xs
xsm
sm
md
lg

“ตุรกี” ขยายผลล้างบางวงการศึกษา-สื่อ คุมตัว-พักงานผู้ต้องหาเพิ่มเป็น 5 หมื่นคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>ทหารตุรกีที่ถูกกล่าวหาว่าเข้าร่วมในความพยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจ ถูกคุมตัวเดินทางด้วยรถโดยสาร มาถึงอาคารศาลในนครอิสตันบูลเมื่อวันพุธ (20 ก.ค.)  รายงานข่าวระบุว่าภายหลังการยึดอำนาจที่เกิดขึ้นในวันศุกร์ (15) ล้มเหลวลง รัฐบาลก็เร่งออกกวาดล้างผู้ต้องสงสัยที่เป็นทหาร ตำรวจ และข้าราชการกระทรวงต่างๆ  ทั้งคุมขังและปลดออกจากตำแหน่งหน้าที่ รวมเป็นจำนวนถึง 50,000 คนแล้ว </i>
เอเจนซีส์ - ตุรกีเดินหน้าขุดรากถอนโคนผู้สนับสนุน “เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน” นักการศาสนาอิสลามที่ลี้ภัยในสหรัฐฯ ซึ่งถูกประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน กล่าวหาว่าบงการก่อกบฏ โดยขยายจากการกวาดล้างในกองทัพ ตำรวจ ผู้พิพากษาและอัยการ สู่แวดวงคณาจารย์ สื่อ หน่วยข่าวกรอง และกรมศาสนา รวมแล้วมีการควบคุมตัวหรือพักงานผู้ต้องสงสัยราว 50,000 คน ขณะที่ “เออร์โดกัน” มีนัดประชุมด้านความมั่นคง และ ครม.ครั้งสำคัญในวันพุธ (20 ก.ค.) ทางด้านนายกรัฐมนตรีบินาลี ยิลดิริม ก็ออกมากล่าวหาอเมริกาสองมาตรฐานในการต่อต้านการก่อการร้าย หลังวอชิงตันอ้างว่าต้องได้รับหลักฐานชี้ความผิดกูเลนก่อนจึงจะพิจารณาส่งตัวตามคำขอของตุรกี

ความพยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจที่ล้มเหลวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (15) ถือเป็นการคุกคามร้ายแรงที่สุดในรอบ 13 ปีที่เออร์โดกันเป็นผู้นำตุรกี นำไปสู่การควบคุมตัวหรือพักงานทหาร ตำรวจ ผู้พิพากษา อัยการ ข้าราชการพลเรือน และครูอาจารย์ เป็นจำนวนถึงราว 50,000 คนแล้ว

นายกรัฐมนตรีบินาลี ยิลดิริม ประกาศต่อรัฐสภาในวันอังคาร (19) ว่า จะขุดรากถอนโคน “ขบวนการก่อการร้าย” ที่ควบคุมโดยสมุนของกูเลนให้หมดจากตุรกี

วันอังคาร (19) นั้นเอง ทางการตุรกีได้ปิดสื่อมวลชนที่ให้การสนับสนุนกูเลน รวมทั้งสั่งพักงานข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ 15,200 คน ขอให้ผู้บริหารทั้งของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนเกือบ 1,600 คนลาออก และพักงานเจ้าหน้าที่ข่าวกรอง 100 คน

ต่อมาในวันพุธ (20) คณะกรรมการอุดมศึกษายังสั่งห้ามนักวิชาการเดินทางไปดูงานหรือศึกษาต่อในต่างประเทศ ส่วนนักวิชาการที่อยู่ในต่างประเทศขณะนี้ให้รีบเดินทางกลับโดยเร็วที่สุด รวมทั้งขอให้อธิการบดีของมหาวิทยาลัยทุกแห่งตรวจสอบว่ามีนักวิชาการหรือเจ้าหน้าที่คนใดพัวพันกับขบวนการของกูเลนหรือไม่ โดยให้รายงานกลับภายในวันที่ 5 สิงหาคม

นอกจากนั้นยังมีเจ้าหน้าที่ 492 คนถูกปลดออกจากกรมกิจการศาสนาและสำนักนายกรัฐมนตรี และอีก 300 คนจากกระทรวงพลังงาน

