เอเอฟพี/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน แห่งตุรกี เชื่อว่าอาจมีต่างประเทศเกี่ยวข้องกับความพยายามยึดอำนาจ พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือนในวันพุธ (20 ก.ค.) และเดินหน้าไล่ล่า “กลุ่มก่อการร้าย” ที่อยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้วเหลวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ในการให้สัมภาษณ์ผ่านล่ามกับสถานีโทรทัศน์อัลญะซีเราะห์ ประธานาธิบดีเออร์โดกันเชื่อว่าอาจมีต่างชาติเกี่ยวข้องกับความพยายามรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่เขาปฏิเสธที่จะพาดพิงโดยตรงถึงประเทศใดๆ นอกจากนี้เขายังปฏิเสธข้อบ่งชี้ต่างๆที่ว่าเขากำลังกลายเป็นพวกเผด็จการและประชาธิปไตยของตุรกีกำลังถูกคุมคาม “เรายังคงอยู่ภายในระบบรัฐสภาประชาธิปไตย และเราจะไม่มีทางถอยห่างจากมัน”
นายเออร์โดกันกล่าวหาเหล่าบริวารของนายเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาอิสลามที่ลี้ภัยในสหรัฐฯ ศัตรูตัวฉกาจของเขาว่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร อันนำมาซึ่งการกวาดล้างจับกุมและปลดเหล่าผู้ต้องสงสัยสมคบคิดกว่า 50,000 คน
“ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินมีความจำเป็นเพื่อถอนรากถอนโคนเครือข่ายขององค์กรก่อการร้ายที่เกี่ยวข้องกับความพยายามรัฐประหารอย่างทันท่วงที” เออร์โดกันกล่าว ขณะที่คำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 เดือนนี้ มีขึ้นตามหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติตุรกีและคณะรัฐมนตรีที่ใช้เวลาหารือยาวนานหลายชั่วโมง ณ ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงอังการา
ตุรกีได้ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งสุดท้ายในปี 2002 โดยหนนั้นถูกกำหนดครอบคลุมจังหวุดต่างๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเพื่อต่อสู้กับนักรบเคิร์ดในปี 1987 ขณะที่มาตรา 120 ตามรัฐธรรมนูญแดนไก่งวง อนุญาตให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเวลาที่ความสงบเรียบร้อยของประชาชนเสื่อมทรามลงอย่างร้ายแรง สืบเนื่องจากพฤติกรรมรุนแรง
ทั่วโลกมีความกังวลมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อความเคลื่อนไหวของทางการตุุรกีที่ดำเนินการจับกุมหรือไล่ออก ทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา ครูอาจารย์และข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ตามหลังความพยายามยึดอำนาจที่ล้มเหลวของทหารกบฏเมื่อวันศุกร์ (15 ก.ค.)
ก่อนหน้านี้ นายเออร์โดกันด่ากลับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเดินหน้ากวาดล้างของเขา โดยไล่ให้นายฌอง-มาร์ค เอโรลต์ รัฐมนตรีต่างประเทศฝรั่งเศส “สนใจแต่เรื่องของประเทศตัวเอง” หลังรัฐมนตรีแดนน้ำหอมเตือนว่าผู้นำตุรกีไม่ควรใช้เหตุรัฐประหารที่ล้มเหลว เป็น “เช็คเปล่า” ในการหุบปากฝ่ายต่อต้าน
ในวันพุธ (20 ก.ค.) นายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ขนาบข้างด้วยเหล่ารัฐมนตรีต่างประเทศพันธมิตร บอกว่า “ในขณะที่เราขอประณามความพยายามรัฐประหาร แต่มันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ต้องตอบสนองมันด้วยความเคารพอย่างเต็มเปี่ยมต่อประชาธิปไตยที่เราสนับสนุน”
ส่วนโฆษกของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี แสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมากกว่า โดยระบุว่า “เกือบทุกวันในตุรกี เรากำลังเห็นมาตรการใหม่ที่เย้ยหยันหลักนิติธรรมและเฉยเมยต่อหลักการความพอเหมาะพอควร”
อย่างไรก็ตาม นายเออร์โดกันให้สัมภาษณ์กับอัลจาซีเราะห์ ยืนกรานว่าการจับกุมผู้ต้องสงสัยและพักงานเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย แน่นอนว่ามันไม่ได้หมายความว่าเรามาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว โดยเขาแสดงความกังวลว่าความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวครั้งนี้อาจยังไม่ใช่จุดจบของความพยายามยึดอำนาจ
อังการาระบุว่า รัฐประหารคราวนี้บงการโดยนายกูเลน และการปราบปรามครั้งใหญ่ดูเหมือนว่าจะมีเป้าหมายที่บุคคลต่างๆ ซึ่งต้องสงสัยว่ามีความเกี่ยวข้องกับอดีตมิตรที่แปรเปลี่ยนเป็นศัตรูของนายเออร์โดกันรายนี้
ตุรกีเพิ่มความพยายามกดดันสหรัฐฯให้ส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน โดยได้ส่งสำนวนหลายฉบับที่พวกเขาอ้างว่าเต็มไปด้วยหลักฐานว่านายกูเลนมีความเกี่ยวข้องกับรัฐประหาร อย่างไรก็ตาม นายกูเลนออกถ้อยแถลงเมื่อวันอังคาร (19 ก.ค.) เรียกร้องวอชิงตันปฏิเสธคำขอส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และปฏิเสธคำกล่าวอ้างว่าเขาอยู่เบื้องหลังความพยายามยึดอำนาจ
นักการศาสนาวัย 75 ปีลี้ภัยอยู่ในเพนซิลเวเนีย แต่ยังคงมีผลประโยชน์อย่างกว้างขวางในตุรกี ไล่ตั้งแต่สื่อมวลชน ภาคการเงิน สถาบันการศึกษาและมีอิทธิพลในหน่วยงานของภาครัฐหลายแห่ง