xs
xsm
sm
md
lg

“ฟิเดล คาสโตร” อดีตผู้นำปฏิวัติคิวบาถึงแก่อสัญกรรมในวัย 90 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ฟิเดล คาสโตร อดีตประธานาธิบดี และผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยมในคิวบา ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 25 พ.ย. ขณะมีอายุได้ 90 ปี
รอยเตอร์ - ฟิเดล คาสโตร อดีตประธานาธิบดีและผู้นำการปฏิวัติสังคมนิยมคิวบา ถึงแก่อสัญกรรมแล้วเมื่อวันศุกร์ (25 พ.ย.) สิริอายุได้ 90 ปี สถานีโทรทัศน์แห่งชาติคิวบารายงาน

คาสโตร ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนคิวบาให้กลายเป็นรัฐคอมมิวนิสต์หน้าประตูบ้านของสหรัฐฯ มีสุขภาพอ่อนแอลงเรื่อยมาหลังจากป่วยด้วยโรคลำไส้ที่เกือบจะคร่าชีวิตของเขาไปเมื่อปี 2006 และหลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี เขาก็ตัดสินใจก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี และยกหน้าที่นี้ให้แก่ ราอูล คาสโตร ผู้เป็นน้อง

ประธานาธิบดีราอูล คาสโตร ได้ออกมาอ่านประกาศการถึงแก่อสัญกรรมของพี่ชาย เมื่อช่วงค่ำวันศุกร์ (25) โดยไม่ระบุสาเหตุการเสียชีวิต

“เมื่อเวลา 22.29 น.ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งการปฏิวัติสังคมนิยมคิวบา ฟิเดล คาสโตร รูซ ได้ถึงแก่กรรมแล้ว”

“ขอเราจงก้าวต่อไปสู่ชัยชนะ”

ย้อนหลังไปเมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว คาสโตร ในวัย 32 ปี ได้นำกองกำลังกบฏขับไล่รัฐบาลของผู้นำเผด็จการ ฟุลเกนเซียว บาติสตา และเปลี่ยนคิวบาให้เป็นรัฐสังคมนิยมในปี 1959

ตลอด 49 ปีที่ดำรงตำแหน่งผู้นำคิวบา และเห็นการเปลี่ยนตัวประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาแล้วถึง 10 คน แม้ คาสโตร จะเป็นทั้งวีรบุรุษและเผด็จการในสายตาใครหลายคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาคือบุรุษผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่

แม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากสหรัฐฯ และบรรดาชาติพันธมิตรทั้งหลาย แต่ คาสโตร กลับได้รับการยกย่องจากกลุ่มประเทศฝ่ายซ้ายทั่วโลกว่าเป็น “วีรบุรุษ” โดยเฉพาะในประเทศแถบละตินอเมริกาและแอฟริกาที่ปกครองโดยระบอบสังคมนิยม
ประธานาธิบดี ราอูล คาสโตร แห่งคิวบา ออกมาแถลงข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของ ฟิเดล คาสโตร ผู้เป็นพี่ชาย
คาสโตร เปลี่ยนแปลงคิวบาจาก “สนามเด็กเล่น” ของเศรษฐีอเมริกันให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอิทธิพลสหรัฐฯ เขาเคยสกัดกั้นการจู่โจมอ่าวหมู (Bay of Pigs) ของกองทัพอเมริกันซึ่งมีสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) หนุนหลังเมื่อปี 1961 และเอาตัวรอดจากความพยายามลอบสังหารมาได้นับครั้งไม่ถ้วน

การที่ คาสโตร ประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตได้นำมาสู่ "วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา" เมื่อปี 1962 ซึ่งเป็นการเผชิญหน้าทางทหารกับสหรัฐอเมริกานาน 13 วัน และถือเป็นความตึงเครียดครั้งใหญ่ที่ทำให้โลกเฉียดใกล้กับการเกิด “สงครามปรมาณู” มากที่สุด

ชาวคิวบายังคงจดจำภาพของคาสโตร ที่สวมเสื้อลายพรางทหารและคาบซิการ์ติดปากมานานหลายสิบปี รวมถึงการออกมาด่าทออเมริกาผ่านสื่อโทรทัศน์ครั้งละหลายชั่วโมง

คาสโตร ปฏิเสธการครอบงำของลัทธิทุนนิยม และเรียกศรัทธาจากชาวคิวบาด้วยนโยบายก่อสร้างโรงเรียนและโรงพยาบาลสำหรับคนยากจน แต่ขณะเดียวกันเขาก็ได้สร้างศัตรูและนักวิจารณ์เอาไว้มากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มชาวคิวบาที่ลี้ภัยไปอาศัยอยู่ในเมืองไมอามีของสหรัฐฯ เนื่องจากทนการปกครองแบบกดขี่ไม่ได้

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่เข้ามาปิดฉากยุคสมัยของ ฟิเดล คาสโตร กลับไม่ใช่ทั้งสหรัฐฯ ผู้ลี้ภัยคิวบา หรือการล่มสลายของสหภาพโซเวียต หากแต่เป็น “โรคภัยไข้เจ็บ” ที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจถ่ายโอนอำนาจให้แก่ ราอูล แบบชั่วคราวในปี 2006 ก่อนจะเปิดทางให้น้องชายก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างสมบูรณ์ในปี 2008

แม้ว่า ราอูล คาสโตร จะยังคงให้เกียรติและยกย่องพี่ชายเสมือนรัฐบุรุษ แต่เขาได้ตัดสินใจนำระบบเศรษฐกิจแบบอิงตลาดเข้ามาใช้ และยังฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ เมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2014 ซึ่งทำให้ความเป็นอริระหว่างเพื่อนบ้านทั้ง 2 ชาติสิ้นสุดลง










กำลังโหลดความคิดเห็น