xs
xsm
sm
md
lg

‘ใครแพ้ใครชนะ’ในความพยายามก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวใน‘ตุรกี’

เผยแพร่:   โดย: เอ็ม เค ภัทรกุมาร

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Winners, losers in Turkey’s coup bid
By M.K. Bhadrakumar
16/07/2016

เป็นเรื่องง่ายเกินไปที่จะบอกว่าความพยายามก่อรัฐประหารในตุรกีครั้งนี้ เป็นเพราะพวกนายทหารขุ่นเคืองไม่พอใจความเป็นเผด็จการของประธานาธิบดีรีเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ขณะที่รัฐบาลอังการาเองนั้นชี้นิ้วกล่าวโทษพวกสานุศิษย์ของ เฟตุลเลาะห์ กูเลน ผู้นำอิสลามิสต์ชาวตุรกีซึ่งลี้ภัยไปตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้ก่อการยึดอำนาจที่ล้มเหลวคราวนี้

ความพยายามของทหารส่วนหนึ่งในตุรกีที่จะก่อรัฐประหารยึดอำนาจมีอันล้มเหลวลงแล้ว และคาดหมายได้ว่าการกวาดล้างครั้งใหญ่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น สภาพภูมิรัฐศาสตร์ของการรัฐประหารคราวนี้ทำให้เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ความสั่นสะเทือนซึ่งติดตามมาจะต้องเป็นที่รู้สึกกันอย่างกว้างไกลเลยออกไปจากตุรกี

การพูดถึงความพยายามก่อรัฐประหารคราวนี้ว่า เป็นการระเบิดปะทุตัวของเหล่านายพลและนายพันผู้หงุดหงิดขุ่นเคืองจนต้องก่อกบฎต่อต้านคัดค้านผู้นำจอมเผด็จการนั้น เป็นการบรรยายความแบบง่ายๆ หยาบๆ จนเกินไป ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป้าหมายที่พวกรัฐประหารต้องการโค่นล้มในคราวนี้คือประธานาธิบดี รีเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ทว่าวาระของพวกเขามีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่านั้นมากมายนัก

เหตุการณ์อันน่าตื่นใจคราวนี้ กำลังส่งผลกระทบสั่นสะเทือนอย่างแรงต่อบทบาทในระดับภูมิภาคและในระดับนานาชาติของตุรกีในทุกๆ มิติทีเดียว

สิ่งหนึ่งซึ่งสามารถกล่าวด้วยความมั่นใจอย่างที่สุดกันตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวก็คือ ครั้งนี้ไม่ใช่ความพยายามก่อรัฐประหารของพวก “เคมาลลิสต์” (Kemalist) ผู้ซึ่งพยายามหาทางเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันกระแสคลื่นแห่ง “อิสลามทางการเมือง” (political Islam) ให้ถอยหลังกลับไป และโยกย้ายเอาประธานาธิบดีเออร์โดกันลงจากอำนาจ อันที่จริงแล้ว ผู้นำของ 2 พรรคฝ่ายค้านสำคัญที่สุดในตุรกี ได้แก่ พรรคการเมืองหลักในฝ่ายเคมาลลิสต์ และพรรคชาตินิยม ต่างได้ออกมาแถลงแสดงความสมานฉันท์เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแข็งแกร่งกับพวกกลุ่มพลังประชาธิปไตยทั้งหลาย

สภาวการณ์เช่นนี้ย่อมหมายความต่อไปว่า ผู้นำตุรกีที่ได้รับความนิยมชมชื่นแบบมโหฬารอยู่แล้วอย่างเออร์โดกัน ณ ขณะนี้ยังได้รับความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนชาวตุรกีกลุ่มอื่นๆ อย่างกว้างขวางยิ่งกว่าพวกผู้ออกเสียงจำนวน 51% ซึ่งไปลงคะแนนให้พรรคยุติธรรมและการพัฒนา (Justice & Development Party) ของเขาในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาปี 2014 จนทำให้สามารถปกครองประเทศได้อย่างมั่นคง

ประชาชนชาวตุรกีส่วนข้างมากท่วมท้นพากันแสดงออกให้เห็นว่า ไม่ต้องการให้ประเทศชาติของพวกเขากลับไปมีชีวิตอย่างในยุคอดีต ซึ่ง “พวกปาชา” (Pasha) ขุนนางข้าราชการระดับสูงโดยเฉพาะฝ่ายทหาร สามารถที่จะล้มล้างอำนาจสูงสุดของคณะผู้นำฝ่ายพลเรือนที่ขึ้นครองอำนาจด้วยการได้รับเลือกตั้ง

