xs
xsm
sm
md
lg

“ยูเออี” เรียกร้องชาติตะวันตกจับตากาตาร์ ประกาศ “พวกเราไม่ไว้ใจ” - แรงงานต่างชาติวิกฤตหนัก “ราคาอาหารพุ่งแต่งานไม่มีในโดฮา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ – สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นชาติแรกในกลุ่มประเทศที่ตัดความสัมพันธ์ออกมาประกาศ ล่าสุดรัฐมนตรีต่างประเทศ อันวาร์ การ์การช(Anwar Gargash)เรียกร้องให้พันธมิตรชาติตะวันตก สร้างระบบจับตากาตาร์สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย เชื่อว่าวิกฤตนี้จำเป็นต้องมีชาติตะวันตกเข้าแทรก เพื่อยุติวิกฤตครั้งร้ายแรง ภายในกาตาร์ป่วนหนัก แรงงานต่างชาติในโดฮาเครียด งานไม่มีแต่อาหารแพง

หนังสือพิมพ์เดอะการ้เดียนรายงานเมื่อวานนี้(17 มิ.ย) ว่า อันวาร์ การ์กาช(Anwar Gargash) รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ออกมายืนยันด้วยตัวเองว่า พันธมิตรของยูเออี คือ ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และบาห์เรน ที่ร่วมกันประกาศตัดสัมพัน์กับกาตาร์นั้น ล้วนต่างไม่ไว้ใจกาตาร์ทั้งสิ้น

การออกมาให้ความเห็นของการ์กาซเกิดขึ้นในระหว่างเขาเดินทางอยู่ในกรุงลอนดอนในเวลานี้ เพื่อขอเสียงต่างชาติตะวันตกสนับสนุนการเดินหน้ากดดันกาตาร์ต่อไป

“นี่เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรม” และกล่าวต่อว่า “หากพวกเราได้รับสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ทางกาตาร์หยุดให้การสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มมุสลิมติดอาวุธ นี่เป็นพื้นฐานของการเจรจา แต่ทางเราต้องการระบบมอนิเตอร์”

และรัฐมนตรีต่างประเทศยูเออีกล่าวอีกว่า “ทางเราไม่ไว้ใจเขา นี่เป็นความไว้ใจที่เป็นศูนย์ แต่ทางเราต้องการระบบควบคุมเพื่อตรวจจับ และทางเราต้องการให้เพื่อนชาติตะวันตกของเราทำหน้าที่นี้”

ซึ่งทางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ชี้แจงว่า ระบบมอนิเตอร์การตาร์นั้นมีจุดประสงค์ เพื่อจะติดตามดูความประพฤติ เพื่อที่จะทำให้แน่ใจว่าทางโดฮาจะไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มก่อการร้ายอีกต่อไป หรือการให้ที่อยู่แก่สมาชิกติดอาวุธ หรือการช่วยเหลือกลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮูด กลุ่มฮามาส หรือกลุ่มอัลกออิดะห์ แต่อย่างไรก็ตาม โดฮาปฎิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ ซาอุดีอาระเบีย และพันธมิตรเช่น อียิปต์ มัลดีฟ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลิเบีย และบาห์เรน ได้รับเสียงปรบมือจากผู้นำสหรัฐฯ จากชาติทั้ง 4 ร่วมมือต่อต้านกาตาร์จากปัญหาโดฮาช่วยเหลือทางการเงินกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง ที่รวมไปถึงกลุ่มมุสลิมบราเธอร์ฮูด

ดิอินดีเพนเดนต์ สื่ออังกฤษออีกฉบับชี้ว่า มีเงื่อนงำที่น่าพิสวงเกิดขึ้นมากขึ้นเมื่อพบว่า 1 สัปดาห์หลังจากกาตาร์ถูกประกาศปิดล้อม เอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำกาตาร์ ดานา เชล สมิธ(Dana Shell Smith) ประกาศลาออก ซึ่งยังคงไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดในการลาออกครั้งนี้ โดยในขณะนั้นกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯได้ให้เหตุผลเพียงว่า “เป็นเพียงการหมุนเวียนตำแหน่งทางการทูตทั่วโลก” เท่านั้น

ซึ่งเดอะการ์เดียนชี้ว่า ก่อนที่สมิธจะลาออกเธอได้เคยทวีตข้อความทางทางทวิตเตอร์ในวันที่ 9 มิ.ย ว่า “หนักใจขึ้นทุกวันที่ต้องตื่นนอนตอนเช้าในต่างแดนและรับทราบข่าวจากบ้าน รู้ว่าดิฉันต้องอธิบายถึงระบบประชาธิปไตยและสถาบันประชาธิปไตยของเรา” และ “นักการทูตอธิบาย และต้องกล่าวปกป้องระบบการเมืองของพวกเรา และยากยิ่งขึ้นเมื่อพวกสองพรรคแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ แต่กระนั้นยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่ดีกว่า #สหรัฐอเมริกา”

