เอเจนซีส์ - ผู้นำแดนปลาดิบเปิดใจชี้ล่าสุด ระหว่างการประชุมนางะโตะซัมมิตล่าสุด ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน อ้าง แถลงการณ์ร่วมระหว่างอดีตสหภาพโซเวียต - ญี่ปุ่น ปี 1956 ไม่มีส่วนไหนระบุเจาะจงการคืนอำนาจอธิปไตยเกาะพิพาทคูริลให้กับทางโตเกียว ท่ามกลางการตั้งความหวังของอดีตพลเมืองหมู่เกาะพิพาทคูริล 6,300 คน ทีปัจจุบันย้ายมาอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น และยังคงมีชีวิตอยู่ ผลการประชุมซัมมิตนางะโตะล่าสุด จะช่วยให้สามารถเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่เคยอาศัย และ สุสานบรรพบุรุษบนเกาะภายใต้การคุมเข้มของรัสเซียง่ายขึ้น
เจแปนไทม์สรายงานเมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.) ถึงการออกมาให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างๆ ถึงการเจรจาระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซียในการประชุมนางะโตะซัมมิตที่เพิ่งปิดฉากลงในวันศุกร์ (16 ธ.ค.) ซึ่งเป็นการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการครั้งแรกของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน
โดยในการให้สัมภาษณ์ของอาเบะในวันเสาร์ (17 ธ.ค.) หรือ 1 วัน หลังจากการพบปะกับผู้นำรัสเซียว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ออกมาระบุว่า ในข้อตกลงแถลงการณ์ร่วมระหว่างอดีตสหภาพโซเวียต - ญี่ปุ่น ปี 1956 ไม่ได้ระบุถึงการส่งมอบคืนอำนาจอธิปไตยเกาะพิพาทคูริลที่อยู่ในความครอบครองของรัสเซีย
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า อาเบะ ชี้ต่อว่า การให้ความเห็นของปูตินในเรื่องการส่งมอบอธิปไตยหมู่เกาะพิพาทคูริเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการประชุมซัมมิต ซึ่งปรากฏว่า หลังจากสิ้นสุดการประชุมแล้วทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติความขัดแย้งดินแดนพิพาทได้
โดยเจแปนไทม์สรายงานว่า จากแถลงการณ์ร่วมปี 1956 เนื้อหาระบุว่า รัสเซียจะส่งคืนเกาะชิโกตัน (Shikotan) และหมู่เกาะ ฮาโบเมะ (Habomai) 2 จากทั้งหมด 4 เกาะที่ถูกมอสโกยึดครอง แต่โตเกียวประกาศอ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของอย่างถูกกฎหมาย และมาจนถึงทุกวันนี้ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
ซึ่งในการอ้างทางฝั่งของโตเกียว พบว่า ฝ่ายโตเกียวชี้ว่า หมู่เกาะทั้ง 4 ถูกอดีตสหภาพโซเวียตเข้าบุกยึดอย่างผิดกฎหมายหลังจากที่ทางโตเกียวประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเดือนสิงหาคม 1945 แต่ทว่าทางฝ่ายรัสเซีย อ้างว่า ทางอดีตสหภาพโซเวียตเข้าครอบครองหมู่เกาะเหล่านี้อย่างถูกกฎหมายเนื่องมาจากผลของสงครามโลกครั้งที่ 2
และเมื่อถามว่า อาเบะถูกถามเรื่องการยกเลิกนโยบายคว่ำบาตรต่อรัสเซียจากปัญหาผนวกไครเมียในที่ประชุมซัมมิตหรือไม่ ผู้นำญี่ปุ่นได้ตอบนิปปอนเทเลวิชันกลับมาว่า ทั้งตัวเขาและปูตินไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้
