xs
xsm
sm
md
lg

“ทรัมป์” ลั่นจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวจาก TPP ตั้งแต่ “วันแรก” ที่รับตำแหน่งปธน.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงานในทำเนียบขาว โดยเป็น 1 ใน 6 แผนงานหลักที่รัฐบาลจะทำทันที เพื่อผลักดันนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First)

ทรัมป์ ได้ประกาศยืนยันจุดยืนเกี่ยวกับทีพีพีผ่านคลิปวิดีโอสั้นๆ หลังใช้เวลาตลอด 10 วันที่ผ่านมาคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในรัฐบาลชุดใหม่

มหาเศรษฐีวัย 70 ปีได้เปิดเผยแผนงานเร่งด่วนที่จะกระทำในช่วง 100 วันแรกของการเป็นประธานาธิบดี ซึ่งรวมถึงการออกคำสั่งบริหารเกี่ยวกับเรื่องการค้า ผู้อพยพ ความมั่นคงภายใน และจริยธรรม “เพื่อปฏิรูปวอชิงตันและปรับปรุงคุณภาพชีวิตชนชั้นกลาง"

“วาระการทำงานของผมจะตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานง่ายๆ เพียงข้อเดียว นั่นก็คือ อเมริกาต้องมาก่อน”

ทรัมป์ รู้จักใช้กลยุทธ์ดึงความโกรธแค้นของชนชั้นกรรมาชีพในสหรัฐฯ ที่รู้สึกว่าพวกตนถูกทอดทิ้งในโลกยุคโลกาภิวัตน์มาเป็นพลังให้กับตนเอง พร้อมทั้งโยนบาปให้แก่ข้อตกลงการค้าเสรีอย่างทีพีพี จนสามารถคว่ำตัวเต็งอย่าง ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครตได้แบบหักปากกาเซียนเมื่อวันที่ 8 พ.ย.

“ในส่วนของการค้า ผมจะประกาศเจตนารมณ์ถอนตัวออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งอาจเป็นหายนะต่อประเทศของเราเอง” ทรัมป์ ซึ่งจะสาบานตนเป็นประธานาธบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ในวันที่ 20 ม.ค. ปีหน้า กล่าว

“เราจะหันไปเจรจาข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีที่มีความเป็นธรรม เพื่อนำตำแหน่งงานและอุตสาหกรรมต่างๆ กลับมาสู่แผ่นดินสหรัฐฯ”

ทีพีพีซึ่งมีรัฐภาคี 12 ชาติ และข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเรื่อยมาระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและการจ้างงานในอเมริกา ขณะเดียวกัน หลายคนก็มองว่าชัยชนะของทรัมป์ อาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการสานความร่วมมือในด้านการค้าให้แนบแน่นยิ่งกว่าเก่า

ทรัมป์ประกาศเอาไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงว่าจะคว่ำข้อตกลงทีพีพี ซึ่งเป็นผลงานด้านเศรษฐกิจชิ้นโบแดงของ บารัค โอบามา ที่มุ่งสร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเศรษฐกิจรวมกันถึง 40% ของโลก รวมถึงจะขอเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงนาฟตาใหม่ด้วย

ผู้นำหลายชาติในเอเชียพยายามที่จะปกป้องทีพีพีเอาไว้ ขณะที่ ไมเคิล โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ก็เตือนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การถอนตัวจากทีพีพีจะเป็นความสูญเสียทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจอย่าง “ร้ายแรง” สำหรับอเมริกา

การถอนตัวจากทีพีพีเป็น 1 ใน 6 มาตรการเร่งด่วนที่ ทรัมป์ สัญญาว่าจะทำทันที โดยใช้อำนาจบริหารของประธานาธิบดีซึ่งไม่ต้องรอคำอนุมัติจากสภาคองเกรส

ในส่วนของการปกป้องตำแหน่งงานนั้น ทรัมป์จะสั่งให้กระทรวงแรงงานตรวจสอบพฤติกรรมล่วงละเมิดในโครงการออกวีซ่า “ซึ่งเอาเปรียบแรงงานอเมริกัน”

ในด้านพลังงาน ทรัมป์ให้สัญญาว่าจะส่งเสริมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงฟื้นฟูการใช้พลังงานจากถ่านหิน ซึ่งสวนทางกับจุดยืนของ โอบามา ที่สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน

ทรัมป์ยังประกาศจะ “ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่บั่นทอนการจ้างงานในอุตสาหกรรมพลังงานของอเมริกา เช่น พลังงานจากหินน้ำมันและถ่านหินสะอาด เพื่อสร้างงานอีกหลายล้านตำแหน่งที่ให้ค่าตอบแทนสูง”

ในด้านของความมั่นคง ทรัมป์จะสั่งให้กระทรวงกลาโหมและประธานเสนาธิการทหารร่วม “จัดทำแผนงานที่ครอบคลุม เพื่อป้องกันโครงสร้างพื้นฐานของอเมริกามิให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ และการโจมตีรูปแบบอื่นๆ”

ทรัมป์ยังสัญญาว่าจะผ่อนคลายกฎระเบียบของภาครัฐ โดยยึดหลักที่ว่า “เมื่อมีคนเกิดใหม่ 1 รุ่น กฎเกณฑ์เก่าๆ จะต้องหายไป 2 ข้อ”

ในแง่จริยธรรม ทรัมป์ยืนยันว่าจะเข้ามาขจัดข้อบกพร่องต่างๆ ในวอชิงตัน และแม้ทีมงานในช่วงเปลี่ยนผ่านของเขาจะประกอบด้วยล็อบบี้ยิสต์หลายคน แต่ ทรัมป์ สัญญาว่าจะออกกฎห้ามเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารผันตัวเป็นล็อบบี้ยิสต์ในช่วง 5 ปีหลังพ้นตำแหน่งในรัฐบาล

กำลังโหลดความคิดเห็น