ทั้งนี้วันที่ 9 มิ.ยเป็นวันที่ เจมส์ โคมีย์ อดีตผู้อำนวยการ FBI สหรัฐฯถูกประธานาธิบดีสหรัฐฯออกคำสั่งให้ออกจากการปฎิบัติหน้าที่ผ่านทางจอโทรทัศน์ โดยสื่ออังกฤษเชื่อว่า การทวีตเกี่ยวกับปัญหาภายในรัฐบาลสหรัฐฯ และการวิพากษ์วิจารณ์ โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ท่านทูตหญิงของสหรัฐฯรายนี้ที่ทำงานอยู่กับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯมาอย่างยาวนานต้องจำใจประกาศลาออกกะทันหัน

เดอะการ์เดียนรายงานต่อว่า สำหรับวิกฤตกาตาร์และ 4 ชาติอาหรับ มีหลายชาติพยายามเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ คูเวต และตุรกี แต่ทว่า 4 ชาติอาหรับที่ได้ตัดสัมพันธ์กับกาตาร์นั้นต่างรู้สึกระแวดระวังในการออกข้อเรียกร้อง ซึ่ง 4 ประเทศเหล่านี้ต่างเชื่อมั่นว่าประเทศของพวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มเปี่ยมจากผู้นำสหรัฐฯสำหรับการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในกาตาร์

ซึ่งในการออกมาให้ความเห็นของการ์กาชในกรุงลอนดอน เขากล่าวว่า “ในขณะนี้ยังไม่ข้อเรียกร้องอะไรออกมา” และระบุว่า ยังไม่ต้องการเข้าไปในประเด็นข้อเสนอทางการค้า

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสนใจเมื่อเดอะการ์เดียนชี้ว่า ดูเหมือนทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และซาอุดีอาระเบียไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตกเหมือนที่คาดไว้แต่แรก จากการที่มีหลายชาติต่างออกมาปฎิเสธที่จะประกาศเลือกข้างอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันยังออกมากดดันให้เร่งลดระดับความตรึงเครียดในอ่าวลง

ซึ่งพบว่า ล่าสุดสหรัฐฯที่มีฐานทัพใหญ่อยู่ในกาตาร์ ได้ออกมาประกาศเดินหน้าจำหน่ายอาวุธให้กาตาร์ รอยเตอร์รายงานว่า และทำให้ทางกาตาร์ใช้โอกาสนี้ในการออกมาชี้ว่า สหรัฐฯเลือกที่จะสนับสนุนกาตาร์อย่างชัดเจน โดยแหล่งข่าวเจ้าหน้ากาตาร์ในโดฮาให้ความเห็นกับรอยเตอร์ว่า “นี่เป็นสิ่งที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสถาบันของสหรัฐฯนั้นเลือกที่จะยืนอยู่ข้างเรา แต่เราไม่เคยสงสัยในเรื่องนี้” และยังกล่าวต่อว่า “กองทัพของพวกเราเหมือนเป็นพี่น้องกับของอเมริกา สหรัฐฯหนุนหลังพวกเราอย่างแบบหยั่งรากลึก และไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงจากการใช้อิทธิพลทางการเมือง”

ปัญหาทางการทูตระหว่างกาตาร์และซาอุฯ ที่มีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร่วมหัวจมท้ายนั้นดูเหมือนรุนแรงและหนักหน่วง เพราะในกรุงลอนดอน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอาหรับเดอมิเรตส์ยืนยันว่า

ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นวิกฤตที่ร้ายแรง โดยย้อนไปเมื่อปี 2014 ที่ทางกลุ่มใช้ความพยายามทางการทูตกับโดฮาแต่ล้มเหลว และทำให้ทางอันวาร์ การ์การชออกมายืนยันว่า

“เราเคยใช้ไม้อ่อนกับทางกาตาร์มาแล้ว และในครั้งนี้ทางเราจะใช้ไม้แข็ง เพราะสิ่งที่พวกเราได้เรียนรู้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น จากสีเทาที่เป็นเส้นแบ่งระหว่างกลุ่มก่อการร้ายและและกลุ่มหัวรุนแรง แต่ในขณะนี้สิ่งนี้ชัดแล้ว และจำเป็นที่ต้องต่อต้านกลุ่มหัวรุนแรงเพื่อเอาชนะการก่อการร้าย”

