xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.เอฟบีไอยืนยัน “ไม่มีสองมาตรฐาน” กรณีไม่ฟ้อง “คลินตัน” เผย “รีพับลิกัน” รุกใหญ่ไม่ถนัด เพราะบิ๊ก FBI คนนี้ก็มาจากพรรคตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ ไปให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบและการปฏิรูปรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร ในวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) ยืนยันว่าไม่มีการใช้สองมาตรฐาน ในการสืบสวนสอบสวนของเอฟบีไอ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจว่าไม่ควรฟ้องร้องฮิลลารี คลินตัน กรณีอีเมลฉาวในสมัยที่เธอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ </i>
เอพี/เอเจนซีส์ - ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐฯ (เอฟบีไอ) เจมส์ โคมีย์ แถลงระหว่างถูกรัฐสภาอเมริกันเรียกตัวไปให้ปากคำเมื่อวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) โดยยืนยันการตัดสินใจไม่ยื่นฟ้อง ฮิลลารี คลินตัน ในกรณีอื้อฉาวจัดตั้งเซิร์ฟเวอร์รับส่งอีเมลส่วนตัวระหว่างที่เธอนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศ และทำให้ข้อมูลข่าวสารลับจำนวนหนึ่งรั่วไหล ทั้งนี้เขาบอกว่าไม่มีหลักฐานใดๆ แสดงให้เห็นว่าเธอหรือผู้ช่วยคนใดของเธอทราบว่าสิ่งที่พวกเขากำลังกระทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

การปรากฏตัวต่อหน้าคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบและการปฏิรูปรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรคราวนี้ ถือเป็นการออกแถลงต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกของเขา ภายหลังจากที่เอฟบีไอประกาศเมื่อวันอังคาร (5) ที่ผ่านมาว่า ได้เสนอแนะต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ว่าไม่สมควรฟ้องร้องคลินตันในความผิดทางอาญา อันเท่ากับเป็นการลบล้างภัยคุกคามซึ่งทอดเงาทะมึนอยู่เหนือว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตผู้นี้มานาน แต่ก็กลายเป็นการรื้อฟื้นให้สาธารณชนหวนกลับมาสนใจพิจารณาการดูแลรับผิดชอบกับข้อมูลข่าวสารปิดลับของเธอ

“คนของเราสอบสวนเรื่องนี้อย่างไม่สนใจเรื่องการเมืองและทำอย่างเป็นมืออาชีพ” โคมีย์กล่าวถึงการสอบสวนคดีนี้ของเอฟบีไอที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นแรมปี

โคมีย์แจกแจงว่า เมื่อเจ้าหน้าที่เอฟบีไอเข้าสืบสวนข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญา พวกเขาต้องมองหาข้อพิสูจน์ไม่เพียงเฉพาะแค่ว่าได้มีการประกอบอาชญากรรมหรือไม่ หากแต่ยังต้องพิสูจน์ว่าบุคคลนั้นๆ รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นเป็นความผิด และปรากฏว่าในคดีนี้ไม่มีหลักฐานเลยว่าพวกเขาทราบ

เขากล่าวอีกว่า ถึงแม้มีมาตราในกฎหมายที่เปิดทางให้ฟ้องร้องกล่าวหาความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ได้ ในกรณีที่ดูแลรับผิดชอบข้อมูลข่าวสารปิดลับด้วยความผิดพลาดในลักษณะของการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่กฎหมายมาตราดังกล่าวก็เคยถูกใช้เพียงครั้งเดียวเท่านั้นตลอดระยะเวลา 99 ปีนับตั้งแต่ที่บัญญัติขึ้นมา และในคดีดังกล่าวนั้นก็เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการจารกรรม

โคมีย์ให้ปากคำว่า พวกเจ้าหน้าที่เอฟบีไอต่างมีความห่วงใยอย่างยิ่งยวดว่า เป็นการถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือที่จะกล่าวหาฟ้องร้องใครในคดีนี้ว่าประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง

ผู้อำนวยการเอฟบีไอบอกว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลข่าวสารปิดลับนั้น ในอดีตที่ผ่านมาสงวนเอาไว้เฉพาะกรณีที่ตั้งใจหรือจงใจกระทำความผิด, ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม หรือแสดงความไม่จงรักภักดีต่อสหรัฐอเมริกา เขายังแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างกรณีไม่ฟ้องร้องคลินตัน กับการฟ้องร้องดำเนินคดีเอากับอดีตผู้อำนวยการซีไอเอ เดวิด เพเทรอัส เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งเพเทรอัสเลือกที่จะสารภาพว่ากระทำผิดจริงในการส่งข้อมูลข่าวสารปิดลับให้แก่นักเขียนที่กำลังเขียนชีวประวัติของเขา

