xs
xsm
sm
md
lg

‘ทรัมป์’ ลงนามคำสั่ง ให้เวลา 30 วัน ‘ฝ่ายทหาร’ เสนอแผนการสู้รบเอาชนะ ‘ไอเอส’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามเมื่อวันเสาร์ (28 ม.ค.) ที่ผ่านมา ในคำสั่งฝ่ายบริหารให้เพนตากอน, คณะเสนาธิการทหารร่วม, และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เสนอแผนการเบื้องต้นภายใน 30 วัน ว่าด้วยการทำให้พวกไอเอสพ่ายแพ้ปราชัย </i>
รอยเตอร์ - ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเมื่อวันเสาร์ (28 ม.ค.) ที่ผ่านมา ให้เสนอแผนการทางทหารที่จะทำให้กลุ่ม “รัฐอิสลาม” (ไอเอส) พ่ายแพ้ปราชัย มาให้เขาพิจารณาภายในเวลา 30 วัน ทั้งนี้เป็นที่คาดหมายกันว่าเพนตากอนคงจะกลับไปทบทวนทางเลือกต่างๆ ในเรื่องการใช้แสนยานุภาพและกำลังทหารอเมริกันอย่างแข็งกร้าวเชิงรุกเพิ่มมากขึ้น

ทว่าพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายรายกล่าวกับรอยเตอร์โดยขอให้สงวนนามว่า พวกเขาสงสัยว่าฝ่ายทหารคงจะไม่เสนอให้เปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นรากฐานในยุทธศาสตร์สำคัญซึ่งได้ดำเนินการปรับแต่งกันมาเรื่อยๆ ในช่วงคณะบริหารโอบามา ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ก็คือการพึ่งพาอาศัยกองกำลังอาวุธต่างๆ ในท้องถิ่นให้เป็นผู้รับผิดชอบมากที่สุดในเรื่องการสู้รบและการบาดเจ็บล้มตายในซีเรียและในอิรัก

“ผมคิดว่ามันจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นี่เป็นเรื่องใหญ่เบ้อเริ่มเลย” ทรัมป์พูดขณะเขาลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับดังกล่าวในวันเสาร์ (28 ม.ค.) ซึ่งกำหนดให้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน), คณะเสนาธิการทหารร่วม, และหน่วยงานอื่นๆ ยื่นเสนอแผนการเบื้องต้นในการสร้างความปราชัยให้พวกไอเอสต่อเขาภายในระยะเวลา 30 วัน ทั้งนี้นับเป็นการที่ทรัมป์กระทำตามคำมั่นสัญญาอีกประการหนึ่งซึ่งเขาให้ไว้ระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

คำสั่งฉบับนี้ระบุให้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาทำงานร่วมกัน เพื่อเสนอแนะว่าจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างในกฎว่าด้วยการปะทะสู้รบของสหรัฐฯ หรือข้อจำกัดทางนโยบายอย่างอื่นๆ รวมทั้งให้ระบุพวกที่ควรเป็นหุ้นส่วนหน้าใหม่ๆ ในกลุ่มพันธมิตร ตลอดจนเสนอกลไกต่างๆ เพื่อการตัดแหล่งหาเงินทุนของไอเอส นอกจากนั้น คำสั่งนี้ยังเรียกร้องให้คิดยุทธศาสตร์อย่างมีรายละเอียดในเรื่องการหาเงินงบประมาณมาสนับสนุนแผนการนี้ด้วย

ทรัมป์นั้นชูเรื่องการเอาชนะไอเอสเป็นหนึ่งในแนวคิดหลักๆ ในการรณรงค์หาเสียงของเขา ทว่าเขาหลีกเลี่ยงเรื่อยมาไม่พูดเกี่ยวกับรายละเอียดของวิธีการที่จะยังความพ่ายแพ้ให้กลุ่มหัวรุนแรงกลุ่มนี้

หากฝ่ายทหารสหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนใดๆ ขึ้นมาแล้ว ก็น่าที่จะก่อให้เกิดผลกระทบกระเทือนอย่างกว้างขวางต่อความสัมพันธ์ที่สหรัฐฯ มีอยู่กับฝ่ายต่างๆ ทั่วทั้งตะวันออกกลาง โดยที่สายสัมพันธ์ดังกล่าวนี้อยู่ในสภาพตึงเครียด จากการที่ตลอดระยะเวลาแห่งการปกครองประเทศของเขา อดีตประธานาธิบดี บารัค โอบามาพยายามจำกัดขอบเขตที่สหรัฐฯ จะเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันทางด้านการทหารในอิรัก และซีเรีย

