เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – อังกฤษกำลังจะกลายเป็นชาติที่ 3 ในโลกถัดจากสิงคโปร์และมาเลเซีย อนุญาตนำเข้าข้าวฟูกุชิมะ ผลผลิตภายในเขตที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตนิวเคลียร์โรงงานไฟฟ้าเทปโก้ ถือเป็นครั้งแรกที่จะเปิดจำหน่ายข้าวฟูกุชิมะ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนาม “เทน โน ซึบู” (Ten no Tsubu) มีความหมายว่า “ข้าวจากสวรรค์” ในแดนผู้ดีนับตั้งแต่ปี 2011 แต่สินค้าเกษตรจำนวนมากจากฟูกุชิมะที่ถึงแม้จะอยู่ในรูป “ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก” หรือผักปลอดสารพิษ กลับยังคงไม่ได้รับการไว้วางใจจากบรรดาผู้บริโภคญี่ปุ่นภายในตลาดประเทศตัวเอง
เดลีเทเลกราฟ สื่ออังกฤษ รายงานเมื่อวานนี้(20 มิ.ย)ว่า ในเดือนหน้าที่จะถึงนี้ข้าวที่ผลิตได้จากนารอบๆเขตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะซึ่งยังคงมีปัญหาการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล จะสามารถกลับมาขายในอังกฤษได้อีกครั้งนับตั้งแต่เกิดวิกฤตสึนามิ และเหตุเพลิงไหม้ของโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ของบริษัทโตเกียวอิเล็กทริก หรือ เทปโกในปี 2011 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 16,000 คน
สื่ออังกฤษรายงานต่อว่า ข้าวฟูกุชิมะที่รู้จักในนามของ “เทน โน ซึบู” (Ten no Tsubu) มีความหมายว่า “ข้าวจากสวรรค์” จะถูกนำเข้าล็อตแรกจำนวน 1.9 ตันโดยกลุ่มหอการค้าการเกษตรญี่ปุ่นที่เรียกว่า NFACA
ทั้งนี้ข้าวฟูกุชิมะนั้นถูกพัฒนาจนมีชื่อเสียงไปทั่วจนได้ฉายาว่า ข้าวจากสวรรค์ หลังจากที่กลุ่มเกษตรกรฟูกุชิมะใช้เวลาถึง 15 ปีเต็มในการปรับปรุงสายพันธุ์ ซึ่งพบว่าความพิเศษของเทน โน ซึบูอยู่ที่กลิ่น ที่จะมีกลิ่นหอมพิเศษเป็นเอกลักษณ์ในขณะที่ข้าวเทน โน ซึบูกำลังหุงอยู่ในหม้อ
เดลีเทเลกราฟรายงานต่อว่า ล็อตข้าวฟูกุชิมะที่จะนำเข้าสู่อังกฤษถูกส่งมาโดยบริษัทนำเข้าสัญชาติอังกฤษ ทีเคย์ เทรดดิง (TK Trading) และทำการกระจายสินค้าไปยังซูปเปอร์มาร์เกต และห้างขายส่งทั่วกรุงลอนดอน รวมไปถึง Tokimeite ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นระดับ 5 ดาวบนถนนบอนด์สตรีท ซึ่งเป้าหมายการส่งออกข้าวฟูกุชิมะนี้เพื่อพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการเกษตรในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากกวิกฤต 2011 และเป็นความพยายามของรัฐบาลญี่ปุ่นและกลุ่มหอการค้าเกษตรญี่ปุ่น NFACA ที่ต้องการประชาสัมพันธ์ถึง “อาหารปลอดภัย” จากเขตฟูกุชิมะ เซอิจิ นิอิซูมะ (Seiichi Niizuma) ผู้จัดการใหญ่ของ NFACA หรือที่รู้จักในญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ เซนโนห์ (Zen-Noh) ให้ความเห็นกับเดลีเทเลกราฟ
“ทางเราไม่ต้องการเพียงแค่ขยายการส่งออกข้าวญี่ปุ่นไปยังอังกฤษเท่านั้น แต่ยังไปทั่วโลก ด้วยการที่ให้อังกฤษเป็นชาติที่มีโอกาสลิ้มรสข้าวจากญี่ปุ่น” ผู้จัดการใหญ่ของ NFACA กล่าว
