xs
xsm
sm
md
lg

ยูเครนจัดพิธีรำลึกครบรอบ 30 ปี มหันตภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - ยูเครนจัดงานพิธีรำลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี หายนะจากโรงงานนิวเคลียร์เชอร์โนบิล ที่ทำให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้างในยุโรปตะวันออก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องที่โซเวียตปิดบังไว้

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงรุ่งสางของวันที่ 24 เมษายน 1986 การดำเนินงานทดสอบอันหละหลวมที่โรงงานนิวเคลียร์แห่งหนึ่งใน “โซเวียตยูเครน” (ชื่อในตอนนั้น) ได้ทำให้เกิดการหลอมละลายและระเบิด พ่นขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ผู้คนจำนวนมากต้องทิ้งบ้านเรือนเพื่ออพยพหนี

ที่ผ่านมา มีการจัดงานหลายครั้งเพื่อไว้อาลัยและรำลึกถึงโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นครั้งนั้น ซึ่งยังคงเป็นอุบัติเหตุจากนิวเคลียร์ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

พิธีรำลึกครั้งล่าสุดนี้ ถูกจัดขึ้นที่เมืองสลาวูทิช ซึ่งถูกสร้างให้เป็นที่อยู่อาศัยอีกครั้งแก่แรงงานผู้เคยใช้ชีวิตอยู่ใกล้โรงงานนิวเคลียร์ อีกทั้งยังมีพิธีที่โบสถ์แห่งหนึ่งในกรุงเคียฟ สำหรับครอบครัวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ ส่วนประธานาธิบดี เปโตร โปโรเชนโก ก็จะไปร่วมพิธีในบริเวณใกล้กับพื้นที่เกิดเหตุ

ในคืนก่อนวันครบรอบ ผู้รอดชีวิตบางรายได้หวนหลับไปยัง “พริเพียต” เมืองที่เป็นบ้านเกิดของพวกเขา

“ฉันเพิ่งจะได้พบอพาร์ตเมนต์ของฉัน มันกลายเป็นป่าไปแล้วในตอนนี้ มีต้นไม้อยู่ตามทางเดิน บนหลังคา ทุกห้องล้วนว่างเปล่า หน้าต่างไม่มีกระจก ทุกอย่างถูกทำลายหมดแล้ว” โซยา เปเรวอซเชนโก ผู้รอดชีวิตวัย 66 ปี กล่าว

พิธีรำลึกนี้เกิดขึ้นในช่วงขั้นตอนสุดท้ายของการปิดผนึกพื้นที่เกิดเหตุด้วยเหล็กทรงโค้งกลมขนาดใหญ่ ซึ่งมีมูลค่าราว 1.5 พันล้านยูโร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลสำหรับในอีก 100 ปีข้างหน้า

โครงการปิดผนึกพื้นที่แห่งนี้ ได้รับเงินทุนจากการบริจาคของรัฐบาลกว่า 40 ประเทศ โดยทางนายกรัฐมนตรียูเครน “โวโลดิเมียร์ กรอยส์มัน” ระบุว่า บทเรียนที่ได้รับมาจากเชอร์โนบิลเป็นสิ่งที่ทั้งโลกควรใส่ใจ

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก มีพลเรือนและบุคลากรทางทหารรวมกว่าครึ่งล้านคน ที่เรียกว่า “ผู้เก็บกวาดสะสาง” ถูกเกณฑ์มาจากทั่วอดีตสหภาพโซเวียต เพื่อมาทำความสะอาดและเก็บซากนิวเคลียร์เหล่านั้น

คนงานในโรงงานนิวเคลียร์และพนักงานดับเพลิงรวม 31 ราย เสียชีวิตทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่ตายเพราะได้รับกัมมันตภาพรังสีขั้นรุนแรง

ตลอดช่วงเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา มีผู้คนหลายพันรายที่เสียชีวิตจากอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับกัมมันตภาพรังสี อาทิ โรคมะเร็ง แต่ถึงกระนั้นจำนวนการเสียชีวิตโดยรวมและผลกระทบด้านสาธารณสุขในระยะยาว ยังคงเป็นหัวข้อที่มีการถกเถียงกันอย่างมาก

นิโคไล เชิร์นยาฟสกี ผู้มีอายุ 65 ปี เคยทำงานที่เชอร์โนบิลและในเวลาต่อมาเขายังอาสาเป็น “ผู้เก็บกวาดสะสาง” ได้รื้อฟื้นความหลังเมื่อตอนที่ปีนขึ้นไปบนหลังคาที่พักเพื่อมองไปยังโรงงานหลังเกิดอุบัติเหตุ

“ลูกชายผมพูดว่า ป๊ะป๋า ป๊ะป๋า ผมอยากดูด้วย ตอนนี้เขาต้องสวมแว่นแล้ว ผมรู้สึกว่ามันเป็นความผิดของผมที่ยอมปล่อยให้เขาดูตอนนั้น” เชิร์นยาฟสกี กล่าว

แม้จะมีสิ่งปลูกสร้างใหม่ แต่บริเวณโดยรอบของเขตพื้นที่เฉพาะ ที่มีอาณาเขต 2,600 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกลายเป็นป่าและพื้นที่ลุ่มมีแอ่งน้ำ แถวชายแดนยูเครน - เบลารุส ก็ยังคงอาศัยไม่ได้ ทั้งยังเป็นเขตหวงห้ามสำหรับผู้มาเยือนที่ไม่ได้รับอนุญาต

หายนะที่เกิดขึ้นครั้งนั้น กับการตอบสนองของรัฐบาล แสดงให้เห็นถึงความบกพร่องของโซเวียต ด้วยระบบราชการที่ขาดความรับผิดชอบ รวมถึงการยึดมั่นในวัฒนธรรมเรื่องการปิดบังเรื่องราวต่าง ๆ ไว้เป็นความลับ ยกตัวอย่างเช่น คำสั่งอพยพที่กว่าจะออกมาได้ก็ใช้เวลาถึง 36 ชั่วโมง หลังเกิดอุบัติเหตุ

อดีตผู้นำโซเวียต “มิคาอิล กอร์บาชอฟ” เคยระบุว่า เขามองเชอร์โนบิลเป็นหนึ่งในตะปูตัวสำคัญที่ตอกปิดฝาโลงสหภาพโซเวียต ซึ่งในท้ายที่สุดก็ล่มสลายในปี 1991


กำลังโหลดความคิดเห็น