เจมส์ แมตทิส รัฐมนตรีกลาโหมของทรัมป์ เป็นผู้ที่เสนอแนะเรียกร้องให้ใช้วิธีการอันมีพลังเข้มแข็งมากขึ้นในการต่อสู้ปราบปรามไอเอส ทว่าเขาจะทำอย่างไรบ้างในรายละเอียดนั้นยังคงไม่เป็นที่ชัดเจน

พวกเจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐฯ กล่าวยืนยันมานานแล้วว่า สหรัฐฯ สามารถที่จะยังความพ่ายแพ้ให้กลุ่ม “รัฐอิสลาม” ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยการใช้กองกำลังอาวุธของตนเข้าปฏิบัติการในสมรภูมิ แทนที่จะพึ่งพาอาศัยพวกนักรบท้องถิ่น

ทว่า เจ้าหน้าที่ทางทหารของสหรัฐฯ จำนวนมากก็โต้แย้งด้วยว่า ชัยชนะเช่นนั้นจะต้องแลกมาด้วยการที่สหรัฐฯ ต้องสูญเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งในท้ายที่สุดก็แทบไม่ได้ก่อให้เกิดหนทางแก้ไขอันยั่งยืนสำหรับความขัดแย้งสู้รบซึ่งเกิดขึ้นจากความแตกแยกอย่างขมขื่นในทางเชื้อชาติ, นิกายศาสนา, และทางการเมือง ภายในประเทศซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกต่อต้านอเมริกันอย่างรุนแรง

เดวิด บาร์โน นายพลโทเกษียณอายุซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้บัญชาการของกองทัพสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถาน ให้ความเห็นว่ามันจะเป็นการยกระดับบานปลายไปครั้งใหญ่ทีเดียว ถ้าคณะบริหารทรัมป์ตกลงเลือกที่จะพึ่งพาอาศัยกองทหารสหรัฐฯ ด้วยการเอาพวกเขาเข้าไปมีบทบาทสู้รบโดยตรง และส่งผลกลายเป็นการเข้าไปแทนที่พวกกองกำลังอาวุธท้องถิ่น

“พวกเราเคยเดินไปตามเส้นทางอย่างนี้มาก่อน และผมก็ไม่คิดว่าประชาชนชาวอเมริกันจะเกิดความตื่นเต้นยินดีอะไรกับไอเดียอย่างนี้” เป็นความเห็นของบาร์โน ซึ่งปัจจุบันสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอเมริกัน (American University) ในวอชิงตัน ดี.ซี.

ทุกวันนี้มีทหารอเมริกันรวมแล้วไม่ถึง 6,000 นายถูกส่งเข้าไปประจำการในอิรักและซีเรีย และพวกผู้เชี่ยวชาญมองว่าเพนตากอนยังคงสามารถเรียกร้องขอให้เพิ่มกำลังมากขึ้นอีก ซึ่งจะช่วยให้ฝ่ายทหารสหรัฐฯ สามารถทำอะไรได้มากขึ้น และมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการสู้รบ

แต่พวกเขาก็เห็นว่าเพนตากอนอาจตัดสินใจโฟกัสที่การใช้ทางเลือกอย่างอื่นๆ ซึ่งมีขนาดขอบเขตลดน้อยลงมา เป็นต้นว่าการหันไปเน้นการเพิ่มจำนวนเฮลิคอปเตอร์โจมตีและการโจมตีทางอากาศ ตลอดจนส่งปืนใหญ่เข้าไปมากขึ้น นอกจากนั้นกองทัพยังอาจจะขออำนาจในการตัดสินใจในสมรภูมิเพิ่มขึ้น

คณะบริหารโอบามาถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเป็นแรมปี ว่าพยายามควบคุมการทำสงครามในอิรัก, ซีเรีย, และอัฟกานิสถาน อย่างชนิดลงรายละเอียดยิบย่อยมากเกินไป

บาร์โนเห็นว่าเพนตากอนในยุคของทรัมป์น่าที่จะเรียกร้องขออำนาจมากขึ้น เพื่อให้สามารถส่งทหารอเมริกันซึ่งเป็นที่ปรึกษาและเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้าไปในการสู้รบอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น