xs
xsm
sm
md
lg

In Clips : อดีตนายกฯ โคอิซูมิ เรียกอาเบะ “จอมโกหก” ลวงคนทั่วโลกวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ สุดช็อก! 5 ปีผ่านไป “เรือรบสหรัฐฯ 16 ลำ” ยังมีสารนิวเคลียร์ตกค้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จุนอิชิโร โคะอิซูมิ ออกมาประกาศเรียกนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน ชินโซ อาเบะ เป็นจอมโกหก พร้อมชี้อาเบะประกาศไปทั่วโลก ทำให้คนหลงเชื่อว่ารัฐบาลญี่ปุ่นของเขาควบคุมสถานการณ์วิกฤตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะไว้ในกำมือแล้ว สอดคล้องกับการรายงานของสื่อความมั่นคงสหรัฐฯ สตาร์แอนด์สตริปก่อนหน้านี้ที่ชี้ว่า เรือรบกองทัพเรือสหรัฐฯ 16 ลำจากทั้งหมด 25 ลำที่ถูกส่งไปช่วยญี่ปุ่นในวิกฤตสึนามิและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เทปโก้ยังคงพบสารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อนหลงเหลืออยู่บนเรือในช่วงต้นปีนี้ ถึงแม้จะผ่านการขัดล้างทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็ตาม

หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้ (7 ก.ย.) ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำแดนอาทิตย์อุทัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2001-2006 ได้กลายเป็นผู้นำต่อต้านการเปิดเครื่องเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่นอีกครั้งของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่นจากพรรคการเมืองเดียวกัน พรรค LDP หลังจากเขาได้ประกาศวางมือทางการเมือง

โดยในเดือนกันยายนปี 2013 อาเบะได้ประกาศกลางที่ประชุมคณะกรรมการโอลิมปิกสากล IOC ซึ่งถูกจัดขึ้นในกรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา ว่าสถานการณ์วิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะนั้นอยู่ภายใต้การควบคุม ไม่นานก่อนที่กรุงโตเกียวจะถูกประกาศได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกปี 2020

ทั้งนี้ เดอะการ์เดียนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ IOC ต่างรู้สึกกังวลใจต่อรายงานที่บ่งชี้ถึงการเพิ่มปริมาณของน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีจำนวนมากในบริเวณโรงงานไฟฟ้าของบริษัทเทปโก้

โดยในการให้สัมภาษณ์ของโคอิซูมิต่อผู้สื่อข่าวในกรุงโตเกียวในวันพุธ (7 ก.ย.) เขากล่าวถึงอาเบะที่เคยถูกมองว่าเป็นทายาททางการเมืองของโคอิซูมิว่า “เมื่ออาเบะได้ให้ข้อมูลว่าสถานการณ์ควบคุมได้แล้ว เขาโกหก” โคอิซูมิกล่าว และเสริมต่อว่า “ในความเป็นจริงแล้ว มันไม่สามารถควบคุมได้”

และอดีตผู้นำญี่ปุ่นกล่าวต่อว่า “พวกเขามักจะกล่าวเสมอว่า สามารถควบคุมได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วคนเหล่านี้ไม่สามารถควบคุมอะไรได้” ทั้งนี้ โคอิซูมิได้กล่าวต่อโดยอ้างว่านายกรัฐมนตรีอาเบะถูกปั่นหัวโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ได้ประกาศอ้าง “นิวเคลียร์เป็นสิ่งปลอดภัยที่สุด สะอาดที่สุด และถูกที่สุดสำหรับญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ขาดแหล่งทรัพยากรธรรมชาติด้านพลังงาน ”

ทั้งนี้ อดีตนายกโคอิซูมิยืนยันว่า “อาเบะเชื่อในสิ่งที่เขาได้รับทราบจากผู้เชี่ยวชาญทางนิวเคลียร์” และกล่าวยอมรับว่า “ผมเองก็เชื่อพวกเขาด้วยเช่นกันในระหว่างที่ผมยังคงดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งผมคิดว่าอาเบะเข้าใจได้ปรุโปร่งถึงข้อถกเถียงที่ออกมาจากทั้งสองฝั่ง แต่เขาเลือกที่จะเชื่อในฝั่งล็อบบี้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์”

หลังจากเกิดวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ โคอิซูมิได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เขาได้ศึกษากระบวนการ สถานการณ์จริง และประวัติศาสตร์ของพลังงานนิวเคลียร์ และรู้สึกละอายใจที่ได้เคยหลงเชื่อคำโกหกพวกนั้น”

สื่ออังกฤษชี้ต่อว่า อาเบะได้ทำให้มีการเปิดใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์อีกครั้ง ในขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นของเขาชี้ว่า ต้องการให้พลังงานนิวเคลียร์เป็นแหล่งจ่ายพลังงานให้แก่ 1 ใน 5 ของพลังงานที่ญี่ปุ่นใช้ทั้งหมดภายในปี 2030

ทั้งนี้พบว่ามีเพียงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แค่ 3 แห่งจากจำนวนทั้งหมดหลายสิบแห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงเปิดใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และ 2 แห่งจะต้องถูกปิดลงภายในปีนี้เพื่อการซ่อมบำรุง

สื่อการ์เดียนชี้ว่า ถึงแม้โคอิซูมิจะขัดแย้งกับอาเบะในปัญหานิวเคลียร์ แต่เขาได้กล่าวชื่นชมการทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะในฐานะผู้นำญี่ปุ่นในสมัยที่ 2

นอกจากนี้ โคอิซูมิ วัย 74 ปียังเป็นหนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนต่อจำนวนทหารเรือและทหารนาวิกโยธินสหรัฐฯนับหลายร้อยรายที่ได้ออกมาประกาศว่า พวกเขาป่วยด้วยโรคลูคิเมีย และโรคร้ายแรงอื่นๆ หลังจากได้เข้ามาปฏิบัติงานกู้ภัยในช่วงวิกฤตฟูกุชิมะในปฏิบัติการโทโมดาชิ

และในปี 2012 นายทหารสหรัฐฯ เหล่านี้ได้ยื่นฟ้องต่อบริษัทเทปโก้ในความล้มเหลวที่ไม่สามารถป้องกัน และการกล่าวคำโกหกถึงระดับรังสีนิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทำให้เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เหล่านี้เสี่ยงภัยถึงชีวิต โดยพบว่าบรรดาโจทก์ส่วนมากที่ยื่นฟ้องในจำนวนทั้งหมด 400 คนอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Reagan ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ชี้ว่า ทหารเรือสหรัฐฯ เหล่านี้ได้รับปริมาณรังสีนิวเคลียร์น้อย ซึ่งเป็นโดสที่ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต ในขณะที่รายงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ที่ได้เผยแพร่รายงานในปี 2014 กลับอ้างโดยระบุว่า ไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาด้านสุขภาพของเหล่าเจ้าหน้าที่ทหารเรือสหรัฐฯ และการสัมผัสกับปริมาณรังสีนิวเคลียร์ระดับต่ำของโรงงงานไฟฟ้าฟูกุชิมะ

อดีตนายกรัฐมนตรีโคอิซูมิที่ได้เข้าเยี่ยมผู้ประสบภัยฟูกุชิมะ อดีตเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วางแผนที่จะระดมทุนให้ได้ถึง 1 ล้านดอลลาร์ภายในเดือนมีนาคมปีหน้า เพื่อช่วยในค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลของทหารสหรัฐฯ เหล่านี้

โดยอิซูมิกล่าวเปิดใจว่า “ผมรู้สึกว่าผมต้องช่วยทหารสหรัฐฯที่มีความกล้าหาญในการเข้าช่วยเหลือญี่ปุ่นในขณะเกิดภัยร้ายแรง” และกล่าวต่อว่า “ถึงแม้ว่าเงินจำนวนนี้จะไม่มากนัก แต่สิ่งนี้เป็นการแสดงถึงน้ำใจที่ญี่ปุ่นมอบให้สำหรับผู้ที่เคยช่วยเหลือเรา”

