xs
xsm
sm
md
lg

“เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน” วอนสหรัฐฯ ปฏิเสธส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน-ยืนยันไม่มีเอี่ยวรัฐประหารในตุรกี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี (ซ้าย) และ เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาชาวตุรกีผู้ก่อตั้งขบวนการฮิซเม็ต (Hizmet)
เอเอฟพี - เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาชาวตุรกีซึ่งถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหารโค่นอำนาจประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรียกร้องให้สหรัฐฯ ปฏิเสธคำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน พร้อมระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลอังการากล่าวหาตนนั้น “น่าขำ”

“วันนี้ประธานาธิบดี เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ได้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าเขาพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ฐานอำนาจของตนเข้มแข็ง และกวาดล้างทุกคนที่กล้าวิจารณ์เขา” กูเลนระบุในคำแถลงเมื่อวันอังคาร (19 ก.ค.)

“ผมขอวิงวอนให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปฏิเสธความพยายามฝ่าฝืนกระบวนการเนรเทศ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อแก้แค้นทางการเมือง”

กูเลน ซึ่งอพยพไปยังสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1999 ยืนกรานว่าตนไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ กับเหตุรัฐประหารในตุรกีเมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา

“มันช่างน่าขำเหลือเกิน และเป็นการอ้างความเท็จแบบลอยๆ ว่าผมมีส่วนพัวพันกับการปฏิวัติที่ล้มเหลวนี้”

กูเลนเป็นครูสอนศาสนาผู้ก่อตั้งขบวนการฮิซเม็ต (Hizmet) ซึ่งส่งเสริมค่านิยมอิสลามสายกลาง และมีสาขาอยู่ในหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่กลับถูกรัฐบาลเออร์โดกันตราหน้าว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

นายกรัฐมนตรี บินาลี ยิลดิริม แห่งตุรกี ระบุวานนี้ (19) ว่า รัฐบาลอังการาได้ส่งเอกสาร 4 ชุดให้ทางการสหรัฐฯ พิจารณา เพื่อผลักดันให้วอชิงตันยอมส่งตัวกูเลนกลับมาดำเนินคดีฐานเป็นกบฏ

ทำเนียบขาวแถลงว่า ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ได้โทรศัพท์พูดคุยกับเออร์โดกันเมื่อวันอังคาร (19) เกี่ยวกับคำขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน และยืนยันว่าสหรัฐฯ พร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ต่อกระบวนการสอบสวนเหตุรัฐประหาร

จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว ชี้ว่า สหรัฐฯ อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลที่รัฐบาลตุรกีส่งมาให้ เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการส่งตัวกูเลนกลับไปยังตุรกีตามสนธิสัญญาส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนที่มีมานานกว่า 30 ปี อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังจำเป็นต้องเคารพสิทธิตามกฎหมายของนักการศาสนาผู้นี้

ความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้วถือว่าร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เออร์โดกันก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตุรกีเมื่อปี 2003 และเป็นประธานาธิบดีในปี 2014 โดยทหารกบฏได้ทำการปิดสะพานข้ามช่องแคบบอสพอรัสในนครอิสตันบูล ใช้ระเบิดโจมตีอาคารรัฐสภา และกราดยิงผู้ประท้วงตามท้องถนน

เหตุการณ์นี้ยังก่อให้เกิดความหวั่นวิตกเรื่องความมั่นคงภายในตุรกี ซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในกลุ่มนาโต้ และยังเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศที่วอชิงตันใช้เป็นฐานในการโจมตีกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) รวมถึงมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกาอยู่เป็นจำนวนมากด้วย

เออร์โดกันได้ดำเนินการกวาดล้างครั้งใหญ่ โดยสั่งจับกุมทหาร ตำรวจ และตุลาการกว่า 20,000 คนทั่วประเทศภายในเวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ จนสหรัฐฯ และพันธมิตรตะวันตกต้องออกมาเตือนให้ผู้นำตุรกีคำนึงถึงหลักนิติธรรม

เมื่อวานนี้ (9) รัฐบาลตุรกียังสั่งเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศของสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุหลายแห่ง ซึ่งพวกเขาอ้างว่าเป็น “เครือข่ายก่อการร้ายของเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน”

กำลังโหลดความคิดเห็น