xs
xsm
sm
md
lg

ตุรกีเดินหน้ากวาดล้างทหาร-ตุลาการ มะกันฉุนถูกโยงพัวพันกบฏเติร์ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ – รัฐบาลตุรกีกวาดจับทหารที่ต้องสงสัยวางแผนยึดอำนาจเกือบ 3,000 คน รวมทั้งควบคุมตัวผู้พิพากษานับพัน หลังจัดการกลุ่มกบฏที่พยายามโค่นล้มประธานาธิบดี เรเซป ตายยิป เออร์โดกัน ด้านประธานาธิบดี บารัค โอบามา ประกาศสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของตุรกี ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ขานรับพร้อมช่วยจัดการผู้อยู่เบื้องหลัง หากมีหลักฐานยืนยัน พร้อมเตือนรัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีระวังคำพูด หยุดกล่าวหาวอชิงตันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อกบฏ

เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ระบุว่า ทหารที่ฐานทัพอากาศอินเซอร์ลิก ซึ่งอเมริกาใช้เป็นฐานโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในซีเรีย มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวข้องกับความพยายามจะยึดอำนาจ โดยทางตุรกีจะกลับไปร่วมปฏิบัติการโจมตีไอเอสกับพันธมิตรที่นำโดยอเมริกาหลังจากจัดการพวกกบฏราบคาบ

ด้านประธานาธิบดีเออร์โดกันประกาศว่า “คนเหล่านั้นจะต้องชดใช้อย่างสาสม” พร้อมเปิดฉากกวาดล้างอำนาจในกองทัพ ซึ่งเคยทำรัฐประหารสำเร็จครั้งล่าสุดคือเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมรวมถึงผู้บัญชาการทหาร อาทิ ผู้บัญชาการกองกำลังที่สอง ซึ่งป้องกันชายแดนของประเทศที่ติดกับซีเรีย อิรัก อิหร่าน

ทหารหลายร้อยนายถูกควบคุมตัวในอังการาจากข้อหาเกี่ยวข้องในการกบฏ โดยรัฐบาลประกาศว่า ควบคุมสถานการณ์ได้แล้วหลังจากจับกุมผู้ต้องสงสัย 2,839 คนที่มีทั้งทหารราบ นายทหารอาวุโส และผู้ที่เป็นโครงข่ายการปฏิวัติ

รัฐบาลตุรกียังกวาดล้างระบบตุลาการเนื่องจากสงสัยว่า เชื่อมโยงกับ "เฟตุลเลาะห์ กูเลน" นักการศาสนาอิสลามที่ลี้ภัยอยู่ในอเมริกา โดยปลดและควบคุมตัวอัยการกับผู้พิพากษาเกือบ 3,000 คน

เออร์โดกันกล่าวหาว่า ผู้ก่อการกบฏคือพวกที่สนับสนุนกูเลนที่พยายามสร้างความปั่นป่วนในกองทัพ สื่อแขนงต่างๆ รวมถึงระบบตุลาการมาหลายครั้ง พร้อมเรียกร้องให้อเมริกาส่งตัวกูเลนให้ตุรกี

อย่างไรก็ตาม กูเลน ผู้เคยสนับสนุนเออร์โดกัน แต่ปัจจุบันกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุวุ่นวายในตุรกี พร้อมประณามผู้พยายามยึดอำนาจ

ด้านประธานาธิบดีโอบามาของสหรัฐฯ ประกาศสนับสนุนรัฐบาลตุรกีและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงการบั่นทอนเสถียรภาพประเทศและปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอห์น เคร์รี ขานรับว่า อเมริกาสนับสนุนรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งและสถาบันประชาธิปไตยของตุรกีอย่างเต็มที่ รวมทั้งยินดีช่วยเหลือในการสืบค้นหาตัวผู้เกี่ยวข้องกับการก่อกบฏ แต่สำทับว่าจะดำเนินการต่อเมื่อมีหลักฐานเอาผิดกูเลนเท่านั้น

เคร์รียังเตือนคาวูโซกลู ถึงการป่าวร้องว่าอเมริกามีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อกบฏครั้งนี้ไม่มีมูลอย่างแท้จริง ทั้งยังอาจกระทบต่อความสัมพันธ์สองประเทศ

