xs
xsm
sm
md
lg

วิสัยทัศน์ตะวันออกกลางของ ‘ทรัมป์’ ทำให้เกิด ‘วิกฤตกาตาร์’ครั้งใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

Trump s Middle East vision creates new rifts
By M K Bhadrakumar
05/06/2017

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยวาระสำคัญประการหนึ่งคือการมุ่งฟื้นคืนชีพกลุ่มพันธมิตรชาติมุสลิมสุหนี่มุ่งต่อต้านอิหร่านขึ้นมาใหม่ เวลาผ่านไปไม่ถึงครึ่งเดือนดี ประเทศอาหรับกลุ่มหนึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, และอียิปต์ ก็ประกาศตัดสัมพันธ์และมุ่งโดดเดี่ยวกาตาร์

ความเคลื่อนไหวของประเทศกลุ่มหนึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), และอียิปต์ – และมีบาห์เรน, ลิเบีย, เยเมน, มัลดีฟส์ เข้าร่วมขบวนด้วย— ในการตัดสัมพันธ์ด้านต่างๆ กับกาตาร์ และมุ่งโดดเดี่ยวประเทศเล็กๆ ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียแห่งนี้ บังเกิดขึ้นมาอย่างฉับพลันสร้างความเซอร์ไพรซ์ประหลาดใจกันไปทั่ว แต่มีข้อน่าสังเกตว่ามันปรากฏขึ้นในระยะเวลาไม่ถึงครึ่งเดือนดีนักหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เดินทางไปซาอุดีอาระเบียโดยที่มีการตีฆ้องร้องป่าวอย่างเอิกเกริกเลื่อนลั่น และหนึ่งในวาระสำคัญของการเยือนคราวนี้ก็คือ การฟื้นคืนชีพกลุ่มพันธมิตรชาติมุสลิมสุหนี่มุ่งต่อต้านอิหร่านขึ้นมาใหม่ กลุ่มพันธมิตรในทางปฏิบัติซึ่งมิได้มีข้อตกลงอะไรอย่างเป็นรูปแบบทางการนี้ ประกอบด้วยอียิปต์, ซาอุดีอาระเบีย, บรรดารัฐริมอ่าวเปอร์เซียรายอื่นๆ, จอร์แดน, โมร็อกโก – โดยที่มีอิสราเอลแอบยืนอย่างลับๆ อยู่ข้างหลังด้วย (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.nytimes.com/2017/06/05/world/middleeast/qatar-saudi-arabia-egypt-bahrain-united-arab-emirates.html)

เป็นไปได้ทีเดียวว่า ซาอุดีอาระเบียประมาณการว่าจากการที่ความสัมพันธ์ซึ่งตนมีอยู่กับสหรัฐฯแทบจะหวนกลับคืนสู่ภาวะวันชื่นคืนสุขในยุคสมัยของประธานาธิบดีบุชทั้งบิดาและบุตรแล้วเช่นนี้ จังหวะเวลานี้จึงเป็นโอกาสอันเหมาะเหม็งที่จะเล่นงานลงโทษกาตาร์ ซึ่งเป็นรัฐที่ยึดมั่นในแนวความคิดวาฮาบี (Wahhabi) อีกเพียงรัฐเดียวในภูมิภาคแถบนี้ นอกเหนือจากซาอุดีอาระเบียเอง ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียและกาตาร์มีความสัมพันธ์ที่ไม่สู้ลงรอยกันแทบจะตลอดเวลา และฝ่ายหลังก็มีความหวาดกลัวเรื่อยมาว่าสักวันหนึ่งริยาดอาจจะนำเอาสิ่งที่เคยกระทำกับบาห์เรนในปี 2011 มากระทำกับตนบ้าง

อีก 2 ปีให้หลัง กาตาร์ได้เชื้อเชิญตุรกีให้มาจัดตั้งฐานทัพทางทหารขึ้นในกรุงโดฮา ทั้งกาตาร์และตุรกีนั้นต่างเป็นผู้อุปถัมภ์กลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ทว่าในทางตรงกันข้าม ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น กลับมองกลุ่มนี้ว่ามีวาระแฝงเร้นที่มุ่งหมายจะโค่นล้มระบอบปกครองของพวกตน สิ่งต่างๆ ยิ่งเพิ่มความสลับซับซ้อนขึ้นมาอีกนิดหน่อย เมื่อเรานำเอาปัจจัยอีกประการหนึ่งเข้ามาพิจารณาด้วย นั่นคือการที่กาตาร์แสดงท่าทีเกี้ยวพาราสีอิหร่าน ผู้เป็นศัตรูตัวฉกาจที่สุดของซาอุดีอาระเบีย

