เอเอฟพี - หากชาวอังกฤษส่วนใหญ่โหวต “ออก” จากสหภาพยุโรป (อียู) ในการทำประชามติวันที่ 23 มิ.ย.นี้ แน่นอนว่าจะเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อทั้งอังกฤษ อียู และเศรษฐกิจโลกโดยรวม ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนเตือนว่าปรากฏการณ์ “เบร็กซิต” (Brexit) อาจเป็นชนวนสู่การแตกแยกภายในกลุ่มอียู เนื่องจากชาติสมาชิกที่เหลืออยู่อาจต้องการเจรจาปรับปรุงเงื่อนไขความสัมพันธ์กับบรัสเซลส์ใหม่เช่นกัน
แฟรงก์-วอลเตอร์ สไตน์ไมเออร์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี กล่าวไว้เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า การจากไปของอังกฤษ “จะสร้างแรงสั่นสะเทือนภายในอียู และจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างความเชื่อมั่นร่วมกันว่า รัฐสมาชิกอียูจะยังรวมกลุ่มกันต่อไป และความสำเร็จจากการบูรณาการตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาจะต้องไม่จบลงด้วยการพังทลายของอียู”
ต่อไปนี้คือสิ่งที่นักวิเคราะห์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น หากอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
(1) นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน แห่งอังกฤษ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ
คาเมรอนใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีประกาศให้มีการจัดทำประชามติในวันที่ 23 มิ.ย. และออกมารณรงค์อย่างแข็งขันให้อังกฤษอยู่ร่วมกับอียูต่อไป ดังนั้น หากฝ่ายที่สนับสนุนให้ “อยู่ต่อ” (Remain) พ่ายประชามติ คาเมรอนก็อาจต้องแสดงความรับผิดชอบ และผู้ที่จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนต่อไปก็น่าจะเป็น “โบริส จอห์นสัน” อดีตนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นหัวหอกของฝ่าย “Leave” ที่หนุนให้อังกฤษออกจากอียู
เคนเนธ คลาร์ก อดีต ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟ เคยออกมาเตือนว่า รัฐบาลคาเมรอน “จะอยู่ได้ไม่เกิน 30 วินาที” หากชาวอังกฤษเลือกอำลาสหภาพยุโรป
(2) นิโคลา สเตอร์เจียน รัฐมนตรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ ประกาศจัดทำประชามติแยกตัวเป็นเอกราชรอบที่ 2 หลังความพยายามรั้งสหราชอาณาจักรให้อยู่ในอียูต่อไปไม่เป็นผล
คาดว่าในการทำประชามติรอบนี้ชาวสกอตแลนด์จะพร้อมใจกันโหวตแยกตัวจากอังกฤษ ทำให้สหราชอาณาจักรแตกเป็นเสี่ยง
ไอร์แลนด์เหนือจะถูกโดดเดี่ยวจากสาธารณรัฐไอร์แลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกอียู และการค้าข้ามพรมแดนจะซบเซาลง
อดีตนายกรัฐมนตรี จอห์น เมเจอร์ และ โทนี แบลร์ แห่งอังกฤษ เตือนว่า การเปิดพื้นที่เดินทางเสรี (free travel area) ระหว่างเพื่อนบ้านทั้งสอง “อาจเป็นเรื่องยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย”
เมเจอร์ และ แบลร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการยุติการสู้รบในไอร์แลนด์เหนือ เตือนด้วยว่าปรากฏการณ์ “เบร็กซิต” อาจทำให้กระบวนการสร้างความปรองดองตกอยู่ในความเสี่ยงอีกครั้ง