แน่นอนทีเดียวว่า เออร์โดกันตระหนักได้ว่าเขากำลังอยู่กับกระแสหลักของประวัติศาสตร์ และสามารถคาดหมายได้ว่าเขาจะต้องฉวยใช้ประโยชน์จากฐานะเช่นนี้ในช่วงเวลานับจากนี้ไป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจที่สุดสิ่งที่ถือเป็นลางบอกเหตุอันชัดเจนที่สุด กลับได้แก่การที่รัฐบาลชี้นิ้วไปที่พวกสานุศิษย์ของ เฟตุลเลาะห์ กูเลน (Fetullah Gulen) ผู้นำอิสลามิสต์ชาวตุรกีซึ่งลี้ภัยไปตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯ ว่าเป็นผู้ก่อการรัฐประหารที่ล้มเหลวคราวนี้ (ตัวกูเลนเองได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร)

ทั้งนี้สำนักข่าวอนาโดลู (Anadolu news agency) ของทางการตุรกี ได้รายงานข่าวระบุชื่ออย่างชัดเจนว่า พันเอก มูฮาร์เรม โคเซ (Colonel Muharrem Kose) ผู้ซึ่งถูกปลดออกจากกองทัพตุรกีอย่างไร้เกียรติในเดือนมีนาคม 2016 ด้วยข้อกล่าวว่าพัวพันโยงใยกับกูเลน คือผู้นำของการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวครั้งนี้

กระทรวงยุติธรรมก็แถลงทางสถานีโทรทัศน์ของรัฐว่า พวกผู้สนับสนุนกูเลนนั่นแหละเป็นพวกที่พยายามก่อการยึดอำนาจ

แน่ใจได้แบบ 100% เต็มทีเดียวว่า รัฐบาลจะต้องเปิดการกวาดล้างอย่างใหญ่โตมโหฬารเพื่อเล่นงานบรรดาสานุศิษย์ของกูเลน ซึ่งอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล ตลอดจนในกองทัพและในฝ่ายตุลาการ

เออร์โดกันนั้นพยายามหาทางมานานแล้วที่จะขอให้สหรัฐฯส่งตัวกูเลนกลับมายังตุรกีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และเวลานี้จากสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นมาก็ยิ่งทำให้ข้อเรียกร้องนี้ยิ่งมีความจำเป็นเร่งด่วน โดยแรงกดดันต่อวอชิงตันจะต้องเพิ่มทวีขึ้นอีกมาก อย่างไรก็ดี ตรงนี้มีเรื่องราวที่เป็นปริศนาแฝงเร้นอยู่ด้วย

จุดสำคัญก็คือ ในความคิดของฝ่ายตุรกีนั้นมีความสงสัยข้องใจกันเรื่อยมาว่า กูเลนอาจจะทำงานให้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ

หนังสือบันทึกความทรงจำซึ่งเขียนโดย ออสมาน นูริ กุนเดส (Osman Nuri Gundes) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองของตุรกี (เขาดำรงตำแหน่งนี้ในยุคของเออร์โดกัน) และตีพิมพ์เมื่อปี 2011 ในทางเป็นจริงแล้วได้กล่าวหาว่า ขบวนการอิสลามของกูเลนที่มีฐานอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนียและมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลกนั้น เป็นองค์กรบังหน้าให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพวกประเทศแถบเอเชียกลางที่เคยเป็นสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตมาก่อน

สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ ในเวลาต่อมารัสเซียได้ออกคำสั่งห้ามสำนักแนวคิดอิสลาม “ฮิซเมต” (Hizmet) ของกูเลน โดยที่อุซเบกิสถานเป็นอีกประเทศหนึ่งซึ่งมีการห้ามเช่นนี้ด้วย

ถึงแม้กูเลนหลบหนีออกจากตุรกีไปยังสหรัฐฯตั้งแต่ปี 1998 แต่เขาก็เพิ่งได้รับใบอนุญาตให้ตั้งถิ่นฐานพำนักในสหรัฐฯ (กรีนการ์ด) ได้ก็เมื่อถึงปี 2008 แล้ว และชาวตุรกีต่างยืนยันกันเรื่อยมาว่า ใบสมัครยื่นขอกรีนการ์ดของเขานี้มีเจ้าหน้าที่ระดับท็อปของซีไอเอ 2 คนเป็นผู้เซ็นรับรอง (ควรต้องชี้ด้วยว่ากูเลนไม่ได้เคยเดินทางออกนอกสหรัฐฯเลยตลอดระยะเวลา 18 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ที่เขาเดินทางถึงแผ่นดินอเมริกัน ถึงแม้ว่าเครือข่ายของเขามีการปฏิบัติการตามที่ต่างๆ ทั่วโลก)

