xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ไม่สน คปพ.รับหลักการ 2 พ.ร.บ.ปิโตรฯ “อนันตพร” ชี้สัมปทานกับแบ่งผลผลิตคล้ายกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สนช.เมินเสียงค้าน คปพ.โหวตรับหลักการ 2 พ.ร.บ.ฉาว ขณะที่ “ครูหยุย” เสนอให้ถอนร่างหวั่นสร้างปมขัดแย้งในสังคม “มณเฑียร” หนุนพร้อมเตือนรัฐบาลอย่าทำเสียมิตร “อนันตพร” อ้างตั้งเอ็นโอซีต้องใช้ตังค์เยอะ ยันระบบสัมปทานกับแบ่งผลผลิตคล้ายกัน

วันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน กล่าวรายงานหลักการและเหตุผลว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับนี้เพื่อให้การบริหารจัดการปิโตรเลียมมีความรัดกุมรอบคอบมากขึ้น ที่ผ่านมา พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับมีการแก้ไขมาแล้ว 5 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ปัจจุบันการบริหารปิโตรเลียม ดำเนินการในลักษณะของสมดุลแห่งอำนาจ ไม่มีบุคคลใดหรือหน่วยงานใดหน่วยหนึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ปัจจุบันมีการบริหารได้แก่ อำนาจสูงสุดคือคณะรัฐมนตรี มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้อนุมัติในระดับคณะกรรมการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเบื้องต้น มีคณะกรรมการปิโตรเลียมซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกรวมด้วย เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียด ก่อนที่จะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้ความเห็นชอบ นอจากนี้ในการประกาศต่างๆ จะมีการรับฟังความเห็นภาคประชาชนในทุกขั้นตอน

ด้าน พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ สนช.ในฐานะประธาน กมธ.พลังงาน อภิปรายว่า ที่ผ่านมาการดำเนินการเรื่องพลังงานปิโตรเลียมที่ผ่านมาขาดการสื่อสารจากภาครัฐทำให้เกิดการประท้วงจากภาคประชาชนที่ต้องการให้เปิดเผยข้อมูลมากขึ้น จึงนำมาสู่การปรับปรุง พ.ร.บ. 2 ฉบับนี้ ซึ่งจะเห็นว่าเราใช้ระบบสัมปทานมาตั้งแต่ปี 2514 ทั้งที่นานาชาติใช้วิธีหลากหลายเพิ่มขึ้นมาก ทั้งแบ่งปันผลผลิต จ้างสำรวจ ซึ่งเป็นทางเลือกให้ประชาชนอีกทั้งระบบสัมปทานเดิมมีช่องโหว่จึงสมควรปรับปรุง นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอมานี้ที่ผ่านทาง กมธ.ได้มีการไปให้ข้อมูลกับทางภาครัฐ ร่วมกับภาคประชาชน ทาง สนช.เองก็ได้ให้ความเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ไปตั้งแต่เมื่อเดือน พ.ค. 2558

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการอภิปรายของสมาชิกส่วนใหญ่กล่าวสนับสนุนร่างดังกล่าว อาทิ พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ สนช.กล่าวว่า การเปิดสัมปทานรอบ 21 ล่าช้า เพราะมีการคัดค้านว่าขอให้แก้ไขกฎหมายก่อนแล้วค่อยเปิด เหตุการณ์ที่ผ่านมาบ่งบอกว่ากลไกภาครัฐขาดความเชื่อถือจากประชาชนบางส่วน ภาครัฐควรจะชี้แจงเรื่องยากๆ ให้ประชาชนเข้าใจง่าย แต่ไม่สามารถทำได้ และยังเกิดความเคลือบแคลง ประชาชนไม่ยอมรับเท่าที่ควร การไม่ใช่เชื่อถือภาครัฐถือเป็นวิกฤตที่ต้องแก้ไข อย่างไรก็ตาม ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการเพิ่มรายละเอียดเกี่ยวกับการแบ่งปันผลผลิต การจ้างสำรวจและผลิต แต่อีกด้านมีการเป็นห่วงจากภาคประชาชนว่าหากไม่มีบรรษัทปิโตรเลียมแห่งชาติ (เอ็นโอซี) จะไม่สามารถเข้าถึงสามารถรับทราบรายละเอียดสัญญาได้ก็จะเกิดความเคลือบแคลง

