xs
xsm
sm
md
lg

“เอเปก” ชูธงต้านลัทธิกีดกันการค้า จีนระบุหลาย ปท.สนใจ RCEP หลัง TPP ล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพหมู่บรรดาผู้นำของชาติเอเปกที่เข้าร่วมการประชุมในกรุงลิมา ประเทศเปรู เมื่อวันอาทิตย์ (20 ก.ย.) สำหรับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมครั้งนี้ ยืนอยู่แถวหลัง ที่ 3 จากขวา ติดๆ กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ
เอเจนซีส์ - บรรดาผู้นำเอเปกปิดประชุมซัมมิตในวันอาทิตย์ (20 พ.ย.) ด้วยการประกาศต่อสู้ลัทธิกีดกันการค้า ขณะที่จีนแย้มหลายประเทศแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมเขตการค้าที่แดนมังกรเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงผลักดัน หลังชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้เกิดความหวั่นเกรงกันว่าสหรัฐฯในยุคที่เขาเป็นประธานาธิบดีจะฉีกทิ้งข้อตกลงการค้าเสรีทั้งหลาย

ระหว่างการรณรงค์หาเสียง ทรัมป์ ให้สัญญาว่า จะนำสหรัฐฯ ออกจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) รวมทั้งขู่ว่า จะเรียกเก็บภาษีสูงลิ่วจากสินค้าจีนและเม็กซิโก

และการประชุมระดับผู้นำของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-20 นี้ ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู ก็ถูกครอบงำด้วยความกังวลในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ผู้นำเหล่านี้ยังคงประกาศในแถลงการณ์ปิดประชุม โดยยืนยันความมุ่งมั่นในการเปิดตลาดและต่อสู้กับการกีดกันการค้าทุกรูปแบบ

ทางด้าน ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ซึ่งเข้าร่วมซัมมิตคราวนี้ด้วย โดยถือเป็นการเดินทางต่างแดนในตำแหน่งครั้งสุดท้ายก่อนอำลาทำเนียบขาวในเดือนมกราคมปีหน้า ได้กล่าวระหว่างการแถลงข่าวปิดการประชุมเอเปก ว่า การถอนตัวจากทีพีพีจะกลายเป็นข้อผิดพลาดร้ายแรงสำหรับสหรัฐฯ เนื่องจากจะเป็นการบ่อนทำลายจุดยืนภายในภูมิภาค และความสามารถในการกำหนดกฎกติกาการค้าโลกที่สะท้อนค่านิยมและผลประโยชน์ของอเมริกา

โอบามานั้นเป็นผู้สนับสนุนเต็มที่ในการเจรจาทำข้อตกลงทีพีพีระหว่างสหรัฐฯกับอีก 11 ชาติ ทว่ากีดกันจีนออกไป ข้อตกลงนี้ได้รับการลงนามตั้งแต่ต้นปีนี้ แต่ขณะนี้โอบามายอมรับสภาพแล้วว่าไม่สามารถผลักดันรัฐสภาสหรัฐฯลงมติให้สัตยาบันได้ และต้องปล่อยให้คณะบริหารชุดต่อไปของประธานาธิบดี ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน จัดการต่อ

ในขณะที่ทีพีพีทำท่าจะแท้งเสียแล้วเช่นนี้ ทางด้านจีนก็เร่งผลักดันให้จัดทำข้อตกลงการค้าเสรีภูมิภาคอีกฉบับหนึ่ง เพื่อเป็นทางเลือกทดแทน ข้อตกลงนี้ซึ่งตอนเริ่มต้นเป็นความริเริ่มของสมาคมอาเซียนด้วยซ้ำไป มีชื่อว่า ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์ซีอีพี) จะประกอบด้วย 10 ชาติอาเซียน, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อินเดีย, ออสเตรเลีย, และ นิวซีแลนด์ แต่ไม่ครอบคลุมถึงสหรัฐฯและชาติอื่นๆ ในทวีปอเมริกา

ฐาน เจี้ยน สมาชิกอาวุโสผู้หนึ่งในคณะผู้แทนของจีน เผยว่า มีหลายประเทศต้องการเข้าร่วมในอาร์ซีอีพี ซึ่งรวมถึง 2 ชาติละตินอเมริกา อย่างเปรู และชิลี ขณะที่สมาชิกปัจจุบัน 16 ชาติ ต้องการบรรลุข้อตกลงโดยเร็วที่สุดเพื่อรับมือกระแสกีดกันการค้าที่กำลังพุ่งพล่าน

