xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” ยันสหรัฐฯ พร้อมช่วยตุรกีสืบสวนรัฐประหาร แต่โอกาสส่งตัวผู้บงการแทบไม่มี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
เออฟพี/รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ พูดคุยทางโทรศัพท์กับ เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผู้นำตุรกีในวันอังคาร (19 ก.ค.) สัญญาจะมอบความช่วยเหลือสืบสวนความพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติตกอยู่ท่ามกลางความมึนตึง อันเนื่องจากกรณีนักการศาสนารายหนึ่งซึ่งลี้ภัยอยู่ในอเมริกา ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามยึดอำนาจดังกล่าว

จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาวเผยว่าระหว่างการพูดคุยทางโทรศัพท์ โอบามาได้ประณามสถานการณ์ความไม่สงบและเรียกร้องให้ดำเนินการสืบสวนในแนวทางที่จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสถาบันประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม “ท่านประธานาธิบดีโอบามาแสดงจุดยืนชัดเจนว่าอเมริกามีความตั้งใจมอบความช่วยเหลืออย่างเหมาะสมแก่เจ้าหน้าที่ตุรกีที่กำลังสืบสวนความพยายามรัฐประหาร”

เออร์เนสต์บอกต่อว่า ในขณะที่เสนอมอบความช่วยเหลือด้านการสืบสวนแก่อังการา ประธานาธิบดีโอบามายังได้กดดันให้นายเออร์โดกัน ปฏิบัติตามกรอบเนื้อหาประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญของตุรกี “ในขณะที่กำลังดำเนินการสืบสวนอย่างละเอียด หลักการประชาธิปไตยก็ควรได้รับการยึดถือด้วย”

นอกจากนี้แล้ว โฆษกทำเนียบขาวระบุด้วยว่า โอบามาและเออร์โดกันยังได้หารือกันเกี่ยวกับสถานะของนายเฟตุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาคนดังที่ลี้ภัยในสหรัฐฯ ซึ่งถูกทางการตุรกีกล่าวโทษว่าเป็นผู้บงการรัฐประหาร พร้อมเผยรัฐบาลอังการาได้ยื่นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับนายกูเลนต่อรัฐบาลวอชิงตันแล้ว ทว่าอเมริกายังคงรอคำร้องขอส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการ

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ บอกว่าพวกเขายังคงอยู่ในขั้นตอนของการวิเคราะห์เอกสารต่างๆ ที่ยื่นมาโดยตุรกี และไม่ได้มองว่ามันเป็นคำร้องขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน

เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ เคยบอกว่าตุรกีต้องมอบข้อพิสูจน์ว่านายกูเลนเกี่ยวข้องกับความพยายามรัฐประหารเสียก่อน จากนั้นเมื่อมีการยื่นเอกสารขอตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนใดๆ ทางอเมริกาก็จะทำการประเมินภายใต้เงื่อนไขต่างๆในสนธิสัญญาระหว่างสองชาติ

กูเลน วัย 75 ปี อดีตคนใกล้ชิดของนายเออร์โดกัน ลี้ภัยในเพนซิลเวเนียมาตั้งแต่ช่วงปลายทศวรษที่ 1990 และเขาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับรัฐประหารที่ล้มเหลว

ก่อนหน้านี้ กระทรวงยุติธรรมตุรกีได้ยื่นสำนวนเกี่ยวกับนายกูเลนต่อสหรัฐฯแล้ว แต่ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่ามันเทียบเท่ากับการยื่นคำร้องขอส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเป็นทางการหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คำร้องขอตัวนายกูเลนในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนใดๆ คงต้องเผชิญกับขวากหนามทางกฎหมายและการเมืองในสหรัฐฯ

ทนายความของกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ จะพิจารณาคำร้องดังกล่าวเพื่อสรุปว่าข้อกล่าวหาต่างๆเหล่านั้นเป็นความผิดอาญาตามกฎหมายของทั้งสองประเทศหรือไม่ และมันอยู่ภายในขอบเขตสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างสองชาติหรือเปล่า จากนั้นคำร้องขอจะถูกส่งต่อไปยังผู้พิพากษา ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินว่าอาชญากรรมที่ผู้ถูกกล่าวหาก่อนั้นมีเหตุอันควรให้ส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่

หากคำร้องขอดังกล่าวผ่านด่านต่างๆมาได้และถูกพบว่าชอบด้วยกฎหมาย มันก็ยังจำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากนายจอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่มีสิทธิ์พิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางกฎหมาย อย่างเช่นข้อโต้แย้งด้านมนุษยธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น