อย่างไรก็ตาม มี สนช.บางส่วนได้อภิปรายแสดงความเป็นห่วงต่อร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับเพราะยังมีปัญหาหลายอย่างที่ไม่ชัดเจน และเป็นที่เคลือบแคลงจากประชาชน ขณะที่ สนช.บางคนเสนอให้ชะลอการพิจารณาโดยการถอนร่างออกไปก่อน เช่น นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. กล่าวว่า ขอเสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ออกจากการพิจารณาของ สนช.ออกไปก่อนเพื่อมาศึกษาก่อน 30 วัน ว่าจะสามารถปรับแก้ตรงไหนอย่างไร เพราะสิ่งที่เสนอมากับความต้องการของภาคประชาชนไปด้วยกันไม่ได้จริงๆ อีกทั้งการทำงานเรื่องนี้ช่วงที่ผ่านมาถูกครอบด้วยสภาพแวดล้อมเดิมๆ คนกลุ่มเดิมๆ จึงไปไหนไม่ได้

นายสมชาย แสวงการ สนช.กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยต่อข้อเรียกร้องของบางกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าหากผ่านร่าง พ.ร.บ.นี้จะขู่โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเพราะเป็นคนละเรื่องกัน ส่วนที่ไม่มีเอ็นโอซีนั้นทางออกอาจ กำหนดให้มีการศึกษาก่อนระยะหนึ่งหรือไม่ แต่มีแผนข้างหน้าให้ชัดเจนไม่ต้องรอสัมปทานอย่างเดียวจะสำรวจผลิตเองก็ได้ถ้าพร้อม หรือจะเปลี่ยนเป็นแบบบรูไน อย่างที่ภาคประชาชนอยากได้ กระทรวงพลังงานทำงานด้านนี้อยู่แล้วอาจร่วมบัญญัติเพิ่มบางมาตราเติมเต็ม กำหนดว่าอะไรทำได้ มีระยะเวลาเห็นผลทำให้ชัดเจน ทำให้ภาคประชาชนรับทราบ เรื่องนี้ต้องเขียนให้ชัด เอาผลประโยชน์ชาติเป็นตัวตั้ง ปฏิรูปต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทุกฝ่าย ปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งต้องเริ่มนับหนึ่งพร้อมกันด้วยความเชื่อมั่น

นายมณเฑียร บุญตัน สนช.กล่าวว่า คนที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้ ล้วนแต่เป็นมิตรของรัฐบาลทั้งนั้น ไม่อยากให้รัฐบาลเสียมิตร แต่ควรต้องสร้างมิตรเพิ่ม ไม่ขอลงรายละเอียดแต่รู้สึกไม่สบายใจที่มีการเพิ่มทางเลือกแบบไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับว่าใครจะมาจัดการเรื่องแบ่งปัน สำรวจและผลิตที่มีอยู่ มีแต่เรื่องสัมปทานตามโครงสร้างเดิม และระบบกฎหมายแบบเดิม อาศัยระบบอนุญาโตตุลาการ มีปัญหาทีไรไทยแพ้ทุกที เห็นว่าข้อเสนอของนายวัลลภมีเหตุผล วิงวอนอยากลองให้ช่วยคิดสักครั้ง

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช.กล่าวว่า การต้องแก้ไขกฎหมายเพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปตั้งแต่ปี 2514 ที่ ราคาน้ำมันอยู่ที่บาร์เรลละ 10 เหรียญ จนถึงวันนี้บริษัทน้ำมันที่ลงทุนถอนทุนหมดแล้ว ถึงเวลาจะทำให้เรื่องของพลังงานเชื้อเพลิงเป็นประโยชน์ของชาติแท้จริง ในหลักการข้อ 2 การกำหนดให้มีการดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบใดเป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดโดยความเห็นของ ครม.นั้น ไม่รู้ว่าคนกลุ่มใดจะมาใช้ดุลพินิจ แต่เราก็ต้องมั่นใจใน ครม.ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ

อย่างไรก็ตาม ปัญหายังอยู่ที่การแก้ไขเรื่องสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างสำรวจและผลิตซึ่งมีการพูดถึงเอ็นโอซี ขอฝาก กมธ.วิสามัญที่จะตั้งมาพิจารณาในวาระ 2-3 ต่อไปนั้น นำข้อท้วงติง ความเห็นคำชี้แจงของสมาชิกประกอบการพิจารณา โดยเฉพาะประเด็นเอ็นโอซี แต่ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ เพราะไม่มีกำหนดไว้ในหลักการของร่าง พ.ร.บ.