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา (15) มีการโจมตีสองเมืองใหญ่ของตุรกีนานหลายชั่วโมง โดยกลุ่มติดอาวุธที่พยายามปิดสะพานหลายแห่งที่ใช้ข้ามช่องแคบบอสฟอรัสที่แบ่งยุโรปกับเอเชียในอิสตันบูล รวมทั้งกราดยิงศูนย์บัญชาการข่าวกรองและอาคารรัฐสภาในกรุงอังการา เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 265 คน โดยในจำนวนนี้ 161 คนเป็นพลเมืองและตำรวจ และอีก 104 คนคือผู้สนับสนุนการยึดอำนาจ

รายงานระบุว่า การปฏิวัติเริ่มต้นเมื่อทหารกบฏส่งเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์บินเหนืออังการา มีการกราดยิงและโจมตีด้วยระเบิดทั้งที่อิสตันบูลและอังการาตลอดคืนวันศุกร์ ทหารยังเข้ายึดสถานที่ต่างๆ และสั่งให้สถานีทีวีของรัฐอ่านแถลงการณ์ประกาศยึดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม บรรยากาศการต่อสู้เริ่มสงบลงเมื่อรุ่งสางวันเสาร์ (16) ขณะที่เออร์โดกันรีบบินกลับจากการตากอากาศที่เมืองมาร์มาริสสู่อิสตันบูลก่อนรุ่งเช้าวันนั้น และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านกลุ่มกบฏที่พยายามลอบสังหารตน

บ่ายวันเสาร์ ซีเอ็นเอ็น เติร์กรายงานว่า กองกำลังความมั่นคงสามารถปราบปรามผู้ก่อการกบฏในศูนย์บัญชาการทหารเสนาธิการราบคาบ ตำรวจเข้าควบคุมตัวทหารราว 100 นายที่ฐานทัพอากาศทางตะวันออกเฉียงใต้

ด้านกรีซจับกุมผู้ขอลี้ภัยการเมือง 8 คน ที่นำเฮลิคอปเตอร์ทหารของตุรกีลงจอดที่เมืองอเล็กซานดรูโปลิสเมื่อวันเสาร์

ทั้งนี้ พรรคเอเคของเออร์โดกัน นั้นระหองระแหงกับกองทัพที่ปกป้องลัทธิฆราวาสนิยมมานาน แถมวิสัยทัศน์สำหรับอนาคตของประเทศที่อิงกับศาสนาแนวอนุรักษ์นิยมของเออร์โดกัน ยังถูกต่อต้านโดยประชาชนจำนวนมากที่กล่าวหาว่า เขาใช้ลัทธิอำนาจนิยม

ถึงกระนั้น เออร์โดกันก็เป็นที่รักใคร่และจงรักภักดีในหมู่ประชาชนนับล้าน โดยเฉพาะจากการยกระดับมาตรฐานการครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เผชิญวิกฤตมาหลายรอบ

ความรุนแรงครั้งนี้มีแนวโน้มกระทบอย่างแรงต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ทรุดลงอยู่แล้วจากเหตุระเบิดหลายครั้ง รวมทั้งความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ

ทั้งนี้ หากกลุ่มกบฏโค่นล้มเออร์โดกันที่ปกครองตุรกีมาตั้งแต่ปี 2003 สำเร็จ จะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงอีกครั้งในตะวันออกกลาง หลังกระแสการปฏิวัติอาหรับเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้ซีเรียเข้าสู่สงครามกลางเมืองมาจนถึงวันนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ยึดอำนาจไม่สำเร็จ แต่ก็อาจสร้างความปั่นป่วนอย่างหนักให้ตุรกีที่เป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาปกป้องแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และพันธมิตรสำคัญของอเมริกาที่คั่นกลางระหว่างสหภาพยุโรป (อียู) กับความวุ่นวายของซีเรีย ซึ่งต้องต่อสู้กับมือระเบิดไอเอสที่ลอบโจมตีเมืองต่างๆ ของตุรกีหลายครั้ง ทั้งยังต้องทำสงครามกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด




กำลังโหลดความคิดเห็น