กาตาร์ถือเป็นประเทศที่มีเสน่ห์ชวนหลงใหลอย่างที่สุดทีเดียว จากความสามารถอันประณีตในการใช้ศิลปะแห่งการสำแดงอิทธิพลบารมีได้อย่างมากมายกว้างไกลเกินกว่าฐานะตัวตนอันแท้จริงของตนเอง แถมยังกระทำเช่นนี้ได้แทบจะตลอดเวลาอีกด้วย แน่นอนล่ะ กาตาร์ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากความเพลี่ยงพล้ำในอียิปต์ เมื่อรัฐบาลกลุ่มภราดรภาพมุสลิมของประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด มอร์ซี (Mohamed Morsi) ซึ่งกาตาร์ให้ความสนับสนุนอยู่ ถูกโค่นล้มลงไปในการก่อรัฐประหารของกองทัพแดนไอยคุปต์ภายใต้การสนับสนุนของซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2013 และพลเอกอับเดล ฟัตตอห์ เอล-ซิซี (General Abdel Fattah el-Sisi) ผู้เผด็จการทหารในตอนนั้น (ปัจจุบันเป็นประธานาธิบดีของอียิปต์) ได้ออกคำสั่งขับไล่ชาวกาตาร์ให้เก็บกระเป๋ากลับบ้านไป ตั้งแต่นั้นมากาตาร์ก็ไม่เป็นที่โปรดปรานในกรุงไคโรอีกเลย ทว่ากาตาร์นั้นเป็นนักลงทุนที่เฉลียวฉลาดรายหนึ่งในเมืองหลวงต่างๆ ของโลกตะวันตก และได้รับเครดิตว่ามีอิทธิพลบารมีอยู่มากกับพวกชนชั้นนำฝรั่งเศส กองบัญชาการทหารด้านกลางของสหรัฐฯ (US Central Command) ก็ตั้งกองบัญชาการอยู่ในกรุงโดฮา

สิ่งที่นำเอาซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, และอียิปต์ เข้ามาร่วมมือกันจัดทำยุทธศาสตร์ปิดล้อมกาตาร์คราวนี้ ได้แก่ผลประโยชน์ความสนใจร่วมกันของพวกเขาในการขับไล่ไสส่งพวกภราดรมุสลิมให้ถอนยวงออกไปจากสถานที่ลี้ภัยอันปลอดภัยในกาตาร์ ขณะที่ลิเบีย, บาห์เรน, เยเมน, และมัลดีฟส์ ดูจะกระทำตามคำบงการของซาอุดีอาระเบียเท่านั้น น่าสนใจทีเดียวว่ายังมีหลายรัฐสมาชิกของกลุ่มความร่วมมือรัฐอ่าวเปอร์เซีย (จีซีซี) อย่างเช่น คูเวต และโอเมน ประกาศจุดยืนเป็นกลางในการพิพาทคราวนี้

กาตาร์นั้นไม่น่าที่จะถูกขู่ขวัญจนหวาดกลัวอกสั่นขวัญแขวน ทว่ากาตาร์ก็เป็นระบอบปกครองที่เน้นผลในทางปฏิบัติซึ่งมักเปิดกว้างให้แก่การประนีประนอมเสมอมา ตุรกีและอิหร่านนั้นได้เสนอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายยับยั้งชั่งใจ, สนทนาหารือกัน, และปรองดองรอมชอมกัน เมื่อปี 2014 ตอนที่เกิดการเผชิญหน้าระหว่างซาอุดีอาระเบียกับกาตาร์ทำนองเดียวกันนี้ขึ้นมานั้น เหตุการณ์ยืดเยื้อไปนาน 8 เดือนทีเดียว

สิ่งที่ดีก็คือ จากการบาดหมางแตกร้าวกันระหว่างเจ้าผู้ปกครองต่างๆ ในโลกอาหรับคราวนี้ หมายความว่าลูกหลานทายาทที่ถือกำเนิดจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “กลุ่มพันธมิตรทางทหารอิสลาม” (Islamic Military Alliance หรือ IMA) จะไม่มีโอกาสได้เจริญเติบโตเสียแล้วในทางเป็นจริง ถึงแม้ตอนเริ่มแรกที่จะก่อตั้งกันขึ้นมา IMA จะเป็นกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อต้านลัทธิก่อการร้าย ทว่าหลังจากนั้นมาก็เป็นที่ปรากฏชัดเจนว่าฝ่ายซาอุดีอาระเบียมุ่งมั่นตั้งใจที่จะใช้ IMA เพื่อต่อต้านอิหร่านที่เป็นพวกมุสลิมนิกายชีอะห์ ประธานาธิบดีทรัมป์ก็มีความตื่นเต้นหลงใหลกับการก่อตั้ง “องค์การนาโต้ของอาหรับ” ขึ้นมาต่อต้านขัดขวางอิทธิพลในภูมิภาคของอิหร่านเช่นเดียวกัน ทว่าเนื่องจากการแสดงท่าทีเช่นนี้คือการประกาศการแบ่งแยกกีดกันอย่างถนัดชัดเจน ด้วยเหตุนี้เองประเทศมุสลิมส่วนใหญ่จะเกิดความรู้สึกหวั่นกลัวเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของ IMA บางกลุ่มบางฝ่ายจึงกำลังเรียกร้องให้ทบทวนพิจารณากันใหม่ในการที่จะเข้าร่วมวงกับ IMA แม้กระทั่งในปากีสถานก็มีกระแสเช่นนี้เหมือนกัน (ดูบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ดอว์น Dawn ที่ใช้ชื่อเรื่องว่า Dangerous alliance https://www.dawn.com/news/1337285/dangerous-alliance)