เจแปนไทม์สรายงานเพิ่มเติมว่า และในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิตาร์ ทาซ สื่อรัสเซีย ชินโซ อาเบะ ได้กล่าวว่า ทั้งตัวเขาและผู้นำรัสเซียได้ตกลงร่วมกันถึงการไม่มีข้อจำกัดทางโอกาสระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซียในการพัฒนาความสัมพันธ์ทุกด้านในความพยายามร่วมกัน
ในขณะที่แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ระดับสูงรัสเซียให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวจิจีเพรส สื่อญี่ปุ่น อ้างว่า ทางบริษัทเอกชนญี่ปุ่นที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่น - รัสเซีย ภายใต้กรอบการทำงานพิเศษบนหมู่เกาะพิพาทนั้น***สมควรที่จะต้องจ่ายภาษีให้กับมอสโก***
ด้าน ปีเตอร์ เชลาเคฟ (Peter Shelakhaev) หัวหน้าสำนักงานส่งออกและการลงทุนตะวันออกไกลของมอสโก ได้ให้สัมภาษณ์ในวันศุกร์ (16 ธ.ค.) ในกรุงโตเกียว แสดงความคาดหวังว่า ข้อเสนอการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะสามารถเกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้ โดยทางผู้นำทั้ง 2 ชาติตกลงร่วมกันที่จะให้มีการเจรจาหารือในความริเริ่มร่วมกัน
ซึ่ง เชเลเคฟ ยืนยันว่า ปัญหาทางด้านกฎหมายจำนวนหนึ่งที่มีซึ่งเป็นอุปสรรคจะต้องถูกทำให้หมดไปก่อนกรอบอความร่วมมือพิเศษจะเกิดขึ้น และหัวหน้าสำนักงานส่งออกและการลงทุนตะวันออกไกล ได้ออกมายืนยันว่า รัสเซียสมควรที่จะต้องได้รับการจ่ายภาษีจากทางบริษัทของญี่ปุ่น
ทั้งนี้ เจแปนไทม์ส ชี้ว่า ปัญหาการเรียกเก็บภาษีกลายเป็นปมความขัดแย้งสำคัญในการเจรจาดินแดนพิพาทระหว่างทั้งญี่ปุ่นและรัสเซีย โดยผู้สังเกตการณ์ต่างออกมาชี้ว่า หากทางฝั่งโตกียวยอมทำตาม และอนุญาตให้บริษัทญี่ปุ่นจ่ายภาษีให้มอสโก จะเท่ากับว่า ทางญี่ปุ่นยอมรับระบบยุติธรรมของรัสเซียไปโดยปริยาย
โดยหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมนางะโตะซัมมิตแล้ว แหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นได้ออกมาให้ความเห็นว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซียจะเริ่มได้ในภายใต้เงื่อนไขที่ว่าการประกาศอ้างสิทธิครอบครองตามกฎหมายของโตเกียวต่อ “ดินแดนตอนเหนือ” นั้น จะไม่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ พบว่า ในเดือนสิงหาคม 1945 กองทัพอดีตสหภาพโซเวียตได้บุกเข้ายึดเกาะคุนาชิริ (Kunashiri) เกาะเอโตโรฟุ (Etorofu) เกาะชิโกตัน (Shikotan) และหมู่เกาะฮาโบเมะ (the Habomai islet group) ที่รู้จักในนาม “ดินแดนตอนเหนือ” หรือ The Northern Territories ในญี่ปุ่น ซึ่งตั้งอยู่คู่ขนานไม่ห่างจากชายฝั่งเกาะฮอกไกโด และหมุ่เกาะพิพาทเหล่านี้เป็นที่รู้จักในรัสเซียในนามหมู่เกาะคูริลใต้ (the Southern Kurils)