รองนายกรัฐมนตรีนูมาน เคอร์ทัลมัส เผยว่า ผู้ต้องสงสัยมีส่วนรู้เห็นในการก่อกบฏ 9,322 คนอยู่ระหว่างการดำเนินการทางกฎหมาย ในจำนวนนี้รวมถึงนายพลอาวุโสบางคน
<i>ตำรวจตุรกียืนรักษาการณ์อยู่ที่บริเวณด้านหน้าของอาคารศาลในเมืองอิสตันบูลวันพุธ (20 ก.ค.) </i>
 <i>ภาพที่ถ่ายไว้ในวันอังคาร (19 ก.ค.) โดยตั้งกล้องเล็งผ่านกระจกหน้าที่แตกร้าวเสียหายของรถยนต์คันหนึ่ง  แสดงให้เห็นธงชาติของตุรกี ซึ่งประดับอยู่บริเวณด้านหน้าของอาคารกองบัญชาการตำรวจกรุงอังการา อาคารแห่งนี้ถูกระเบิดระหว่างการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวลงเมื่อวันศุกร์ (15) </i>
สำหรับเออร์โดกันซึ่งอยู่ที่อิสตันบูลและไปปราศรัยในที่ชุมนุมของพวกสนับสนุนเขาทุกๆ คืนเป็นเวลาหลายวันต่อเนื่องกันนั้น ได้เดินทางกลับสู่กรุงอังการาเมื่อคืนวันอังคาร (19) และมีกำหนดเป็นประธานการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติและการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพุธ โดยก่อนหน้านี้ผู้นำตุรกีบอกกับผู้สนับสนุนในอิสตันบูลว่าจะประกาศการตัดสินใจสำคัญหลังการประชุมสภาความมั่นคง

นอกจากนั้น เออร์โดกันยังหารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีบารัค โอบามา เป็นครั้งแรกนับจากเหตุกบฏปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยโอบามาบอกกับเออร์โดกันว่า อเมริกาพร้อมช่วยเหลือในการสอบสวน

ขณะเดียวกัน แอช คาร์เตอร์ นายใหญ่เพนตากอน หารือทางโทรศัพท์กับรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี เกี่ยวกับความสำคัญของฐานทัพอากาศอินซีร์ลิกในตุรกี ที่สหรัฐฯ ใช้เป็นฐานปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรียและอิรัก โดยฐานทัพอากาศแห่งนี้ถูกตัดไฟตั้งแต่เกิดการกบฏ

ในประเด็นเกี่ยวกับสหรัฐฯ นั้น ยิลดิริมยังกล่าวหาวอชิงตันว่า “สองมาตรฐาน” ในการต่อต้านการก่อการร้าย หลังจากแดนอินทรีตอบว่า จะพิจารณาส่งตัวกูเลนตามคำขอต่อเมื่อตุรกีมีหลักฐานยืนยันความผิดของกูเลนอย่างชัดเจนเท่านั้น

นายกรัฐมนตรีตุรกีสำทับว่า กระทรวงยุติธรรมได้ส่งเอกสารมากมายเกี่ยวกับกูเลนไปให้สหรัฐฯ แล้ว ขณะที่เบกีร์ บอสแด็ก รัฐมนตรียุติธรรมตุรกี ขานรับว่า หลักฐานทั้งหมดฟ้องว่า ความพยายามในการรัฐประหารมาจากคำสั่งของกูเลน

อย่างไรก็ตาม ยิลดิริมเตือนประชาชนไม่ให้ “แก้แค้น” ผู้สนับสนุนความพยายามในการล้มรัฐบาล หลังมีภาพฟ้องว่า ผู้ต้องสงสัยจำนวนมากได้รับการปฏิบัติอย่างหยาบคาย

ทางด้านกูเลนนั้นออกคำแถลงเรียกร้องให้วอชิงตันปฏิเสธคำขอของอังการา พร้อมยืนยันอีกครั้งว่าไม่เกี่ยวข้องกับความพยายามในการทำรัฐประหารในตุรกี

กำลังโหลดความคิดเห็น