“องค์การนาโต้ของอาหรับ” ถือเป็นแนวความคิดที่มีอันตราย เนื่องจากมันจะลงเอยกลายเป็นเพียงแค่เครื่องมืออย่างหนึ่งในยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาคแถบนี้ของสหรัฐฯเท่านั้น โดยสาระสำคัญแล้ว มันหมายถึงการที่สหรัฐฯสามารถครองฐานะเป็นเจ้าได้ตลอดกาล โดยที่ไม่ต้องเข้าแทรกแซงทางทหารโดยตรงเลย เพียงแต่คอยทำให้ประเทศมุสลิมต่างๆ ในตะวันออกกลางกลายเป็นศัตรูกันเท่านั้น สหรัฐฯยังจะมีหลักประกันด้วยว่า “องค์การนาโต้ของอาหรับ” จะยังคงเป็นผู้ซื้ออาวุธอเมริกันรายใหญ่ต่อไปเรื่อยๆ

โชคร้ายเหลือเกินที่ทรัมป์กำลังเติมเชื้อเพลิงโหมความกระหายสงครามของซาอุดีอาระเบีย ทั้งๆ ที่เขาก็ทราบอยู่เต็มอกว่า ลัทธิวาฮาบีของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Wahhabism) นั่นแหละ ซึ่งเป็นผู้วางรากฐานทางเทววิทยาให้แก่อิสลามแนวคิดรุนแรงยุคใหม่ (modern radical Islam) ลัทธิวาฮาบีคือผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการก่อตั้งกลุ่มตอลิบาน (Taliban) และกลุ่มอัลกออิดะห์ (Al Qaeda) ตลอดจนการป่าวประกาศเผยแผ่อิสลามในโลกตะวันตก ในบทวิพากษ์อันรุนแรงต่อนโยบายตะวันออกกลางของทรัมป์ อดีตเอกอัครราชทูตอิสราเอลผู้หนึ่งเขียนลงในหนังสือพิมพ์ เยรูซาเลมโพสต์ (Jerusalem Post) ฉบับวันที่ 5 มิถุนายนนี้ เอาไว้ดังนี้:

การที่จะนำมาวิสัยทัศน์ของทรัมป์มาปฏิบัติให้สำเร็จนั้น สถานที่ศึกษาเรียนรู้ระดับสูงทุกๆ แห่งในซาอุดีอาระเบีย และในรัฐอาหรับอื่นๆ รวมทั้ง อัล อัซฮาร์ (Al Azhar) ในอียิปต์ด้วย จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกันอย่างทั่วด้านในคำสอนเกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม (ชารีอะห์) และสิ่งสืบทอดผ่านทางคำพูด (รวมทั้ง ฮะดีษ และ ประวัติชีวิตของศาสดามุฮัมมัด) ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานทางเทววิทยาในการก่อตั้งและการปฏิบัติการของพวกองค์การอิสลามญิฮาด ... ควรต้องชี้เอาไว้ด้วยว่า ประธานาธิบดีอียิปต์คนปัจจุบันได้เคยรบเร้า อัล อัซฮาร์ ให้ขจัดความโน้มเอียงต่างๆ ของพวกสุดโต่งในอิสลาม ทว่าจวบจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่เกิดผลอะไร ทรัมป์สามารถที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่านี้หรือไม่? ดูไม่น่าจะเป็นเช่นนั้นได้เลย ... (ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.jpost.com/Middle-East/Analysis-Whats-the-new-US-sheriff-in-the-Middle-East-up-to-494767)

เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา

(ข้อเขียนชิ้นนี้มาจากบล็อก อินเดียน พันช์ไลน์)


กำลังโหลดความคิดเห็น