เอเจนซีส์ - รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี แถลงยืนยัน สหรัฐฯ ทจะพิจารณาคำขอของอังการาในการเนรเทศ เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน (Fethullah Gulen) ที่ถูกอ้างว่าอยู่เบื้องหลังปฏิวัติตุรกีที่ล้มเหลวในคืนวันศุกร์ (15 ก.ค.) ในขณะที่ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประกาศยืนยันการรัฐประหารสิ้นสุด อำนาจบังคับบัญชาอยู่ในมือ พร้อมเล็งเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส กวาดล้างอำนาจในกองทัพเติร์กเบ็ดเสร็จ ล่าสุดยอดเสียชีวิต 194 คน และบาดเจ็บ 1440 คน ทหารกบฏถูกจับกุม 2,839 นาย รวม พล.อ.เออร์เดล ออซเติร์ก (Erdal Ozturk) ผู้บัญชาการกองกำลังที่ 3 Third Army Corps ในกรุงอิสตันบูล และมีชาย 8 คนในชุดลายพรางบินด้วย ฮ.แบล็กฮอว์กเข้ากรีซ ขอลี้ภัยการเมืองด่วน ด้านกูเลนโผล่โต้เออร์โดกันจัดฉากปฏิวัติตัวเอง
NBC NEWS สื่อสหรัฐฯ รายงานเมื่อวานนี้(16 ก.ค.) ว่า แถลงการณ์ล่าสุดของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี ชี้ว่า สหรัฐฯ พร้อมพิจารณาข้อเรียกร้องจากประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ผ่านแถลงการณ์ทางโทรทัศน์ ในการเรียกร้องให้ทางสหรัฐฯ สั่งขับนักการศาสนาอิสลาม เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน (Fethullah Gulen) ที่อยู่ในระหว่างการลี้ภัยในรัฐเพนซิลเวเนียในปี 1999
ทางอังการาและเออร์โดกันได้กล่าวหาว่ากูเลนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารในคืนวันศุกร์ (15 ก.ค.) ที่ผ่านมา และนำมาสู่การเสียชีวิตด้วยตัวเลขล่าสุด 194 คน และบาดเจ็บ 1440 คน จากการแถลงยืนยันของนายกรัฐมนตรีตุรกีบินาลี ยิลดิริม (Binali Yildrim)
แต่อย่างไรก็ตาม ทางกูเลนได้ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวในวันเสาร์ (16 ก.ค.) ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยังชี้ว่าการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวนั้นอาจ ***“เป็นการจัดฉากขึ้น”***
ในรายงานของเดลีเมล์ สื่ออังกฤษชี้ว่า ในการตอบโต้กับการรัฐประหารที่เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตุรกีได้ควบคุมตัวผู้พิพากษาเติร์กและอัยการรวมกันถึง 2,745 คนที่สวามิภักดิ์ต่ออังการาเข้าให้ปากคำ และได้จับกุมทหารตุรกีฝ่ายกบฏ 2,839 นาย รวมไปถึง พล.อ.เออร์เดล ออซเติร์ก (Erdal Ozturk) ผู้บัญชาการกองกำลังที่ 3 Third Army Corps ในกรุงอิสตันบูล
อย่างไรก็ตาม ในการให้สัมภาษณ์ของกูเลนจากบ้านพัก เขาอ้างว่าประชาธิปไตยตุรกีไม่สามารถมาได้โดยการใช้กำลังทางการทหาร พร้อมยังประณามการยึดอำนาจ แต่สื่ออังกฤษชี้ว่า ในฝั่งอังการไม่เชื่อแต่อย่างใด โดยกูเลนชี้ว่า “เป็นการทำการปฏิวัติที่มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก” และยังเสริมต่อว่า ***“อาจเป็นไปได้ว่านี่เป็นการจัดฉากขึ้น” ซึ่งกูเลนโยงประเด็นไปถึง “เพื่อเป็นการใช้สำหรับข้อกล่าวหาในชั้นศาลและการดำเนินการทางยุติธรรม” ***
กูเลนยังกล่าวต่อว่า จากการรายงานของ NBC NEWS “ ดูเหมือนรัฐบาลตุรกีของเออร์โดกันจะไม่มีความอดทนต่อกลุ่ม หรือองค์กรใด ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของอังการาแบบเบ็ดเสร็จ”