โคมีย์บอกว่า เพเทรอัสได้แอบเก็บข้อมูลข่าวสารปิดลับ “จำนวนมากมาย” เอาไว้ --โดยซุกซ่อนบางส่วนเอาไว้ใต้แผ่นวัสดุฉนวนความร้อนในห้องใต้หลังคาของเขา-- จากนั้นก็โกหกเอฟบีไอเกี่ยวกับเรื่องนี้

“เขายอมรับว่าเขาทราบว่ามันเป็นความผิดที่กระทำเช่นนั้น” โคมีย์กล่าว “นั่นเป็นการวาดภาพให้เห็นอย่างสมบูรณ์แบบถึงคดีประเภทที่จะต้องถูกฟ้องร้องกล่าวโทษ และในความคิดของผมแล้ว มันก็วาดภาพให้เห็นว่ามีความแตกต่างอย่างสำคัญกับกรณี (ของคลินตัน) นี้”
<i>เจมส์ โคมีย์ ผู้อำนวยการเอฟบีไอ สาบานตัวขณะจะเริ่มให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการกำกับตรวจสอบและการปฏิรูปรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎร ในวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) </i>
ประธานคณะกรรมาธิการ ส.ส.เจสัน แชฟเฟตซ์ แห่งพรรครีพับลิกันจากมลรัฐยูทาห์ บอกกับโคมีย์ว่า การตัดสินใจของเอฟบีไอคราวนี้เปิดเผยให้เห็นว่า “มีสองมาตรฐาน” โดยที่ผู้ทรงอำนาจอิทธิพลจะได้รับการปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง ขณะที่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดากระทำอย่างที่คลินตันกระทำไป เขาก็จะต้องติดคุกแน่ๆ

“ถ้านามสกุลของคุณไม่ใช่คลินตัน ถ้าคุณไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำผู้ทรงอำนาจแล้ว เทพีแห่งความยุติธรรมก็จะปฏิบัติอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างออกไป” แชฟเฟตซ์กล่าวในคำแถลงเปิดการซักถาม อีกทั้งระบุด้วยว่าเอฟบีไอได้ “สร้างแบบอย่างที่เป็นอันตราย” จากการปล่อยคลินตันรอดพ้นความผิดไปโดยไม่ต้องชดใช้ใดๆ

ระหว่างการซักถามได้มี ส.ส.ถามโคมีย์ว่า เขาได้ยินหรือไม่เรื่องที่มีเสียงวิจารณ์ว่ามีการปฏิบัติแบบสองมาตรฐานในกรณีนี้

“ผมได้ยินเรื่องนี้เยอะแยะเลย” ผู้อำนวยการเอฟบีไอบอก “มันไม่เป็นความจริง แต่ผมก็ได้ยินมาเยอะแยะ”

“ผมทำสิ่งซึ่งทำให้ผู้คนพากันตั้งคำถามกันอย่างมากมายเหลือเกิน” เขากล่าว และอธิบายว่า เอฟบีไอนั้นมีพันธะที่จะต้องกระทำไปตามกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรียุติธรรม ลอเรตตา ลินช์ ออกมาแถลงในวันพุธ (6) ว่า เธอยอมรับเห็นด้วยกับข้อเสนอและผลการสืบสวนของโคมีย์ และของเหล่าอัยการมืออาชีพในกระทรวงของเธอ และจะไม่ยื่นฟ้องร้องคลินตัน ตัวลินช์เองน่าที่จะถูกเรียกตัวไปให้ปากคำเกี่ยวกับกรณีนี้เช่นเดียวกัน โดยเธอน่าจะถูกตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรอีกชุดหนึ่ง นั่นคือ คณะกรรมาธิการการยุติธรรมในสัปดาห์หน้า

