xs
xsm
sm
md
lg

ผู้เชี่ยวชาญ UN รับคำท้า “ดูเตอร์เต” เข้าตรวจสอบการล่าสังหารอาชญากร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี - อันเยส คัลลามาร์ด ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตรียมเดินทางเยือนฟิลิปปินส์เพื่อตรวจสอบนโยบายสงครามกวาดล้างอาชญากรรมของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต แต่ขอให้ทางการมะนิลารับรองความปลอดภัยแก่แหล่งข่าวที่จะพูดคุยกับตนด้วย

สัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีดูเตอร์เตประกาศว่าจะยอมให้ผู้เชี่ยวชาญจากยูเอ็นและสหภาพยุโรปเดินทางเข้าไปตรวจสอบการสังหารอาชญากรราว 3,000 คนที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ตนเข้ารับตำแหน่งผู้นำฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. และยังท้าให้เจ้าหน้าที่ต่างชาติมาอภิปรายกับตนบนเวทีสาธารณะด้วย

แม้รัฐบาลมะนิลาจะยังไม่ได้ออกเทียบเชิญอย่างเป็นทางการ แต่ คัลลามาร์ด ผู้ตรวจสอบยูเอ็นว่าด้วยการวิสามัญฆาตกรรม การสังหารหมู่ และการสังหารตามอำเภอใจ ระบุว่าเธอจะขอรับคำเชื้อเชิญนี้

“ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้ทราบจากสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ประธานาธิบดีและรัฐบาลฟิลิปปินส์จะเชิญคณะทำงานยูเอ็นเข้าไปตรวจสอบการกระทำวิสามัญฆาตกรรม” คัลลามาร์ดระบุในคำแถลงที่ส่งถึงสำนักข่าวเอเอฟพี

คัลลามาร์ดยังเรียกร้องให้รัฐบาลมะนิลารับรองว่าบุคคลที่ให้ข้อมูลกับเธอจะไม่ถูกลงโทษ

“เราจะเจรจากับรัฐบาลเรื่องระยะเวลา และขอบเขตในการทำงานของคณะสืบสวนหาความจริง รวมไปถึงมาตรการรับรองต่างๆ ที่จำเป็นต้องมี”

มาตรการที่ว่านี้ยังรวมถึงการที่เธอ “จะต้องสามารถเดินทางไปสอบถามข้อมูลจากแหล่งข่าวได้อย่างเสรี และบุคคลที่ให้ความร่วมมือกับดิฉันจะต้องไม่ถูกแก้แค้น ไม่ว่าจะโดยการข่มขู่ รังควาน หรือลงโทษ” คัลลามาร์ดระบุ

สถิติล่าสุดจากตำรวจระบุว่า มีผู้ถูกสังหารไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3,300 คนนับตั้งแต่ ดูเตอร์เต เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ

อดีตนายกเทศมนตรีเมืองดาเวาผู้นี้ชนะศึกเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือน พ.ค. ด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะสังหารอาชญากรให้ได้ถึง 100,000 คน และจะทำให้แดนตากาล็อกปลอดจากยาเสพติดให้ได้ภายใน 6 เดือน

ดูเตอร์เต เรียกร้องให้ทั้งตำรวจและพลเรือนช่วยกันปลิดชีพผู้ค้าและผู้เสพยาเสพติด และรับรองว่าจะปกป้องเจ้าหน้าที่ความมั่นคงจากการถูกดำเนินคดี แต่ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่า ไม่เคยสนับสนุนให้คนทำผิดกฎหมาย

ตำรวจฟิลิปปินส์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้วิสามัญฯ ผู้ต้องสงสัยค้ายาเสพติดไปเพียง 1,000 คนเศษ โดยทำไปเพื่อป้องกันตนเอง ส่วนอีกราว 2,000 คนที่ตายนั้นเป็นเหยื่อของการ “ฆ่าตัดตอน” ภายในแก๊งอาชญากร

อย่างไรก็ดี นักสิทธิมนุษยชนชี้ว่าการที่ตำรวจสังหารผู้ต้องสงสัยโดยไม่ไต่สวนความผิดก่อน และยังใช้มือปืนรับจ้าง ทำให้คนบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดต้องพลอยถูกฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม

ยุทธศาสตร์ปราบปรามยาเสพติดที่สุดโต่งของดูเตอร์เต เรียกเสียงประณามจากทั้งสหรัฐฯ รัฐสภายุโรป รวมถึงองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้ระบบศาลเตี้ย

ดูเตอร์เตยืนยันว่า รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เด็ดขาดเพื่อไม่ให้ฟิลิปปินส์ต้องกลายเป็น “รัฐยาเสพติด” (narco-state)

ผู้นำฟิลิปปินส์รายนี้มักใช้วาจาหยาบคายก้าวร้าวต่อผู้ที่ต่อต้านตน เช่น การด่าประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ว่า “ลูกกะหรี่” และแม้แต่เลขาธิการสหประชาติ บัน คีมูน ก็ยังถูกดูหมิ่นว่า “โง่เขลา”

กำลังโหลดความคิดเห็น