุดมุ่งหมายเอาไว้ว่าในที่สุดแล้วมันก็จะกลายเป็นการขับดันกลุ่มฮามาสให้ตกอยู่ในความโดดเดี่ยวทางการเมือง และดังนั้นก็จะทำให้ขบวนการต้านทานของชาวปาเลสไตน์ยิ่งกระจัดกระจายรวมตัวกันไม่ติดไปตลอดกาล
แน่นอนทีเดียวว่า ทั้งตุรกีและอิหร่านต่างสังเกตเห็นแล้วว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจนมองเห็นอะไรๆ ได้อย่างชัดเจน พวกประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางจำนวนมากก็แสดงความลังเลรีรอไม่ได้ปรารถนาที่จะเข้ามีส่วนในแนวร่วมต่อต้านกาตาร์ของซาอุดีอาระเบีย --ในจำนวนนี้ก็รวมถึงจอร์แดนด้วย ซึ่งยังคงแสดงท่าทีจับตามองสังเกตการณ์ และเพียงพึ่งพาอาศัยความเคลื่อนไหวแบบแลดูพอสวยงาม อันได้แก่การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีอยู่กับกาตาร์ ทั้งๆ ที่จอร์แดนมีความจำเป็นมากที่จะต้องได้รับมิตรไมตรีจากซาอุดีอาระเบีย
แน่นอน ทั้ง ตุรกี, อิรัก, เลบานอน, จอร์แดน, คูเวต, โอมาน, แอลจีเรีย, โมร็อกโก, ซูดาน, และตูนิเซีย ต่างพาตัวเองแยกห่างออกมาอย่างเปิดเผยจากยุทธศาสตร์ของฝ่ายซาอุดีอาระเบียในการโดดเดี่ยวกาตาร์ อันที่จริงแล้วตุรกีถึงขนาดประกาศอย่างแข็งแรงปฏิเสธไม่ยอมรับมาตรการที่ซาอุดีอาระเบียปิดล้อมคว่ำบาตรกาตาร์ทีเดียว -- “เราจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องชาวกาตาร์ของเรา” ประธานาธิบดีแอร์โดอันกล่าวในงานเลี้ยงอาหารละศีลอดเมื่อคืนวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ที่นครอิสตันบูล ขณะปราศรัยกับบรรดาสมาชิกในพรรคการเมืองของเขา
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
(ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก อินเดียน พันช์ไลน์)
หมายเหตุผู้แปล
ในบล็อกอินเดียน พันช์ไลน์ เอ็ม เค ภัทรกุมาร ยังเขียนเรื่องวิกฤตกาตาร์เอาไว้อีกชิ้นหนึ่ง ใช้ชื่อว่า Trump condemns Qatar, sets Middle East on fire โดยโพสต์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2017 หรือ 1 วันก่อนเรื่อง Qatar crisis sets in motion realignments (‘วิกฤตกาตาร์’ ดัน ‘ตุรกี-อิหร่าน-ฮามาส’ จับมือเพื่อสู้หมากกลของ‘ซาอุฯ-ทรัมป์-อิสราเอล’) ที่นำเสนอเอาไว้ข้างบนนี้ ทั้งนี้ผู้แปลเห็นว่าข้อเขียนทั้งสองชิ้นนี้มีส่วนเสริมแง่มุมของกันและกัน จึงขอเก็บความข้อเขียนชิ้นวันที่ 10 มิถุนายน มาเสนอไว้ในที่นี้ด้วย ดังนี้:
‘ทรัมป์’ประณาม ‘กาตาร์’ ทำพระเพลิงที่ไหม้ลาม‘ตะวันออกกลาง’ยิ่งโหมฮือ
โดย เอ็ม เค ภัทรกุมาร
Trump condemns Qatar, sets Middle East on fire
By M K Bhadrakumar
10/06/2017
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใช้วาระแถลงร่วมกับประธานาธิบดีโรมาเนียผู้มาเยือนทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ประกาศนโยบายเกี่ยวกับวิกฤตการณ์กาตาร์ โดยแสดงตัวชัดเจนกล่าวหาว่ากาตาร์เป็นรัฐที่อุปถัมภ์การก่อการร้าย อีกทั้งระบุว่ากาตาร์เป็นข้าศึกศัตรูรายหนึ่งของสหรัฐฯ รวมทั้งยังพูดเตือนอ้อมๆ ไปถึงประธานาธิบดีเรเจป แอร์โดอัน ของตุรกี ด้วยว่า เขาอาจจะเป็นรายต่อไป
แม้กระทั่งเมื่อวัดกันด้วยมาตรฐานของเขาเอง สิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯแสดงออกให้เห็นเมื่อวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ที่แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนก ในเมื่อเขาใช้ภาษาซึ่งเต็มไปด้วยความเจ็บแสบกล่าวหากาตาร์ว่า เป็นรัฐที่กำลังอุปถัมภ์การก่อการร้าย พร้อมกับระบุว่ากาตาร์เป็นข้าศึกศัตรูรายหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
อย่าได้เข้าใจผิดนะครับ นี่ไม่ใช่เป็นการทวิตเตอร์ในช่วงเช้ามืด ไม่ได้เป็น “การพูดจาแบบทรัมป์” (Trumpspeak) ในสนามกอล์ฟที่ฟลอริดาช่วงสุดสัปดาห์ แท้ที่จริงแล้ว เชื่อไหมครับว่า มันเป็นการแสดงออกซึ่งเกิดขึ้นจากการเขาที่อ่านข้อความที่เตรียมเอาไว้ โดยเป็นข้อความที่พวกผู้ช่วยในทำเนียบขาวร่างขึ้นมาเป็นการล่วงหน้าสำหรับใช้ในเวลาที่ทรัมป์แถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีเคลาส์ อิโอฮันนิส (Klaus Iohannis) แห่งโรมาเนียผู้มาเยือนในวันดังกล่าว ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน –และปรากฏว่าสิ่งที่เขาแถลงทั้งหมดนั้นมันออกนอกบริบท กล่าวคือมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับโรมาเนียหรือการมาเยือนอเมริกาของอิโอฮันนิส ทว่ามันเหมือนกับว่าทรัมป์กำลังประกาศคำแถลงในด้านนโยบาย ทั้งนี้เขาพูดเอาไว้ดังนี้:
**ผมได้กล่าวปราศรัยในการประชุมซัมมิตที่มีบรรดาผู้นำของอาหรับและชาติมุสลิมมากกว่า 50 คนเข้าร่วม (เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2017 ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย --ผู้แปล) –มันเป็นการพบปะหารือที่มีผู้นำจำนวนมากเข้าร่วมอย่างโดดเด่นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆ ทีเดียว— ณ ที่นั่นเอง เหล่าผู้เล่นคนสำคัญๆ ในภูมิภาคดังกล่าวได้ตกลงเห็นพ้องกันที่จะยุติการสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงิน, การทหาร, หรือแม้กระทั่งทางศีลธรรม
**โชคร้ายมาก ประเทศกาตาร์โดยประวัติความเป็นมาแล้วเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายในระดับที่สูงมาก และจากการประชุมหารือในคราวนั้น ชาติต่างๆ ได้รวมตัวกันและพูดกับผมเกี่ยวกับเรื่องการเผชิญหน้ากับกาตาร์สืบเนื่องจากพฤติกรรมของประเทศนั้น ดังนั้นเราจึงต้องทำการตัดสินใจ กล่าวคือ เราจะยังคงเดินไปตามเส้นทางง่ายๆ ต่อไป หรือว่าในที่สุดแล้วเราก็จะลงมือกระทำการที่ยากลำบากทว่ามีความจำเป็น? เราจะต้องหยุดยั้งเรื่องการให้เงินทุนสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายกันเสียที ผมได้ตัดสินใจ เคียงข้างกับรัฐมนตรีต่างประเทศเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน และเหล่านายพลผู้ยิ่งใหญ่และผู้คนทางการทหารของเรา ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเรียกร้องกาตาร์ให้ยุติการให้ความสนับสนุนทางการเงิน –พวกเขาจักต้องยุติการให้เงินทุนสนับสนุนดังกล่าว— และยุติให้ความสนับสนุนแก่อุดมการณ์ของพวกสุดโต่งในรูปของการให้เงินทุน
**ผมต้องการเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ทั้งหมดยุติการให้ความสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายในทันที ยุติการสอนประชาชนให้เข่นฆ่าประชาชนคนอื่นๆ ยุติการนำเอาความเกลียดชังและการไร้ความอดกลั้นอดทนเข้าไปใส่ในความคิดของพวกเขา ผมจะไม่ขอระบุชื่อประเทศอื่นๆ แต่เราจะต้องแก้ไขคลี่คลายปัญหานี้ ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น
**นี่คือสิ่งที่มีความสำคัญลำดับต้นของผม เพราะมันเป็นหน้าที่อันดับแรกของผมในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีที่จะต้องปกป้องประชาชนของเราให้ปลอดภัย การทำให้ไอซิส (ISIS ชื่อย่ออีกชื่อหนึ่งของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” ไอเอส) และองค์การก่อการร้ายอื่นๆ ประสบความพ่ายแพ้ คือบางสิ่งบางอย่างที่ผมเน้นหนักมาโดยตลอดในระหว่างการรณรงค์หาเสียงของผมและต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เพื่อที่จะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ ต้องหยุดยั้งการให้เงินทุน หยุดยั้งการสอนให้เกลียดชัง และหยุดยั้งการเข่นฆ่า
**สำหรับกาตาร์ เราต้องการให้ท่านถอยกลับมาอยู่ในท่ามกลางความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของประเทศต่างๆ ที่มีความรับผิดชอบ เราเรียกร้องกาตาร์ และชาติอื่นๆ ในภูมิภาคให้ทำอะไรให้มากขึ้น และทำมันอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
**ผมต้องการที่จะขอบคุณซาอุดีอาระเบีย และเพื่อนของผม กษัตริย์ซาลมาน (King Salman) ตลอดจนประเทศอื่นๆ ทั้งหมดซึ่งเข้าร่วมในการประชุมซัมมิตครั้งที่เป็นประวัติศาสตร์อย่างยิ่งครั้งนั้น มันเป็นการสร้างประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่เคยมีอะไรเหมือนกับแบบนั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนและบางทีอาจจะไม่มีอะไรเหมือนกับแบบนั้นเกิดขึ้นมาอีกแล้ว หวังใจว่ามันจะเป็นการเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดของการให้เงินทุนแก่ลัทธิก่อการร้าย ด้วยเหตุดังนั้น มันก็จะเป็นการเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดของลัทธิก่อการร้าย ไม่มีอีกแล้วการให้เงินทุนสนับสนุน (สามารถชมคลิปวิดีโอการแถลงข่าวครั้งนี้ได้ที่ https://www.whitehouse.gov/featured-videos/video/2017/06/09/president-trump-holds-joint-press-conference-president-romania)
ประการแรกก่อนอื่นทีเดียว ทรัมป์เพิ่งกล่าวเตือนอย่างโต้งๆ ชัดๆ ต่อกาตาร์ว่า “ยอมแพ้เสียเถอะ ไม่ยังงั้นล่ะก้อ ...” มันเกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียวหลังจากคำแถลงอันท้าทายของรัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ ชัยค์ โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลเราะห์มาน อัษ-ษานี (Sheikh Mohammed bin Abdulrahman al-Thani) ซึ่งมีผลเท่ากับประกาศว่าประเทศของเขา “ไม่พร้อมที่จะยอมจำนน และไม่มีวันพร้อมที่จะยอมจำนน ที่จะยอมสูญเสียความเป็นอิสระของนโยบายการต่างประเทศของเรา”
ดังนั้น อย่าได้มองผิดพลาดนะครับ เวลานี้มันเป็นการจ้องเขม็งเข้าใส่กันแล้ว ใครจะเป็นฝ่ายยอมกระพริบตาก่อน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือว่า เอมีร์ ผู้ปกครองแห่งกาตาร์จะต้องเป็นผู้กระพริบตา ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องจับจ้องมองดูอย่างระทึกขวัญกลั้นลมหายใจ
ประการที่สอง ทรัมป์ไม่เพียงแค่เน้นย้ำว่าเขาสนับสนุนความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการต่อต้านกาตาร์เท่านั้น ในทางเป็นจริงแล้วยังเท่ากับเขายอมรับว่า เขาเห็นร่วมกันกับกษัตริย์ซัลมานที่กำลังใช้เส้นทางของผู้มุ่งท้าทายเผชิญหน้า ผลที่ออกมาจึงเท่ากับว่า ทรัมป์กำลังถอยหลังออกจากข้อเสนอของเขาเองก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) ที่ว่าพร้อมจะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ (ซึ่งอันที่จริงริยาดก็ได้แถลงปฏิเสธอย่างเปิดเผยแล้ว) ในความเป็นจริง ทรัมป์ยังเปิดเผยให้ทราบว่าความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบียในการต่อต้านเล่นงานกาตาร์คราวนี้นั้น ได้ฟุ้งกระจายเผยแพลมออกมาแล้วในการหารือถกเถียงครั้งต่างๆ ระหว่างที่เขาไปเยือนริยาดเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น
ประการที่สาม ทรัมป์น่าที่จะตั้งใจบอกกับตุรกีด้วยว่า หนต่อไปอาจจะเป็นคราวเคราะห์ของประธานาธิบดีเรเจป แอร์โดอัน (Recep Erdogan) ก็ได้ ทั้งนี้ตอนหนึ่งในคำแถลงคราวนี้ ทรัมป์กล่าวว่า “ผมไม่ขอเอ่ยนามของประเทศอื่นๆ แต่เรานั้นยังไม่ได้แก้ไขปัญหาจนเสร็จสิ้นเลยนะ แต่เราจะต้องแก้ไขปัญหานี้ ไม่มีทางเลือกอื่น” ในขณะนี้เองแอร์โดอันก็กำลังแถลงอย่างชัดเจนว่า การที่ซาอุดีอาระเบียเข้าทำการปิดล้อมไม่ให้ส่งสินค้าเข้ากาตาร์เช่นนี้ จะต้องยกเลิกไปเสีย (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ https://www.dailysabah.com/diplomacy/2017/06/09/blockade-on-qatar-must-be-completely-lifted-erdogan)
ประเด็นก็คือ ทรัมป์ออกมาพูดเช่นนี้ไล่หลังติดๆ หลังจากที่แอร์โดอันตัดสินใจในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ที่จะส่งทหารตุรกีเข้าไปยังกาตาร์ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ แอร์โดอันปฏิเสธไม่ยอมรับการที่ทรัมป์พูดอธิบาย (ในระหว่างที่เขาเยือนริยาด) ว่า กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) คือองค์การก่อการร้าย แอร์โดอันยืนยันว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นขบวนการทางแนวความคิดอุดมการณ์ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.middleeastmonitor.com/20170217-turkeys-erdogan-muslim-brotherhood-is-ideological-not-terrorist-organisation/) เป็นอันว่าความตึงเครียดที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสหรัฐฯกับตุรกี ที่ต่างเป็นชาติพันธมิตรองค์การนาโต้กันทั้งคู่ เวลานี้มีมิติเพิ่มเติมขึ้นมาอีกมิติหนึ่งแล้ว