ทั้งนี้ในการให้สัมภาษณ์การ์กาชยังได้กล่าวไปถึงชื่อ 59 รายชื่อที่ยังสามารถเดินได้อย่างเสรีภายในกาตาร์ แต่เป็นกลุ่มที่ถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำว่า เป็นผู้ก่อการร้ายหรือเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินกับกลุ่มก่อการร้าย ที่รวมไปถึง 14 รายชื่อที่ถูกคว่ำบาตรอย่างเป็นทางการจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ และอีก 4 รายชื่อจากองค์การสหประชาชาติ

โดยการแถลง การกาซยังอ้าง โดยชี้ไปถึงรายชื่อกลุ่ม อัล-นุสรา ฟรอนต์ ที่กาตาร์สนับสนุนซึ่งเป็นสาขาของกลุ่มอัลกออิดะห์ในซีเรีย และกลุ่มต่อสู้ในลิเบีย เช่น กลุ่มสภาเดอร์นา ชูรา (Derna Shura Council) และกลุ่มสภาเบงกาซี ชูรา( Benghazi Shura Council)

และในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศยูเออีออกมาปฎิเสธเสียงแข็งว่า “ซาอุดีอาระเบียคือแหล่งสนับสนุนก่อการร้ายตัวจริง” โดยชี้ว่า “ริยาดทำแต่เรื่องดีงามเท่านั้น” และกล่าวว่าเป็นเรื่องของทางริยาดที่ต้องตัดสินว่าพวกเขาจะสามารถจัดการเรื่องพวกนี้ได้เร็วพอมากเท่าใด

ซึ่งในการแถลงข่าว เดอะการ์เดียนรายงานว่า รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย อาเดล อัล-จูเบียร์(Adel al-Jubeir) ได้แสดงจุดยืนเช่นกัน ที่จะไม่ยอมอ่อนข้อให้กับกาตาร์

เอเอฟพีรายงานเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ภายในของกาตาร์ในสายตาของแรงงานต่างชาตินั้นยังคงวิกฤต โดยชี้ว่า ไม่มีงานในกาตาร์ แต่อาหารกลับมีราคาแพงหลังกาตาร์ถูกตัดความสัมพันธ์

หนึ่งในนั้นที่ออกมาให้ความเห็นคือ อจิต(Ajit) ช่างไฟฟ้าชาวอินเดีย ที่เพิ่มเริ่มต้นในงานใหม่ได้เพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้น แต่ทว่าในขณะนี้ เขากลับต้องวิตกถึงสถานการณ์ในประเทศกาตาร์ โดยเฉพาะกับอนาคตในประเทศแห่งนี้ ราคาอาหารที่ถีบสูงขึ้น รวมไปถึงงานที่ทำ

ในการกล่าวให้ความเห็นกับเอเอฟพี อจิตยอมรับว่า “หากสถานการณ์ยังคงแย่อย่างต่อเนื่อง จะเป็นปัญหากับคนเช่นพวกเรา แรงงาน ราคาอาหารจะแพงขึ้น และงานจะไม่มี”

ทั้งนี้สำหรับเงินเดือนที่ได้ราว 1,000 ริยาล หรือราว 240 ดอลลาร์นั้น เขาส่งกลับบ้านที่อินเดียราว 600 ริยาล แต่สถานการณ์ปากท้องในซุปเปอร์มาร์เก็ตปัจจุบันไม่เอื้ออำนวยโดย อจิตให้ความเห็นว่า “ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง ราคาข้าว มะเขือเทศ แหละหัวหอมสูงขึ้น แต่ก่อนผมจ่ายแค่ 1 ริยาลสำหรับแต่อย่าง แต่ในปัจจุบันต้องเพิ่มเป็น 2 เท่าของทุกอย่าง”

และทำให้นายช่างไฟชาวอินเดียผู้นี้ได้แก้ปัญหาวิกฤตกาตาร์ถูกปิดล้อมด้วยการ “ลดมืออาหารของตัวเองให้เหลือแค่ 1 มือต่อวัน”

และในการให้ความเห็น อจิตและเพื่อนที่ไม่มีความรู้เหมือนกลุ่มต่างชาติจากโลกตะวันตกที่เดินทางเข้ามากาตาร์เช่นกัน แต่ไม่ประสบปัญหากับวิกฤตเท่าใดนัก แต่กับแรงงานเช่นอจิต ที่เขายอมรับว่า “เคยได้ยินว่าอาจจะไม่มีตำแหน่งงานอีกต่อไป” และทำให้กลุ่มแรงงานต่างชาติที่อยู่ในระดับล่างนี้ต่างเชื่อว่า หนทางทีดีนั้นน่าจะส่งพวกเขากลับบ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น