ทั้งนี้ มีรายงานจากสื่อการทหารและความมั่นคงสหรัฐฯ สตาร์แอนด์สตริป ในเดือนมีนาคมต้นปีนี้ว่า เรือรบสหรัฐฯ 16 ลำจากทั้งหมด 25 ลำที่ถูกส่งไปในปฎิบัติการโทโมดาชินั้นยังคง “ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีนิวเคลียร์มาจนถึงทุกวันนี้”

โดยจากการให้ข้อมูลของกองทัพเรือสหรัฐฯ ต่อสื่อ สตาร์แอนด์สตริป ทางกองทัพเรือสหรัฐฯได้เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปีที่เกิดวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ทางกองทัพสหรัฐฯ ได้พยายามส่งเรือรบเหล่านี้ไปทำความสะอาดอย่างสุดความสามารถ แต่อย่างไรก็ตามทางกองทัพเรือสหรัฐฯ พบว่า เรือรบของกองทัพจำนวน 13 ลำ และเรือหน่วยบัญชาการลำเลียงทางทะเลทหาร (MILITARY SEALIFT COMMAND) อีก 3 ลำยังมีการพบการปนเปื้อนอยู่ ซึ่งพบในส่วนระบบระบายอากาศ ระบบเครื่องยนต์และขับเคลื่อนหลัก

อย่างไรก็ตาม กองทัพเรือสหรัฐฯ กล่าวผ่านแถลงการณ์ว่า “ระดับกัมมันตภาพรังสีต่ำที่ถูกพบนั้นยังคงอยู่ในส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ตามปกติ ซึ่งเป็นส่วนพื้นที่ซึ่งถูกควบคุมอย่างเข้มงวดตามกระบวนการ” และยังกล่าวต่อว่า “การทำงานที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้อยู่ในส่วนของการซ่อมบำรุงใหญ่เท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการต้องทำตามข้อระวังความปลอดภัยอย่างเข้มงวด”

ด้าน พล.ร.ท.วิลเลียม ฮิลาไรด์ส (William Hilarides) ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการระบบปฏิบัติการทางทะเล (Naval Sea Systems Command) ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ โดยย้ำกับสตาร์แอนด์สตริปว่า “การพบระดับการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีระดับต่ำบนเรือรบที่ใช้ในปฏิบัติการกู้ภัยฟูกุชิมะ ปฏิบัติการโทโมดาชินั้นไม่ทำให้เกิดความกังวลในปัญหาสุขภาพต่อลูกเรือ ครอบครัวของเจ้าหน้าที่ทหารเหล่านั้น และเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุง”

ทั้งนี้ เรือรบบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Reagan ได้ถูกส่งกลับไปประจำการในญี่ปุ่นอีกครั้งในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการกลับมาประจำการในญี่ปุ่นอีกครั้งหลังจากได้ถูกส่งมาร่วมปฏิบัติการโทโมดาชิในปี 2011 จากการรายงานของสำนักข่าวญี่ปุ่นเกียวโดในขณะนั้น
ภาพความเสียหายทางอากาศของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เทปโก้ในเดือนมีนาคม 2011 ภาพรอยเตอร์
ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในเดือนมีนาคม 2011 ในปฎิบัติการโทโมดาชิ ภาพจากกองทัพเรือสหรัฐฯผ่านการรายงานของสื่อสตาร์แอนด์สตริปในเดือนมีนาคม 2016
ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของทหารสหรัฐฯในเดือนมีนาคม 2011 ในปฎิบัติการโทโมดาชิ ภาพจากกองทัพเรือสหรัฐฯผ่านการรายงานของสื่อสตาร์แอนด์สตริปในเดือนมีนาคม 2016
ทหารเรือสหรัฐฯกำลังทำความสะอาดดาดฟ้าของเรือรบบรรทุกเครื่องบิน USS Ronald Reagan ในมาตรการรับมือหลังปฎิบัติการกู้ภัยสึนามิและวิกฤตโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ญี่ปุ่น ภาพจากกองทัพเรือสหรัฐฯผ่านการรายงานของสื่อสตาร์แอนด์สตริปในเดือนมีนาคม 2016






กำลังโหลดความคิดเห็น