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พรรคเอเคพี (AKP) ที่เป็นพรรครัฐบาลปกครองตุรกีของแอร์โดอันนั้น มีความเกี่ยวพันสนิทสนมในเชิงอุดมการณ์อย่างแข็งแกร่งกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และก็ได้เคยให้ความสนับสนุนอย่างแรงกล้าต่อองค์การนี้ในตอนที่เป็นแหล่งกำเนิดอันคึกคักพรั่งพรูของความเคลื่อนไหว “อาหรับสปริง” (Arab Spring) ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แอร์โดอันนั้นถึงขนาดยอมเสี่ยงทำอันตรายต่อความสัมพันธ์ที่ตุรกีมีอยู่กับอียิปต์ ภายหลังที่ฝ่ายทหารอียิปต์ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2013 ทำการโค่นล้มรัฐบาลของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมภายใต้ประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี (Mohamed Morsi) (ผมขอเชิญชวนให้อ่านข้อเขียนสรุปความอันลึกซึ้ง ในหนังสือพิมพ์เฮอร์ริเยต Hurriyet ซึ่งพูดถึงการต่อเชื่อมโยงใยระหว่างตุรกีกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “กลุ่มภราดรภาพที่ทำให้โลกมุสลิมเกิดการแตกแยกกัน” The Brotherhood that splits the Muslim world ได้ที่ http://www.hurriyetdailynews.com/the-brotherhood-that-splits-the-muslim-world.aspx?PageID=238&NID=114163&NewsCatID=409)
ประการสุดท้ายและเป็นข้อสำคัญที่สุดด้วย ทรัมป์พูดเป็นนัยๆ ในเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เขาตั้งใจพูดเน้นเป็นพิเศษว่า เขาได้ปรึกษาหารือกับทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน และ “เหล่านายพลผู้ยิ่งใหญ่และผู้คนทางการทหารของเรา” ขณะที่ตัดสินใจว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเรียกร้องกาตาร์ให้ยุติการให้ความสนับสนุนทางการเงิน –พวกเขาจักต้องยุติการให้เงินทุนสนับสนุนดังกล่าว— และยุติให้ความสนับสนุนแก่อุดมการณ์ของพวกสุดโต่งในรูปของการให้เงินทุน” เขาต้องการหมายความเป็นนัยๆ ด้วยหรือไม่ว่า สหรัฐฯจะทำให้กาตาร์ต้องปฏิบัติตามโดยใช้เครื่องมือในเชิงบังคับ ถ้าหากมีความจำเป็นขึ้นมา
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Command) ซึ่งตัวกองบัญชาการตั้งอยู่ในดินแดนกาตาร์ ต้องได้รับผลกระทบกระเทือนโดยตรงจากวิกฤตกาตาร์คราวนี้ ทรัมป์กำลังบอกใบ้ว่าสหรัฐฯจะเข้าทำการแทรกแซงทางทหารในกาตาร์กระนั้นหรือ? นี่เป็นคำถามใหญ่ที่ต้องหาคำตอบ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คำอธิบายที่อาจจะหามาได้ ก็มีเพียงแง่มุมของการบริจาคเงินเท่านั้น กล่าวคือ ด้วยคำแนะนำจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) คณะบริหารทรัมป์จึงอาจมีความโน้มเอียงที่จะยอมรับข้อเสนอให้ความสนับสนุนทางการเงินอย่างใจกว้างจากบรรดาผู้ปกครองแคว้นอาหรับต่างๆ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งต้องการให้กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯโยกย้ายกองบัญชาการเข้าไปตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศพวกตน
เมื่อวันพุธ (7 มิ.ย.) ทรัมป์ได้โทรศัพท์สนทนากับมกุฎราชกุมารของยูเออี เจ้าชายโมฮาเหม็ด บิน ไซเอด อัล นาห์ยัน (Mohamed bin Zayed Al Nahyan) ซึ่งตามบันทึกถอดความการสนทนาของทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำทั้งสอง “เห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ซึ่งบรรลุกันไว้ในกรุงริยาดเพื่อต่อสู้กับลัทธิสุดโต่งและเพื่อสู้รบกับการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่พวกกลุ่มผู้ก่อการร้าย นอกจากนั้น ท่านประธานาธิบดีเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประคับประคองรักษาสภาความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) ที่สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเอาไว้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเสถียรภาพของภูมิภาค ทว่าต้องไม่ใช่ด้วยการแลกกับการต้องเลิกกำจัดกวาดล้างการให้เงินทุนแก่ลัทธิสุดโต่งหัวรุนแรง หรือกับการยังความปราชัยให้แก่ลัทธิก่อการร้าย” เห็นได้อย่างชัดเจนว่า หัวข้อที่พูดจาสนทนากันคือเรื่องเกี่ยวกับหนทางและวิธีการต่างๆ ในการสยบกาตาร์ ครั้นแล้วในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง ซาอุดีอาระเบียและยูเออีก็ได้ประกาศบัญชีรายชื่อบุคคลที่ตั้งฐานอยู่ในกาตาร์จำนวน 50 กว่าคน และหน่วยงานต่างๆ ของกาตาร์อีกสิบกว่าแห่ง ซึ่งถูกระบุว่าเชื่อมโยงพัวพันกับกิจกรรมต่างๆ ของผู้ก่อการร้าย
เป็นอันแน่นอนทีเดียวว่า แผ่นเปลือกโลกแห่งภูมิรัฐศาสตร์ของอ่าวเปอร์เซียกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงผันผวน ถ้าหากสถานการณ์พัฒนาไปจนถึงขนาดหน้าสิ่วหน้าขวาน และสหรัฐฯเข้าแทรกแซงทางทหารในกาตาร์ด้วยข้ออ้างเรื่องการสู้รบกับลัทธิก่อการร้าย –หรือทางเลือกอีกประการหนึ่งก็คือให้การรุกรานกาตาร์เป็นหน้าที่ของซาอุดีอาระเบีย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยที่สหรัฐฯคอยชี้นำอยู่ข้างหลัง— มันก็จะกลายเป็นเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความหายนะอย่างฉับพลันรุนแรงขึ้นมา และก็จะทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางเกิดความชุลมุนวุ่นวายอย่างขนานใหญ่ แน่นอนทีเดียวว่า ความไร้เสถียรภาพในกาตาร์ยังส่งผลกระทบกระเทือนต่อตลาดน้ำมันโลกอีกด้วย
ทว่าการที่สหรัฐฯจะเข้าแทรกแซงโดยตรงได้นั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาใกล้ๆ นี้ มติสาธารณชนในสหรัฐฯยังคงยืนหยัดต่อต้านคัดค้านการเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นอีกในโลกมุสลิมตะวันออกกลาง ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ากองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯโยกย้ายกองบัญชาการของตนออกจากกาตาร์แล้ว การจับขั้วเปลี่ยนแกนกันใหม่อย่างใหญ่โตในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียก็ย่อมเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธรรมชาตินั้นเกลียดชังภาวะสุญญากาศทางภูมิรัฐศาสตร์ --และทั้งรัสเซีย, ตุรกี, และอิหร่านจะพากันจับจ้องความเคลื่อนไหวต่อๆ ไปของทรัมป์อย่างใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง
(ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก อินเดียน พันช์ไลน์)
By M K Bhadrakumar
11/06/2017
“วิกฤตการณ์กาตาร์” ทำให้อิหร่าน, ตุรกี, และกลุ่มฮามาส ซึ่งต่างมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม พากันประกาศสนับสนุนกาตาร์ และเข้ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น ขณะที่ความเข้าใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นเช่นนี้ก็กำลังกลายเป็นแรงกดดันต่อซาอุดีอาระเบียและอิสราเอลที่ระยะหลังๆ มีความรู้สึกสบายใจต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนเป็นการทำลายวาระของคณะบริหารโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ และอิสราเอล ที่มุ่งผลักดันให้เหล่ารัฐอาหรับทำสัญญาสันติภาพกับรัฐยิว และปล่อยปัญหาปาเลสไตน์ไปก่อน
หลายวันผ่านไปแล้วนับตั้งแต่เกิดเหตุผู้ก่อการร้ายเข้าโจมตีในกรุงเตหะราน (กลุ่มผู้ก่อการร้ายแบ่งเป็น 2 ทีมเข้าโจมตีอาคารรัฐสภาอิหร่าน และสุสานของอยาตอลเลาะห์ โคไมนี ในกรุงเตหะราน พร้อมๆ กันเมื่อวันพุธที่ 7 มิถุนายน สังหารเหยื่อไป 18 คนและผู้ก่อการร้าย 5 คนก็เสียชีวิตหมด –ผู้แปล) ทว่าอิหร่านก็ยังมิได้ทำการตอบโต้ด้วย “การโจมตีอย่างเฉียบคมแม่นยำ” (surgical strike) ใดๆ ต่อซาอุดีอาระเบีย –และถ้าพิจารณากันตามแบบแผนที่เป็นมาแล้ว มันก็จะไม่มีการโจมตีใดๆ หรอก คณะผู้นำทางการเมืองของอิหร่านนั้นชี้นิ้วกล่าวหาทั้งซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐฯ, และอิสราเอล โดยที่ ผู้นำสูงสุด (Supreme Leader) ของอิหร่าน อาลี คอเมเนอี (Ali Khamenei) กล่าวว่า การโจมตีของผู้ก่อการร้ายซึ่งเกิดขึ้นคราวนี้ “มีแต่จะยิ่งเพิ่มความเกลียดชังในรัฐบาลของสหรัฐฯและพวกสมุนของเขาในภูมิภาคแถบนี้อย่างเช่นพวกซาอุดี” อย่างไรก็ตาม อิหร่านจะไม่แสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรีบเร่ง เมื่อพิจารณาจากวิกฤตการณ์สืบเนื่องจากการเผชิญหน้ากันระหว่างซาอุดีอาระเบียและกาตาร์ ซึ่งเต็มไปด้วยผลพวงต่อเนื่องอันล้ำลึกต่อการเมืองของภูมิภาคนี้
น่าสนใจมากว่า เมื่อวันเสาร์ (10 มิ.ย.) อิหร่านได้ลงนามในข้อตกลงอีกฉบับหนึ่งกับโบอิ้ง บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินสัญชาติอเมริกัน เพื่อซื้อเครื่องบินโดยสารเป็นจำนวน 30 ลำคิดเป็นมูลค่าราว 3,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีออปชั่นที่จะซื้อเครื่องบินเพิ่มอีก 30 ลำในช่วงเวลาต่อไป นี่เป็นการเพิ่มเติมจากดีลฉบับแรกที่มีมูลค่า 16,600 ล้านดอลลาร์ซึ่งอิหร่านเจรจาตกลงกับโบอิ้งไปเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว เตหะรานนั้นกำลังเพิ่มทวีแรงกดดันต่อคณะบริหารทรัมป์ เนื่องจากโบอิ้งจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯสหรัฐฯสำหรับการทำดีลกับอิหร่าน คิดกันอย่างง่ายๆ ก็คือ เตหะรานหวังที่จะดึงลากเอาสหรัฐฯเข้ามาอยู่ในกระบวนการแห่งการมีปฏิสัมพันธ์กันซึ่งจะค่อยๆ เพิ่มความลึกซึ้งและความกว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ และนี่จะเป็นการทำลายบั่นทอนวาระของฝ่ายซาอุดีอาระเบีย-อิสราเอลที่จะกระตุ้นยุแยงให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐฯกับอิหร่าน
อิหร่านกำลังสร้างธุรกิจส่งออกให้แก่พวกบริษัทอเมริกัน ซึ่งมีศักยภาพที่จะสร้างตำแหน่งงานขึ้นมาเป็นพันๆ ตำแหน่งในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มันก็ออกจะน่าขันน่าเยาะหยันกันทีเดียว ในเมื่อเรื่องเช่นนี้กลายเป็นแม่แบบของหลักการ “อเมริกามาเป็นอันดับหนึ่ง” (America First) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไปเสียแล้ว มันเป็นสูตรที่ทำให้ทุกฝ่ายต่างกลายเป็นผู้ชนะ เพราะเศรษฐกิจของอิหร่านก็ต้องการทั้งการลงทุนและเม็ดเงินทุนจากฝ่ายตะวันตกอย่างเหลือเกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมน้ำมัน เหนือสิ่งอื่นใดเลย ถ้าพวกบริษัทอเมริกันเริ่มต้นเข้าไปดำเนินงานในตลาดอิหร่านแล้ว ก็จะเป็นการสร้างแรงกระตุ้นพวกธุรกิจและอุตสาหกรรมของพวกยุโรปไปด้วย
ถึงแม้กล่าวเช่นนี้ แต่อิหร่านก็ยังคงดำเนินนโยบายต่างๆ ในระดับภูมิภาคตามร่องตามรอยของตนเองอยู่เช่นเดิม โดยไม่สนใจใยดีว่าคณะบริหารทรัมป์จะใช้ยุทธวิธีหรือวาทกรรมเพื่อสร้างแรงบีบคั้นกันอย่างไรก็ตามที อิหร่านสามารถทำแต้มได้ชัยชนะที่มีความหมายสำคัญอย่างหนึ่งทีเดียวในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากการที่กองกำลังอาวุธของฝ่ายรัฐบาลซีเรียซึ่งสนับสนุนโดยกองกำลังอาวุธท้องถิ่นที่มีอิหร่านหนุนหลัง กำลังเคลื่อนพลเข้าไปใกล้ๆ จุดข้ามพรมแดนติดต่อกับอิรักที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ณ อัล-ตันฟ์ (Al-Tanf) (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เรื่อง The scramble for control of Syrian-Iraqi border ในบล็อกของผมนี้ http://blogs.rediff.com/mkbhadrakumar/2017/06/04/the-scramble-for-control-of-syrian-iraqi-border/) ผลเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นก็คือ เส้นทางสำหรับให้กลุ่มนักรบที่หนุนหลังโดยสหรัฐฯในภาคใต้ของซีเรีย สามารถเคลื่อนเข้าไปสู่จังหวัด เดอีร์ เอซซูร์ (Deir Ezzur) ที่ทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ (และก็เป็นแหล่งน้ำมันปิโตรเลียมที่อุดมสมบูรณ์ด้วย) เวลานี้กลับตกอยู่ใต้การควบคุมของพวกกองกำลังฝ่ายรัฐบาลซีเรียเสียแล้ว
