xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus : รัฐประหารในตุรกียิ่งช่วย “แอร์โดอัน” รวบอำนาจ จับตาอังการาปรับจุดยืนซบอก “รัสเซีย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความพยายามก่อรัฐประหารในตุรกีเมื่อวันศุกร์ที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจับตามอง และอาจเป็นรัฐประหารที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อแวดวงการเมืองของตุรกีได้มากกว่าทุกครั้งในรอบ 40 ปี เพราะความปราชัยของทหารกบฏคราวนี้ยิ่งทำให้ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) ผู้มีแนวคิดอิสลามเคร่งจารีต ได้รับอาณัติจากประชาชนในการที่จะรวบอำนาจ กวาดล้างบรรดาศัตรูที่แฝงตัวอยู่ในสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะกองทัพซึ่งถืออุดมการณ์ปกป้องประชาธิปไตยและความเป็นรัฐทางโลกของตุรกี

การก่อรัฐประหารเริ่มขึ้นระหว่างที่ แอร์โดอัน เดินทางไปพักผ่อนตากอากาศที่เมืองมาร์มาริส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกี โดยมีฝูงเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์บินว่อนอยู่เหนือกรุงอังการา ขณะที่ทหารกลุ่มหนึ่งได้เคลื่อนพลเข้าไปปิดกั้นสะพานข้ามช่องแคบบอสพอรัสที่เชื่อมนครอิสตันบูลฝั่งยุโรปกับเอเชีย จากนั้นได้มีการปิดสนามบินหลายแห่ง และการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็ถูกตัดขาด

สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐทีอาร์ทีแถลงคำประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ โดยผู้ประกาศข่าวรายหนึ่งอ่านคำสั่งของทหารที่กล่าวหารัฐบาลว่าบั่นทอนประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม พร้อมระบุว่าประเทศจะถูกบริหารโดย "สภาสันติภาพ" ที่จะรับประกันความปลอดภัยของประชาชน

หนังสือพิมพ์ Hurriyet ของตุรกีรายงานว่า แอร์โดอัน ได้รับการแจ้งเตือนก่อนที่การรัฐประหารจะเริ่มเพียงราวๆ 1 ชั่วโมง ซึ่งช่วยให้เขาสามารถหลบหนีออกจากที่พักได้ทัน และอีกครึ่งชั่วโมงต่อมา พวกกบฏได้ส่งเฮลิคอปเตอร์ 3 ลำพร้อมทหารเข้าไปในโรงแรมที่ แอร์โดอัน พักอยู่ เพื่อหมายจับกุมหรือสังหารประธานาธิบดี ซึ่งระหว่างนั้น แอร์โดอัน ได้มุ่งหน้ากลับไปที่นครอิสตันบูลแล้ว

สัญญาณความล้มเหลวของการก่อรัฐประหารเริ่มเด่นชัด เมื่อ แอร์โดอัน ได้ปรากฏตัวผ่านเฟซไทม์สซึ่งถ่ายทอดทางสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเติร์ก และเรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงพลังต่อต้านรัฐประหาร หลังจากนั้นชาวตุรกีจำนวนมากก็ได้ฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวของคณะปฏิวัติ และออกมาชุมนุมตามจัตุรัสใหญ่ๆ ทั้งที่กรุงอังการาและนครอิสตันบูล พร้อมโบกสะบัดธงชาติและป่าวร้องสโลแกนสนับสนุนรัฐบาล

“รัฐประหารครั้งนี้ถือเป็นของขวัญจากพระเจ้า” แอร์โดอัน กล่าวระหว่างปรากฏตัวต่อหน้าผู้สนับสนุนที่สนามบินอตาเติร์กในนครอิสตันบูลเมื่อเช้ามืดวันเสาร์ (16) “นี่เป็นโอกาสที่เราจะได้ชำระล้างกองทัพให้สะอาดเสียที”

จากภาษาที่ แอร์โดอัน ใช้เป็นที่เข้าใจชัดเจนว่า ความพ่ายแพ้ของคณะปฏิวัติถือเป็นชัยชนะสำหรับการเมืองแบบอิสลาม (Political Islam) ในทัศนะของเขา และยังเป็นใบเบิกทางให้รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปกองทัพซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการเชิดชูสูงสุดในตุรกี

เหตุจลาจลที่เกิดขึ้นเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 200 คน ขณะที่ แอร์โดอัน ได้สั่งควบคุมตัวตำรวจ ข้าราชการพลเรือน ตุลาการ และทหารเกือบ 20,000 คนที่ถูกกล่าวหาว่ารู้เห็นเป็นใจกับการก่อรัฐประหาร จนบรรดาผู้นำชาติตะวันตกถึงกับออกมาเตือนให้ผู้นำตุรกี “เคารพหลักนิติธรรม”