อย่างไรก็ตาม สื่ออังกฤษชี้ว่า ถึงแม้ทางสหภาพยุโรปจะเริ่มคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อสินค้าที่ผลิตในเขตปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีนิวเคลียร์ของแดนอาทิตย์อุทัย เป็นต้นว่า ผลไม้บางชนิดจากฟูกุชิมะได้รับอนุญาตให้สามารถนำเข้าสู่สหภาพยุโรปได้นับตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นมา แต่ทว่าฟูกุชิมะยังคงมีปัญหาอย่างหนักกับภาพลักษณ์ด้านลบในสายตาชาวโลกถึงวิกฤตนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้น
ซึ่งปัญหาการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีภายในเขตฟูกุชิมะยังคงเป็นสิ่งที่ยังต้องให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าในเดือนมีนาคมล่าสุด เดลีเทเลกราฟ รายงานถึงปัญหาของน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีของโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขโดยสมบูรณ์ ซึ่งพบว่าทางเทปโก้ยอมรับว่า ***จำเป็นต้องปล่อยน้ำปนเปื้อนออกสู่ภายนอกโรงงานต่อไปอีกถึง 4 ปีข้างหน้า**** ซึ่งในครั้งนั้นเดลีเทเลกราฟ สื่ออังกฤษชี้ว่า ไม่คิดว่าทางเทปโก้จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ภายในปี 2020 อย่างที่ทางเทปโก้ได้คาดการณ์ไว้
และการปนเปื้อนของสารกัมมันสภาพรังสีที่ตกค้างตามธรรมชาติยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและกลายพันธุ์เกิดขึ้น โดยจากการรายงานของสื่อรัสเซีย RT ในเดือนเมษายนล่าสุด พบการกลายพันธุ์ของหมูป่าฟูกุชิมะที่ใช้โซนกักกันกัมมันตภาพรังสีเป็นที่แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และการกลายพันธุ์ยังส่งผลไปยังพืชต่างๆเป็นต้นว่า ดอกเดซี่ที่มีลักษณะผิดแผกจากเดซีทั่วไปเนื่องมาจากได้รับสารกัมมันตภาพรังสีตกค้างในปริมาณสูง
อย่างไรก็ตามเดลีเทเลกราฟชี้ว่า ความสำเร็จที่ทำให้ข้าวฟูกุชิมะถีง 1.9 ตันเดินมามาสู่ซูปเปอร์มาร์เก็ตทั่วกรุงลอนดอนสำเร็จเกิดจากฝีมือของโยชิโอะ มิตซูยามะ ( Yoshio Mitsuyama) ชาวกรุงลอนดอนที่ได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมเมืองฟูกุชิมะ (Fukushima Prefectural Association ) ให้เป็นทูตฟูกุชิมะประจำกรุงลอนดอน ซึ่งข้อมูลจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำอังกฤษพบว่า ชายผู้นี้เป็นชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาพำนักในกรุงลอนดอนตั้งแต่ปี 1973 และเป็นผู้ที่มีความสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองชาติ โดยในวันที่ 11 มีนาคม 2015 มิตซูยามะได้รับรางวัลจากทางสถานทูตญี่ปุ่น
สื่ออังกฤษชี้ต่อว่า มีรายงานว่า มิตซูยามะได้ร่วมมือกับ NFACA ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเพื่อผลักดันให้ผลผลิตทางการเกษตรของญี่ปุ่นสามารถได้รับใบอนุญาตเข้ามาจำหน่ายในยุโรปได้ โดยพบว่าความสำเร็จของทูตฟูกุชิมะในเบื้องต้นรวมไปถึง สามารถทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของฟูกุชิมะเข้ามาจำหน่ายเป็นตัวอย่างได้ เช่น พีช แอปเปิล และข้าว ภายในงานเทศกาลประจำปีของญี่ปุ่น มัตซึริ เฟสติวัล (Matsuri festival) ที่ถูกจัดขึ้นบริเวณจตุรัส ทราฟัลการ์ (Trafalgar Square)