เห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อพิจารณาทาบกับภูมิหลังของการก่อรัฐประหารที่ล้มเหลวในคราวนี้แล้ว บทบาทของกูเลนจะกลายเป็นเงาดำทะมึนบดบังความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับสหรัฐฯอย่างแน่นอน หลังจากที่สายสัมพันธ์นี้ได้รับความเสียหายอยู่แล้วจากกรณีต่างๆ หลายหลากในช่วงปีหลังๆ แห่งการปกครองของเออร์โดกัน

คำถามใหญ่ที่ควรต้องหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกข้อหนึ่งก็คือ ความพยายามยึดอำนาจคราวนี้ได้รับแรงจูงใจมากน้อยแค่ไหนจากการดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศของเออร์โดกัน นี่อาจจะเป็นมิติซึ่งไม่สามารถที่จะมองเมินข้ามไปโดยง่ายดาย

กูเลนได้ส่งเสียงแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างแรงต่อนโยบายระดับภูมิภาคจำนวนมากที่ก่อให้เกิดการโต้แย้งกันหนักของเออร์โดกัน เป็นต้นว่า ความเสื่อมโทรมลงของความสัมพันธ์ที่ตุรกีมีอยู่กับอิสราเอล และการจัดการกับปัญหาชาวเคิร์ดของเออร์โดกัน ตลอดจนการที่ตุรกีเข้าแทรกแซงในซีเรีย

ออกจะน่าประหลาดเอาการ ความพยายามก่อรัฐประหารคราวนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่นโยบายการต่างประเทศของตุรกีทำท่าว่าจะเริ่มปรับเปลี่ยนไปสู่แนวโน้มใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไปในทิศทางที่จะรอมชอมกับรัสเซีย รวมทั้งความเป็นไปได้ที่ตุรกีจะยุตินโยบายแบบนักแทรกแซงที่กระทำอยู่ในซีเรีย

ถ้าการรัฐประหารคราวนี้เกิดประสบความสำเร็จขึ้นมา มันย่อมที่จะทำลายความเป็นไปได้ที่จะเกิดการพบปะหารือกันระหว่างเออร์โดกันกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรสเซียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ ซึ่งจะเป็นการเจรจาที่อาจกลายเป็นนาทีตัดสินความเป็นไปของสงครามความขัดแย้งในซีเรียทีเดียว

มอสโกนั้นมองว่า การปรับความสัมพันธ์กับตุรกีให้กลับคืนสู่ภาวะปกติ อาจจะส่งผลต่อเนื่องในทางบวกต่อสถานการณ์ในซีเรีย ขณะที่อังการาก็แสดงท่าทีเป็นนัยๆ เช่นกันถึงความพรักพร้อมที่จะสถาปนาสายสัมพันธ์กับซีเรียขึ้นมาใหม่ (สัญญาณที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ได้แก่การที่รัฐมนตรีต่างประเทศ โมฮัมหมัด ซาริฟ ของอิหร่าน ใช้ถ้อยคำภาษาอันรุนแรงเป็นพิเศษทีเดียวในการประณามความพยายามที่จะก่อรัฐประหารในตุรกีครั้งนี้ กระทั่งตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลตุรกีจะสามารถปราบปรามพวกก่อรัฐประหารได้อย่างเด็ดขาดเสียอีก)

ด้วยเหตุนี้ เมื่อนำสิ่งต่างๆ ทั้งหมดมาขบคิดพิจารณาแล้วก็จะปรากฏภาพขึ้นมาว่า มอสโกและเตหะรานกำลังคาดหมายความเป็นไปได้ที่ตุรกีจะมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดิน ซึ่งจะกลายเป็นเหตุการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีผลพวงต่อเนื่องอย่างใหญ่โตยาวไกลต่อการจับกลุ่มรวมตัวกันใหม่ในแวดวงการเมืองแห่งภูมิภาคตะวันออกกลาง และต่อดุลแห่งอำนาจโดยรวมทีเดียว