ในเวลาเดียวกัน เตหะรานยังกำลังกลับมาสถาปนาช่องทางติดต่อระดับสูงกับคณะผู้นำของกลุ่มฮามาส (Hamas) ได้อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อวันเสาร์ (10 มิ.ย.) กลุ่มฮามาสประกาศว่า คณะผู้แทนที่นำโดยผู้นำที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งใหม่ๆ ของตน คือ อิสมาอิล ฮานิเยห์ (Ismail Haniyeh) ผู้ขึ้นมาแทนที่ คอเลด เมชาอัล (Khaled Meshaal) เมื่อเร็วๆ นี้ กำลังจะเดินทางไปเยือนกรุงเตหะราน ความผูกพันระหว่างอิหร่านกับกลุ่มฮามาสต้องตกอยู่ในสภาพขึงตึงทีเดียว ภายหลังจากเมชาอัล โยกย้ายออกมาจากกรุงดามัสกัส (ซึ่งเขาพำนักอาศัยลี้ภัยมาเป็นเวลาหลายปีทีเดียว) แล้วไปตั้งหลักแหล่งใหม่ที่กรุงโดฮา โดยถือเป็นวิธีการในการแสดงความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของตัวเขากับกาตาร์และตุรกี ในความขัดแย้งซีเรีย
การที่กลุ่มฮามาสกลับมารวมตัวอยู่ใน “แกนอักษะแห่งการต่อต้าน” (axis of resistance) ของเตหะรานเช่นนี้ ถือว่ามีความสำคัญ เนื่องจากฮามาสเป็นกิ่งก้านสาขาหนึ่งของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และกาตาร์ก็กำลังตกอยู่ใต้แรงบีบคั้นจากซาอุดีอาระเบียให้ตัดความเชื่อมโยงที่ตนมีอยู่กับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม มันเป็นความเคลื่อนไหวซึ่งประสานสอดคล้องกับการที่อิหร่านก็ให้การสนับสนุนกาตาร์ในการบาดหมางร้าวฉานกับซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งยังเป็นการหนุนส่งความปรารถนาของอิหร่านที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนกับตุรกี ทั้งนี้ประธานาธิบดีเรเจป แอร์โดอัน ของตุรกีนั้น ยังคงให้การอุปถัมภ์แก่กลุ่มฮามาสต่อไป ถึงแม้เรื่องนี้กำลังกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการไม่อาจปรองดองกันในความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับอิสราเอล
ในอีกด้านหนึ่ง การที่อิหร่านมีความผูกพันอย่างแนบแน่นยิ่งขึ้นกับกลุ่มฮามาสเช่นนี้ ก็เท่ากับเป็นการสร้างแรงกดดันเข้าใส่ซาอุดีอาระเบียและอิสราเอล ในจังหวะเวลาที่ระดับความรู้สึกสบายอกสบายใจในกันและกัน ระหว่างริยาดกับเทลอาวีฟกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังๆ มานี้ โดยที่คณะบริหารทรัมป์ก็กำลังส่งเสริมสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อแนวความคิดในเรื่องการให้อาหรับกับอิสราเอลเร่งสถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นปกติระหว่างกัน
จาเรด คุชเนอร์ บุตรเขยของทรัมป์นั้น เป็นชาวยิวแบบออโธด็อกซ์ (Orthodox Jew) และเวลานี้เขาได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าที่ปรึกษาด้าน “สันติภาพ” ในตะวันออกกลางของทำเนียบขาว ข้อวินิจฉัยพื้นฐานของคุชเนอร์ ซึ่งก็เป็นนโยบายของสหรัฐฯในตะวันออกกลางในปัจจุบันด้วย กำหนดให้ใช้แนวทางวิธีการแบบ “จากด้านนอกเข้าไปสู่ข้างใน” (from the outside-in) ในการสร้างสันติภาพขึ้นในตะวันออกกลาง กล่าวคือ ให้มีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างพวกรัฐอาหรับต่างๆ กับอิสราเอล เพื่อทำให้เกิดมิตรไมตรีและความสัมพันธ์ทางการทูตแบบใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งก็จะมีผลเป็นการช่วยเหลือให้การปรองดองรอมชอมระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอลบังเกิดความคืบหน้าได้ แนวทางวิธีการเช่นนี้กำลังเข้าแทนที่แนวทางวิธีการ “จากข้างในออกสู่ด้านนอก” (inside-out) ที่เคยใช้กันมาแต่ดั้งแต่เดิมยาวนาน ซึ่งให้ความสำคัญอันดับแรกแก่สันติภาพระหว่างชาวปาเลสไตน์กับชาวอิสราเอล โดยถือเป็นก้าวเดินก้าวแรกที่จำเป็นต้องเดิน จึงจะสามารถอำนวยความสะดวกช่วยเหลือให้ยุติความขัดแย้งระหว่างโลกอาหรับกับอิสราเอลได้
ภารกิจของทรัมป์ในการเดินทางไปเยือนกรุงริยาดเมื่อเดือนที่แล้วนั้น เป็นไปตามการเรียกร้องของอิสราเอล ผู้ซึ่งกำลังพยายามผลักดันแนวการเล่าเรื่องที่ระบุว่า ความหวาดกลัวอิหร่านจนถึงขั้นเป็นตายในเวลานี้ กำลังนำพาให้เหล่าผู้ปกครองราชาธิปไตยอาหรับในแถบริมอ่าวเปอร์เซียกับอิสราเอลเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนทีเดียวว่า อิสราเอลกำลังดีดลูกคิดรางแก้วคาดคำนวณว่า เมื่อมีการทำสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างพวกระบอบปกครองอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียกับอิสราเอล (ในลักษณะเดียวกันกับสนธิสัญญาสันติภาพที่อิสราเอลได้ทำกับอียิปต์และกับจอร์แดนไปแล้ว) ในที่สุดแล้วก็จะเท่ากับทำให้อุดมการณ์การต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปเลย และแรงกดดันที่มีต่ออิสราเอลในเรื่องที่จะต้องผ่อนสั้นผ่อนยาวยอมตามความมุ่งมาดปรารถนาของชาวปาเลสไตน์ ตลอดจนเสียงเรียกร้องให้ปาเลสไตน์กลายเป็นรัฐเอกราชรัฐหนึ่งขึ้นมาอย่างแท้จริงนั้น ก็จะจางหายไปจนหมดสิ้น
เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่จะต้องจับตากันก็คือ ขณะที่รายงานข่าวเรื่อง ฮานิเยห์ ผู้นำคนใหม่ของกลุ่มฮามาสกำลังจะเดินทางมาเยือนอิหร่านนั้น หนังสือพิมพ์เตหะรานไทมส์ (Tehran Times) อันทรงอิทธิพล ได้ตั้งข้อสังเกตต่างๆ เอาไว้ดังต่อไปนี้คือ:
**ขณะที่วิกฤตการณ์ซีเรียได้ตอกลิ่มทำให้เกิดความร้าวฉานระหว่างอิหร่านกับตุรกีนับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ทว่าความแตกร้าวในระหว่างรัฐเจ้าอาหรับทั้งหลายเวลานี้ก็นำพาให้เตหะรานกับอังการาเข้ามาเป็นพันธมิตรเฉพาะกิจกัน โดยที่บางฝ่ายเชื่อว่านี่เป็นโอกาสดีที่สุดที่ทั้งสองประเทศจะซ่อมแซมปัดเป่าความแตกต่างระหว่างกันที่มีอยู่
**ตุรกีและอิหร่านต่างหนุนหลังกาตาร์ และต่างมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม
สามารถที่จะกล่าวได้ว่า ความเคลื่อนไหวของอิหร่านในการนำเอากลุ่มฮามาสกลับเข้ามาอยู่ใน “แกนอักษะแห่งการต่อต้าน” ของตน คือภัยคุกคามที่จะบ่อนทำลายแผนการเล่น (game plan) ซึ่งอิสราเอลกำลังพยายามผลักดันดำเนินการอยู่ (แผนการเล่นนี้มุ่งอาศัยเส้นสายของ คุชเนอร์ และ เจสัน กรีนแบลตต์ Jason Greenblatt ชาวยิวออโธด็อกซ์ อีกคนหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ในองค์การของทรัมป์ )