โดยมิตซูยามะเปิดใจว่า “แต่การนำเข้าสินค้าข้าวญี่ปุ่นเพื่อการค้าในยุโรปอย่างเป็นทางการเดือนหน้า จะเป็นเสมือนย่างก้าวที่สำคัญของชาวนาฟูกุชิมะต่อการมีชีวิตรอดในอุตสาหกรรมการเกษตรของพวกเขา” และทูตฟูกุชิมะกล่าวต่อว่า “สินค้าการเกษตรจากฟูกุชิมะ ซึ่งรวมไปถึงข้าว จะถือเป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการได้รับอนุญาตจากยุโรปในฐานะอาหารที่ปลอดภัย เพื่อนำเข้ามาจำหน่ายในกรุงลอนดอนในเดือนหน้า”
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหากัมมันตภาพรังสีตกค้างในพืชผักของฟูกุชิมะยังคงถูกพบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางหน่วยงานการเกษตรฟูกุชิมะ รัฐบาลญี่ปุ่น และภาคส่งเสริมการเกษตรฟูกุชิมะต้องต่อสู้ต่อความกลัวสารกัมมันตภาพรังสีนิวเคลียร์ตกค้างที่อาจส่งผล และมีความเชื่อมโยงต่อการป่วยด้วยโรคมะเร็ง โดยจากการรายงานของสื่อญี่ปุ่น เจแปนไทม์ในวันที่ 11มีนาคม 2016 พบว่า อาหารที่ผลิตได้ในเขตภัยพิบัตินิวเคลียร์ยังคงเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวญี่ปุ่นตั้งข้อสังเกต หรือหวาดกลัว ซึ่งสื่อญี่ปุ่นชี้ว่า แม้ว่าผลิตผลทางการเกษตรจะถูกจัดว่าเป็นพืชผักออร์แกนิก หรือผักผลไม้ปลอดสารพิษ แต่เพราะถูกผลิตในเขตฟูกุชิมะ ทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นรู้สึกหวาดกลัว
ทั้งนี้พืชผักและสินค้าทางการเกษตรที่ผลิตได้ในเขตฟูกุชิมะ และถูกนำมาจัดจำหน่ายในร้านค้าญี่ปุ่น จะต้องติดป้ายแจกแจงระดับการปนเปื้อนของสารตกค้างกัมมันตภาพรังสีให้ผู้บริโภคได้รับทราบก่อนการตัดสินใจนำกลับไปปรุงอาหารค่ำที่บ้าน
ตัวอย่างเช่น ผักที่ถูกจำหน่ายภายใน ออร์แกนโด (Orgando) ภัตตาคารและซูปเปอร์มาร์เก็ตชุมชนขนาดย่อมใจกลางกรุงโตเกียวที่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจากฟูกุชิมะ ได้รับการปิดป้ายข้อมูลระดับการตกค้างของรังสีไอโซโทปที่พบในผักชนิดนั้น ซึ่งจากการรายงานของสื่อญี่ปุ่นในสินค้าที่ถูกจำหน่ายในออร์แกนโดในวันที่ 11 มีนาคม 2016 พบว่า ล็อตสินค้าประจำสัปดาห์ เช่น สตรอเบอร์รี แครอต และหัวไชเท้า ไม่พบสารซีเซียม (cesium) ตกค้าง แต่ถั่วยังพบมีสารกัมมันตภาพรังสีตกค้างปนอยู่ในระดับ 6 becquerels/kg เป็นต้น
โดยกลุ่มเอ็นจีโอในญี่ปุ่นที่ต้องการผลักดันให้พืชผักทางการเกษตรในเขตภัยพิบัติสามารถหวนกลับคืนสู่ตลาดอีกครั้ง ชี้ว่า ทางรอดของเกษตรกรฟูกุชิมะอยู่ที่ “เกษตรกรแบบอินทรีย์” หรือ ออร์แกนิกฟาร์ม แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มเอ็นจีโอยอมรับว่า ยังเป็นการยาก เพราะชาวญี่ปุ่นทั่วไปยังกลัวต่ออาหารปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจากเขตฟูกุชิมะ “คนทั่วไปเข้าใจผิดว่าทุกสิ่งจากฟูกุชิมะเป็นอันตราย” โนริโอะ ฮอนดา (Norio Honda) จากฟูกุชิมะ และเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ต้องการพลิกฟื้นการเกษตรฟูกุชิมะได้กล่าวในงานสัมนาทางรอดฟูกุชิมะในกรุงโตเกียวในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ซึ่งพบว่า มีกลุ่มเอ็นจีโอต่างชาติร่วมด้วย เป็นต้นว่า กลุ่มอ็อกซ์แฟม ญี่ปุ่น