แอร์โดอัน ออกมาแถลงในวันพุธ (20 ก.ค.) ว่าอาจมี “ต่างชาติ” เกี่ยวข้องกับความพยายามยึดอำนาจ ทว่าไม่ขอระบุชื่อประเทศ พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 3 เดือนเพื่อเดินหน้าไล่ล่ากลุ่มก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหาร
ประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน แห่งตุรกี
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำยืนยันว่า อะไรคือแรงจูงใจให้ทหารกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาก่อกบฏต่อ แอร์โดอัน แต่ผลที่เห็นชัดเจนก็คือ รัฐประหารครั้งนี้กลับทำให้ฐานอำนาจของผู้นำตุรกีแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ท่ามกลางภัยคุกคามสารพัดอย่างที่ตุรกีกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) เหตุความไม่สงบฝีมือชาวเคิร์ด และเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง

เหตุการณ์นี้ยังก่อให้เกิดความหวั่นวิตกเกี่ยวกับความมั่นคงภายในตุรกีซึ่งเป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญของสหรัฐฯ และยังเป็นที่ตั้งฐานทัพอากาศอินซีร์ลิก (Incirlik) ที่วอชิงตันใช้เป็นฐานในการโจมตีกลุ่มไอเอส รวมถึงมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ของอเมริกาอยู่เป็นจำนวนมากด้วย

“แอร์โดอัน ได้ดำเนินการปฏิรูปที่สวนทางกับความเป็นรัฐทางโลกทีละเล็กทีละน้อยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่หลังจากนี้เราคงจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ลึก และเร็วยิ่งขึ้น” มาร์ก เพียรินี อดีตเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป (อียู) ประจำตุรกี ให้สัมภาษณ์

“นี่คือเฟสใหม่สำหรับการเป็นผู้นำประเทศของแอร์โดอัน แต่อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีนักสำหรับระบอบประชาธิปไตยในตุรกี”

รัฐบาลอังการากล่าวโทษพวกสานุศิษย์ของ เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาชาวตุรกีซึ่งลี้ภัยไปสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 1999 ว่าเป็นผู้ก่อการยึดอำนาจที่ล้มเหลวคราวนี้ ขณะที่เจ้าตัวก็ออกมาแถลงตอบโต้ว่าข้อครหาดังกล่าวเป็นสิ่งน่าขำ และตนไม่ได้รู้เห็นอะไรเลยกับการก่อรัฐประหารในตุรกี

กูเลน วัย 75 ปี เป็นผู้ก่อตั้งขบวนการฮิซเม็ต (Hizmet) ซึ่งส่งเสริมค่านิยมอิสลามสายกลาง และมีสาขาอยู่ในหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่กลับถูกรัฐบาลแอร์โดอันตราหน้าว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย

การจับกุมพลเมืองไม่น้อยกว่า 6,000 คนในเวลาอันรวดเร็ว โดยกว่าครึ่งเป็นทหารและผู้พิพากษา ทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่า แอร์โดอัน คงจะถือโอกาสนี้ “ล้างบาง” พวกสาวกของ กูเลน ไปเสียเลยทีเดียว

แอร์โดอัน พยายามมานานแล้วที่จะขอให้วอชิงตันส่งตัว กูเลน กลับมายังตุรกีในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน และการก่อรัฐประหารที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆ ร้อนๆ ก็ยิ่งทำให้อังการาเรียกร้องกดดันสหรัฐฯ มากขึ้นในเรื่องนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายตุรกียังระแวงสงสัยมานานแล้วว่า กูเลน อาจจะทำงานให้หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ

บทความของ เอ็ม. เค. ภัทรกุมาร ซึ่งเผยแพร่ลงเว็บไซต์เอเชียไทม์ส ได้อ้างถึงหนังสือบันทึกความทรงจำซึ่งเขียนโดย ออสมาน นูริ กุนเดส (Osman Nuri Gundes) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองของตุรกี ซึ่งได้กล่าวหาว่าขบวนการอิสลามของ กูเลน ซึ่งมีฐานอยู่ในรัฐเพนซิลเวเนีย และมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก เป็นองค์กรบังหน้าให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (ซีไอเอ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศแถบเอเชียกลางที่เคยเป็นสาธารณรัฐของสหภาพโซเวียตมาก่อน
เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน นักการศาสนาชาวตุรกีวัย 75 ปี ซึ่งถูกทางการตุรกีกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการรัฐประหาร
แอร์โดอัน ยังออกมาเผยด้วยว่า เขาเคยแบ่งปันข่าวกรองให้สหรัฐฯ เรื่องที่พวกสานุศิษย์ของ กูเลน อาจกำลังพยายามทำรัฐประหารยึดอำนาจ แต่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา กลับแสดงอาการเฉยเมยไม่สนใจ ซึ่งทำให้เป็นที่น่าสงสัยยิ่งขึ้นไปอีกว่า สหรัฐฯ มีเจตนาอย่างไรกันแน่