ซึ่งหลังจากการเข้าบุกยึดของกองทัพอดีตสหภาพโซเวียต ส่งผลทำให้ให้พลเมืองชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่บนเกาะเหล่านี้ร่วม 17,921 คน ต้องยอมทิ้งบ้านของตัวเอง และย้ายไปอาศัยในดินแดนแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่นแทน
นอกจากนี้ เชเลเคฟยังแถลงเพิ่มเติมในกรุงโตเกียว ว่า รัสเซียได้นำนโยบายแรงจูงใจทางภาษีรวมไปถึงมาตรการผ่อนปรนมาใช้ในเขตตะวันออกไกลในปีที่ผ่านมา และเชื่อว่า มาตรการที่คล้ายกันนี้จะถูกใช้กับหมู่เกาะพิพาทคูริลเหล่านี้ ซึ่งมาตรการปลอดภาษีและการผ่อนปรนจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือระดับทวิภาคีทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
ในขณะเดียวกัน อดีตผู้อาศัยบนหมู่เกาะพิพาทคูริลที่ยังคงมีชีวิตอยู่ราว 6,300 คน ซึ่งล้วนส่วนใหญ่มีอายุอยู่ในวัย 81 ปี ได้ออกมาให้ความเห็นกับสื่อเจแปนไทม์ส์ในวันเสาร์ (17 ธ.ค.) ถึงการประชุมนางะโตะซัมมิตล่าสุดที่เพิ่งเสร็จสิ้นลง โดยต่างตั้งความหวังว่า ในอนาคตข้างหน้าคนเหล่านี้จะสามารถเดินทางกลับไปเยือนบ้านเกิดที่เคยอาศัย และสุสานบรรพชนที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะคูริล ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การครอบครองของรัสเซียได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น
สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า ในกลุ่มคนที่ยังคงมีชีวิต พร้อมครอบครัวของพวกเขา ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากความร่วมมือระหว่างทั้ง 2 ชาติให้เดินทางกลับไปสุสานบรรพบุรุษที่ยังคงอยู่บนเกาะเหล่านี้ได้ แต่อย่างไรก็ตาม อดีตประชาชนดินแดนตอนเหนือตั้งความหวังให้มีการปรับปรุงในหลายด้าน โดยต้องการให้การพิจารณาวีซ่าอนุญาตการเดินทางนั้นมีความรวดเร็วมากขึ้น และจำนวนการเดินทางไปยังดินแดนตอนเหนือนั้นเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งที่ผ่านมา เจแปนไทม์ส ระบุว่า คนเหล่านี้ต้องใช้เวลารอนานหลายปีในการที่จะได้รับวีซ่าอนุญาตจากรัสเซียเพื่อเดินทางเข้าสู่หมู่เกาะคูริล และรวมปัญหาการปฏิเสธการเดินทางในนาทีสุดท้ายด้วยเหตุผล เนื่องมาจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
เพราะจากสภาพภูมิอากาศเลวร้ายทางฮอกไกโดตะวันออกที่มีทั้งหมอกหนาทึบและฝนตกหนักในช่วงหน้าร้อน ทำให้การเดินทางต้องถูกยกเลิกในบางครั้ง
โดยพบว่านับตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา มีประชาชนชาวญี่ปุ่นเกือบ 13,000 คน ได้รับวีซ่าฟรีเอ็กซ์เชนจ์โปรแกรมเดินทางไปยังเกาะทั้ง 4 ในขณะที่มีชาวรัสเซียกว่า 9,000 คนที่อาศัยอยู่บนเกาะเหล่านี้ได้รับอนุญาตในโครงการเดียวกันนี้ เดินทางเข้ามาทางตะวันออกของฮอกไกโด เจแปนไทม์สชี้
และหนึ่งในอดีตประชาชนในเขตดินแดนตอนเหนือ ซูซุมุ เซอิดะ (Susumu Seida) อดีตชาวหมู่เกาะฮาโบเมะ ปัจจุบันอายุ 77 ปี ที่ปัจจุบันนี้อาศัยอยู่ในคาวาซากิ (Kawasaki) ได้ให้ความเห็นว่า การปรับปรุงควรรวมไปถึง การลดขั้นตอนตรวจเช็กทางความั่นคงจำนวนมาก จะช่วยทำให้การเดินทางไปเยือนอดีตหมู่เกาะนั้นคล่องตัวมากขึ้น