ในแถลงการณ์ปิดประชุมของผู้นำเอเปก มีข้อความระบุว่า ทั้ง ทีพีพี และ อาร์ซีอีพี ต่างเป็นช่องทางที่ดีในการก้าวไปสู่การจัดตั้ง “เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก” (เอฟทีเอเอพี) ที่จะครอบคลุมทั่วทั้งเอเชีย-แปซิฟิก และถือเป็นเป้าหมายมานานแล้วของกลุ่มเอเปกที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันคิดเป็นสัดส่วน 57% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก

“เราส่งเสริมสนับสนุนให้การรวมตัวระดับภูมิภาคทั้งหลายทั้งปวง รวมทั้ง ทีพีพี และ อาร์ซีอีพี ด้วย ยังคงลักษณะที่เปิดกว้าง, โปร่งใส และพร้อมต้อนรับทุกๆ ฝ่าย รวมทั้งขยับเข้าหากันและกัน” แถลงการณ์บอก

ระหว่างการประชุมที่ลิมาคราวนี้ ผู้นำบางชาติเสนอให้เดินหน้าทีพีพีต่อ โดยไม่ต้องมีอเมริกา ทว่า ชาติอื่นๆ ทักท้วงว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ต้องมีการเจรจาใหม่ทั้งหมด

สำหรับนายกรัฐมนตรี จอห์น คีย์ ของนิวซีแลนด์ เสนอแนะให้มีการปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ทรัมป์หันมายอมรับทีพีพีโดยไม่เสียหน้า

ด้าน โอบามา บอกว่า เขาได้ยินเสียงเรียกร้องให้ลดระดับข้อตกลงการค้าเสรีให้ต่ำลงมาจากทีพีพี ด้วยการลดการปกป้องมาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อม ทว่า ข้อตกลงดังกล่าวเท่ากับเป็นการตัดแรงงานและธุรกิจของอเมริกาออก ทั้งนี้ เห็นได้ชัดว่า เขากำลังพูดพาดพิงถึงข้อตกลงอาร์ซีอีพี ซึ่งจีนเร่งผลักดัน

อย่างไรก็ตาม เจี้ยน เตือนว่า ข้อตกลงการค้าต้องปลอดจากเกมการเมือง รวมทั้งต้องไม่สร้างขึ้นสำหรับประเทศมั่งคั่งเท่านั้น เพราะหากกำหนดมาตรฐานสูงเกินไป ประเทศกำลังพัฒนาจะมีปัญหาในการเข้าร่วม

ประธานาธิบดี เปโดร ปาโบล คูซินสกี ของเปรู ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญของข้อตกลงการค้าเสรีในเอเชียและทั่วโลก คือ ความรู้สึกไม่พอใจของผู้ที่ถูกโลกาภิวัตน์ทิ้งไว้เบื้องหลัง

คูซินสกี เสริมว่า การที่คนอังกฤษลงประชามติถอนตัวจากสหภาพยุโรป (อียู) และชัยชนะของทรัมป์ตอกย้ำการสะท้อนกลับอย่างรุนแรงต่อโลกาภิวัตน์ในทั้งสองประเทศ ที่เป็นภูมิภาคอุตสาหกรรมสำคัญในอดีต ซึ่งตรงข้ามกับการสนับสนุนการค้าในประเทศเกษตรกรรม ที่มั่งคั่งกว่า และในประเทศกำลังพัฒนาในขณะนี้

แถลงการณ์ของผู้นำเอเปกตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้มีความเคลือบแคลงต่อการค้ามากขึ้น ท่ามกลางการฟื้นตัวอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ภายหลังจากวิกฤตภาคการเงิน ดังนั้น จึงควรสื่อสารให้ถึงสาธารณชนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในเรื่องผลประโยชน์จากการค้าและการเปิดตลาด รวมทั้งเน้นย้ำว่า การค้าช่วยส่งเสริมนวัตกรรม การจ้างงาน และการยกระดับมาตรฐานการครองชีพ


กำลังโหลดความคิดเห็น