จอห์น บาสส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำตุรกี ออกมาปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่าวอชิงตันอยู่เบื้องหลังความพยายามก่อรัฐประหาร โดยยืนยันว่าข่าวนี้ “ไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิง” และเตือนว่าการคาดเดาเช่นนี้จะส่งผลเสียต่อมิตรภาพในกลุ่มนาโต แต่ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็แสดงท่าทีไม่เต็มใจที่จะส่งตัว กูเลน กลับไปตุรกี โดยเรียกร้องให้อังการาหาหลักฐานยืนยันความผิดที่ชัดเจนมาให้ได้เสียก่อน

สื่อหลายสำนักยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง เฟตฮุลเลาะห์ กูเลน กับ ฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเวลานี้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในนามของพรรคเดโมเครต และมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับอังการาอาจจะยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น หาก คลินตัน ได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่

องค์กร Judicial Watch ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบอิสระในสหรัฐฯ ได้อ้างถึงข้อความอีเมลเมื่อปี 2009 ที่ โกข่าน ออซค็อก สาวกคนหนึ่งของ กูเลน ได้ส่งถึง ฮูมา อาเบดิน ผู้ช่วยคนสนิทของคลินตัน เพื่อขอให้ช่วยประสานติดต่อไปยังประธานาธิบดี บารัค โอบามา โดย ออซค็อก ผู้นี้มีส่วนร่วมก่อตั้งศูนย์วัฒนธรรมตุรกีในสหรัฐฯ และมีอิทธิพลอย่างสูงในเครือข่ายธุรกิจและองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่เชื่อมโยงกับขบวนการฮิซเม็ตของ กูเลน

ปีที่แล้ว หนังสือพิมพ์เดลีคอลเลอร์ได้รายงานว่า สานุศิษย์ของ กูเลน หลายคนได้บริจาคเงินสนับสนุนแคมเปญหาเสียงและองค์กรการกุศลที่ครอบครัว คลินตัน ก่อตั้ง โดยหนึ่งในนั้นคือ เรเจป ออซกัน ซึ่งได้บริจาคเงินให้มูลนิธิ Clinton Foundation ระหว่าง 500,000- 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นักการศาสนาชาวตุรกีผู้นี้รู้จักมักคุ้นกับ ฮิลลารี และอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน มานานนับสิบปี และเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็เพิ่งจะออกมาให้สัมภาษณ์เปิดใจกับเว็บไซต์เดอะเดลีบีสต์ว่า “ชื่นชอบ” ฮิลลารี คลินตัน เป็นการส่วนตัว และอวยอดีตรัฐมนตรีหญิงว่า “เป็นคนสุภาพนอบน้อม และจิตใจดี”

“ถ้าเธอชนะศึกเลือกตั้ง เธอจะต้องเห็นผลประโยชน์ของประเทศมาเป็นอันดับหนึ่ง เธอจะต้องใส่ใจจุดยืนของสหรัฐฯ และความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันกับนานาชาติ และคงไม่เอาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของเราไปเป็นวาระสำคัญ” กูเลน กล่าว

อีกประการหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ การก่อรัฐประหารคราวนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่นโยบายการต่างประเทศของตุรกีเริ่มเปลี่ยนทิศทางไปสู่แนวโน้มใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศรอมชอมกับรัสเซีย หลังจากที่เคยบาดหมางกันอย่างหนักจากกรณีที่เครื่องบินขับไล่ของแดนหมีขาวถูกตุรกียิงตกเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงความเป็นไปได้ที่ตุรกีจะยุตินโยบายแทรกแซงที่กระทำอยู่ในซีเรีย