โดย เซอิดะ กล่าวให้ความเห็นว่า “เพียงแค่การแสดงตัวว่าเคยเป็นอดีตชาวเกาะที่เคยอาศัยอยู่ก่อนหน้านี้ถือเป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการอนุญาตให้เดินทางเข้าไปยังหมู่เกาะได้อย่างเสรี โดยไม่จำเป็นต้องตรวจเช็กเอกสารประจำตัวเป็นระยะๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ดีมาก”
ในขณะที่ โนบูยูกิ โนริตซุกิ (Nobuyuki Noritsuki) ผู้ประสานงานระหว่างญี่ปุ่นและรัสเซียสำหรับการจัดการเดินทางของอดีตผู้ที่เคยอาศัยไปเยือนหมู่เกาะทั้ง 4 ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ภารกิจอันดับต้นๆของรัฐบาลญี่ปุ่นในการพัฒนาความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเข้าถึงหมู่เกาะพิพาทคือ การทำให้มีการเดินทางเพิ่มมากขึ้นระหว่างญี่ปุ่นและหมู่เกาะเหล่านี้
“ต้องมีการเตรียมการเป็นอย่างมากและเอกสารการเดินทางที่ต้องกรอกและยื่นสำหรับการเดินทางไปเยือนหมู่เกาะทั้ง 4 ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย” โนริตซูกิ กล่าว และให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “แต่ผมติดว่าจะมีการเพิ่มจำนวนการเดินทางมากขึ้นเนื่องมาจากผลของประชุมซัมมิต”
ซึ่งมีบางกรณี จากการเปิดเผยของโนริตซูกิ พบว่า อดีตประชาชนชาวเกาะแดนตอนเหนือต้องรอนานร่วม 3 ปีทีจะได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับไปดูแลบ้านเดิมที่เคยอาศัยอีกครั้ง หลังจากที่การเดินทางในครั้งแรกที่ได้รับอนุญาตถูกยกเลิกไปเนื่องมาจากสภาพอากาศเลวร้าย
และมีรายงานว่า นอกเหนือจากอดีตประชาชนบนหมู่เกาะพิพาทคูริล พบว่า มีกลุ่มคนที่ได้รับการคัดเลือก เป็นต้นว่า มาจากนักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติแดนอาทิตย์อุทัย สื่อมวลชนญี่ปุ่น และกลุ่มคนชาวญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการคืนเกาะ และกลุ่มที่ต้องการส่งเสริมด้านการแลกเปลี่ยนทางการศึกษาและวัฒนธรรมได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเยือนหมู่เกาะพิพาทคูริลภายใต้ข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด
ซึ่งก่อนหน้านี้ ในวันที่ 1 ธ.ค. มีผู้ประท้วงจำนวน 500 ราย รวมไปถึงอดีตพลเมืองญี่ปุ่นที่เคยอาศัยอยู่บนเกาะพิพาทคูริลได้เดินขบวนในกรุงโตเกียว เรียกร้องการแก้ปัญหาหมู่เกาะพิพาท ซึ่งถือเป็นการเรียกร้องมาร์ชครั้งที่ 11 ของทางกลุ่ม
ในปีนี้พบว่า ทางกลุ่มได้เปลี่ยนสโลแกนเรียกร้อง จากแต่เดิมประกาศจุดยืนต้องการให้ได้ดินแดนพิพาทกลับคืน แต่ทว่าก่อนการมาเยือนของผู้นำรัสเซีย ทางกลุ่มตั้งความหวังให้การประชุมซัมมิตนางะโตะนั้นประสบความสำเร็จ และทั้งโตเกียวและมอสโกหาทางออกในปัญหาความขัดแย้งหมู่เกาะพิพาทคูริลได้ในท้ายที่สุด เจแปนไทม์ส์รายงาน