ขณะเดียวกัน ตุรกี ในฐานะที่เป็นมหาอำนาจนาโต้รายสำคัญรายหนึ่ง คือหุ้นส่วนในภูมิภาคซึ่งฝ่ายตะวันตกไม่อาจขาดได้ในการดำเนินยุทธศาสตร์ตะวันออกกลางให้บังเกิดผลทรงประสิทธิภาพ แน่นอนว่าเท่าที่ผ่านมานั้นเออร์โดกันไม่ได้เป็นหุ้นส่วนผู้ง่ายแก่การติดต่อร่วมมือด้วย อีกทั้งในส่วนของเขาเอง เขาก็ยังคงสงสัยข้องใจเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของฝ่ายตะวันตกอยู่เช่นกัน

เราคงพอจะนึกออกว่า ถ้าหากตุรกีกับรัสเซียมีความใกล้ชิดกันขึ้นมาใหม่จริงๆ แล้ว ยังจะทำให้ฝ่ายตะวันตกเกิดความจำเป็นที่จะต้องรีเซตการคาดคำนวณเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ต่างๆ กันใหม่หมดทีเดียว ไล่กันตั้งแต่วาระการมุ่งเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองในซีเรีย และการสู้รบปราบปรามการก่อการร้าย ไปจนถึงวาระของการสร้างสายท่อส่งก๊าซไปป้อนตลาดยุโรป ซึ่งเวลานี้มีหลายๆ ทางเลือกแข่งขันกันอยู่

จุดสำคัญที่สุดเลยอยู่ตรงที่ว่า ถ้าหากได้รับการพิสูจน์แล้ว (ไม่ต้องถึงกับว่า หลังจากที่ได้รับการพิสูจน์กันจนสิ้นสงสัยแล้วหรอก) ว่า “พวกกูเลนนิสต์” คือผู้พยายามก่อการรัฐประหารที่ล้มเหลวในคราวนี้ เออร์โดกันก็อาจจะมองเห็นมือที่แอบซ่อนอยู่เบื้องหลังของฝ่ายข่าวกรองตะวันตก ในการมุ่งโค่นล้มผลักไสให้เขาพ้นออกไปจากแวดวงการเมืองของตุรกี

เป็นที่ชัดเจนทีเดียวว่า การที่เออร์โดกันใช้วิธีเรียกร้องวอนขอ “พลังประชาชน” มาปราบปรามความพยายามก่อรัฐประหารครั้งนี้ เป็นสิ่งซึ่งสร้างเซอร์ไพรซ์ให้แก่พวกนักวิเคราะห์สหรัฐฯส่วนใหญ่ แต่ถึงมันจะดูไร้ความเอร็ดอร่อยสักเพียงไหนก็ตามที ตอนนี้ทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางทั้ง “ประชาคมระหว่างประเทศ” โดยเฉพาอย่างยิ่งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ก็ไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วนอกจากจะต้องเรียนรู้ถึงวิธีที่จะอยู่กับเออร์โดกันผู้ซึ่งกำลังชี้นิ้วเที่ยวส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังสนั่น

เออร์โดกันน่าจะมีความโน้มเอียงที่จะเดินหน้านโยบายการต่างประเทศที่เป็นอิสระเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ ภายหลังจากประสบการณ์อันเจ็บแสบคราวนี้ ซึ่งเขาสามารถหลบหลีกรอดพ้นมาได้แบบเฉียดฉิว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุการณ์เหล่านี้น่าจะกลายเป็นส่วนประกอบอยู่ในความเพลี่ยงพล้ำปราชัยครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งมีวาระที่จะสถาปนาให้นาโต้สามารถปรากฏตัวอย่างถาวรในทะเลดำเพื่อการปิดล้อมรัสเซีย

เอกอัครราชทูต เอ็ม เค ภัทรกุมาร เคยรับราชการเป็นนักการทูตอาชีพในกระทรวงการต่างประเทศอินเดียเป็นเวลากว่า 29 ปี ในตำแหน่งต่างๆ เป็นต้นว่า เอกอัครราชทูตอินเดียประจำอุซเบกิสถาน (ปี 1995-1998) และเอกอัครราชทูตอินเดียประจำตุรกี (ปี 1998-2001) ปัจจุบันเขาเขียนอยู่ในบล็อก “อินเดียน พันช์ไลน์” (Indian Punchline) รวมทั้งเขียนให้เอเชียไทมส์เป็นประจำตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น