เมื่อปลายเดือน มิ.ย. รัฐบาลตุรกีแถลงว่า แอร์โดอัน ได้ส่งจดหมาย “ขออภัย” รัสเซียกรณีที่กองทัพอังการายิงเครื่องบินหมีขาวตกบริเวณพรมแดนซีเรียเมื่อปลายปีที่แล้ว และยินดีที่จะชดใช้ค่าเสียหายหากมีความจำเป็น ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อังการาปฏิเสธมาตลอดที่จะขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และยืนกรานอย่างแข็งขันว่าเครื่องบินรัสเซียรุกล้ำน่านฟ้าก่อน

สำนักข่าวทาสส์ของรัสเซีย รายงานว่า ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ได้ต่อโทรศัพท์ถึง แอร์โดอัน เพื่อแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ในตุรกี รวมถึงแสดงความเสียใจที่การก่อรัฐประหารทำให้มีชาวตุรกีเสียชีวิตไปหลายร้อยคน

ทั้งนี้ ยังมีข่าวลือเล็ดรอดออกมาอีกว่า ปูติน และ แอร์โดกัน อาจนัดพบปะหารือกันในช่วงต้นเดือน ส.ค. ที่จะถึงนี้

รัฐบาลหมีขาวนั้นมองว่า การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับตุรกีให้กลับคืนสู่ภาวะปกติอาจจะส่งผลต่อเนื่องเชิงบวกต่อสถานการณ์ในซีเรีย ขณะที่อังการาก็ส่งสัญญาณเป็นนัยๆ ว่าพร้อมที่จะสานสัมพันธ์กับซีเรียขึ้นมาใหม่

พลเมืองตุรกีส่วนใหญ่ที่หลั่งไหลออกมาปกป้องรัฐบาลเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้ว ต่างเห็นด้วยว่า แอร์โดอัน ควรจะมีอำนาจเด็ดขาดและกว้างขวางมากขึ้นกว่าเก่า ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ความปรารถนาของ แอร์โดอัน ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อดึงอำนาจจากรัฐสภากลับสู่สถาบันประธานาธิบดี อาจกลายเป็นจริงได้ในไม่ช้า

ความพยายามของตุรกีที่จะเข้าร่วมกลุ่มอียู 28 ประเทศต้องชะงักงันไปในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เนื่องจากผู้นำยุโรปยังคงกังวลเกี่ยวกับนโยบายของ แอร์โดอัน ที่โน้มเอียงไปในทางเผด็จการมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ

แม้จะเป็นสมาชิกนาโตและพันธมิตรทางทหารที่สำคัญของอเมริกา แต่ แอร์โดอัน ก็ไม่สนับสนุนให้ชาวตุรกีคลั่งไคล้ค่านิยมแบบตะวันตก แต่กลับส่งเสริมให้ภาคภูมิใจในความรุ่งเรืองของจักรวรรดิออตโตมันในอดีต และเชิดชูค่านิยมแบบอิสลาม

ในทางกลับกัน ชาติตะวันตกก็ไม่ต้องการให้รัฐบาลตุรกีนำเอาศาสนามาผูกโยงกับการเมืองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ท่าทีของ แอร์โดอัน ที่พยายามดึงตุรกีออกห่างจากความเป็นรัฐทางโลกยังเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องพึ่งตุรกีในการทำสงครามกับไอเอส ขณะที่อียูเองก็ต้องการให้อังการาช่วยรับคลื่นผู้อพยพบางส่วนไปจากกรีซ เพื่อบรรเทาวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดที่ยุโรปต้องเผชิญในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

เบห์ลุล ออซกัน อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการรัฐประหารในตุรกีประจำมหาวิทยาลัยมาร์มาราในนครอิสตันบูล ชี้ว่า การที่ แอร์โดอัน สกัดความพยายามก่อรัฐประหารได้สำเร็จทำให้เขาก้าวมาสู่ทางแยกที่สำคัญบนถนนสายการเมือง

“หลังจากกวาดล้างสาวกของ กูเลน ซึ่งใช้วิธีนอกกฎหมายเล่นงานรัฐบาลออกไปจนหมดสิ้นแล้ว บางที แอร์โดอัน อาจจะหวนกลับไปสู่แนวทางปกติ” ออซกัน ระบุ โดยคาดหมายว่าประธานาธิบดีอาจไม่พยายามผูกขาดอำนาจมากไปกว่านี้ และเปิดทางให้ระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมเบ่งบานในสังคมตุรกีมากขึ้น

“แต่หากเขาเลือกเดินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพื่อสร้างระบอบที่ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวแล้วละก็... เขาจะไม่มีทางทำสำเร็จ และนั่นจะยิ่งผลักให้ตุรกีดำดิ่งลงสู่วิกฤตที่ร้ายแรงยิ่งขึ้น”

กำลังโหลดความคิดเห็น