การตัดสินใจของโคมีย์ และวิธีการที่เขาแถลงการตัดสินใจดังกล่าวได้สร้างความโกรธเคืองให้แก่ชาวพรรครีพับลิกันซึ่งมีความรู้สึกกันว่า ระหว่างที่ผู้อำนวยการเอฟบีไอแถลงเรื่องนี้ผ่านทางทีวีเมื่อวันอังคาร (5) นั้น เขาได้แจกแจงรายละเอียดตลอดจนพูดถึงแง่มุมต่างๆ ในการพิจารณาตรวจสอบอย่างผิดธรรมดา ซึ่งก็ถือเป็นพื้นฐานเพียงพอสำหรับการยื่นฟ้องร้องดำเนินคดีได้แล้ว
<i>พอล ไรอัน ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ขณะแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของเขาในวันพฤหัสบดี (7 ก.ค.) ทั้งนี้เขาได้ส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ขอให้งดการบรรยายสรุปเกี่ยวกับข่าวสารข้อมูลลับด้านความมั่นคงแก่ ฮิลลารี คลินตัน ระหว่างการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อเป็นการลงโทษที่เธอจัดการกับอีเมลของเธออย่างผิดพลาดเมื่อครั้งนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศ </i>
ประธานสภาผู้แทนราษฎร พอล ไรอัน ซึ่งก็เป็น ส.ส.สังกัดพรรครีพับลิกันจากรัฐวิสคอนซิน ออกมาระบุว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่ในตอนนี้ทำให้ “เกิดคำถามเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับคำตอบ” และในหนังสือที่ส่งถึง เจมส์ แคลปเปอร์ ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ ไรอันได้เรียกร้องว่าอย่าได้บรรยายสรุปข่าวสารข้อมูลลับต่างๆ ให้คลินตันได้ทราบไปตลอดช่วงการรณรงค์หาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

ทั้งนี้ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ บุคคลที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตหรือพรรครีพับลิกันให้เป็นตัวแทนของพรรคลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ก็จะได้รับการบรรยายสรุปเป็นประจำจากพวกหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวว่า ในกรณีของคลินตันควรที่จะตัดสิทธิเช่นนี้ เพื่อเป็นการลงโทษให้สอดคล้องกับที่เธอจัดการกับอีเมลลับอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสมระหว่างที่นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ

ทางด้าน โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ก็ถือโอกาสนำเอากรณีนี้มาหาเสียงโจมตีคลินตันว่า เธอสามารถเล่นไปตามกติกาพิเศษซึ่งแตกต่างจากกติกาของสาธารณชนชาวอเมริกัน

“ฮิลลารี คลินตัน ไม่สามารถรักษาอีเมลของเธอให้ปลอดภัยได้ แล้วรู้อะไรไหม พรรคพวก โคตรๆ แน่ใจได้เลยว่าเธอก็ไม่สามารถรักษาประเทศชาติของเราให้ปลอดภัยได้” ทรัมป์กล่าวระหว่างการหาเสียงเมื่อไม่นานมานี้ที่เมืองราเลห์, รัฐนอร์ทแคโรไลนา พร้อมกับกล่าวหาว่า การสืบสวนคราวนี้มีการ “ฮั้วกัน” ในทางให้ประโยชน์แก่คลินตัน

การเรียกผู้อำนวยการเอฟบีไอมาซักถามคราวนี้ เห็นกันว่าเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อกระตุ้นเพิ่มพลังให้แก่ฐานเสียงอนุรักษนิยมซึ่งอาจจะรู้สึกผิดหวังกับทรัมป์ ในขณะที่รีพับลิกันจำเป็นต้องโหมทำงานหนักเพื่อรักษาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ต่อไป ทว่าเวลาพูดคุยกันเป็นส่วนตัว มีชาวรีพับลิกันบางคนตั้งคำถามเอากับการตัดสินใจเลือกที่จะต่อสู้กับโคมีย์ ซึ่งที่จริงก็เป็นชาวรีพับลิกันที่มีชื่อเสียงว่ามีแนวความคิดอิสระ และเคยทำงานในกระทรวงยุติธรรมในยุคประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช

ในวันอังคาร (5) ขณะประเมินโดยใช้ถ้อยคำชวนปวดแสบปวดร้อนเกี่ยวกับวิธีจัดการกับอีเมลของเธอระหว่างเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ โคมีย์ตำหนิคลินตันและพวกผู้ช่วยของเธออย่างรุนแรง ที่ “สะเพร่าเลินเล่ออย่างยิ่ง” ในการจัดการกับข้อมูลข่าวสารปิดลับ ทั้งนี้การประเมินเช่นนี้ขัดแย้งกับคำอธิบายและเหตุผลข้อต่อสู้จำนวนมากที่เธอกล่าวอ้างเอาไว้ในตลอดเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา กระนั้น โคมีย์ก็กล่าวด้วยว่า ไม่พบหลักฐานใดๆ ว่ามีใครจงใจหรือตั้งใจจัดการกับข้อมูลข่าวสารปิดล้อมอย่างผิดพลาดเช่นนั้น และดังนั้นจึง “ไม่มีอัยการผู้มีเหตุมีผลคนใด” จะติดตามตั้งข้อหาฟ้องร้องในกรณีนี้

โคมีย์ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยยุติธรรมในคณะบริหารจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ได้รับแต่งตั้งจากประธานาธิบดี บารัค โอบามา เมื่อปี 2013 ให้เป็นผู้อำนวยการเอฟบีไอ ที่มีวาระการดำรงตำแหน่ง 10 ปี

กำลังโหลดความคิดเห็น