ด้าน พล.อ.อนันตพร ชี้แจงประเด็นเอ็นโอซี หรือบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ว่าที่เห็นว่าไม่เหมาะสมนั้นเพราะ ต้องใช้งบประมาณเป็น 1 หมื่นล้านเพื่อจะเป็นทุนประเดิม และยังห่วงเรื่องอำนาจของเอ็นโอซีจะเป็นอย่างไร ถ้ามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดก็น่าห่วง เพราะเดิมเรามีการถ่วงดุลอำนาจอยู่จากคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็อยู่ที่การกำกับตรวจสอบเอ็นโอซีอีกทอดหนึ่งเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รมว.พลังงานกล่าวว่า กรณีที่ทำเอ็นโอซีจะมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1. แบบเต็มรูปแบบเหมือนปิโตรนาส ทำงานทุกรูปแบบ อันนี้ต้องใช้เงินทุนมาก 2. เป็นหน่วยงานกำกับดูแลคล้ายๆกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรรมการปิโตรเลียม ฯลฯ กำกับดูแลในเรื่องค่าใช้จ่าย ราคา ให้สัมปทาน กำกับดูแลทั้งหมด 3. เป็นโฮลดิ้งคอมปะนี มีเงินแล้วก็ไปลงทุนตามประเทศต่างๆ เพื่อประเทศไทยจะได้มีองค์ความรู้เพิ่ม ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทั้งสามรูปแบบมันต่างกันที่ค่าใช้จ่าย และผลตอบแทนที่จะได้รับซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักกัน

พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า เรื่องสัญญาไทยแลนด์ (Thailand 1) ที่มีการต่อสัญญาครั้งที่ 2 กับผู้รับสัมปทาน โดยจะหมดสัญญาในปี 2565-2566 ถามว่าจะยกเลิกเลยได้หรือไม่ ก็ทำได้ออกคำสั่งยึดเป็นของรัฐได้เลย แต่ว่าระบบสัญญาก็ต้องเป็นสัญญามันจะลำบากใจ ดังนั้นก็ต้องเดินหน้าต่อไป รออีก 5-6 ปีก็จบ ก็มีคนบอกว่า Thailand 1 เราเสียผลประโยชน์ไปมาก เราก็มีการปรับเปลี่ยนในแหล่งที่ลานกระบือเป็น Thailand 2 เพื่อเงื่อนไขเข้าไปทำให้ผู้ประกอบการจ่ายเรามากขึ้น เป็นขั้นบันไดก็ดำเนินการมาแล้ว จนปัจจุบันเป็น Thailand 3 ก็ทำให้เรากับผู้ประกอบการได้รับผลประโยชน์ที่สมดุลกัน

“การขาดทุนมันเป็นสัญญาที่ผ่านมา เป็นความเสียเปรียบในอดีต แต่ในอนาคตที่จะมีขึ้นเราก็ได้มีการแก้ไขมาตลอด”

พล.อ.อนันตพรกล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อรองรับสัมปทานที่จะหมดอายุเพื่อทำรอบใหม่ ตนคิดว่าถ้าราคาน้ำมันอยู่ในระดับนี้ที่ 40-50 เหรียญ สัมปทานรอบใหม่ความจำเป็นก็จะน้อยลง เพราะการลงทุนค่อนข้างมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ก็น่าจะมีคนลงทุนอยู่แล้วเพราะมองว่าอนาคตดี ผลประโยชน์คือประเทศไทยจะได้ก๊าซธรรมชาติมากขึ้น มีน้ำมันเป็นของตัวเองมากขึ้น พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลแค่จะให้เป็นสัมปทานหรือแบบแบ่งผลผลิตเท่านั้นเอง ทั้งสองแบบมีเงื่อนไขและมีข้อดีข้อเสียอยู่ ตนเห็นว่าระบบสัมปทานของเรานั้นจะแปรรูปแบบมาเป็นแบบแบ่งผลผลิตมากกว่า จะเห็นว่าโครงสร้างมันคล้ายกันมาก

จากนั้นที่ประชุมมีมติ 152 ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 16 เสียงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่... ) พ.ศ. ... และมีมติ 154 ต่อ 2 งดออกเสียง 17 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 21 คน โดยกำหนดแปรญัตติ 15 วัน ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน



กำลังโหลดความคิดเห็น