ประเทศทั้งสาม อันได้แก่ กาตาร์, ตุรกี, และอิหร่าน ต่างเกิดความตระหนักว่า การรุกโจมตีของสหรัฐฯ-อิสราเอล-ซาอุดีอาระเบีย ต่อสิ่งที่พวกเขาระบุว่า “ลัทธิก่อการร้าย” นั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงโวหารสำหรับการเข้าโจมตีแบบเต็มๆ เข้าใส่กลุ่มภราดรภาพมุสลิม ด้วยการประทับตราให้กลุ่มนี้กลายเป็นองค์การ “ผู้ก่อการร้าย” โดยที่ตั้งจุดมุ่งหมายเอาไว้ว่าในที่สุดแล้วมันก็จะกลายเป็นการขับดันกลุ่มฮามาสให้ตกอยู่ในความโดดเดี่ยวทางการเมือง และดังนั้นก็จะทำให้ขบวนการต้านทานของชาวปาเลสไตน์ยิ่งกระจัดกระจายรวมตัวกันไม่ติดไปตลอดกาล
แน่นอนทีเดียวว่า ทั้งตุรกีและอิหร่านต่างสังเกตเห็นแล้วว่า เมื่อสถานการณ์คลี่คลายจนมองเห็นอะไรๆ ได้อย่างชัดเจน พวกประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางจำนวนมากก็แสดงความลังเลรีรอไม่ได้ปรารถนาที่จะเข้ามีส่วนในแนวร่วมต่อต้านกาตาร์ของซาอุดีอาระเบีย --ในจำนวนนี้ก็รวมถึงจอร์แดนด้วย ซึ่งยังคงแสดงท่าทีจับตามองสังเกตการณ์ และเพียงพึ่งพาอาศัยความเคลื่อนไหวแบบแลดูพอสวยงาม อันได้แก่การลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตที่มีอยู่กับกาตาร์ ทั้งๆ ที่จอร์แดนมีความจำเป็นมากที่จะต้องได้รับมิตรไมตรีจากซาอุดีอาระเบีย
แน่นอน ทั้ง ตุรกี, อิรัก, เลบานอน, จอร์แดน, คูเวต, โอมาน, แอลจีเรีย, โมร็อกโก, ซูดาน, และตูนิเซีย ต่างพาตัวเองแยกห่างออกมาอย่างเปิดเผยจากยุทธศาสตร์ของฝ่ายซาอุดีอาระเบียในการโดดเดี่ยวกาตาร์ อันที่จริงแล้วตุรกีถึงขนาดประกาศอย่างแข็งแรงปฏิเสธไม่ยอมรับมาตรการที่ซาอุดีอาระเบียปิดล้อมคว่ำบาตรกาตาร์ทีเดียว -- “เราจะไม่ทอดทิ้งพี่น้องชาวกาตาร์ของเรา” ประธานาธิบดีแอร์โดอันกล่าวในงานเลี้ยงอาหารละศีลอดเมื่อคืนวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ที่นครอิสตันบูล ขณะปราศรัยกับบรรดาสมาชิกในพรรคการเมืองของเขา
เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา
(ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก อินเดียน พันช์ไลน์)
หมายเหตุผู้แปล
ในบล็อกอินเดียน พันช์ไลน์ เอ็ม เค ภัทรกุมาร ยังเขียนเรื่องวิกฤตกาตาร์เอาไว้อีกชิ้นหนึ่ง ใช้ชื่อว่า Trump condemns Qatar, sets Middle East on fire โดยโพสต์เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2017 หรือ 1 วันก่อนเรื่อง Qatar crisis sets in motion realignments (‘วิกฤตกาตาร์’ ดัน ‘ตุรกี-อิหร่าน-ฮามาส’ จับมือเพื่อสู้หมากกลของ‘ซาอุฯ-ทรัมป์-อิสราเอล’) ที่นำเสนอเอาไว้ข้างบนนี้ ทั้งนี้ผู้แปลเห็นว่าข้อเขียนทั้งสองชิ้นนี้มีส่วนเสริมแง่มุมของกันและกัน จึงขอเก็บความข้อเขียนชิ้นวันที่ 10 มิถุนายน มาเสนอไว้ในที่นี้ด้วย ดังนี้:
‘ทรัมป์’ประณาม ‘กาตาร์’ ทำพระเพลิงที่ไหม้ลาม‘ตะวันออกกลาง’ยิ่งโหมฮือ
โดย เอ็ม เค ภัทรกุมาร
Trump condemns Qatar, sets Middle East on fire
By M K Bhadrakumar
10/06/2017
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ใช้วาระแถลงร่วมกับประธานาธิบดีโรมาเนียผู้มาเยือนทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ประกาศนโยบายเกี่ยวกับวิกฤตการณ์กาตาร์ โดยแสดงตัวชัดเจนกล่าวหาว่ากาตาร์เป็นรัฐที่อุปถัมภ์การก่อการร้าย อีกทั้งระบุว่ากาตาร์เป็นข้าศึกศัตรูรายหนึ่งของสหรัฐฯ รวมทั้งยังพูดเตือนอ้อมๆ ไปถึงประธานาธิบดีเรเจป แอร์โดอัน ของตุรกี ด้วยว่า เขาอาจจะเป็นรายต่อไป
แม้กระทั่งเมื่อวัดกันด้วยมาตรฐานของเขาเอง สิ่งที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯแสดงออกให้เห็นเมื่อวันศุกร์ (9 มิ.ย.) ที่แล้ว ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องน่าตื่นตระหนก ในเมื่อเขาใช้ภาษาซึ่งเต็มไปด้วยความเจ็บแสบกล่าวหากาตาร์ว่า เป็นรัฐที่กำลังอุปถัมภ์การก่อการร้าย พร้อมกับระบุว่ากาตาร์เป็นข้าศึกศัตรูรายหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
อย่าได้เข้าใจผิดนะครับ นี่ไม่ใช่เป็นการทวิตเตอร์ในช่วงเช้ามืด ไม่ได้เป็น “การพูดจาแบบทรัมป์” (Trumpspeak) ในสนามกอล์ฟที่ฟลอริดาช่วงสุดสัปดาห์ แท้ที่จริงแล้ว เชื่อไหมครับว่า มันเป็นการแสดงออกซึ่งเกิดขึ้นจากการเขาที่อ่านข้อความที่เตรียมเอาไว้ โดยเป็นข้อความที่พวกผู้ช่วยในทำเนียบขาวร่างขึ้นมาเป็นการล่วงหน้าสำหรับใช้ในเวลาที่ทรัมป์แถลงข่าวร่วมกับประธานาธิบดีเคลาส์ อิโอฮันนิส (Klaus Iohannis) แห่งโรมาเนียผู้มาเยือนในวันดังกล่าว ณ ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน –และปรากฏว่าสิ่งที่เขาแถลงทั้งหมดนั้นมันออกนอกบริบท กล่าวคือมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับโรมาเนียหรือการมาเยือนอเมริกาของอิโอฮันนิส ทว่ามันเหมือนกับว่าทรัมป์กำลังประกาศคำแถลงในด้านนโยบาย ทั้งนี้เขาพูดเอาไว้ดังนี้:
**ผมได้กล่าวปราศรัยในการประชุมซัมมิตที่มีบรรดาผู้นำของอาหรับและชาติมุสลิมมากกว่า 50 คนเข้าร่วม (เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2017 ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย --ผู้แปล) –มันเป็นการพบปะหารือที่มีผู้นำจำนวนมากเข้าร่วมอย่างโดดเด่นครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติต่างๆ ทีเดียว— ณ ที่นั่นเอง เหล่าผู้เล่นคนสำคัญๆ ในภูมิภาคดังกล่าวได้ตกลงเห็นพ้องกันที่จะยุติการสนับสนุนลัทธิก่อการร้าย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทางการเงิน, การทหาร, หรือแม้กระทั่งทางศีลธรรม
**โชคร้ายมาก ประเทศกาตาร์โดยประวัติความเป็นมาแล้วเป็นผู้ให้เงินทุนสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายในระดับที่สูงมาก และจากการประชุมหารือในคราวนั้น ชาติต่างๆ ได้รวมตัวกันและพูดกับผมเกี่ยวกับเรื่องการเผชิญหน้ากับกาตาร์สืบเนื่องจากพฤติกรรมของประเทศนั้น ดังนั้นเราจึงต้องทำการตัดสินใจ กล่าวคือ เราจะยังคงเดินไปตามเส้นทางง่ายๆ ต่อไป หรือว่าในที่สุดแล้วเราก็จะลงมือกระทำการที่ยากลำบากทว่ามีความจำเป็น? เราจะต้องหยุดยั้งเรื่องการให้เงินทุนสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายกันเสียที ผมได้ตัดสินใจ เคียงข้างกับรัฐมนตรีต่างประเทศเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน และเหล่านายพลผู้ยิ่งใหญ่และผู้คนทางการทหารของเรา ว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเรียกร้องกาตาร์ให้ยุติการให้ความสนับสนุนทางการเงิน –พวกเขาจักต้องยุติการให้เงินทุนสนับสนุนดังกล่าว— และยุติให้ความสนับสนุนแก่อุดมการณ์ของพวกสุดโต่งในรูปของการให้เงินทุน
**ผมต้องการเรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ทั้งหมดยุติการให้ความสนับสนุนลัทธิก่อการร้ายในทันที ยุติการสอนประชาชนให้เข่นฆ่าประชาชนคนอื่นๆ ยุติการนำเอาความเกลียดชังและการไร้ความอดกลั้นอดทนเข้าไปใส่ในความคิดของพวกเขา ผมจะไม่ขอระบุชื่อประเทศอื่นๆ แต่เราจะต้องแก้ไขคลี่คลายปัญหานี้ ไม่มีทางเลือกอย่างอื่น
**นี่คือสิ่งที่มีความสำคัญลำดับต้นของผม เพราะมันเป็นหน้าที่อันดับแรกของผมในฐานะที่เป็นประธานาธิบดีที่จะต้องปกป้องประชาชนของเราให้ปลอดภัย การทำให้ไอซิส (ISIS ชื่อย่ออีกชื่อหนึ่งของกลุ่ม “รัฐอิสลาม” ไอเอส) และองค์การก่อการร้ายอื่นๆ ประสบความพ่ายแพ้ คือบางสิ่งบางอย่างที่ผมเน้นหนักมาโดยตลอดในระหว่างการรณรงค์หาเสียงของผมและต่อเนื่องเรื่อยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เพื่อที่จะทำสิ่งนี้ให้สำเร็จ ต้องหยุดยั้งการให้เงินทุน หยุดยั้งการสอนให้เกลียดชัง และหยุดยั้งการเข่นฆ่า
**สำหรับกาตาร์ เราต้องการให้ท่านถอยกลับมาอยู่ในท่ามกลางความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของประเทศต่างๆ ที่มีความรับผิดชอบ เราเรียกร้องกาตาร์ และชาติอื่นๆ ในภูมิภาคให้ทำอะไรให้มากขึ้น และทำมันอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
**ผมต้องการที่จะขอบคุณซาอุดีอาระเบีย และเพื่อนของผม กษัตริย์ซาลมาน (King Salman) ตลอดจนประเทศอื่นๆ ทั้งหมดซึ่งเข้าร่วมในการประชุมซัมมิตครั้งที่เป็นประวัติศาสตร์อย่างยิ่งครั้งนั้น มันเป็นการสร้างประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง ไม่เคยมีอะไรเหมือนกับแบบนั้นเคยเกิดขึ้นมาก่อนและบางทีอาจจะไม่มีอะไรเหมือนกับแบบนั้นเกิดขึ้นมาอีกแล้ว หวังใจว่ามันจะเป็นการเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดของการให้เงินทุนแก่ลัทธิก่อการร้าย ด้วยเหตุดังนั้น มันก็จะเป็นการเริ่มต้นแห่งการสิ้นสุดของลัทธิก่อการร้าย ไม่มีอีกแล้วการให้เงินทุนสนับสนุน (สามารถชมคลิปวิดีโอการแถลงข่าวครั้งนี้ได้ที่ https://www.whitehouse.gov/featured-videos/video/2017/06/09/president-trump-holds-joint-press-conference-president-romania)
ประการแรกก่อนอื่นทีเดียว ทรัมป์เพิ่งกล่าวเตือนอย่างโต้งๆ ชัดๆ ต่อกาตาร์ว่า “ยอมแพ้เสียเถอะ ไม่ยังงั้นล่ะก้อ ...” มันเกิดขึ้นเพียงแค่วันเดียวหลังจากคำแถลงอันท้าทายของรัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ ชัยค์ โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลเราะห์มาน อัษ-ษานี (Sheikh Mohammed bin Abdulrahman al-Thani) ซึ่งมีผลเท่ากับประกาศว่าประเทศของเขา “ไม่พร้อมที่จะยอมจำนน และไม่มีวันพร้อมที่จะยอมจำนน ที่จะยอมสูญเสียความเป็นอิสระของนโยบายการต่างประเทศของเรา”
ดังนั้น อย่าได้มองผิดพลาดนะครับ เวลานี้มันเป็นการจ้องเขม็งเข้าใส่กันแล้ว ใครจะเป็นฝ่ายยอมกระพริบตาก่อน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือว่า เอมีร์ ผู้ปกครองแห่งกาตาร์จะต้องเป็นผู้กระพริบตา ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องจับจ้องมองดูอย่างระทึกขวัญกลั้นลมหายใจ
ประการที่สอง ทรัมป์ไม่เพียงแค่เน้นย้ำว่าเขาสนับสนุนความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ในการต่อต้านกาตาร์เท่านั้น ในทางเป็นจริงแล้วยังเท่ากับเขายอมรับว่า เขาเห็นร่วมกันกับกษัตริย์ซัลมานที่กำลังใช้เส้นทางของผู้มุ่งท้าทายเผชิญหน้า ผลที่ออกมาจึงเท่ากับว่า ทรัมป์กำลังถอยหลังออกจากข้อเสนอของเขาเองก่อนหน้านี้เมื่อวันอังคาร (6 มิ.ย.) ที่ว่าพร้อมจะเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ (ซึ่งอันที่จริงริยาดก็ได้แถลงปฏิเสธอย่างเปิดเผยแล้ว) ในความเป็นจริง ทรัมป์ยังเปิดเผยให้ทราบว่าความเคลื่อนไหวของซาอุดีอาระเบียในการต่อต้านเล่นงานกาตาร์คราวนี้นั้น ได้ฟุ้งกระจายเผยแพลมออกมาแล้วในการหารือถกเถียงครั้งต่างๆ ระหว่างที่เขาไปเยือนริยาดเมื่อประมาณ 3 สัปดาห์ก่อนหน้านั้น
ประการที่สาม ทรัมป์น่าที่จะตั้งใจบอกกับตุรกีด้วยว่า หนต่อไปอาจจะเป็นคราวเคราะห์ของประธานาธิบดีเรเจป แอร์โดอัน (Recep Erdogan) ก็ได้ ทั้งนี้ตอนหนึ่งในคำแถลงคราวนี้ ทรัมป์กล่าวว่า “ผมไม่ขอเอ่ยนามของประเทศอื่นๆ แต่เรานั้นยังไม่ได้แก้ไขปัญหาจนเสร็จสิ้นเลยนะ แต่เราจะต้องแก้ไขปัญหานี้ ไม่มีทางเลือกอื่น” ในขณะนี้เองแอร์โดอันก็กำลังแถลงอย่างชัดเจนว่า การที่ซาอุดีอาระเบียเข้าทำการปิดล้อมไม่ให้ส่งสินค้าเข้ากาตาร์เช่นนี้ จะต้องยกเลิกไปเสีย (ดูรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ https://www.dailysabah.com/diplomacy/2017/06/09/blockade-on-qatar-must-be-completely-lifted-erdogan)
ประเด็นก็คือ ทรัมป์ออกมาพูดเช่นนี้ไล่หลังติดๆ หลังจากที่แอร์โดอันตัดสินใจในวันพฤหัสบดี (8 มิ.ย.) ที่จะส่งทหารตุรกีเข้าไปยังกาตาร์ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นเสียอีกก็คือ แอร์โดอันปฏิเสธไม่ยอมรับการที่ทรัมป์พูดอธิบาย (ในระหว่างที่เขาเยือนริยาด) ว่า กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) คือองค์การก่อการร้าย แอร์โดอันยืนยันว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมเป็นขบวนการทางแนวความคิดอุดมการณ์ (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.middleeastmonitor.com/20170217-turkeys-erdogan-muslim-brotherhood-is-ideological-not-terrorist-organisation/) เป็นอันว่าความตึงเครียดที่กำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างสหรัฐฯกับตุรกี ที่ต่างเป็นชาติพันธมิตรองค์การนาโต้กันทั้งคู่ เวลานี้มีมิติเพิ่มเติมขึ้นมาอีกมิติหนึ่งแล้ว
