xs
xsm
sm
md
lg

In Clip : “ปูติน” กร้าว ไม่ยอมวางมือจากดินแดนพิพาทหมู่เกาะคูริลเด็ดขาด พร้อมขู่ “อย่าพยายามเปิดกล่องแพนโดรา” อาจลากยาวไปเยอรมันตะวันออกทั้งแถบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์/MGR ออนไลน์ - ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กล่าสุดถึงปัญหาดินแดนพิพาทกับญี่ปุ่น “หมู่เกาะคูริล” (Kuril Islands) ว่า ทางรัสเซียไม่ยอมแลกดินแดนเพื่อได้มาในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีและหาทางออกร่วมกันกับญี่ปุ่น พร้อมยังส่งส่งสัญญาณเตือนต่อไปถึงปัญหาเอกราชแคว้นคาลินินกราดว่า “อย่าพยายามเปิดกล่องแพนโดรา” ที่อาจทำให้ทางรัสเซียต้องพิจารณาไปถึงภูมิภาคเยอรมันตะวันออกทั้งหมด และมีฮังการี และโรมาเนียเข้ามาเกี่ยวข้องในการรื้อผลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่อีกครั้ง

RT รายงานวันนี้ (2 ก.ย.) ว่า การให้สัมภาษณ์ของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน กับสื่อธุรกิจบลูมเบิร์กในวันศุกร์ (2) ล่วงหน้าก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่ถูกจัดขึ้นที่เมืองหางโจวโดยมีจีนเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ปูตินได้กล่าวตอบคำถามของจอห์น มิเคลตเวต (John Micklethwait) จากบลูมเบิร์ก ที่ได้ตั้งคำถามว่าทางรัสเซียจะแลกดินแดนหมู่เกาะพิพาทคูริลที่มีปัญหาพิพาทกับญี่ปุ่น เพื่อให้ได้มาในความร่วมมือที่ดีขึ้นทางเศรษฐกิจและการหาทางออกทางการเมืองกับโตเกียวหรือไม่ ทำให้ปูตินได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า “ทางเราไม่แลกดินแดน”

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัสเซียได้เสริมว่า “สนธิสัญญาสันติภาพกับญี่ปุ่นถือเป็นสิ่งสำคัญ และทางเราต้องการเป็นอย่างมากในการหาทางออกร่วมกันกับเพื่อนญี่ปุ่นของเราในปัญหานี้”

ในการให้สัมภาษณ์แบบสองต่อสองกับมิเคลตเวต ปูตินกล่าวต่อว่า “เรามีสนธิสัญญาที่ได้ลงนามไว้ตั้งแต่ปี 1956 และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากสภาโซเวียตสูงสุดแห่งสหภาพโซเวียตและจากรัฐสภาญี่ปุ่น แต่ทว่ากลับกลายว่า ทางฝ่ายญี่ปุ่นปฎิเสธที่จะบังคับใช้ และหลังจากนั้นจึงทำให้ทางอดีตสหภาพโซเวียต จึงจำเป็นต้องประกาศให้ข้อตกลงภายใต้กรอบสนธิสัญญาฉบับนี้เป็นโมฆะ”

RT รายงานต่อว่า อย่างไรก็ตาม ผู้นำรัสเซียปฎิเสธที่จะโยงระหว่างคำอ้างทางฝั่งโตเกียวและเหตุดินแดนพิพาทระหว่างรัสเซียและจีนเข้าด้วยกัน ปูตินได้ชี้ในจุดนี้ว่า ปัญหาพิพาทในกรณีหลังสามารถได้รับการแก้ไขหลังจากความพยายาม 40 ปีของการเจรจาที่ยืดเยื้อ และเป็นผลพวงสำเร็จมาจาก “ความเชื่อมั่นระดับสูงระหว่างรัฐต่อรัฐ”

“หากเราสามารถมีระดับความเชื่อมั่นเช่นเดียวกันที่จะเกิดขึ้นกับโตเกียว บางทีเราอาจจะได้เห็นการบรรลุข้อตกลงบางประการก็เป็นได้” วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียให้ความเห็น

แต่อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีรัสเซียได้ให้เหตุผลต่อว่า “แต่ทว่า ยังมีความต่างด้านพื้นฐานระหว่างปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น และการเจรจาระหว่างรัสเซียและจีน ซึ่งปัญหาของญี่ปุ่นเกิดมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2 และยังคงอยู่ในระดับนานาชาติจากผลของของสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ในขณะที่รัสเซียได้เจรจาปัญหาพรมแดนกับคู่เจรจาจีน ซึ่งไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือปัญหาความขัดแย้งด้านการทหารอื่น”

และเมื่อทางมิเคลตเวตได้ซักถามต่อถึงความพร้อมของรัสเซียในการเจรจาอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของแคว้นคาลินินกราด (Kaliningrad) ซึ่งตั้งอยู่ภายนอกแผ่นดินใหญ่รัสเซีย และทำให้ผู้นำหมีขาวตอบกลับมาด้วยเสียงเตือนเนิบนาบว่า “อย่างพยายามเปิดกล่องแพนโดราเด็ดขาด”

โดยปูตินอธิบายกลับมาว่า “หากใครสักคนต้องการที่จะพิจารณาถึงผลของสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่อีกครั้ง เราสามารถเปิดการเจรจาใหม่ได้อีกรอบ แต่ทว่าทางรัสเซียจะไม่พิจารณาแค่เฉพาะแต่กรณีของแคว้นคาลินินกราดเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาคตะวันออกของเยอรมันทั้งหมด รวมไปถึงเมือง Lvov อดีตที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโปแลนด์ และอื่นๆ นอกจากนี้ฮังการี และโรมาเนียยังรวมอยู่ในรายชื่อเหล่านี้”

และปูตินยังได้กล่าวทิ้งท้ายในการให้สัมภาษณ์นี้ว่า “หากใครสักคนต้องการเปิดกล่องแพนโดรา และกล้าเผชิญกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ โอเค ถ้างั้นเราจะได้เห็นกัน”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมยุโรปของกระทรวงต่างประเทศไทยพบว่า คาลินินกราดเป็นภูมิภาคหนึ่งของรัสเซียซึ่งไม่มีพื้นที่ติดกับแผ่นดินแม่ มีสถานะการปกครองแบบพิเศษคือ มีอำนาจการปกครองตนเองกึ่งหนึ่ง มีพื้นที่โดยประมาณ 15,100 ตารางกิโลเมตร มีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 1 ล้านคน ประกอบด้วยเชื้อชาติรัสเซีย (ร้อยละ 78) เบลารุส (ร้อยละ 8) และยูเครน (ร้อยละ 7.3) มีภาษารัสเซียเป็นภาษาประจำภูมิภาค และนับถือศาสนา คริสต์นิกายรัสเซียนออร์โธดอกซ์ มีพรมแดนติดกับภาคตะวันตกของประเทศลิทัวเนียและทางตอนเหนือของประเทศโปแลนด์

ทั้งนี้ แคว้นคาลินินกราดเป็นพื้นที่ที่อดีตสหภาพโซเวียตได้รับจากเยอรมนี จากผลของการแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 โดยก่อนหน้านั้นคาลินินกราดเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมันในชื่อโคนิกชเบิร์ก (Konigsberg)




กำลังโหลดความคิดเห็น