xs
xsm
sm
md
lg

กระแส “ไม่เอา” ทรัมป์นับวันยิ่งเตลิด พลพรรครีพับลิกันชักแถวชูคลินตัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>สมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนแสดงท่าที ไม่เอาทรัมป์ หันไปสนับสนุนคลินตัน ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคคู่แข่ง หลังโดนัลด์ ทรัมป์ ก่อเรื่องวุ่นไม่ขาดสาย. -- Agence France-Presse/Joe Raedle.</font></b>

เอเจนซีส์ - กระแสไม่เอา โดนัลด์ ทรัมป์ พลุ่งพล่านในรีพับลิกัน หลังเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ก่อเรื่องไม่เว้นแต่ละวัน โดยเฉพาะการไม่ยอมรับรอง พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนฯ ในการลงเลือกตั้งอีกสมัย กระทั่งสมาชิกสายอนุรักษนิยมจำนวนมากชักแถวทำในสิ่งที่คาดไม่ถึง คือ การประกาศสนับสนุน ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครจากพรรคคู่แข่ง

กระแส “ไม่เอาทรัมป์” ที่คงอยู่นับจากที่ มิตต์ รอมนีย์ ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในนามพรรครีพับลิกัน ปี 2012 เปิดฉากโจมตีมหาเศรษฐีผู้นี้เมื่อต้นปี ชัดเจนมากขึ้นในรอบ 48 ชั่วโมง ที่ผ่านมา ที่ทรัมป์สร้างเรื่องน่าเอือมระอาไม่หยุดหย่อน ตั้งแต่วิจารณ์พ่อแม่ของทหารมุสลิมอเมริกันที่เสียชีวิตในอิรักไม่จบไม่สิ้น จนถึงการปฏิเสธให้การรับรองไรอันที่จะลงเลือกตั้งอีกสมัย โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้ที่ทำให้ ไรนซ์ พรีบัส ประธานคณะกรรมการของพรรคหัวเสียอย่างหนัก

พันธมิตรหลายคนออกมาตำหนิเตือนสติมือใหม่ทางการเมืองอย่างทรัมป์ ให้พยายามควบคุมตัวเองมากขึ้น เช่น นิวต์ กิงริช อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรจากรีพับลิกัน ที่ปกป้องทรัมป์มาตลอด แต่มาครั้งนี้กลับเตือนว่า ทรัมป์กำลังจะประเคนชัยชนะให้คลินตันถ้าไม่ยอมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ขณะเดียวกัน ผลสำรวจของ ฟ็อกซ์ นิวส์ ระบุว่า คลินตันทิ้งทรัมป์ห่างขึ้น 49% ต่อ 39% จากเดือนที่แล้วที่ยังนำแค่ 6%

กระนั้น ทรัมป์พยายามบรรเทาความตื่นตระหนก โดยอวดอ้างในระหว่างหาเสียงที่ เดย์โตนา บีช รัฐฟลอริดา เมื่อวันพุธ (6) ว่า เสียงสนับสนุนตนไม่เคยเป็นเอกภาพเท่านี้มาก่อน

ทว่า บรรยากาศในรีพับลิกันกลับตรงกันข้าม โดยในวันเดียวกันนั้น เม็ก วิตแมน กลายเป็นสมาชิกสายอนุรักษ์คนดังล่าสุดที่แปรพักตร์ประกาศสนับสนุนคลินตัน โดยให้เหตุผลว่า การฉกฉวยประโยชน์จากการสร้างอคติต่อคนบางกลุ่มของทรัมป์ กำลังทำลายโครงสร้างพื้นฐานของเอกลักษณ์อเมริกัน

วิตแมนเป็นประธานบริหารฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอนเตอร์ไพรซ์ และเคยเป็นซีอีโอของอีเบย์ เธอยังเคยใช้เงินส่วนตัว 140 ล้านดอลลาร์ ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียในปี 2010 แต่สอบตก

การแปรพักตร์ของวิตแมนมีขึ้นขณะที่บรรดาผู้นำรีพับลิกันกำลังกังวลอย่างมากกับทรัมป์

ขณะเดียวกัน แม้ ไมค์ เพนซ์ ผู้สมัครชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี คู่กับทรัมป์ พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการประกาศรับรองไรอัน พร้อมย้ำว่า คุยเรื่องนี้แล้วและทรัมป์เห็นดีด้วย แต่ไม่วายถูกมองว่า เขากับทรัมป์ไม่ได้ลงเรือลำเดียวกัน

.
<br><FONT color=#000033>ผลสำรวจของฟ็อกซ์นิวส์ระบุว่า คลินตันนำทรัมป์ 10% จากเดือนที่แล้วห่างแค่ 6%. -- Reuters/Rick Wilking.</font></b>
.
วิตแมนไม่ใช่คนเดียวที่แปรพักตร์ เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ริชาร์ด อาร์มิเทจ อดีตรัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสมัยจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และรัฐมนตรีช่วยกลาโหมสมัยโรนัลด์ เรแกน ประกาศสนับสนุนคลินตัน

เบรนต์ สโกว์ครอฟต์ อดีตที่ปรึกษานโยบายความมั่นคงแห่งชาติของประธานาธิบดี 2 คนจากรีพับลิกัน ให้การรับรองคลินตัน เช่นเดียวกับลาร์รี เพรสเลอร์ วุฒิสมาชิกจากเซาธ์ดาโกตา, แฮงก์ พอลสัน อดีตรัฐมนตรีคลังสมัยบุชและอดีตซีอีโอโกลด์แมน แซคส์

วันอังคารที่ผ่านมา (2) ริชาร์ด ฮันนา เป็นสมาชิกรัฐสภาสังกัดรีพับลิกันคนแรกที่แตกแถวประกาศสนับสนุนคลินตันอย่างเปิดเผย พร้อมอธิบายว่า “ทรัมป์ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะรับใช้พรรคและเป็นผู้นำประเทศ” และว่า ถึงไม่เห็นด้วยกับคลินตันหลายเรื่อง แต่เห็นได้ว่า อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งยืนหยัดเพื่อส่วนรวมมากกว่าตัวเองมาตลอดชีวิต

ที่หนักกว่านั้นคือ ดั๊ก เอลเมตส์ อดีตเจ้าหน้าที่สมัยเรแกนที่เดินทางไปร่วมประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตเมื่อปลายเดือนที่แล้วเพื่อประกาศสนับสนุนคลินตัน

นอกจากนี้ยังมีพลพรรครีพับลิกันอีกหลายคนที่แม้ยังไม่ถึงขั้นประกาศสนับสนุนคลินตัน แต่ก็เลือกตีตัวออกห่างทรัมป์ อาทิ อดัม คินซิงเกอร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากอิลลินอยส์และอดีตทหารผ่านศึกกองทัพอากาศ ที่บอกกับซีเอ็นเอ็นเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า ไม่ว่าการตัดสินใจนี้จะส่งผลทางการเมืองต่อตัวเขาอย่างไรก็ตาม แต่เขารู้สึกว่า ทรัมป์ล้ำเส้นหลายอย่างกระทั่งทำใจสนับสนุนต่อไปไม่ได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น