ฝ่ายที่หนุนค่าย “ออก” อ้างว่า การแยกตัวเป็นเอกราชของสกอตแลนด์ไม่เกี่ยวกับสมาชิกภาพของอังกฤษในอียู และข้อตกลงทวิภาคีระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์เหนือก็จะทำให้การติดต่อข้ามพรมแดนกับสาธารณรัฐไอร์แลนด์ดำเนินไปได้ตามปกติ
(3) ลอนดอนและบรัสเซลส์เริ่มเจรจาเงื่อนไขความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนหลังจากอังกฤษพ้นความเป็นสมาชิกอียู โดยประเด็นถกเถียงสำคัญก็คือ การเข้าถึงตลาดยุโรปเดียว (European single market)
ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกมาเตือนล่วงหน้าแล้วว่า อังกฤษจะกลายเป็น “บุคคลที่สาม ที่อียูจะไม่มีการผ่อนปรนใดๆ ให้อีก”
โรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการองค์การการค้าโลก (WTO) เตือนว่า การเจรจากับอียูอาจต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี และ “คงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าสหราชอาณาจักรจะกลับคืนสู่สถานะที่เป็นอยู่ในเวลานี้” เนื่องจากลอนดอนจะมีอำนาจต่อรองน้อยลง
อาเซเวโดอธิบายว่า อังกฤษเข้าเป็นสมาชิก WTO ผ่านทางสหภาพยุโรป และเงื่อนไขสมาชิกภาพตลอด 20 ปีที่ผ่านมาก็เป็นผลมาจากการเจรจาผ่านบรัสเซลส์ ดังนั้น หากอังกฤษออกจากอียูก็จะต้องเริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าใหม่กับสมาชิก WTO ทั้ง 161 ประเทศ ตั้งแต่เรื่องอัตราภาษี โควตาส่งออกผลผลิตทางการเกษตร โครงการอุดหนุนเกษตรกร รวมถึงสิทธิในการเข้าถึงตลาดอื่นๆ ที่สถาบันการเงินและบริษัทผู้ให้บริการในอังกฤษสามารถทำได้อย่างสะดวกสบายในเวลานี้
(4) ตลาดการเงินที่ปั่นป่วน บวกกับความไม่แน่นอนภายในศูนย์กลางการเงินที่ลอนดอน อาจทำให้ค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนยวบลง 15-20% อัตราเงินเฟ้อขยับขึ้นเป็น 5% ดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น ค่าแรงแพงขึ้น และเศรษฐกิจเมืองผู้ดีจะเติบโตได้เพียง 1.0-1.5% ตามการประเมินของนักวิเคราะห์จากธนาคาร HSBC
บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่งก็ออกมาเตือนเช่นกันว่า งานหลายหมื่นตำแหน่งที่เคยอยู่ในลอนดอนจะถูกถ่ายเทไปยัง “แฟรงก์เฟิร์ต” หรือ “ปารีส” แทน
กลุ่มที่หนุนเบร็กซิตแย้งว่า ภาคธุรกิจจะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจของอังกฤษยังมีพลวัตและความยืดหยุ่นสูง ทั้งยังได้แรงหนุนจากหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจรายใหม่ๆ รวมถึงนโยบายจำกัดการไหลเข้าของผู้อพยพ
แม้สถาบันทางเศรษฐกิจหลายแห่งจะทำนายผลเสียในระยะยาวหากอังกฤษอยู่นอกกลุ่มอียู แต่สถาบันวิจัยที่ปรึกษา Capital Economics กลับมองว่าผลที่ตามมาจะไม่ถึงขั้นเป็น “หายนะ” อย่างไม่จบสิ้น โดยชี้ถึง “ข้อได้เปรียบ” ของอังกฤษทั้งในแง่ระบบกฎหมาย ภาษา เขตเวลา และแรงงานฝีมือที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก
(5) จำนวนผู้อพยพจากอียูมายังอังกฤษลดลงอย่างมาก จนก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างและภาคบริการ
ปัญหาผู้อพยพถือเป็นเรื่องที่ชาวอังกฤษให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ และหากฝ่ายหนุนเบร็กซิตได้ชัยชนะ รัฐบาลอังกฤษก็จะเผชิญแรงกดดันให้ต้องมีมาตรการคัดกรองผู้อพยพอย่างเข้มงวดยิ่งขึ้น