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ พรรคเอเคพี (AKP) ที่เป็นพรรครัฐบาลปกครองตุรกีของแอร์โดอันนั้น มีความเกี่ยวพันสนิทสนมในเชิงอุดมการณ์อย่างแข็งแกร่งกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม และก็ได้เคยให้ความสนับสนุนอย่างแรงกล้าต่อองค์การนี้ในตอนที่เป็นแหล่งกำเนิดอันคึกคักพรั่งพรูของความเคลื่อนไหว “อาหรับสปริง” (Arab Spring) ในช่วงระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา แอร์โดอันนั้นถึงขนาดยอมเสี่ยงทำอันตรายต่อความสัมพันธ์ที่ตุรกีมีอยู่กับอียิปต์ ภายหลังที่ฝ่ายทหารอียิปต์ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อปี 2013 ทำการโค่นล้มรัฐบาลของกลุ่มภราดรภาพมุสลิมภายใต้ประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี (Mohamed Morsi) (ผมขอเชิญชวนให้อ่านข้อเขียนสรุปความอันลึกซึ้ง ในหนังสือพิมพ์เฮอร์ริเยต Hurriyet ซึ่งพูดถึงการต่อเชื่อมโยงใยระหว่างตุรกีกับกลุ่มภราดรภาพมุสลิม โดยใช้ชื่อเรื่องว่า “กลุ่มภราดรภาพที่ทำให้โลกมุสลิมเกิดการแตกแยกกัน” The Brotherhood that splits the Muslim world ได้ที่ http://www.hurriyetdailynews.com/the-brotherhood-that-splits-the-muslim-world.aspx?PageID=238&NID=114163&NewsCatID=409)
ประการสุดท้ายและเป็นข้อสำคัญที่สุดด้วย ทรัมป์พูดเป็นนัยๆ ในเรื่องเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ เขาตั้งใจพูดเน้นเป็นพิเศษว่า เขาได้ปรึกษาหารือกับทั้งรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน และ “เหล่านายพลผู้ยิ่งใหญ่และผู้คนทางการทหารของเรา” ขณะที่ตัดสินใจว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเรียกร้องกาตาร์ให้ยุติการให้ความสนับสนุนทางการเงิน –พวกเขาจักต้องยุติการให้เงินทุนสนับสนุนดังกล่าว— และยุติให้ความสนับสนุนแก่อุดมการณ์ของพวกสุดโต่งในรูปของการให้เงินทุน” เขาต้องการหมายความเป็นนัยๆ ด้วยหรือไม่ว่า สหรัฐฯจะทำให้กาตาร์ต้องปฏิบัติตามโดยใช้เครื่องมือในเชิงบังคับ ถ้าหากมีความจำเป็นขึ้นมา
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Command) ซึ่งตัวกองบัญชาการตั้งอยู่ในดินแดนกาตาร์ ต้องได้รับผลกระทบกระเทือนโดยตรงจากวิกฤตกาตาร์คราวนี้ ทรัมป์กำลังบอกใบ้ว่าสหรัฐฯจะเข้าทำการแทรกแซงทางทหารในกาตาร์กระนั้นหรือ? นี่เป็นคำถามใหญ่ที่ต้องหาคำตอบ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ คำอธิบายที่อาจจะหามาได้ ก็มีเพียงแง่มุมของการบริจาคเงินเท่านั้น กล่าวคือ ด้วยคำแนะนำจากกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) คณะบริหารทรัมป์จึงอาจมีความโน้มเอียงที่จะยอมรับข้อเสนอให้ความสนับสนุนทางการเงินอย่างใจกว้างจากบรรดาผู้ปกครองแคว้นอาหรับต่างๆ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ซึ่งต้องการให้กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯโยกย้ายกองบัญชาการเข้าไปตั้งอยู่ในดินแดนของประเทศพวกตน
เมื่อวันพุธ (7 มิ.ย.) ทรัมป์ได้โทรศัพท์สนทนากับมกุฎราชกุมารของยูเออี เจ้าชายโมฮาเหม็ด บิน ไซเอด อัล นาห์ยัน (Mohamed bin Zayed Al Nahyan) ซึ่งตามบันทึกถอดความการสนทนาของทำเนียบขาวระบุว่า ผู้นำทั้งสอง “เห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ซึ่งบรรลุกันไว้ในกรุงริยาดเพื่อต่อสู้กับลัทธิสุดโต่งและเพื่อสู้รบกับการให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่พวกกลุ่มผู้ก่อการร้าย นอกจากนั้น ท่านประธานาธิบดีเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประคับประคองรักษาสภาความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council) ที่สามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเอาไว้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเสถียรภาพของภูมิภาค ทว่าต้องไม่ใช่ด้วยการแลกกับการต้องเลิกกำจัดกวาดล้างการให้เงินทุนแก่ลัทธิสุดโต่งหัวรุนแรง หรือกับการยังความปราชัยให้แก่ลัทธิก่อการร้าย” เห็นได้อย่างชัดเจนว่า หัวข้อที่พูดจาสนทนากันคือเรื่องเกี่ยวกับหนทางและวิธีการต่างๆ ในการสยบกาตาร์ ครั้นแล้วในวันรุ่งขึ้นนั้นเอง ซาอุดีอาระเบียและยูเออีก็ได้ประกาศบัญชีรายชื่อบุคคลที่ตั้งฐานอยู่ในกาตาร์จำนวน 50 กว่าคน และหน่วยงานต่างๆ ของกาตาร์อีกสิบกว่าแห่ง ซึ่งถูกระบุว่าเชื่อมโยงพัวพันกับกิจกรรมต่างๆ ของผู้ก่อการร้าย
เป็นอันแน่นอนทีเดียวว่า แผ่นเปลือกโลกแห่งภูมิรัฐศาสตร์ของอ่าวเปอร์เซียกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงผันผวน ถ้าหากสถานการณ์พัฒนาไปจนถึงขนาดหน้าสิ่วหน้าขวาน และสหรัฐฯเข้าแทรกแซงทางทหารในกาตาร์ด้วยข้ออ้างเรื่องการสู้รบกับลัทธิก่อการร้าย –หรือทางเลือกอีกประการหนึ่งก็คือให้การรุกรานกาตาร์เป็นหน้าที่ของซาอุดีอาระเบีย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยที่สหรัฐฯคอยชี้นำอยู่ข้างหลัง— มันก็จะกลายเป็นเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความหายนะอย่างฉับพลันรุนแรงขึ้นมา และก็จะทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางเกิดความชุลมุนวุ่นวายอย่างขนานใหญ่ แน่นอนทีเดียวว่า ความไร้เสถียรภาพในกาตาร์ยังส่งผลกระทบกระเทือนต่อตลาดน้ำมันโลกอีกด้วย
ทว่าการที่สหรัฐฯจะเข้าแทรกแซงโดยตรงได้นั้นจำเป็นที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา ซึ่งไม่น่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในช่วงระยะเวลาใกล้ๆ นี้ มติสาธารณชนในสหรัฐฯยังคงยืนหยัดต่อต้านคัดค้านการเข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้นอีกในโลกมุสลิมตะวันออกกลาง ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ากองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯโยกย้ายกองบัญชาการของตนออกจากกาตาร์แล้ว การจับขั้วเปลี่ยนแกนกันใหม่อย่างใหญ่โตในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียก็ย่อมเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธรรมชาตินั้นเกลียดชังภาวะสุญญากาศทางภูมิรัฐศาสตร์ --และทั้งรัสเซีย, ตุรกี, และอิหร่านจะพากันจับจ้องความเคลื่อนไหวต่อๆ ไปของทรัมป์อย่างใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง
(ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก อินเดียน พันช์ไลน์)