ด้านสื่อสหรัฐฯ ชี้ว่า แหล่งข่าวตุรกีให้ข้อมูลกับเอพีว่า “ตุรกีได้เตรียมตัวสำหรับการดำเนินคดีกูเลนโดยการสืบหาข้อมูลในความเกี่ยวข้องกับศาสนจารย์ผู้นี้และการกระทำที่ผิดกฎหมาย และหลังจากคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางเราสามารถเพิ่มเติมอีก 1 ข้อมูลได้แล้ว”
อย่างไรก็ตาม จอห์น เคอร์บี (John Kirby) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกแถลงการณ์ในช่วงบ่ายวันเสาร์ (16 ก.ค.) ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้สนทนากับรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีม ฟลุต คาวูโซกลู (Mevlut Cavosoglu) โดยเคร์รีได้กระตุ้นในให้เจ้าหน้าที่ตุรกีสอบสวนผู้อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารในวันศุกร์ (15) ด้วยความระมัดระวังและรับผิดชอบ
ในแถลงการณ์ยังกล่าวต่อว่า เคร์รีได้สัญญาว่า สหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือในการสอบสวน แต่ยังเตือนว่า หากอังการาเชื่อในข่าวลือที่เชื่อว่า สหรัฐฯ มีความเกี่ยวพันในเรื่องนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทั้งสองชาติได้
ทั้งนี้ จอห์น เคร์รี ได้ให้สัมภาษณ์ในวันเสาร์ (16 ก.ค.) ในระหว่างการเดินทางไปยังลักเซมเบิร์กถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณาการเนรเทศกูเลนว่า คำขอจากอังการอย่างเป็นทางการ สหรัฐฯยังไม่ได้รับ “ทางเราตระหนักดีว่า จะต้องมีคำถามเกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับเฟตฮุลเลาะห์ กูเลน” และเคร์รียังย้ำว่า สหรัฐฯ พร้อมให้ความร่วมมือ หากทางตุรกีสามารถพิสูจน์ถึงความผิดในส่วนของกูเลนได้ “อย่างเห็นได้ชัด ทางเราขอให้รัฐบาลตุรกีแสดงหลักฐานความผิดตามกฎหมายออกมา พร้อมกับการตรวจสอบ และทางวอชิงตันจะเริ่มต้นพิจารณา และประเมินอย่างสมเหตุสมผล”
โดยในวันเสาร์ (16 ก.ค.) เออร์โดกันได้แถลงถึงการพยายามทำการรัฐประหารได้สิ้นสุดลง และตัวเขาสามารถควบคุมอำนาจของตุรกีได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งในส่วนยอดผู้เสียชีวิต 194 คนในระหว่างการปะทะนั้น พล.อ.อูมิต ดันดาร์ (Umit Dundar) ได้แถลงว่า เป็นพลเรือน 47 คน ตำรวจตุรกี 41 นาย ทหารฝ่ายกบฏ 2 นาย และผู้วางแผนทำรัฐประหารอีก 104 คน
สื่อสหรัฐฯ รายงานว่า การต่อสู้ยังดำเนินต่อในช่วงเช้าวันเสาร์ (16 ก.ค.) ที่พบว่า มีเสียงระเบิดดังไปทั่วบริเวณในเมืองอิสตันบูล และกรุงอังการา ซึ่งรวมไปถึงระเบิดอย่างน้อย 1 ครั้งโจมตีรัฐสภาตุรกี โดยในภาพข่าวโทรทัศน์ท้องถิ่นแสดงให้เห็นถึงเศษกระจกที่แตกกระจายไปทั่วจากบริเวณล็อบบี้ไปจนถึงห้องประชุมรัฐสภา
นอกจากนี้ กองทัพกรีซได้ยืนยันการจับตัวชาย 8 คนที่ได้แอบหลบหนีเข้าประเทศด้วยเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์กผ่านทางท่าอากาศยานพลเรือนบริเวณพรมแดนตุรกีและกรีซ ซึ่งแหล่งข่าวตำรวจประเทศเพื่อนบ้านกรีซได้ให้ข้อมูลว่า คนเหล่านี้ได้ยื่นขอลี้ภัยการเมือง โดยพบว่าคนทั้ง 8 ไม่มีอาวุธและแต่งตัวในชุดทหารโดยไม่ติดชั้นยศ เลาคัส คริคอส (Loukas Krikos) โฆษกตำรวจกรีซแถลง
ทั้งนี้ ในวันเสาร์ (16 ก.ค.) ประธานาธิบดีตุรกีได้เดินทางด้วยเครื่องบินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติอตาเติร์ก (Ataturk) และได้รับการต้อนรับจากมหาชนอย่างล้นหลาม ซึ่ง RT สื่อรัสเซียรายงานว่าในการแถลงของเออร์โดกันในคืนวันรับประหารวันศุกร์ ผู้นำตุรกีชี้ว่านี่เป็นโอกาสในการกวาดล้างกองทัพ “นี่เป็นของขวัญจากพระเจ้าที่ประทานโอกาสให้กับเราในการชำระล้างกองทัพตุรกี”