xs
xsm
sm
md
lg

ศาลมะกันขีดเส้นตายกระทรวงต่างประเทศ สั่งเผยอีเมล“คลินตัน”เพิ่มเติม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ – ผู้พิพากษาขีดเส้นตายวันที่ 23 กันยายน ให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กำหนดเวลาในการนำอีเมลและไฟล์แนบอีเมลของฮิลลารี คลินตัน ที่ถูกเอฟบีไอพบระหว่างตรวจสอบการใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวขณะดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงฯ ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นไปได้ว่า เอกสารเหล่านั้นอาจออกสู่สายตาประชาชนก่อนวันเลือกตั้งผู้นำทำเนียบขาว ทางด้าน โคลิน พาวเวลล์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่า ตนเป็นคนแนะนำให้ใช้อีเมลส่วนตัว

คำถามเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติเรื่องการใช้อีเมลขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ยังตามรังควานการหาเสียงในศึกเลือกตั้งผู้นำอเมริกาของคลินตัน อีกทั้งผลักดันให้สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ต้องเข้าตรวจสอบจนพบว่า ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตผู้นี้ "เลินเล่ออย่างรุนแรง” ในการใช้เซิร์ฟเวอร์ส่วนตัวรับส่งข้อมูลที่มีความอ่อนไหว แต่ยังคัดค้านการฟ้องร้องคลินตัน

เมื่อวันจันทร์ (22) มาร์ค โทเนอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศเผยว่า กำลังตรวจสอบเอกสาร 14,900 ฉบับ โดยยังไม่มีความชัดเจนว่า เอกสารเหล่านั้น มีมากน้อยแค่ไหนที่เป็นเอกสารส่วนตัวหรือเอกสารเกี่ยวกับงานของคลินตัน หรือซ้ำซ้อนกับเอกสารที่เผยแพร่ไปแล้ว

ที่ผ่านมากระทรวงต่างประเทศได้ตรวจสอบอีเมล 30,068 ฉบับของคลินตันระหว่างดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงฯ ในปี 2009-2013 และนำออกเปิดเผยเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรวมเป็นจำนวนราว 55,000 หน้า กับอีเมลกว่า 2,000 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนั้นมีข้อมูลลับ

การเปิดเผยอีเมลเพิ่มเติมจะเข้าทางศัตรูของคลินตันที่จะฉวยจังหวะตอกย้ำว่า อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้นี้ไว้ใจไม่ได้

คลินตันที่มีคะแนนจากการสำรวจความคิดเห็นนำ โดนัลด์ ทรัมป์ คู่แข่งจากพรรครีพับลิกัน ได้ยืนยันมาตลอดว่า ไม่ได้ทำให้ข้อมูลลับตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ในที่สุดเธอก็ขอโทษและยอมรับผิด

คำสั่งล่าสุดของผู้พิพากษาศาลแขวง เจมส์ โบสเบิร์ก ที่ดูแลกลุ่มคดีที่ฟ้องร้องเพื่อให้นำอีเมลของคลินตันออกเปิดเผยต่อสาธารณะนั้น มีขึ้นในวันเดียวกับที่กลุ่ม จูดิเชียล วอตช์ เปิดเผยข้อมูลอีเมลล็อตใหญ่ของคลินตัน ที่ได้รับจากการฟ้องร้อง

จูดิเชียล วอตช์ ระบุว่า อีเมลเหล่านั้นเผยให้เห็นว่า ผู้บริจาคเงินให้มูลนิธิการกุศลของครอบครัวคลินตัน ติดต่อขอเข้าพบคลินตันขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม โทเนอร์แถลงว่า กระทรวงต่างประเทศเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากทั้งรัฐมนตรีและผู้ช่วยต่างได้รับคำร้องขอเข้าพบจากผู้คนมากมายเป็นปกติ

เชื่อกันว่าเอกสาร 14,900 ฉบับในคำสั่งของโบสเบิร์ก ครอบคลุมอีเมลที่คลินตันไม่ได้ส่งมอบให้กระทรวงต่างประเทศ หลังจากเจ้าตัวถูกแฉว่า ใช้เซิร์ฟเวอร์และบัญชีอีเมลส่วนตัวขณะดำรงตำแหน่ง อีเมลบางฉบับยังพบจากเซิร์ฟเวอร์ของบุคคลที่ติดต่อกับคลินตันหรือผู้ช่วย

ขณะเดียวกัน โคลิน พาวเวลล์ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศระหว่างปี 2001-2005 ในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ออกมาปฏิเสธรายงานข่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ระบุว่า คลินตันให้การกับเจ้าหน้าที่สอบสวนของรัฐบาลกลางว่าพาวเวลล์เป็นคนแนะนำให้ใช้บัญชีอีเมลส่วนตัว

พาวเวลให้สัมภาษณ์นิตยสารพีเพิลว่า คนของคลินตันพยายามโยนความผิดให้ตน เนื่องจากแท้จริงแล้ว คลินตันใช้อีเมลส่วนตัวแทนบัญชีผู้ใช้ของรัฐบาลขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะส่งบันทึกเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการใช้อีเมลของตนเองถึง 1 ปีเต็มๆ

กรณีนี้สืบเนื่องจากการที่หนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ รายงานโดยอ้างข้อมูลในหนังสือของผู้สื่อข่าว โจ โคนาสัน ที่กำลังจะวางจำหน่ายว่า คลินตันให้การกับเจ้าหน้าที่สอบสวนของรัฐบาลกลางว่า พาวเวลล์แนะนำให้เธอใช้อีเมลส่วนตัวสำหรับอีเมลที่ไม่มีข้อมูลลับ ตอนที่ทั้งคู่กินอาหารค่ำกัน หลังคลินตันเข้ารับตำแหน่งไม่กี่เดือน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พาวเวลล์เปิดเผยกับเอ็นบีซี นิวส์ว่า จำบทสนทนากับคลินตันในวันนั้นไม่ได้เลย

สำนักข่าวรอยเตอร์เคยรายงานว่า พาวเวลล์ และคอนโดลีซซา ไรซ์ ผู้ช่วยขณะที่พาวเวลล์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ใช้บัญชีอีเมลส่วนตัวรับข้อมูลลับบางส่วน

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานตรวจสอบภายในระบุว่า การที่คลินตันใช้เซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ส่วนตัวที่บ้านถือว่าละเมิดกฎของกระทรวงต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น